xs
xsm
sm
md
lg

ไทยคม 5 เดี้ยงปม ‘ดีอีเอส’ กำกับสัมปทานห่วยแตก !!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดีอีเอส
อุตส่าห์เปลี่ยนชื่อจาก 'ดีอี' เป็น 'ดีอีเอส' แต่กำกับดูแลสัมปทานดาวเทียมไทยคม ห่วยแตกเหมือนเดิม หลังมติครม.เคาะแก้ปัญหาดาวเทียมไทยคม 5 เสื่อมก่อนหมดสัญญาสัมปทาน อนุญาตติดตั้งพาวเวอร์ แบงก์ได้ แต่ดีอีเอสกลับไม่ดำเนินการ จนลูกค้าเกิดผลกระทบ กลับส่งหนังสือให้กสทช.ช่วย เอื้อใช้ดาวเทียมต่างชาติชั่วคราวก่อนเปิดเสรี ด้านดีอีเอส ชี้ ไทยคมต้องหาวิธีซ่อมไทยคม 5 ให้ใช้งานได้ก่อนส่งมอบตามสัญญาสัมปทาน

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงประเด็นที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ดศ. 0407/57 ลงวันที่ 7 ม.ค. 2563 แจ้งขอให้ กสทช. พิจารณาการขออนุญาตจัดหาช่องสัญญาณดาวเทียมต่างประเทศตามแผนบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 5 ในภาวะฉุกเฉินให้กับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ว่า เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีไปแล้วเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2562 เห็นชอบในหลักการให้ ไทยคม ดําเนินการเชื่อมต่อระบบขับเคลื่อน หรือ พาวเวอร์ แบงก์ เพื่อต่ออายุดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างไทยคมกับกระทรวงดีอีเอส เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 5 จะหมดอายุการใช้งานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 แต่สัญญาดําเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารจะสิ้นสุดในปี 2564

ดังนั้นการที่กระทรวงดีอีเอส ปล่อยให้ไทยคมไม่ดำเนินการตามมติครม.จนล่วงเลยถึงเวลาที่ไทยคม 5 ใช้งานไม่ได้ และเดือดร้อนถึงผู้บริโภค จนต้องมาขอให้คณะกรรมการกสทช.ลงมติ ออกหนังสือเพื่อให้ไทยคมสามารถใช้ช่องสัญญาณของดาวเทียมต่างชาตินั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่ กสทช.เห็นว่าเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคจึงต้องออกหนังสือให้ เพื่อให้ผู้บริโภคไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่จริงแล้วกระทรวงดีอีเอสต้องเป็นผู้รับผิดชอบให้ผู้อยู่ภายใต้เงื่อนไขสัญญาสัมปทานดำเนินการตามมติครม.ซึ่งในมติดังกล่าว ระบุชัดเจนว่า กระทรวงดีอีเอส ในฐานะคู่สัญญาตามสัญญาต้องดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามขั้นตอนของข้อกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากใช้วิธีติดตั้งพาวเวอร์ แบงก์ ไทยคมต้องใช้เงินลงทุนกว่า 400 ล้านบาท แต่สามารถใช้งานได้เพียงปีเดียวก็หมดสัญญาสัมปทาน และต้องโอนทรัพย์สินให้กระทรวงดีอีเอส ในขณะที่ไทยคมยังมีรายได้จากลูกค้าที่ใช้งานอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก หากจะแก้ปัญหาด้วยการให้สามารถเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติก่อนกฎหมายเสรีดาวเทียมมีผลบังคับใช้ โดยอ้างว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน

“มติ ครม.ออกมาเป็นปีแล้ว กระทรวงดีอีเอสต้องเป็นผู้กำกับดูแลให้ไทยคมบริหารจัดการให้ได้ ไม่ใช่มาขอให้กสทช.ช่วย ถามว่ากสทช.ช่วยได้หรือไม่ ซึ่งกสทช.ก็ต้องช่วยโดยเฉพาะในส่วนที่คุ้มครองผู้บริโภค แต่คนในกระทรวงดีอีเอส ต้องดูด้วยว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องหรือไม่ และการที่มาขอใช้ดาวเทียมต่างชาติในภาวะฉุกเฉินก่อนที่กฎหมายเสรีดาวเทียมจะบังคับใช้ เกรงว่ารายอื่นจะมองเป็นความเหลื่อมล้ำหรือไม่ แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วไทยคมจะต้องปฎิบัติตามกฎหมายก็ตาม”

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงดีอีเอส มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ดศ. 0407/57 ลงวันที่ 7 ม.ค. 2563 แจ้งขอให้ กสทช. พิจารณาการขออนุญาตจัดหาช่องสัญญาณต่างประเทศตามแผนบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 5 ในภาวะฉุกเฉินตามที่ไทยคม ร้องขอด้วยการอนุญาตให้ ไทยคม ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ จากดาวเทียม KTSat 8 ดาวเทียม Measat 3 Measat 3A และดาวเทียม Apstar 7 รวมกันจำนวนไม่เกิน 5.50 ทรานสปอนเดอร์ เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2563 จนถึงไม่เกินวันสิ้นสุดสัญญาดำเนิน กิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (วันที่ 10 ก.ย. 2564) เพื่อให้บริการ วงจรดาวเทียมสื่อสารทดแทนตามสัญญาดังกล่าว แต่ต้องปฏิบัติตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศตามที่ได้มีการลงนามผูกพันตามสัญญาให้ถูกต้องครบถ้วน

ทั้งนี้ ไทยคม ต้องบริหารจัดการโอนย้ายผู้ใช้บริการวงจรดาวเทียม (ทรานสปอนเดอร์) ของดาวเทียมไทยคม 5 เดิม ไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผลกระทบต่อผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์จาก กสทช. ทั้งนี้ ในกรณีที่จำเป็น กสทช. อาจกำหนดให้ส่งแผนเยียวยาผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบให้ กสทช. พิจารณาด้วย โดยการอนุญาตดังกล่าวเป็นการอนุญาตตามแผนการบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 5 ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งคู่สัญญาตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศได้เห็นชอบร่วมกันไว้แล้วเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ ไทยคม นำช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติข้างต้นไปให้บริการนอกเหนือจากแผนการบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 5 ในภาวะฉุกเฉิน และไทยคม ต้องแจ้งให้ กสทช. ทราบ กรณีมีการเปลี่ยนแปลงของแผนบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 5 ในภาวะฉุกเฉิน หรือมีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงดีอีเอส กล่าวว่า ภายหลังที่มีมติครม.เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2562 กระทรวงก็ไม่กล้าตัดสินใจให้ไทยคมยิงพาวเวอร์ แบงก์ขึ้นสู่วงโคจร เพราะวิธีนี้เป็นวิธีใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครในโลกทำมาก่อน ขณะที่ไทยคมเองก็บอกว่าสามารถทำได้และจะดำเนินการในเดือน ส.ค. 2563 แต่ดาวเทียมก็ใช้งานไม่ได้เสียก่อน จนมติครม.ผ่านเวลาล่วงเลยมาเป็นปี ก็ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ภายใต้การทำงานของ “อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” ปลัดกระทรวงดีอีเอส และหากเมื่อถึงเวลามอบทรัพย์สินไทยคม 5 ให้กับ กระทรวงดีอีเอส ไทยคมต้องดำเนินการให้ไทยคม 5 สามารถใช้งานได้ เพื่อกระทรวงจะได้ดำเนินการหาเอกชนรายใหม่เข้ามาบริหารจัดการ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำในเรื่องนี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น