xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถึงฤดูหน่วยงานรัฐชง"เมกะโปรเจกต์"งบ 64

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แม้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ยังติดขัดในเรื่องของ“การเมือง”ทำให้เกิดความล่าช้าในการใช้จ่ายงบประมาณแต่ถือเป็นการเริ่มต้น ตามปฏิทินงบประมาณ พ.ศ.2564 ของหน่วยงานราชการทุกกระทรวง ที่ต้องแจ้งและเตรียมความพร้อมจัดทำคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

ในช่วงนี้“คณะรัฐมนตรี”จึงจะต้องรับหลักการ การยื่นคำของบประมาณรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ตามนัย มาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561

หลายกระทรวง ส่งคำของบประมาณไปยัง ครม.เพื่อขอความเห็นชอบให้“สำนักงบประมาณ”จัดสรรให้ ซึ่งถือเป็นโครงการการระดับ"เมกะโปรเจกต์" ของกระทรวงก็ว่าได้

มีตัวอย่างกระทรวงใหญ่ๆ ที่เสนอโครงการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาทมานำเสนอ เริ่มจากกระทรวงมหาดไทย ขอตั้งงบฯ 64 จำนวน10 โครงการ วงเงิน 21,332 ล้านบาท ประกอบด้วย “โครงการจัดหาระบบวิทยุสื่อสารข่ายบังคับบัญชากระทรวงมหาดไทย”ของ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย วงเงิน 4,999 ล้านบาท ขอตั้งงบ 2564 จำนวน 999 ล้านบาท ส่วนที่เหลือผูกพันปี 65 - 67 จำนวน 3,999 ล้านบาท

“โครงการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์ ให้บริการประชาชนด้านทะเบียนและบัตรประจำตัวประชาชนเพื่อทดแทนระบบเดิม 455 แห่ง” ของกรมการปกครอง วงเงิน 1,099 ล้านบาท ขอตั้งงบฯ 64 จำนวน 219 ล้านบาท ส่วนที่เหลือผูกพันปี 65 - 70 จำนวน 879 ล้านบาท

“โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงมหาดไทย”โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กับกองทัพบกในการจัดหาอากาศยานปีกหมุน (Helicopter)เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแกัไขปัญหาสาธารณภัย ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วงเงิน 1,862 ล้านบาท ขอตั้งงบ 64 จำนวน 372 ล้านบาท ส่วนที่เหลือผูกพันปี 65- 66 จำนวน 1,489 ล้าน

“โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขาเพชรบูรณ์ - หล่มสัก (ระยะที่ 1)”ของ การประปาส่วนภูมิภาค วงเงิน 1,117 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบฯ 838 ล้านบาท ขอตั้งงบ 64 จำนวน 167 ล้านบาท ผูกพันปี 65-66 จำนวน 670 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ

279 ล้านบาท เบิกจ่ายจากเงินกู้ภายในประเทศ หรือเงินรายได้สมทบตามความเหมาะสม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

โครงการของกรุงเทพมหานคร 6 โครงการ วงเงิน 12,253 ล้านบาท แบ่งเป็น รายการที่ได้กำหนดสัดส่วนแหล่งเงินค่าก่อสร้างโดยให้ กทม. นำเงินรายได้มาสมทบกับเงินอุดหนุนรัฐบาล3 โครงการ ดังนี้

"โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองสนามชัย" วงเงิน 6,000 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบฯ 3,000 ล้านบาท ขอตั้งงบฯ 64 จำนวน 600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือผูกพันปี 65-68 จำนวน 2,400 ล้านบาท กทม. สมทบอีก 3,000 ล้านบาท

"โครงการก่อสร้างเขื่อนค.ส.ล. พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบ จากบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรี ถึงประตูระบายน้ำหนองจอก"วงเงิน 1,799 ล้านบาท เบิกจ่าย 899 ล้านบาท ขอตั้งงบฯ 64 จำนวน 179 ล้านบาท ส่วนที่เหลือผูกพันปี 65 -68 จำนวน 719 ล้านบาท และกทม. สมทบอีก 899 ล้านบาท

"โครงการก่อสร้างเขื่อนค.ส.ล. คลองเปรมประชากร ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภา ถึงถนนแจ้งวัฒนะ" วงเงิน 1,300 ล้านบาท เบิกจ่าย 650 ล้านบาท ขอตั้งงบ 64 จำนวน 130 ล้านบาท ส่วนที่เหลือผูกพันปี 65 - 66 จำนวน 520 ล้านบาท และกทม. สมทบอีก 640 ล้านบาท

ส่วนรายการที่ยังไม่ได้กำหนดสัดส่วนแหล่งเงินค่าก่อสร้างที่จะดำเนินโครงการระหว่าง เงินอุดหนุนรัฐบาลกับเงินรายได้กทม. 3 โครงการ ดังนี้

โครงการก่อสร้างเขื่อนค.ส.ล. (สมอยึดด้านหลัง) คลองบางไผ่ จากบริเวณคลองพระยาราชมนตรี ถึงบริเวณสุดเขต กทม. 1,028 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 4 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแยกสะพานแดง ถึงถนนกำแพงเพชร 1,100 ล้านบาท

โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 4 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากถนนกำแพงเพชร ถึงถนนพหลโยธิน 1,024 ล้านบาท

ต่อมา กระทรวงคมนาคม เสนอผูกพันข้ามปีงบประมาณ 4 หน่วยงาน 46 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการพ.ศ. 2564-2567 วงเงิน 179,671 ล้านบาท ประกอบด้วย

กรมทางหลวง 41 รายการ วงเงิน 170,665 ล้านบาท เป็นแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ1,100 ล้านบาท แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 3,550 ล้านบาท แผนบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 166,015 ล้านบาท เช่น ขยายถนน 4 6 และ 8 ช่องจราจร รวมกว่า 26 โครงการ ก่อสร้างถนนแนวใหม่ ทางแยกต่างระดับ ทางคู่ขนาน การยกระดับ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ออกแบบเสร็จแล้ว 15 โครงการ ระหว่างออกแบบ 25 โครงการ และจ้างออกแบบในปี 2563 จำนวน 1 โครงการ

เสนอเป็นคำขอตั้งงบ 2564 จำนวน 34,133 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ ผูกพันปี 64-67 จำนวน 136,532 ล้านบาท

กรมทางหลวงชนบท 2 รายการ 3,151 ล้านบาท ปี 64-66 เป็นแผนงานบูรณาการพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 1,851 ล้านบาท ถนน 4 ช่องทาง ในพื้นที่ อ.จุน อ.เทิง จ.เชียงราย แผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 1,300 ล้านบาท ถนน 4 ช่องทางพื้นที่ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรีเสนอเป็นคำขอตั้งงบ 64 จำนวน 600 ล้านบาท ส่วนที่เหลือผูกพัน ปี 64 - 66 จำนวน 2,400 ล้านบาท

กรมท่าอากาศยาน วงเงิน 3,800 ล้านบาท ขอตั้งงบ 64 จำนวน 760 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ ผูกพันปี 64-67 จำนวน 3,040 ล้านบาท

เป็นงานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง 2,990 เมตร ระบบไฟฟ้า ท่าอากาศยานตรัง 1,800 ล้านบาท และต่อเติมความยาวท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช 2,000 ล้านบาท

ตามความเห็นของ "สำนักงบประมาณ" เห็นว่า ความจำเป็นต้องดำเนินการ และจะเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนแม่บท ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 61 - 80) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 60 - 64)

โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มระบบสื่อสารการควบคุมรถให้เป็นสากล วงเงิน 2,055 ล้านบาท ปี 64- 65 ใช้งบปี 64 วงเงิน 861 ล้านบาท

โครงการนี้ สำนักงบประมาณ เห็นสมควรที่ครม.จะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการตามนัยมติ ครม. 3 มิ.ย.42 เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่ใช่การดำเนินงานในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสนับสนุนตามหลักการการอุดหนุนโครงการของร.ฟ.ท.

โดยเห็นสมควรให้ ร.ฟ.ท.กู้เงินเพื่อดำเนินโครงการตาม พ.ร.บ. ร.ฟ.ท. ปี 2494 มาตรา 39 (4) และให้ ร.ฟ.ท. รับภาระเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน ตลอดจนให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ในการกู้เงินต่อไป

ส่วน "สภาพัฒน์" เห็นด้วยกับการขอตั้งงบประมาณ ทั้ง 4 หน่วยงาน รวม 46 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี64-67 วงเงินรวมทั้งสิ้น 179,671 ล้านบาท โดยมีกรอบวงเงินที่จะขอตั้ง งบ 64 จำนวน 36,384 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตเพิ่มเติม เห็นควรให้กรมทางหลวง พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (สายใหม่) 3 โครงการ 101,125 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 59.3 ของกรอบวงเงินรวม ที่กรมทางหลวงเสนอในครั้งนี้ โดยให้คำนึงถึงความพร้อมของงบประมาณ ความสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบราง เป็นโครงข่ายหลักในการเดินทาง และขนส่งของประเทศ พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางการเพิ่มบทบาท ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนา ตลอดจนความพร้อมของเงินกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง

นอกจากนี้ ในส่วนของการดำเนินการก่อสร้างทางแนวใหม่และการขยายช่องจราจร เห็นควรให้กรมทางหลวง พิจารณาจัดลำคับความสำคัญของโครงการ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัด และกลุ่มจังหวัด รวมลงแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่ง ภายใด้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 พ.ศ.60-65

ทั้งนี้ ยังเห็นควรให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมท่าอากาศยาน และการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของโครงการ เพื่อให้สามารถก่อสร้างโครงการและเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ทันตามแผนงานที่กำหนดไว้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ต่อมา"กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม" เสนอ โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง (จ.นครราชสีมา) ปี 64-66 วงเงิน 1,630 ล้านบาท โดยขอรับการจัดสรรเป็นรายปี ดังนี้

ปีงบ 64 จำนวน 470 ล้านบาท ปีงบ 65 จำนวน 701 ล้านบาท และ ปีงบ 66 จำนวน 457 ล้านบาท โดยเป็นเงินอุดหนุนและงบลงทุน

ตามแผนจะมีการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม ภายใน ม.อุบลราชธานี รวมถึงการก่อสร้างโรงงานต้นแบบด้านต่าง ๆ ให้ครบวงจร 4 แห่ง

โครงการให้บริการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในอีก 5 โครงการย่อย โครงการนี้ หวังเพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ด้วยการสร้างผู้ประกอบการใหม่มากกว่า 2,000 ราย พัฒนาและต่อยอดผู้ประกอบการนวัตกรรม รวมถึงยกระดับขีดความสามารถ ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หวังเป็นกลไกการพัฒนาพื้นที่ ด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน-มหาวิทยาลัย ในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์

สุดท้าย หวังจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศที่เหมาะสม ในการส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนา นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการใช้ทรัพยากรและความเขี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

อีกโครงการ "ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ระยะที่ 3" ต่อยอดจากระยะที่ 2 ในปัจจุบัน ตามแผนระยะเวลา 20 ปี (ปีงบ 64-83) ในกรอบวงเงิน 11,943 ล้านบาท โดยหวัง ให้นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วภูมิภาคของประเทศ ได้รับการบ่มเพาะให้เป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนวัตกรที่มีคุณภาพจำนวนทั้งสิ้น 19,080 คน ให้มีการผลิตบุคลากรวิทยาศาสตร์ วิจัยและพัฒนาของประเทศจากนักเรียนของโครงการ วมว. ซึ่งมีเป้าหมายให้นักเรียนศึกษาต่อสาขาวิทยาศาสตร์ และเข้าสู่วิชาชีพได้ไม่น้อยกว่า 21,400 คน หรือมี ส่วนช่วยให้อัตราภารเพิ่มบุคลากรวิจัยต่อประชากรของประเทศเพิ่มขึ้น 1.0 ต่อ 10,000 คน ในปี 79 และ ต่อเนื่องไปจนถึงปี 97 อัตราการเพิ่มบุคลากรวิจัยต่อประชากรของประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 ต่อ 10,000 คน และยังสามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และ คณิตศาสตร์ โดยใช้ผลการดำเนินการ การศึกษา วิจัย จากแนวทางของโครงการ วมว.

ตัวอย่างสุดท้าย "กระทรวงวัฒนธรรม" เสนอ "โครงการพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้เป็นพื้นที่ให้บริการทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติ ระยะที่ 2" โดยเป็นโครงการผูกพันงบ 64 - 67 ทั้งโครงการรวม 3,000 ล้านบาท

เป็นโครงการฯ ที่ขยายผลการดำเนินงานต่อจากระยะที่ 1 ในอาคารและบริเวณโดยรอบ ประกอบด้วย โรงละคร ห้องประชุมสัมมนา ห้องฉายภาพยนตร์ ศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรม ห้องอาหารระดับภัตตาคาร ร้านค้าของที่ระลึกและร้านสะดวกซื้อ ยังมี ห้องอาหาร สำหรับประชาชนทั่วไปส่วนบริหารจัดการศูนย์ฯ พื้นที่สาธารณะ ส่วนงานระบบอาคาร ลานวัฒนธรรมกี่งภายนอก พื้นที่จอดรถไม่น้อยกว่า 500 คัน พื้นที่จัดภูมิทัศน์ และที่ว่างการเชื่อมต่ออาคารเดิม พื้นที่โดยรอบและพื้นที่สีเขียว รวมถึง ตำแหน่งทิศของอาคารและระบบจราจร

แบ่งเป็น งานก่อสร้างอาคาร 2,479 ล้านบาท งานครุภัณฑ์จัดซื้อ 214 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายพิเศษตามความจำเป็นต้องมี 305 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณ ให้ความเห็นต่อหน่วยงานว่า การจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณดังกล่าว เป็นการยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่าย ภายในระยะเวลาที่ ครม.กำหนด

ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความคุ้มค่า ประหยัด การพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการคำเนินโครงการ ตามนัย พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้เหมาะสมกับความจำเป็นเร่งด่วน และคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นไปตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนด .





กำลังโหลดความคิดเห็น