ตามดูความเห็น "สำนักงบฯ-สภาพัฒน์" ตั้งข้อสังเกต ก.คมนาคม ของบฯปี64 กว่า 1.79 แสนล้าน ใน 46 โครงการยักษ์ ของ 4 หน่วยงาน ตามแผน 4 ปี ระหว่าง 2564 - 2567 เน้นขอผูกพันข้ามปีงบประมาณปี 2564 หลัง ครม.ไฟเขียวให้ตั้งงบ เผย สงป. แนะ ครม.ดูความจำเป็นงบฯ "โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม" ของ รฟท. 2.05 พันล้าน ยันให้ดำเนินการตาม นัยมติ ครม. 3 มิ.ย.42 เนื่องจากโครงการ ไม่ใช่การดำเนินงานในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสนับสนุนตามหลักการการอุดหนุนโครงการของรฟท.
วันนี้ (29 ม.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติต่อกระทรวงคมนาคม ให้รับข้อสังเกตจากสำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ กรณีอนุมัติตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 สำหรับรายการงบประมาณที่มีวงเงินตั้ง 1,000 ล้านบาทขึ้นไป
โดยขออนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณ จำนวน 4 หน่วยงาน 46 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี พ.ศ. 2564 - 2567 วงเงินรวมทั้งสิ้น 179,671,198,000 บาท ประกอบด้วย 1. กรมทางหลวง จำนวน 41 โครงการ วงเงินรวม 170,665,000,000 บาท 2. กรมทางหลวงชนบท จำนวน 2 โครงการวงเงินรวม 3,151,000,000 บาท 3. กรมท่าอากาศยาน จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 3,800,000,000 บาท และ 4. การรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 1 โครงการ วงเงินรวม 2,045,198,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ความเห็นของ "สำนักงบประมาณ" เห็นว่า กระทรวงคมนาคม มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการ ก่อลร้าง ปรับปรุง และขยายทางหลวง ให้เป็น 4 - 8 ช่องจราจร และโครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่งพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินและองค์ประกอบอื่น ๆ ของท่าอากาศยานจังหวัดตรัง และท่าอากาศยานนครศรีธรรมราข
ซึ่งจะเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564)
โครงการที่จำเป็น จำนวน 3 หน่วยงาน 45 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 177,465,000,000 บาท เพื่อเสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามนัยมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ดังนี้
1. กรมทางหลวง จำนวน 41 รายการ วงเงินทั้งสิ้น 170,665,000,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 34,133,000,000 บาท ส่วนที่เหลือ ผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 -2567 จำนวน 136,532,000,000 บาท 2. กรมทางหลวงชนบท จำนวน 2 รายการ วงเงินทั้งสิ้น 3,000,000,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 600,000,000 บาท ส่วนที่เหลือผูกพัน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 - 2566 จำนวน 2,400,000,000 บาท และ 3. กรมท่าอากาศยาน จำนวน รายการ วงเงินทั้งสิ้น 3,800,000,000 บาท เสนอเป็นคำขอตั้งงบประมาณ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 760,000,000 บาท ส่วนที่เหลือ ผูกพันปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2567 จำนวน 3,040,000,000 บาท
สำนักงบฯ เสนอให้กระทรวงคมนาคม จัดทำแผนการดำเนินการและยืนยันความพร้อมของโครงการดังกล่าว โดยมีรายละเอียดแบบรูปรายการ ประมาณการค่าก่อสร้างให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และมีสถานที่/ พื้นที่พร้อมจะดำเนินการ โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าและประหยัด การพิจารณาเป้าหมาย ประโยชน์ที่จะได้รับ ประสิทธีภาพและผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ ตามนัยพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งจัดลำดับความสำคัญของโครงการให้เหมาะสมกับความจำเป็นเร่งด่วน และคำนึงถึง ภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นไปตามลัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนด ตามมติคณะรัฐมนตรี 10 ก.พ.2552 ก่อนที่สำนักงบประมาณ จะพิจารณาความเหมาะสม จำเป็น ตามวงเงินงบประมาณประจำปีต่อไป
สำหรับโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 1 รายการ วงเงิน 2,055,198,000 บาท เห็นสมควรที่ ครม. จะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการตามนัยมติ ครม. 3 มิ.ย.2542 เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่ใช่การดำเนินงานในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐสนับสนุนตามหลักการการอุดหนุนโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย
โดยเห็นสมควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทย กู้เงินเพื่อดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) และให้การรถไฟแห่งประเทศไทย รับภาระเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงิน ตลอดจนให้กระทรวงการคลังเป็นผู้คํ้าประกันเงินกู้ กำหนดวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ในการกู้เงินต่อไป
ขณะที่ ความเห็นของ "สภาพัฒน์" เห็นด้วยกับการขอตั้งงบประมาณ ทั้ง 4 หน่วยงาน รวม 46 โครงการ ระยะเวลาดำเนินการ ปี 2564 - 2567 วงเงินรวมทั้งสิ้น 179,671.198 ล้านบาท โดยมีกรอบวงเงินที่จะขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 36,384.20 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธิการงบประมาณ พ.ศ. 2561
อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์ มีข้อสังเกตเพื่มเติมเห็นควรให้ กรมทางหลวง พิจารณาจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ของโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (สายใหม่) จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวม 101,125 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 59.3 ของกรอบวงเงินรวมที่กรมทางหลวงเสนอในครั้งนี้
โดยให้คำนึงกงความพร้อมของงบประมาณ ความสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบราง เป็นโครงข่ายหลักในการเดินทางและขนส่งของประเทศ พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางการเพื่มบทบาท ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนพัฒนา ตลอดจนความพร้อมของเงินกองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของการดำเนินการก่อสร้างทางแนวใหม่และการขยายช่องจราจร เห็นควรให้กรมทางหลวงพิจารณาจัดลำคับความสำคัญ (Priority) ของโครงการ โดยคำนึงถึง ความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมลงแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่ง ภายใด้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2565
ทั้งนี้ ยังเห็นควรให้กรมทางหลวง กรมทางหลวงซนบท กรมท่าอากาศยาน และการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของโครงการ/แผนงานตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถก่อสร้างโครงการและเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้ทันตามแผนงานที่กำหนดใว้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมต่อไป.