xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เร่งรถไฟ “ชุมพร-ระนอง” และ “ทางคู่แลนด์บริดจ์” นายกฯ เปิดทางใช้งบกลางออกแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นายกฯ” สั่งเดินหน้ารถไฟทางคู่ “ชุมพร-ระนอง” วางโครงข่ายระบบรางเชื่อมการค้า “บิมสเทค-อีอีซี” ด้าน “ศักดิ์สยาม” ชงของบกลางปี 63 วงเงิน 90 ล้านลุยออกแบบ พร้อมขยับแนวรถไฟแลนด์บริดจ์ “สงขลา-สตูล” ลดผลกระทบประชาชน มอบกรมรางวางแผนพัฒนาระบบราง ลดต้นทุนโลจิสติกส์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและให้นโยบายต่อกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ว่า ในการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านขนส่งทางรางนั้น ให้มองหลายมิติเพื่อให้กำหนดโครงข่ายของระบบรางที่สมบูรณ์และเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดที่ได้เปรียบในการเชื่อมต่อและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค โดยเฉพาะการเชื่อมโยงด้านตะวันตกและตะวันออกจากกลุ่มประเทศบิมสเทค (BIMSTEC) ด้านตะวันตกไปถึงยุโรป เชื่อมกับฝั่งตะวันออก (ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม) ไปยังจีน ญี่ปุ่น ได้ โดยย่นระยะทางและเวลาได้มากกว่าโครงข่ายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ล่าสุด พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ทบทวนการศึกษาโครงการพัฒนาแนวรถไฟสายใหม่ รถไฟทางคู่ ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 109 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะมีการพัฒนาท่าเรือระนองร่วมด้วย ซึ่งเดิม การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีการศึกษาโครงการเบื้องต้นไว้แล้ว และเตรียมเสนอของบประมาณปี 2563 เพื่อศึกษาออกแบบ แต่สำนักงบประมาณให้ชะลอโครงการออกไปก่อน

เมื่อนายกฯ มีนโยบายเร่งรัด จึงมีการเตรียมเสนอขอตั้งงบประมาณปี 2564 แต่ยังเห็นว่าล่าช้า จึงเสนอขอใช้งบกลางปี 2563 จำนวนประมาณ 90 ล้านบาทเพื่อทำการศึกษาออกแบบรายละเอียดและทำรายงาน EIA โดยคาดศึกษาประมาณ 1 ปี ซึ่งได้รายงานนายกฯ รับทราบแล้ว

นอกจากนี้ การพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางใต้ เช่น โครงการรถไฟเชื่อมแลนด์บริดจ์ “สงขลา-สตูล” ได้ให้กรมรางร่วมวางแผนงานกับ ร.ฟ.ท. โดยอาจจะมีการขยับแนวไปอยู่ในพื้นที่ที่ประชาชนให้ความร่วมมือ มากกว่า จุดเดิมที่ประชาชาอาจจะเห็นว่าก่อสร้างแล้วจะเกิดปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือกระทบต่อการท่องเที่ยว ทั้งนี้ เพื่อผลักดันโครงการให้เดินหน้า และให้มีความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ซึ่งหากต้องสร้างทางรถไฟเพิ่มอีก 10 กม.เพื่อลดผลกระทบก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

นอกจากนี้ กรมรางฯ จะต้องวางยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบรางทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพื่อประหยัดเวลา และต้นทุน รวมถึงอำนวยความสะดวกสูงสุด วางโครงข่ายระบบรางให้เกิดการพัฒนาเมืองรอง เพื่อกระจายความเจริญและเศรษฐกิจ ในการวางแผนด้านโลจิสติกส์ การกำหนดจุดสถานีขนถ่ายสินค้าให้เหมาะสมและกำหนดแนวเขตเผื่ออนาคตด้วย ต้องวางแผนตั้งแต่ขั้นตอนออก พ.ร.ฏ.เวนคืนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม กรมรางฯ เป็นหน่วยงานใหม่ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลงานระบบราง ซึ่งขณะนี้ยังรอ พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ.... คาดว่าจะอนุมัติช่วงเดือน เม.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอ ครม.อนุมัติตามขั้นตอน โดยให้กรมรางเตรียมพร้อมในการออกกฎกระทรวง, ระเบียบ และประกาศต่างๆ รองรับหลัง พ.ร.บ.กรมรางมีผลบังคับ






กำลังโหลดความคิดเห็น