xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เร่งไทม์ไลน์ 120 กม./ชม.-ดันจัดระเบียบงานก่อสร้างแก้รถติด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” เร่ง สนข.ทำไทม์ไลน์มาตรการความเร็ว 120 กม./ชม. และใช้ “โดรน” ช่วยจัดการด้านจราจร พร้อมรับทราบเพิ่มมาตรการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบจราจร ก่อนอนุมัติโครงการก่อสร้างต่างๆ หวังแก้รถติด

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบาย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่า ได้ติดตามนโยบายที่ได้มอบหมายไว้เมื่อเข้ารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ได้แก่ การกำหนดความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. บนถนนตั้งแต่ 4 ช่องจราจรขึ้นไป ซึ่งล่าสุดมีประเด็นที่จะห้ามรถความเร็วต่ำกว่า 90 กม./ชม.วิ่งเลนขวา หรือ Low Speed ที่จะต้องทำการศึกษาเพิ่มเติม, การปรับเวลารถบรทุก 10 ล้อ และนโยบายเรื่องตั๋วร่วม ซึ่งได้รับรายงานความก้าวหน้าว่าอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของระบบรถไฟฟ้าเพื่อให้สามารถอ่านบัตรแบบข้ามระบบกันได้ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 14-15 ล้านใบ

ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทำตารางเวลา (ไทม์ไลน์) การดำเนินงานให้ชัดเจน โดยบางเรื่องอาจไม่ต้องรอศึกษาจบ 100% หากเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ก็ให้ลงมือทำได้เลย

นอกจากนี้ ได้เน้นในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้วางแผนด้านคมนาคม บริหารจัดการ และวางแผนด้านจราจร รวมไปถึงด้านการก่อสร้าง เช่น โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ (UAV) ซึ่ง สนข.ได้ศึกษาร่วมกับ กองทัพอากาศ โดยจะทำ MOU ร่วมกัน ซึ่งขอให้เร่งรัดเพื่อทยอยนำมาใช้ในการวางแผนด้านจราจรได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ เพื่อให้ประชาชนได้มีข้อมูลที่ Real Time สำหรับตัดสินใจเลือกการเดินทางได้

สำหรับการก่อสร้างโครการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาการจราจรนั้น สนข.ได้มีการศึกษาเพื่อจัดทำมาตรฐานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านการจราจร (Traffic Impact Assessment : TIA) ประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการต่างๆ เพื่อให้ผู้ดำเนินโครงการวางแผนการจัดการด้านจราจรควบคู่กับแผนการก่อสร้าง ซึ่งปัจจุบัน TIA มีอยู่แล้ว แต่ยังไม่เป็นระบบและหลักวิชาการที่ชัดเจน โดยให้ สนข.สรุปการศึกษาและนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาภายใน 3-6 เดือน ส่วนหน่วยงานที่จะดูแลนั้นจะมีการพิจารณาต่อไป

“หลักการเรื่อง TIA จะมีการกำหนดนิยามว่าโครงการประเภทใดเข้าข่ายต้องทำ โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านจราจร เช่น กรณีการก่อสร้างอาคาร และมีอาคารจอดรถด้วย แต่ไม่ได้คิดว่ารถจำนวนมากเหล่านั้นจะเข้า-ออกและลงสู่ถนนอย่างไร ดังนั้น ต้องเสนอวิธีการบริหารจัดการจราจรในการขออนุญาตด้วย ซึ่งไม่ได้เป็นการกดดันใดๆ เช่น โครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ทุกวันนี้ก่อนขออนุมัติก็มีการพิจารณาประเด็นเหล่านี้อยู่แล้วเพียงแต่อาจจะยังไม่เป็นระบบหรือยังไม่สมบูรณ์หรือละเอียดมากพอ”

นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า แนวคิดของมาตรฐานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านการจราจร (TIA) ไม่ได้เป็นการห้ามก่อสร้าง หรือสร้างเงื่อนไขเพิ่ม แต่เป็นการร่วมมือ เป็นการจัดระเบียบ หรือวิธีการผ่านหน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการนั้นๆ ซึ่งใน กม.ด้านสิ่งแวดล้อม EIA นั้นมีการพิจารณาประเด็นเรื่อง TIA อยู่แล้วแต่เป็นหัวข้อเล็กที่อาจจะครอบคลุมไม่ถึง โดยจะไม่เป็นภาระที่ทำให้การก่อสร้างต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นจากเดิมด้วย และสอดคล้องกับนโยบายในการส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เช่น การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ หรืออาคารที่อยู่ใกล้กับรถไฟฟ้า ต้องมีแผนการเดินทางสำหรับประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง เช่น เพิ่ม Sky Walk เชื่อมจากอาคารไปยังสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ นายศักดิ์สยามกล่าวว่า สนข.มีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีในการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ทางบก ราง น้ำ อากาศ ซึ่งได้ให้ข้อสังเกตในเรื่องการวางแผนงานอนาคต การคาดการณ์ข้อมูลต่างๆ ให้ใช้เครื่องมือ ใช้เทคโนโลยี และมีการสร้างความเข้าใจกับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ พร้อมทั้งกำหนดค่าตัวชี้วัด (KPI) ที่ชัดเจน และสามารถอธิบายผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับ รวมถึงผลตอบแทนให้เป็นรูปธรรม และแสดงผลที่เป็นตัวเลข

รวมถึงการวางแผนการพัฒนาต่างๆ จะต้องกระจายความเจริญไปในทุกพื้นที่ ส่วนการพัฒนาโครงการที่ต้องมีการเวนคืนพื้นที่จากประชาชน จะต้องพิจารณาผลตอบแทนในด้านอื่นที่ประชาชนจะได้รับ นอกเหนือจากค่าเวนคืนด้วย เช่น การทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น มีการเดินทางที่สะดวกขึ้น หรือด้านสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น