“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดตัดสินยกฟ้องคดีอนาคตใหม่ ผมเคยเขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันแล้วว่า ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่ากรณี “สมาคมลับอิลลูมินาติ” ที่ล่องลอยนี้จะถูกเอาไปผูกโยงกับพฤติกรรมท้าทายระบอบของพรรคอนาคตใหม่ได้แม้หลายครั้งแกนนำพรรคการเมืองนี้จะมีพฤติกรรมและการแสดงออกที่ท้าทายอยู่จริงก็ตามและผมไม่แปลกใจที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไต่สวน
การแสดงออกและคำท้าทายต่างๆ ของแกนนำพรรคถ้าจะผิดน่าจะผิดกฎหมายอื่นและถ้าผิดจริงคงจะถูกดำเนินคดีไปแล้วเพียงแต่ที่เกิดขึ้นพวกเขามีคำพูดที่ท้าทายและแฝงเร้นแบบไต่เส้นลวดต่อระบอบเท่านั้นเอง
ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ส่วนกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจนายปิยบุตร แสงกนกกุลและคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 2-4 มีพฤติการณ์แนวคิดทัศนคติคลั่งไคล้ปรัชญาตะวันตกเป็นกระบวนการปฏิปักษ์ปฏิกษัตริย์นิยมมีแนวความคิดที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมไทยโดยการแสดงความคิดเห็นในช่วงต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ตามปรากฏตามสื่อมวลชนและสื่อสาธารณะที่ผ่านมา เช่นการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนการแสดงความคิดเห็นต่อหน้าสาธารณชนการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการแสดงความคิดเห็นในช่องทางต่างๆนั้นเห็นว่าการพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอที่จะให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์นั้นถึงระดับที่วิญญูชนควรจะอาจคาดเห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ
แต่ข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฏในคดีเป็นเพียงข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์สื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออินเตอร์เน็ตและยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกร้องทั้ง4 มีพฤติการณ์หรือการกระทำตามความคิดเห็นที่ผู้ร้องกล่าวอ้างแต่อย่างใดกรณีจึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะฟังได้ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 วรรคหนึ่งส่วนกรณีการกระทำอื่นใดของผู้ถูกร้องทั้ง 4 จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหากตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปอาศัยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง
นัยสำคัญคือ ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ “ชัดเจนเพียงพอ” ที่จะให้เห็นถึงความมุ่งหมายและความประสงค์นั้น “ถึงระดับที่วิญญูชนควรจะอาจคาดเห็นได้” ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ
“ความมุ่งหมายและความประสงค์นั้นถึงระดับที่วิญญูชนควรจะอาจคาดเห็นได้” นั้น ชัดเจนว่า ต้องหมายถึงว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ลงมือกระทำให้ปรากฏ ไม่ใช่เป็นเพียงความคิด หรือถ้าผมจะพูดต่อก็คือ เพราะผู้ถูกกล่าวหานั้นยังสามารถซ่อนเร้นการแสดงออกผ่านความคิดที่ฉวัดเฉวียนแบบไต่เส้นลวดของความผิดทางกฎหมาย หรือซ่อนความนัยไว้ภายใต้ความคิดในเชิงวิชาการนั่นเอง
เพราะทุกคนต้องยอมรับว่า ความคิดที่ซ่อนไว้ใต้ความหมายของคำว่า “ปฏิกษัตริย์นิยม” ของแกนนำพรรคอนาคตใหม่นั้นมีอยู่จริง
เราเห็นการแสดงทัศนคติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ทั้งสามไม่ว่าจะเป็น ธนาธร ปิยบุตร หรือช่อ-พรรณิการ์ วานิช แต่ที่แจ่มชัดเสมอมาคือ ความเห็นของปิยบุตรที่เขามักอ้างให้พ้นตัวในภายหลังว่า เป็นความเห็นของเขาในสมัยที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก่อนจะก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่
ครั้งหนึ่งปิยบุตร อภิปรายที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เรื่องบทบาทและพัฒนาการของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่างๆรวมถึงที่มาความหมายของ “เอกสิทธิ์” ของกษัตริย์ล่วงละเมิดไม่ได้ภายใต้เงื่อนไข แน่นอนว่า ปิยบุตรฉลาดพอที่จะเริ่มด้วยการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ต่างๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรปและพูดถึงการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
เขาเปรียบเปรยว่า ประเทศในสแกนดิเนเวียทั้ง 3 ประเทศถ้าสังเกตดูสถาบันกษัตริย์ของเขาอยู่มายาวนานมากจึงมีคนไปศึกษาดูว่าทำไม พบว่ามี 5 ประการ 1. ตอนจะเป็นกษัตริย์ต่อหรือไม่เป็นเขาทำประชามติเช่นนอร์เวย์ พอคะแนนท่วมท้นยิ่งมีความชอบธรรมสูง 2. กษัตริย์แต่ละพระองค์ครองราชย์ยาวนาน 3.การเปลี่ยนองค์กษัตริย์ไม่มีปัญหารัชทายาท 4.กษัตริย์พยายามเป็นกษัตริย์ของประชาชนมีความเป็นมนุษย์คุลกฝุ่นเป็นชาวบ้านธรรมดา 5.กษัตริย์ในสวีเดนได้รับความนิยมขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะชัดเจนว่าไม่เอาสงคราม
จากนั้นเขากล่าวว่า ยุคปัจจุบันสถาบันกษัตริย์จะอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ปัจจัยสำคัญคือการปรับตัวให้เข้ากับประชาธิปไตยถามว่าทำไมต้องให้สถาบันกษัตริย์ปรับไม่ใช่ประชาธิปไตยปรับตัวเข้าหาสถาบันกษัตริย์บ้างคำถามนี้อยู่ที่ว่าท่านจะเลือกอะไรถ้าเลือกการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสถาบันการเมืองทั้งหมดซึ่งรวมถึงสถาบันกษัตริย์ด้วยต้องปรับให้เข้ากับประชาธิปไตยถ้าปรับไม่ได้ผลก็คือสถาบันนั้นจะหายไปเองปัจจุบันเหลือน้อยประเทศมากที่สถาบันกษัตริย์กำลังขัดขืนเหนี่ยวรั้งต่อสู้กับประชาธิปไตยอยู่ทุกวันนี้ถ้าพูดถึงการปฏิรูปให้เข้ากับ ระบอบ parliamentary monarchy หรือ constitutional monarchy โดยแท้ปัจจุบันสายตาของชาวโลกเขามองอยู่ 2 ประเทศเท่านั้นคือราชอาณาจักรโมร็อกโคกับราชอาณาจักรไทยโดยกำลังดูว่าประเทศไหนจะเปลี่ยนเข้าสู่ parliamentary monarchy หรือ constitutional monarchy ได้อย่างสมบูรณ์
ปิยบุตรบอกว่า มีนักวิชาการสายรอยัลลิสต์(ไทย-ผู้เขียน) หลายท่านพยายามอธิบายว่ากษัตริย์มีอำนาจในทางสังคมประเพณีเป็นอำนาจที่เกิดจากธรรมเนียมปฏิบัติในทางรัฐธรรมนูญสูตรที่พูดบ่อยคือสูตรของ วอเตอร์ แบชอต ( Walter Bagehot) เป็นสื่อสารมวลชนชาวอังกฤษเขียนหนังสือเรื่อง The English Constitution พิมพ์เมื่อปี 1867 เขาบอกว่ากษัตริย์มีสิทธิอยู่ 3 ประการคือสิทธิในการให้คำปรึกษาหารือสิทธิในการตักเตือนและสิทธิในการให้กำลังใจ (แก่รัฐบาล) นักวิชาการไทยเอามาพูดแบบนี้โดยจงใจไม่พูดให้จบ แบชอตพูดต่อด้วยว่าสิทธิเหล่านี้นี้ต้องเป็นความลับรัฐบาลกับสถาบันกษัตริย์เท่านั้นจะรู้กันสาธารณชนไม่มีสิทธิรู้และรัฐบาลมีสิทธิไม่เห็นด้วยกับสถาบันกษัตริย์ได้เพราะรัฐบาลเป็นคนรับผิดชอบ
เขากล่าวว่า ที่สงสัยมาตลอดคือนักวิชาการรอยัลลิสต์ในประเทศนี้อ้างแต่แบชอต ซึ่งเขาเขียนมาอธิบายรัฐธรรมนูญอังกฤษในสมัยพระราชินีวิกตอเรียจุดประสงค์เพื่อตอบโต้การปกครองในสหรัฐอเมริกาทำไมนักวิชาการไทยไม่อ้างวิธีการปฏิบัติของเบลเยียมเนเธอร์แลนด์สเปนสวีเดนบ้าง แล้วก็อธิบายว่าอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ (constitutional convention) ธรรมเนียมที่ฝรั่งคิดขึ้นมาคิดขึ้นเพื่อจำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ทั้งนั้นโดยเฉพาะที่อังกฤษเพราะไม่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรแต่ของไทยเรากลับเอามาอธิบายเพื่อเพิ่มอำนาจให้กษัตริย์เป็นการเปรียบเทียบผิดฝาผิดตัว
ทัศนะแบบนี้ชัดเจนว่าความคิดของปิยบุตรนั้นมีความมุ่งหมายเพื่อให้ลดทอนบทบาทและสถานะของพระมหากษัตริย์ เขากล่าวในงานเสวนาเรื่อง “เสรีภาพนิสิตนักศึกษาในพระปรมาภิไธย” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมพ.ศ.2554 ที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตอนหนึ่งว่า
“สถาบันกษัตริย์จำเป็นต้องปรับตัวให้อยู่ได้กับประชาธิปไตยโดยแยกการใช้อำนาจจากรัฐให้เป็นเพียงหน่วยทางการเมืองหน่วยหนึ่งซึ่งทำให้กษัตริย์ไม่สามารถใช้อำนาจใดๆ ผ่านรัฐได้อีกต่อไปโดยในทางรูปธรรมนั้นหมายถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์สามารถทำอะไรเองได้เนื่องจากผู้ที่รับผิดชอบคือผู้สนองพระบรมราชโองการรวมถึงการไม่อนุญาตให้กษัตริย์แสดงพระราชดำรัสสดต่อสาธารณะและต้องสาบานต่อรัฐสภาในฐานะประมุขว่าจะพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญเป็นต้น”
ทั้งหมดนี้ย้ำชัดว่า ปิยบุตรมีความคิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร ส่วนธนาธรนั้นไม่ต้องสงสัยเลย นอกจากเขาเป็นเจ้าของนิตยสารฟ้าเดียวกันที่มีบทความเชิงวิชาการวิพากษ์วิจารณ์สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ เขายังมีความคิดที่ฉวัดเฉวียนเป็นความนัยหลายครั้ง
ในหนังสือ Portrait ธนาธรที่เขาให้สัมภาษณ์ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ นั้น เขาพูดตอนหนึ่งว่า “ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด เป้าหมายสูงสุดคือการเปลี่ยนประเทศ”(หน้า270)
อะไรคือเป้าหมายที่สูงสุดกว่าของธนาธรในหนังสือเล่มนี้เขาบอกด้วยว่า เขามีความมุ่งหมายว่าจะ “มีอำนาจมากพอที่จะไปต่อรอง(กับ)xxxx” ซึ่งผู้อ่านเดาได้ไม่ยากว่าเขาหมายถึงบุคคลใด
“ถามว่าเรารู้มั้ย รู้เหี้ย มันก็รู้เหมือนกันหมดแหละปัญหาคือใครจะทำยังไงเราคิดว่าวิธีการของเราคือต้องมีอำนาจและต่อรอง (กับ)×××× นี่ต่างหากคือเป้าหมายถ้าจัดการเรื่องนี้ไม่ได้เอาทหารออกจากการเมืองไม่ได้หรอกจัดการเรื่องนี้ไม่ได้จัดการเรื่องศาลไม่ได้หรอกจัดการเหี้ยห่าอะไรไม่ได้ถามว่าเรารู้มั้ยสิ่งที่เราพูดโดยไม่พูดเรื่องนี้มันไม่จริงมันเป็นไปไม่ได้ถามว่ารู้มั้ยรู้แต่มันพูดไม่ได้ยังมีข้อจำกัด” (หน้า 277)
ส่วนช่อ-พรรณิการ์แม้ความคิดของเขาจะสะท้อนผ่านเฟซบุ๊ก ในฐานะนักศึกษารัฐศาสตร์แล้วเราต้องเชื่อใจว่าเธอเข้าใจความหมายที่เธอต้องการแสดงออกดีว่ามีเจตนามุ่งหมายอย่างไร
แน่นอนความคิดความเห็นของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติให้วิญญูชนมองเห็นได้ กฎหมายจึงยากที่จะเอื้อมไปเอาผิด แต่เราต้องยอมรับว่า ข้อกล่าวหา “ปฏิกษัตริย์นิยม”ของแกนนำพรรคอนาคตใหม่ที่ฝังอยู่ใต้ความคิดนั้นไม่ใช่เรื่องเกินเลยความจริง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan