เริ่มมีเสียงบ่นว่าเมื่อมีนักการเมืองบ้านเมืองมีแต่ความวุ่นวาย นักการเมืองไม่มีสำนึกความรับผิดชอบในหน้าที่ ตอนไม่มีนักการเมือง 5 ปีที่ผ่านมาบ้านเมืองมีความสงบ เผด็จการทำให้บ้านเมืองเดินหน้าโครงการคมนาคมรถไฟฟ้าหลายสาย ถ้าเป็นช่วงรัฐบาลปกติคงเดินหน้าไม่ได้ขนาดนี้
ความคิดแบบนี้แน่นอนว่าเป็นการสนับสนุนบ้านเมืองควรจะปกครองด้วยระบอบเผด็จการจะดีกว่า และคนที่พูดแบบนี้ก็มักจะยกเอาประเทศจีนเป็นต้นแบบของเผด็จการที่นำความเจริญมาสู่ชาติบ้านเมือง โดยเฉพาะตัวอย่างที่จีนกำลังจัดการกับไวรัสโคโรนาตอนนี้
แม้ว่าการคิดแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดเสมอไป ผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้งก็อาจทำหน้าที่ได้ไม่ดีกว่าผู้นำที่มาจากเผด็จการ แต่ความคิดนี้ก็ไม่ได้ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะโลกนี้ก็มีตัวอย่างของเผด็จการที่ย่ำแย่จำนวนมาก และมีผู้นำที่ดีที่มาจากการเลือกตั้งไม่น้อย
ระหว่างผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งแบบฮิตเลอร์กับผู้นำเผด็จการแบบสี จิ้นผิง แน่นอนเราก็ต้องบอกว่าสี จิ้นผิง ดีกว่า แต่ถ้าเราเจอเผด็จการพล พตกับผู้นำประชาธิปไตยหลายคนเราก็ต้องบอกว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยย่อมจะดีกว่า
ดังนั้นไม่ว่าผู้นำแบบไหนก็มีความเสี่ยงทั้งนั้น หลักสำคัญผู้ที่พฤติกรรมของตัวบุคคลมากกว่าที่มา
จึงต้องถามว่า การเสี่ยงว่าจะเจอผู้นำที่ดีนั้นเราควรได้ผู้นำที่มาจากอำนาจเผด็จการหรือเราเลือกผู้นำเอง สำหรับผมแล้วเราเลือกเอาจะดีกว่า เพราะถ้าผิดพลาดกลายเป็นผู้นำเลวเราก็ลุกขึ้นมาขับไล่ได้ แต่เราขับไล่ผู้นำเลวที่เป็นเผด็จการได้ยาก เพราะไม่มีประชาธิปไตยและถูกกดขี่ด้วยปากกระบอกปืน และการต่อสู้กับเผด็จการนั้นมักต้องแลกด้วยชีวิตของประชาชน
แต่ก็มีคนไม่น้อยเข้าใจว่า ในยุคเผด็จการนั้นดีที่บ้านเมืองสงบ โดยไม่ใส่ใจว่าเสรีภาพของเราที่จะแสดงออกในระบอบประชาธิปไตยนั้นหายไป และการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายกุมอำนาจรัฐก็ไม่สามารถทำได้ ถ้าได้ผู้นำที่มือไม่สะอาดและใช้อำนาจเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ เกื้อกูลแต่วงศาคณาญาติและกลุ่มทุนที่รายล้อม แถมไม่มีความสามารถในการนำพาบ้านเมืองในการเผชิญกับกระแสโลกในด้านเศรษฐกิจ ประเทศชาติก็อาจจะล่มจมได้ แต่ถ้าคนแบบนี้มาจากการเลือกตั้งเราก็มีระบบตรวจสอบคานอำนาจ และมีพลังของประชาชนเป็นตัวยับยั้ง
แต่คนไทยกลุ่มหนึ่งก็มีความกลัวจากการปกครองของระบอบทักษิณที่สืบทอดอำนาจกันมาจากการเลือกตั้งถึง 4 รัฐบาลในอดีต การใช้กฎหมายและนโยบายเพื่อหาประโยชน์ให้วงศ์วานว่านเครือ การเล่นพรรคเล่นพวก การแก้กฎหมายเพื่อลบล้างความผิด ฯลฯ
คำถามว่าวันนี้เรามีผู้นำแบบไหน
รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นลูกผสมระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ แน่นอนเรามีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญก็เขียนเอาไว้ว่าให้ฝ่ายไหนมาเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะไม่ระบุชื่อตัวบุคคล แต่โครงสร้างของรัฐธรรมนูญนั้นแทบจะออกแบบมาสำหรับคนคนเดียว เรารับรู้กันก่อนเลือกตั้งว่าไม่ว่าพรรคการเมืองที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนเดิมจะชนะเลือกตั้งหรือไม่ ก็ไม่พลาดโอกาสกลับมาเป็นนายกฯ แน่ เราจึงได้นายกรัฐมนตรีคนเดิมที่ปกครองประเทศมาแล้ว 5 ปี ในยุคของเผด็จการ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชามาจากการเลือกตั้งแน่ๆ แต่ถามว่า เป็นประชาธิปไตยที่มีการต่อสู้เลือกตั้งนั้นเป็นธรรมไหม และให้อำนาจประชาชนที่เท่าเทียมกันไหม แน่นอนประชาชนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากัน แต่ต้องยอมรับนะครับว่า ประชาชนฝั่งที่เลือกพรรคของพล.อ.ประยุทธ์นั้นเขามี 250 เสียงรออยู่แล้ว
แม้จะมาจากรัฐธรรมนูญเราก็เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกัน เพียงแต่เมื่อมีการเลือกตั้งมีรัฐธรรมนูญทำให้เรามีเสรีภาพมากขึ้นที่จะตรวจสอบจะวิจารณ์รัฐบาล และมีสิทธิ์ที่จะออกมาชุมนุมถ้าเราเห็นว่ารัฐบาลนี้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบธรรม และเราต้องมองว่า การมีฝ่ายค้านนั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยต้องมองพฤติกรรมส่วนบุคคลแยกออกจากระบบ
แต่ปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยมากกว่า ก็คือการตัดสินผิดถูกชั่วดีด้วยการเลือกข้างมากกว่าตัวเหตุผล เมื่อนักการเมืองฝ่ายค้านวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็ถูกมองว่าเป็นการสร้างความวุ่นวาย เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของฝ่ายรัฐบาล ทุกวันนี้เสียงของประชาชนสามารถสะท้อนสู่สังคมได้ง่ายขึ้นผ่านโซเชียล มีเดีย ทำให้ทั้งสองฝ่ายทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างมีมวลชนและกระบอกเสียงที่คัดคานกัน
ผมคิดว่าภาวะแบบนี้แหละที่เป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยมากกว่า เพราะเป็นการเกื้อหนุนให้รัฐบาลเชื่อมั่นว่า ตัวเองมีมวลชนที่หนุนหลัง แม้จะกระทำในสิ่งที่อาจจะส่งผลเสียตามมาก็จะมีมวลชนฝั่งที่สนับสนุนหลับตาและปกป้องการกระทำ เพราะมีความกลัวว่าฝั่งตรงข้ามจะกลับมาปกครอง
ภาพของความขัดแย้งแตกแยกในสังคมไทยในทางการเมืองนั้นยังคงมีอยู่แน่นอน คำถามว่าเราจะออกจากความขัดแย้งได้ไหม เราจะกลับไปเป็นแบบอดีตที่ต่อสู้กันในช่วงเลือกตั้ง แต่เมื่อเลือกตั้งจบแล้วก็จบ หากรัฐบาลไม่ได้ใช้อำนาจที่ผิดและฉ้อฉลเราก็ปล่อยให้บริหารบ้านเมืองไป แล้วถึงเวลาก็กลับมาสู้กันในกติกา เพียงแต่ผมมองว่า หลักสำคัญที่สุดคือ เราต้องทำกติกาให้เป็นธรรมและเท่าเทียมกันเสียก่อน
ดังนั้นวันนี้สิ่งที่ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ก็คือ การเขียนรัฐธรรมนูญให้สืบทอดอำนาจ การเขียนรัฐธรรมนูญให้ฝ่ายหนึ่งกุมความได้เปรียบ เพราะตัวเองเป็นฝ่ายออกแบบรัฐธรรมนูญมา แม้จะอ้างว่า รัฐธรรมนูญมาจากประชามติก็ไม่สามารถบอกได้ว่ารัฐธรรมนูญนี้มีความถูกต้องเท่าเทียมกันด้วยการรับรองของเสียงข้างมาก หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง จะใช้เสียงข้างมากมาอ้างว่า หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสามก็ไม่มีวันจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องได้
เราเริ่มต้นความขัดแย้งมากว่าทศวรรษ เพราะเรามีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่ฉ้อฉลและประชาชนออกมาขับไล่ แต่การให้ผลประโยชน์ประชาชนไปพร้อมกับการทุจริตหาประโยชน์และประชาธิปไตยที่กินได้นั้น ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งพึงพอใจและลุกขึ้นมาปกป้องรัฐบาลที่ตัวเองชอบแบบถึงโกงแต่ได้ประโยชน์ด้วย จนแบ่งประชาชนเป็นสองฝ่ายเกิดความแตกแยกมาจนถึงทุกวันนี้
แต่ผมเชื่อว่า คนไทยไม่ได้เกลียดชังจนถึงจะเข่นฆ่ากันแม้จะมีความเห็นต่างทางการเมือง แต่ความขัดแย้งนั้นมันอาจทำให้คนอีกฝั่งถูกชักจูงไปเพื่อฝักใฝ่ระบอบการปกครองที่เป็นปรปักษ์กับการปกครองในปัจจุบัน มีความคิดว่า ฝั่งตัวเองต่อสู้บนกติกาที่ไม่เป็นธรรม บ้านเมืองไม่ยุติธรรม ทำให้ชิงชังต่ออำนาจรัฐปัจจุบัน และกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์หวังจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
คนรุ่นใหม่ที่ชอบความเป็นอิสระและใฝ่หาเสรีภาพมีความคิดที่จะเป็นกบฏอยู่บนพื้นฐานของช่วงวัยอยู่แล้ว เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ง่ายต่อการถูกชักนำไปสู่อุดมการณ์แบบอื่น และมันง่ายที่จะให้เขาเชื่อ เมื่อมองเห็นความไม่เป็นธรรมจากรูปแบบรัฐเดิม ถามว่าพวกเขามีความผิดไหม ไม่ผิดหรอกครับในแง่ความคิด เพราะในโลกมันมีความหลากหลายที่เป็นแบบอย่างที่เขาเรียกร้อง เพียงแต่ความคิดนั้นถ้าแปลเป็นการกระทำมันอาจจะผิดกฎหมายของรัฐไทย
ทางออกเดียวที่มองเห็นที่เราจะกลับไปสู่ความเป็นไทยที่รู้รักสามัคคีก็คือ การทำรัฐธรรมนูญให้เป็นธรรมเพื่อหยุดยั้งความแตกแยกกว่าทศวรรษให้สิ้นสุดลง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan