ตอนนี้เจอหน้าใครก็บ่นว่าเศรษฐกิจแย่ทำมาค้าขายลำบาก กลับปักษ์ใต้มายิ่งหนักกว่า เพราะราคายาง 3 กิโลกรัมต่อร้อยบาท ราคาปาล์มขยับขึ้นมาหน่อย แต่ไม่ส่งผลดีอะไร เพราะเขาบอกว่าเป็นช่วงฤดูที่ผลผลิตน้อยราคาที่เพิ่มขึ้นมาจากอุปสงค์อุปทานไม่ใช่ฝีมือใคร
แต่แฟนคลับลุงตู่ก็อวดว่าจีดีพีดีขึ้นและติดอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งที่จีดีพีนั้น หมายถึงมูลค่าของตลาดสินค้าและบริการที่ผลิตในประเทศ อาจจะมาจากผลประกอบการของบริษัทชั้นนำไม่กี่บริษัท ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยมวลรวมเลย ซึ่งสะท้อนด้วยผลของความเหลื่อมล้ำที่ถือครองทรัพย์สินที่สูงถึง 66.9% ของคน 1%
เวลาถามว่าเศรษฐกิจดีไหม แฟนคลับลุงตู่ก็จะบอกว่า ผลกระทบเศรษฐกิจเกิดขึ้นเหมือนกันทั่วโลก ตอนนี้ร่ำๆ ว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ไหม ยิ่งเอาข้ออ้างและเหตุผลนี้มาอ้างได้มากขึ้นไปอีก
เวลามีข่าวว่ารถยนต์ขายดีขึ้นแฟนคลับลุงตู่ก็แดกดันว่า นี่ไงที่ว่าเศรษฐกิจไม่ดี ทั้งๆ ที่ไม่สามารถเอามาชี้ได้ว่าคนไทยมีฐานะดีขึ้นแล้วแห่กันเอาเงินไปซื้อรถ แต่อาจจะมาจากคนไทยไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง
พอฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ลุงตู่ก็บอกว่า รัฐบาลเพิ่งจะรับตำแหน่งมา 5 เดือน ราวกับว่า รัฐบาลที่แล้วไม่ได้มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวกัน และการบริหารประเทศไม่ได้ต่อเนื่องกันมาโดยคนคนเดียวกัน
คือโดยข้อเท็จจริงก็ใช่ว่า ฝ่ายค้านไม่มีสิทธิ์ไปอภิปรายรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะตอนนั้นเป็นรัฐบาลเผด็จการมีแต่สภานิติบัญญัติที่เป็นฝักถั่ว แต่ผมคิดว่า ถ้าเขาจะอภิปรายการบริหารงานที่ต่อเนื่องกันมาว่า การบริหารภายใต้การกำกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีคนนี้นั้น มันส่งผลเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างไร ทั้งในระบบเศรษฐกิจและการเมืองก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่แปลกอะไร
ยิ่งอยู่มานานและอยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จถึง 5 ปีก็หมายความว่าการบริหารงานแทบจะไม่มีอุปสรรคอะไรเลย เพราะไม่มีฝ่ายค้านเป็นก้างตำคอ จะออกกฎเกณฑ์กติกาอะไรมาเอื้อประโยชน์ให้การทำงานอะไรก็ง่ายทั้งการออกกฎหมายและใช้มาตรา 44
ดังนั้นไม่ถูกหรอกครับที่เวลาแฟนคลับลุงตู่เอาโครงการใหญ่ๆ ด้านสาธารณูปโภคมาอวดว่า นี่ไง เผด็จการ เพื่อจะถามว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งน่ะทำได้แบบลุงตู่ไหม เพราะรัฐบาลเลือกตั้งนั้นเน้นการมีส่วนร่วมการตรวจสอบของเสียงข้างน้อย และมีขั้นตอนของการออกกฎหมายที่รัดกุม ไม่ใช่อยู่ในอำนาจของคนไม่กี่คนแบบยุครัฐบาลทหาร
จริงอยู่ว่าเผด็จการหรือประชาธิปไตยนั้น ในตัวบุคคลเราไม่อาจจะเปรียบเทียบได้ว่า อันไหนดีกว่ากัน ถ้ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแต่ได้คนไม่ดีไม่มีความสามารถประเทศก็เสียหายแล้ว ได้เผด็จการที่มีความสามารถก็อาจจะดีกว่า แต่เราเอาเรื่องแบบนี้ไปฝากไว้กับโชคชะตาไม่ได้ ดังนั้นทางออกคือ การสร้างระบบขึ้นมาคัดสรรคนที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากกว่าจะไปเสี่ยงว่าเราอาจเจอเผด็จการที่ดี
ผมไม่ได้โทษการเข้ามาบริหารบ้านเมืองของลุงตู่ในรัฐบาลที่แล้วนะครับ เพราะผมคิดว่า ตอนนั้นไม่ได้มีทางเลือกอื่นที่มากไปกว่านี้ ถ้าลุงตู่ไม่เข้ามาบ้านเมืองก็กลายเป็นรัฐล้มเหลว หาทางออกไม่ได้เพราะรัฐบาลก่อนหน้าใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล แต่ผมหวังว่าจะเป็นช่วงระยะเปลี่ยนผ่านที่เราจะมารีเซ็ตบ้านเมืองกันหน่อยเท่านั้นเอง
กลายเป็นว่า รัฐบาลเผด็จการกลับใช้เวลาถึง 5 ปีในการบริหารบ้านเมือง มากกว่าอายุ 1 สมัยของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสียอีก และก็ใช้เวลาในการเขียนรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับ โดยเหตุผลสำคัญคือ คนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกบอกว่า เพราะรัฐบาลต้องการอยู่ยาว
จากนั้น คสช.ก็กำหนดสเปกของรัฐธรรมนูญลงไปให้ผู้ร่างคนใหม่ว่า ต้องการรูปแบบอย่างไร เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ต้องการคือ การสืบทอดอำนาจ จัดหาคณะกรรมการการเลือกตั้งถึง 2 รอบ เพื่อให้ได้คนที่คิดว่าจะส่งผลดีที่สุด แล้วก็ตั้งคำถามกำกวมในการทำประชามติเพื่อให้ ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้งกับมือสามารถโหวตร่วมกับ ส.ส.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วผลประชามติก็ออกมาได้ดังที่หวัง
กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญนี้ร่างมาเพื่อพวกเรา
แล้วก็ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมารองรับจากนั้นหัวหน้า คสช.ก็แต่งตัวไปรอให้เขาเลือกกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วบอกว่าเรามาแข่งขันกันตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย แต่กลายเป็นว่า ฝั่งหัวหน้า คสช.มีแรงหนุน 250 คนเอาไว้ในมือแล้ว
แม้จะผ่านพิธีกรรมเลือกตั้ง แต่ฝ่ายหนึ่งต้องการเสียง ส.ส.เพียง 126 เสียงก็ตั้งรัฐบาลได้แล้ว อีกฝ่ายอยากจะตั้งรัฐบาลต้องรวบรวมเสียง ส.ส.ให้ได้ถึง 376 เสียงจึงจะเพียงพอ พูดกันทีเล่นแต่เป็นจริงว่า การเลือกตั้งมี 350 เขต ต่อให้พรรคใดพรรคหนึ่งถ้าไม่ใช่ฝั่งที่มี ส.ว.หนุนชนะเลือกตั้งทั้ง 350 เขตก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะหากได้ 350 เขตแล้วก็ยากที่จะได้บัญชีรายชื่อมาเพิ่มอีก ซึ่งเป็นกติกาการเลือกตั้งที่แปลกที่สุดในโลก
แล้วรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เขียนให้ ส.ว.ทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีได้ครั้งเดียว แต่ได้ทุกครั้งตลอด 5 ปี หลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 ครั้งแรก นั่นแสดงว่า ฝ่าย คสช.จะสืบทอดอำนาจได้นานที่สุดถึง 8 ปี และใน 5 ปีนี้จะยุบสภาเลือกตั้งกี่ครั้งก็ยังถือแต้มต่อ 250 เสียงเอาไว้ตลอดไป เราจะไม่สามารถเรียกได้เลยว่า เป็นการเลือกตั้งที่ยุติธรรม เพราะการแข่งขันไม่ได้มีความทัดเทียมกันของกติกาบนเวทีการแข่งขัน
เหตุผลที่สาธยายมาทั้งหมดอาจจะเป็นสิ่งที่คอการเมืองรับรู้และเข้าใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่เพื่อจะเตือนสติว่า ลุงตู่อยู่ยาว จนกว่าจะเบื่อเสียเอง และถ้ายังอยู่เราก็จะได้ยินเสียงตัดพ้อคล้ายกับความลำบากทุกข์ทรมานที่ต้องมารับหน้าที่นายกรัฐมนตรีเหมือนกับการทวงบุญคุณประชาชนอยู่เป็นระยะๆ
เราเห็นแล้วว่า 5 ปีที่อยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จแบบไม่มีฝ่ายค้านนึกจะยกเลิกข้อจำกัดใดก็ใช้อำนาจมาตรา 44 ยกเลิกได้ จะออกกฎหมายหรือคำสั่งไหนมากรุยทางให้ตัวเองทำงานสะดวกก็สามารถทำได้ แต่เราเห็นผลงานของรัฐบาลชุดที่ผ่านมาแล้วว่า เป็นอย่างไรบ้าง มีความสามารถแค่ไหน สิ่งที่เอามาอวดได้อย่างเดียวกันคือ ความสงบ เพราะกฎหมายและปืนกดเอาไว้ไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมือง
แล้วเราคิดบ้างไหมว่า ในภาวะที่รัฐบาลเสียงแบบเรือปริ่มน้ำจะล่มเมื่อไหร่ก็ล่มได้ตลอดเวลา เราจะคาดหวังอะไรจากรัฐบาลชุดนี้ได้บ้าง ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะอยู่ไม่ได้ เพราะบอกแล้วยุบกี่ครั้งก็ยังกลับมาได้อีก แต่หมายถึงประสิทธิภาพในการทำงานจะทำให้รัฐบาลที่อยู่ในสภาวะแบบนี้สะท้อนประสิทธิผลออกมาได้อย่างไร
ข้อดีของการเป็นรัฐบาลลุงตู่ก็คือ มีกองหนุนที่เป็นประชาชนจำนวนไม่น้อยที่คอยปกป้องและชื่นชม แน่นอนเพราะผลพวงมาจากความกลัวของรัฐบาลเลือกตั้งก่อนหน้าที่เข้ามาฉ้อฉลและโกงกินประเทศ แต่เชื่อไหมว่า เวลารัฐบาลลุงตู่ทำอะไรแบบเดียวกันก็เป็นเรื่องดีไปเสียได้
ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวให้พร้อมที่จะอยู่กับรัฐบาลที่มีข้อจำกัดเรื่องความสามารถในการบริหารประเทศ แต่มีอำนาจมากที่จะรักษาเก้าอี้ให้ตัวเองเอาไว้ ต้องอดทนอย่างยิ่งกับการที่รัฐบาลลุงตู่จะอยู่ยาว
ติดตามผู้เขียนได้ที่https://www.facebook.com/surawich.verawan