xs
xsm
sm
md
lg

ยังไงพรรคของทักษิณก็ยังชนะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


ข่าวที่ว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายอนุชา นาคาศัย เดินสายกวาดต้อน ส.ส.อีสานของพรรคเพื่อไทยเข้าพรรคพลังประชารัฐนั้น มันพิสูจน์วังวนเก่าของการเมืองไทยที่ยังจมอยู่ในปลักโคลนเดิม แต่ก็ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านั้นในระบบการเลือกตั้งแบบวันแมนวันโหวตที่ทุกคะแนนเสียงมีคุณค่าตามวิธีการนับคะแนนแบบใหม่

แปลกไหมครับคนเหล่านี้คือพลพรรคของระบอบทักษิณที่ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมจนเกิดการชุมนุมแล้วนำมาสู่การยึดอำนาจ วันนี้ถูกดึงมาเป็นพวกเพื่อการสืบทอดอำนาจ

แน่นอนพรรคพลังประชารัฐนั้นคือ พรรคเป้าหมายที่คาดกันว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะปักธงในฐานะรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี แม้เจ้าตัวจะยังอิดออดทำเป็นเคอะเขิน แต่ก็ไม่น่าจะผิดไปจากนั้น

ตอนนี้ก็เลยใช้อำนาจรัฐเดินสายหาคะแนนพรรคเดียวไปตามจังหวัดต่างๆ แต่ก็ไม่ลืมพูดกับชาวบ้านว่า ที่มานี่ไม่ใช่การหาเสียงหรือหาคะแนนนิยม ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงศัพท์คำว่าหาเสียงและคะแนนนิยมในทางรัฐศาสตร์ก็คงต้องบัญญัติกันใหม่

แต่แต้มต่อที่มีและกำลังแสวงหานั้นก็ยังไม่มากพอในระบบการแข่งขันด้วยหีบเลือกตั้ง เพราะเราไม่ได้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่จะไปถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องรวบรวมเสียง ส.ส.ในมือให้มากที่สุด อย่างน้อยก่อนจะไปที่การรวบรวมเสียงข้างมากพรรคนั้นต้องมี ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 30 คนเพื่อมีโอกาสเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี

ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างน้อยก็ยากกว่าการใช้กำลังทหารเพื่อให้ได้ตำแหน่งเข้ามาแก้วิกฤตของประเทศ

แต่เป็นที่รู้กันว่า ภูมิศาสตร์การเมืองนั้นเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคของทักษิณหรือพรรคเพื่อไทยมากที่สุดที่จะยึดครองพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือ การจะเอาชนะพรรคของทักษิณได้จึงต้องมุ่งเป้าที่การลดจำนวน ส.ส.ของพรรคทักษิณลงมา

เมื่อเป็นเช่นนั้นการมุ่งไปสู่การดึง ส.ส.ของพรรคทักษิณมาร่วมพรรคพลังประชารัฐอาจดูเหมือนเป็นทางออกที่ถูกต้อง เพราะพรรคของทักษิณเป็นพรรคที่ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2544 และบางครั้งก็ได้เสียงข้างมากแบบพรรคเดียวเกินกึ่งหนึ่งของสภา

แต่ถ้าถามผมว่า การเข้าไปดึง ส.ส.จากพรรคของทักษิณมาร่วมพรรคพลังประชารัฐนั้น กระทบต่อพรรคของทักษิณหรือไม่ สำหรับผมคิดว่าไม่เลย

เพราะคลื่นการเมืองที่ถาโถมเข้าสู่พรรคของทักษิณตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน มาเป็นพรรคเพื่อไทย ทำให้พรรคของทักษิณผลิตนักการเมืองขึ้นมาทดแทนกันมาก มีแถวสองแถวสามจนเรียกว่าล้นพรรคเลยก็ว่าได้

แล้วผมเชื่อว่า คนอีสานและคนเหนือน่าจะยังเลือกพรรคของทักษิณอยู่ เพราะ 4 ปีหรือกว่าจะเลือกตั้งเป็น 5 ปีรัฐบาลทหารไม่ได้ทำอะไรให้ทัศนคติของคนที่เลือกพรรคของทักษิณเปลี่ยนไปเลย ความคิดและความเชื่อของเขาก็ยังเชื่อว่าทักษิณคือคนที่ทำประโยชน์ให้กับเขา หยิบยื่นประชาธิปไตยที่กินได้มาให้ แต่ทักษิณถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง

ถ้าความคิดของผมเป็นจริงก็จะไม่มีความหมายเลยว่า พรรคเพื่อไทยจะส่งใครเลือกตั้งในพื้นที่นั้นก็ได้ เป็นอารมณ์เดียวกับคนใต้เลือกพรรคประชาธิปัตย์ แล้วนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์คุยโวว่าส่งเสาไฟฟ้าลงคนก็เลือก

นอกจากนั้นเมื่อพรรคเพื่อไทยมีโอกาสชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.เขตจำนวนมาก โอกาสที่จะได้บัญชีรายชื่อเพิ่มก็จะน้อยลงมาด้วย ผมลองเอาคะแนนของพรรคในการเลือกตั้งครั้งก่อนมาคิด (แน่นอนอาจมีความคลาดเคลื่อนเพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้ระบบบัตรเดียว) ซึ่งน่าจะได้ค่าพอประมาณพบว่ามีโอกาสมากเลยที่บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยจะไม่ได้แม้แต่คนเดียว

เหตุผลที่ต้องเข้าใจเป็นพื้นฐานก็คือ มีการคิดค่าเฉลี่ยว่า จำนวนคะแนนของแต่ละพรรคในทุกเขตเลือกตั้งมารวมกันแล้วคิดค่าเฉลี่ยเป็น 1 ที่นั่งนั้นน่าจะอยู่ที่ 70,000 คะแนน (ค่าเบี่ยงเบนตามจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์) สมมติว่า พรรคหนึ่งได้คะแนนรวม 7 ล้านเสียงจะได้ ส.ส.ประมาณ 100 คน ถ้า ส.ส.เขตได้ 100 คนอยู่แล้วก็จะไม่ได้บัญชีรายชื่ออีก

ในครั้งที่แล้วพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตประมาณ 200 คนมีคะแนนพรรครวมกันประมาณ 14 ล้านเสียงนั่นเท่ากับว่าจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อสักคน ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้มีโอกาสมากที่เบอร์ใหญ่จะไปลง ส.ส.เขตเสียเอง

แถมการจัดเรียงลำดับในระบบบัญชีรายชื่อยังไม่สามารถเรียงได้ตามความสามารถและศักยภาพของแต่ละคน หากต้องทำไพรมารีโหวต เพราะจะต้องส่งรายชื่อให้สมาชิกพรรคเลือกคนละ 15 รายชื่อจาก 150 รายชื่อ แล้วเรียงลำดับตามคะแนนที่ได้รับเลือกจากสมาชิกพรรค ยกเว้นหัวหน้าพรรคคนเดียวเท่านั้นที่หากต้องการลงในบัญชีรายชื่อจะได้อยู่อันดับที่ 1 ดังนั้นผมจึงคิดว่า ไม่มีใครอยากลงบัญชีรายชื่อแน่ๆ ในพรรคเพื่อไทย

แล้วข้อดีของการเอาเบอร์ใหญ่ไปลง ส.ส.เขตก็คือ ทำให้คะแนนที่ได้รับมีมากซึ่งจะส่งผลต่อการคิดคะแนนบัญชีรายชื่อของพรรคด้วย เช่นสมมติว่า ลงสมัคร ส.ส.เขตแล้วได้รับเลือกตั้งมาทั้งสิ้น 70,000 คะแนน เท่ากับว่ามีโอกาสโดยค่าเฉลี่ยแล้วเท่ากับเราสามารถผลิตเก้าอี้บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 1 คน การเลือกตั้งแบบนี้ยิ่งทิ้งห่างพรรคอันดับ 2 ให้ได้มากจะยิ่งดี

แต่พรรคที่มีจำนวน ส.ส.ที่มีโอกาสได้รับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งน้อยก็จะมีคนที่มีความต้องการลงในบัญชีรายชื่อเยอะ สมมติว่าพรรคนั้นได้ ส.ส.เป็นอันดับ 2 ในทุกเขตไม่ได้บัญชีรายชื่อเลย คะแนนของพรรคนั้นก็จะส่งอานิสงส์มาที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่รออยู่ในอัตราที่บอกไว้ว่ารวมกันได้ประมาณ 70,000 คะแนนจะได้ 1 ที่นั่ง

การนับคะแนนแบบนี้เป็นโอกาสทองของคนที่พอจะมีคะแนนเสียงอยู่ในตัว ไม่ว่าจะหลักหลายร้อยหลักหลายพันหรือหลักหมื่น แม้ว่าจะไม่มีโอกาสได้รับการเลือกตั้งในเขต แต่พรรคระดับรองก็จะต้องการตัวมาลงสมัครในนามพรรคเพื่อเก็บเกี่ยวคะแนนรวม ซึ่งทราบว่ามีหลายคนเริ่มถูกทาบทามแล้ว เป็นโอกาสของนักการเมืองท้องถิ่นระดับต่างๆที่จะมีค่าตัวที่แตกต่างกันไปตามศักยภาพของแต่ละทีม เพราะทุกพรรคจะมุ่งไปที่การส่งคนลงให้ได้เยอะที่สุดของเขตเลือกตั้ง

ดังนั้นการได้อดีต ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยของพรรคพลังประชารัฐก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เพราะอดีต ส.ส.แม้จะได้รับเลือกหรือไม่ก็จะมีคะแนนในระดับหนึ่ง หากได้หลายคนก็จะส่งผลต่อคะแนนรวมของพรรคนั่นเอง ผมเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐน่าจะพุ่งเป้าไปที่คะแนนรวมมากกว่า จากนั้นจึงไปรวบรวมเสียงข้างมากให้ได้เกินครึ่งของสภาผู้แทนฯ คือ 251 คนขึ้นไปเพราะมี ส.ว. 250 คนอยู่ในมือ แต่โจทย์ของพรรคทักษิณนั้นยากกว่าคือต้องรวบรวมเสียง ส.ส.ให้ได้ 376 เสียงคือครึ่งหนึ่งของสองสภาจึงจะขัดขวางการสืบทอดอำนาจได้

ดังนั้นผมจึงเชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคของทักษิณจะชนะการเลือกตั้งในเชิงปริมาณอีก แต่ก็ยากจะฝ่าฟันเข้าสู่อำนาจรัฐได้

ติดตามผู้เขียนได้ที่ Surawich Verawan (刘永真)



กำลังโหลดความคิดเห็น