ส.ส. “ส้มหวาน” ดาหน้าจวก ‘ณฐพร’ ยื่น กกต.ยุบ “อนค.” ตาม ม. 92 ใหม่ เกินกว่าเหตุ อาศัยคำวินิจฉัยศาล รธน.ที่ว่า “ข้อกล่าวหาของผู้ร้องยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอ” เอาผิดแจ้งความเท็จ ตาม ม. 101 วรรคหนึ่ง
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้เฟซบุ๊ก การเมืองไทย ในกะลา โพสต์หัวข้อ 'อนค.เอาคืน' จ่อแจ้งจับ ‘ณฐพร’ ร้องเท็จต่อกกต. ลั่นเช็คบิลพวกลากโยง ‘ชังชาติ’
โดยอ้างว่า วันนี้(26 ม.ค.63) นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้า ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จะมีการหารือและรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้เอาผิดกับนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ในฐานะผู้ร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 101 วรรคหนึ่ง
นายคารม กล่าวอีกว่า เราเห็นว่าการกระทำของนายณฐพร เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุเป็นอย่างยิ่ง เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ไปแล้ว โดยมีเหตุผลหนึ่ง คือ ข้อกล่าวหาของผู้ร้องยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงพอ แต่ปรากฏว่านายณฐพร ยังจะพยายามมากล่าวหาพรรคอนาคตใหม่อีก ด้วยการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
“การกระทำของคุณณฐพรมีเจตนาที่ชัดเจน และสร้างผลเสียหายให้กับพรรคอนาคตใหม่ ดังนั้น ส.ส.ในฐานะผู้เสียหายหากมีการยุบพรรคเกิดขึ้นจริง จึงเตรียมที่จะดำเนินการตามกฎหมายเช่นกัน หลังจากที่ผ่านมาถูกกระทำฝ่ายเดียวมาตลอด” นายคารม กล่าว
นายคารม กล่าวด้วยว่า พรรคอนาคตใหม่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแน่วแน่ แต่กลับมีกลุ่มคนบางพวกมากล่าวหาพรรคอนาคตใหม่ให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะการสร้างวาทกรรมชังชาติ
ดังนั้นนับจากนี้ไป พรรคอนาคตใหม่จะไม่นิ่งเฉยกับข้อกล่าวหาดังกล่าว และพร้อมใช้ช่องทางตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของพรรค และเพื่อให้อีกฝ่ายได้รับการตรวจสอบเช่นกันต่อไป
สำหรับมาตรา 101 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดแจ้งหรือกล่าวหาพรรคการเมืองหรือบุคคลใดว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ต่อคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยรู้อยู่ว่า เป็นความเท็จต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น”
สอดรับกับเมื่อวันที่ 24 ม.ค.63 นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีที่ นายณฐพร โตประยูร เดินทางไปยื่นเอกสารฟ้องร้องยุบพรรคอนาคตใหม่เพิ่มเติม
โดยระบุว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 ม.ค.63 ที่ผ่านมา ฐานความผิดคดีล้มล้างการปกครองฯตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ตามคำร้องของนายณฐพร โตประยูร ก็คิดว่าจะจบกันไปไม่ไปต่อความยาวสาวความยืดอีก
แต่ในเมื่อนายณฐพร ยังไม่ยอมหยุด ดิฉันและเพื่อน.ส.ส.อีกจำนวนหนึ่ง ในฐานะส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ และเป็นผู้เสียหายโดยตรง ขอฟ้องกลับนายณฐพร โตประยูร ความผิดตาม พรป. พรรคการเมือง มาตรา 101 วรรคหนึ่ง เพราะรู้อยู่แล้วว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พรรคอนาคตใหม่ไม่ผิด แต่ยังคงร้องเรียนต่อไป ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต
นอกจากนี้ นางอมรัตน์ยังถามไปยังนายณฐพรว่า หากเชื่อในกระบวนการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจริง แล้วเหตุใดจึงไม่ยอมรับคำวินิจฉัย หรือเป็นพวกปากว่าตาขยิบ
ทั้งนี้การยื่นยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นความหวังดีต่อสังคมอย่างที่พูดจริงๆ หรือกำลังทำงานเพื่อแลกกับการต่อรองบางอย่าง อันนี้ต้องให้สังคมและประชาชนเป็นผู้ตรวจสอบและตัดสิน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 ม.ค.63 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายณฐพร โตรประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และเป็นผู้ร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ ได้ยื่นหนังสือเพิ่มเติมต่อกกต.หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยกคำร้องในมาตรา 49 แต่ในมาตรา 92 (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง ได้เปิดช่องไว้
นายณฐพร กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลตอนหนึ่งระบุว่า “หากมีการกระทำอันเป็นความผิดในกฎหมายอื่น ก็ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆที่ต้องไปพิจารณาดำเนินการ” ซึ่งความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 (2) ตนไม่มีอำนาจยื่นร้อง เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของกกต. จึงจำเป็นต้องมายื่นคำร้องพร้อมนำหลักฐานมาส่งมอบให้กกต.ได้พิจารณาดำเนินการ ในความผิดฐานเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่
ทั้งนี้ในคดีดังกล่าว เคยมีแนวคำวินิจฉัยของศาลไว้แล้วในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ในมาตรา 92 (2)
“แค่มีแนวคิดก็ถือว่าเป็นปฏิปักษ์แล้ว ซึ่งข้อความและถ้อยคำทั้งหมดที่ผมนำมายื่นร้อง ไม่ได้เกิดจากการตกแต่งแต่เกิดจากการกระทำของคณะกรรมกรรมบริหารของพรรคอนาคตใหม่
ผมต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า คำร้องของผมไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ยกตัวอย่างกรณีข้อบังคับพรรค ถ้าผมไม่ยื่นร้อง ทุกอย่างก็จะเงียบไปทำอะไรไม่ได้ กรณีร้องยุบพรรคก็เช่นเดียวกัน ผมจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการให้สิ้นสุด ยื่นยันว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กับกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 92 (2)นั้นต่างกัน ซึ่งมาตรา 49 เป็นเรื่องของการล้มล้างการปกครองฯ แต่มาตรา 92 (2) เป็นเรื่องของการเป็นปฏิปักษ์ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต.จะต้องดำเนินการ ผมถือว่าทำหน้าที่สมบูรณ์ในฐานะพลเมืองแล้ว”
นายณฐพร กล่าวว่า เบื้องต้นหลังจากตนมายื่นคำร้องไว้ก่อนแล้ว กกต.ได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณา และได้เรียกตนมาให้ข้อมูลแล้ว ในวันนี้เอกสารที่ได้มายื่นเพิ่มเติมเป็นการบรรยายถึงพยานหลักฐานทั้งหมดที่เชื่อมโยงกับข้อกฎหมาย ว่าผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองอย่างไร ถ้าได้อ่านก็จะเข้าใจ เช่น คำว่า 2475 มีที่มาที่ไปอย่างไร การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รูปแบบเป็นอย่างไร การจะสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีความหมายอย่างไร ซึ่งข้อความทั้งหมดตนไม่ได้ตกแต่งขึ้นแต่เกิดจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4
เมื่อถามว่า การยื่นร้องที่ไม่สิ้นสุด อาจถูกมองว่า เป็นความพยายามที่จะยุบพรรคอนาคตใหม่ให้ได้หรือไม่ นายณฐพร กล่าวว่า ที่ผ่านมาการยื่นร้องเรื่องล้มล้างการปกครองถ้ามีความผิดศาลก็แค่สั่งยุติการกระทำ แต่ความผิดฐานเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองโทษถึงถูกยุบพรรค โดยที่ผ่านมาศาลยังไม่ได้วินิจฉัยความผิดตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
และคำวินิจฉัยตอนหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญยังระบุด้วยว่า หากมีการกระทำความผิดอื่นใด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป ตนยังยื่นยันว่าไม่ได้โกรธเคืองหรือคิดล้มล้างเขา ในทางตรงกันข้ามตนก็ถูกโจมตีว่า มายื่นร้องเพื่อฟอกขาวให้พรรคอนาคตใหม่ ตนจึงต้องมาทำหน้าที่ให้ครบถ้วน หลังจากวันนี้ก็ถือว่าจบหน้าที่แล้ว แค่ศาลวินิจฉัยให้แก้ข้อบังคับพรรคเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกตนก็พอใจแล้ว
สำหรับมาตรา 92 (2) ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุว่า คณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น การกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ความจริง ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผล ที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ในเมื่อกฎหมายเปิดช่องให้ ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่เหนืออื่นใด เมื่อมีคำตัดสินของศาลฯ ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องยอมรับคำตัดสินเท่านั้นเอง
กรณีนี้ถ้าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังคงคาใจ ก็ถือว่า เอาให้จบโดยปราศจากข้อสงสัยไปเลยได้ยิ่งดี หรือไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น?