ปิดฉากสัปดาห์นี้...คงต้องไปว่ากันเรื่อง “เศรษฐกิจ” อีกนั่นแหละทั่น เพราะไม่รู้จะไปหาเรื่อง “เบาๆ” มาจากไหน จากแห่งหนตำบลไหน ในเมื่อไม่ว่าความเป็นไปของโลก หรือแม้แต่ของบ้านเรา อะไรต่อมิอะไรมันออกไปทาง “หนักๆ” ไปด้วยกันทั้งนั้น และแม้แต่เรื่อง “เศรษฐกิจ” ที่จะหยิบมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ ก็คงไม่ได้ถึงกับ “เบา” มากมายสักเท่าไหร่นัก เผลอๆ...อาจหนักซะยิ่งกว่าเรื่อง “การเมือง” “การทหาร” ไม่รู้กี่เท่าต่อกี่เท่า...
คือแม้เป็นเรื่องที่บรรดา “สื่อในบ้านเรา” ไปจน “สื่อกระแสหลัก” ต่างบ้าน ต่างเมือง ไม่ค่อยคิดหยิบมาพูดถึงมากมายสักเท่าไหร่ แต่เป็นสิ่งที่ “พึงรับฟัง” เอาไว้ก็ไม่น่าจะเสียหาย เนื่องจากผู้ที่พูดเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ ก็จัดอยู่ในประเภทคล้ายๆ อดีตปรมาจารย์นักดาบซามูไรของญี่ปุ่น อย่าง “ชิมเม็น มูซาชิ” อยู่พอสมควรเหมือนกัน คือประเภท “พูด...แล้วทุกคนต้องฟัง” อะไรประมาณนั้น ส่วนจะ “ฟังแล้วได้ยิน-หรือไม่ได้ยิน” ก็แล้วแต่จะว่ากันไป นั่นคือนักเศรษฐศาสตร์สตรีชาวบัลแกเรีย ผู้มีนามกรว่า “Kristalina Georgieva” ผู้เคยมีอดีตเป็นถึงผู้ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานธนาคารโลก และช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2017-2019 ก็ยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ “IMF” ซะอีกต่างหาก...
โดยเมื่อช่วงประมาณปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (17 ม.ค.) คุณป้า “Kristalina” ผู้นี้...ท่านได้ไปอภิปราย ณ สถาบันที่เรียกๆ กันว่า “Peterson Institute of International Economics” ที่กรุงวอชิงตัน เกี่ยวกับเรื่องแนวโน้มภาวะความเป็นไปทางเศรษฐกิจในระดับโลกอะไรทำนองนั้น และบางส่วนในคำกล่าวของท่านออกจะก่อให้เกิดความ “อึ้ง-ทึ่ง-เสียว” เอามากๆ คือการระบุไว้ว่า โดยรายงานการสำรวจวิจัยคราวล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ได้นำเอาแนวโน้มและภาวะความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ไปเทียบเคียงกับสิ่งซึ่งเกิดขึ้นมาเมื่อครั้งอดีต ก็พบว่า...มีหลายต่อหลายสิ่งอย่างด้วยกันที่ทำให้แนวโน้มและภาวะเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงเอามากๆ กับภาวะเศรษฐกิจโลกเมื่อช่วงประมาณปี ค.ศ. 1920 หรือทำให้ภาวะความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน มีแนวโน้มที่อาจหวนกลับไปสู่ “อภิมหาวิกฤตเศรษฐกิจ” หรือ “อภิมหาการถดถอยครั้งใหญ่” ที่ถูกเรียกขานกันในนาม “The Great Depression” นั่นแล...
นี่...หนัก-ไม่หนัก เบา-ไม่เบา คงต้องไปคิดกันเอาเองก็แล้วกัน เพราะถ้ามันไปถึงขั้น “The Great Depression” ขึ้นมาแล้วล่ะก็ นอกจากจะตามมาด้วยความฉิบหายวายวอดของโลกทั้งโลกอย่างถ้วนทั่วไปด้วยกันทั้งหมด ไม่ว่ายุโรป อเมริกา หรือแม้แต่บ้านเรา ที่ถึงขั้นต้อง “ดุลข้าราชการ” หรือต้องปลดข้าราชการออกกันเป็นแถบๆ แถมยังนำมาซึ่ง “ความเปลี่ยนแปลง” ในระดับ “พลิกฟ้า-คว่ำดิน” หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ประชาธิปไตย” แบบผัวกิน-เมียหาย พ่อตาดม-แม่ยายฟื้น ฯลฯ หรืออะไรต่อมิอะไรจนตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนโลกทั้งโลก...ก็หนีไม่พ้นต้องเดินหน้าเข้าสู่สมรภูมิ “สงครามโลกครั้งที่ 2” หลังระบบธนาคาร การลงทุน การตลาด พังพินาศวอดวายไปพร้อมๆ “วิกฤตเศรษฐกิจปี ค.ศ. 1923” หรือพูดง่ายๆ ว่า...ถ้าหากมันเกิดภาวะแบบเดียวกับ “The Great Depression” ขึ้นมาจริงๆ วิกฤตระดับ “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” อย่างช่วงปี ค.ศ. 2008 ย่อมกลายเป็นแค่เรื่อง “เด็กๆ” ไปโดยทันที...
จริง-ไม่จริง เชื่อ-ไม่เชื่อ เป็นไปได้-เป็นไปไม่ได้...ลองไปนั่งคิด นอนคิด เอาเองก็แล้วกัน แต่โดยเหตุผล ข้อมูลและสถิติ ที่คุณป้า “Kristalina” ท่านหยิบยกมาเป็นตัวอย่างอ้างอิง ก็คงไม่ใช่การเพ้อไป-เพ้อมา โดยปราศจากเหตุปัจจัยรองรับ เช่น การก่อหนี้สินของบรรดาประเทศทั้งหลายในโลกนี้ ที่มันท่วมโลก และท่วมประเทศต่างๆ ไม่ว่าอเมริกา ยุโรป เอเชีย ฯลฯ จน “ไปไม่เป็น” หรือ “ไปไม่กลับ-หลับไม่ตื่น-ฟื้นไม่มี” กันไปเป็นแถบๆ และท่ามกลางภาวะหนี้ที่ท่วมทับแต่ละประเทศ แม้จะทำให้ “ช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำ” ระหว่างประเทศแต่ละประเทศ มีอาการลดน้อยถอยลงในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ภายในแต่ละประเทศ “ช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำ” ที่ว่านี้...มันกลับ “ขยายตัว” อย่างชนิดน่าตื่นตะลึงพรึงเพริดยิ่งขึ้นทุกที โดยคุณป้าท่านได้หยิบเอาประเทศ “อังกฤษ” มาเป็นตัวอย่าง ที่ความมั่งคั่ง ร่ำรวย ของคนชั้นบนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ มีจำนวนมากยิ่งกว่ารายได้และทรัพย์สินบรรดาคนชั้นล่างถึง 50 เปอร์เซ็นต์รวมกัน ส่วนในอเมริกาแม้ท่านไม่คิดหยิบมาใช้เป็นตัวอย่าง จะด้วยความเกรงใจเจ้าบ้าน หรือด้วยเหตุผลกลใดก็ตามที แต่เป็นที่ทราบๆ กันดี ว่าชนชั้นบนประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ในอเมริกา มีความมั่งคั่ง ร่ำรวย ซะยิ่งกว่าอเมริกันชนประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์อยู่แล้วแน่ๆ เช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศ ที่ถึงแม้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมจะโตวันโตคืน แต่ “ช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำ” ในประเทศ ก็ยิ่งโตขึ้นๆ ยิ่งขึ้นไปเท่านั้น...
บรรดาความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้...ได้ก่อให้เกิด “ปัญหา” ซุกซ่อนอยู่ในประเทศต่างๆ อยู่ในระบบเศรษฐกิจ ในตลาดหุ้น ธนาคาร ไปจนถึงในทรัพย์สินแต่ละรูปแต่ละแบบ ชนิดไม่ต่างอะไรไปจาก “ฟองสบู่” ที่พร้อมจะแตกได้ทุกเมื่อ แถมยังก่อให้เกิด “นโยบายประชานิยม” ไปพร้อมๆ กับภาวะความสับสนวุ่นวายทางการเมือง เศรษฐกิจ อุบัติขึ้นมาในแต่ละประเทศโดยการอุบัติขึ้นมาของสิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงก่อให้เกิด “ผลกระทบ” เฉพาะกิจการธุรกิจ หรือบริษัทธุรกิจเท่านั้น แต่ยังแผ่ซ่าน ลงลึก ไปยังระดับ “ปัจเจกบุคคล” จนทำให้ตัวเลข ข้อมูล สถิติต่างๆ นานา ที่รายงานชิ้นใหม่ล่าสุดของ “IMF” รวบรวมไว้ได้ เลยเป็นอะไรที่คล้ายกันแทบจะเป๊ะๆๆ กับตัวเลข ข้อมูล สถิติ ซึ่งเคยปรากฏให้เห็นในช่วง “The Great Depression” นั่นแล...
อย่างไรก็ตาม...แม้แนวโน้มความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจที่คุณป้า “Kristalina” ท่านนำมาพูดจาปราศรัยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา จะไม่ค่อยมีใครหยิบมาพูดถึง เอ่ยถึง มากมายสักเท่าไหร่ แต่ถ้าดูจาก “สีสันบรรยากาศ” การประชุมบรรดา “ผู้นำทางเศรษฐกิจ” ระดับโลก ณ กรุงดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หรือการประชุม “World Economic Forum” ตั้งแต่ช่วงวันอังคารถึงวันศุกร์ (21-24 ม.ค.) บรรดาผู้นำทางธุรกิจ เศรษฐกิจ ทั้งหลาย...น่าจะออกอาการ “เหี่ยวปลาย” กันไปมิใช่น้อย เพราะเท่าที่ดูจากผลสำรวจความคิดเห็นตามรายงานที่เรียกๆ กันว่า “Global Risks Report 2020” จากบรรดาตัวแทนเศรษฐกิจจำนวนถึง 750 ราย มีอยู่ถึง 78 เปอร์เซ็นต์ที่เชื่อว่า “ภาวะการเผชิญหน้าทางเศรษฐกิจ” ที่จะเรียกว่า “สงครามการค้า” “สงครามเทคโนโลยี” หรือ “สงครามภาษี” ฯลฯ ก็แล้วแต่ รวมทั้ง “ความปั่นป่วนทางการเมืองภายในแต่ละประเทศ” จะเป็นตัวส่งผลให้แนวโน้มความเป็นไปทางเศรษฐกิจในอนาคตเบื้องหน้า น่าจะหนักไปทางฉิบหายกับฉิบหาย หรือเสี่ยงกับเสี่ยงอย่างมิอาจปฏิเสธได้...
การประชุม “World Economic Forum” คราวนี้...ก็เลยออกไปทาง “แบบบ์บ์บ์แห้งง์ง์ง์” อยู่พอสมควร ผู้นำระดับดังๆ ไม่ว่าผู้นำเยอรมนี อังกฤษ ไม่ได้เข้าร่วมด้วย แม้แต่ผู้นำจีนก็ส่งแค่ระดับรองนายกรัฐมนตรี “Han Zheng” ไปเป็นตัวแทน เหลือแต่ผู้นำประเภท “บ้าไม่เสร็จ” หรือ “บ้าไม่เลิก” อย่าง ประธานาธิบดี “ทรัมป์บ้า” ของอเมริกาเท่านั้น ที่ลงทุนไปประชุมและกล่าวปราศรัยด้วยตัวเอง โดยอดไม่ได้ที่ต้องคุยโม้ คุยโต ไว้ว่า... “ความฝันของชาวอเมริกัน (American Dream) ได้หวนกลับคืนมาแล้ว และยิ่งใหญ่กว่าเดิม ดีกว่าเดิม แข็งแกร่งยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา จนทำให้ช่วงเวลานี้...ไม่ใช่เวลาสำหรับพวกมองโลกในแง่ร้าย เพราะนี่คือเวลาสำหรับผู้มองโลกในแง่ดี” โดยหลังจากนั้นอีกแค่ไม่กี่ชั่วโมง...ก็เลยเริ่มเปิดฉาก “สงครามภาษี” (Tariff War) กับบรรดาประเทศในยุโรป ว่าถ้าคิดเก็บภาษีบริษัทอเมริกันประเภทกูเกิล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ฯลฯ ขึ้นมาเมื่อไหร่ อเมริกาก็พร้อมจะขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากยุโรปโดยฉับพลันทันที...เฮ้ออ์อ์อ์ อะไรจะ “บ้า” เท่านี้ย่อมไม่มีอีกแล้ว...