“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
เมื่อกลางปีที่ผ่านมา นิตยสารฟอร์บส์ ไทยแลนด์ จัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีประเทศไทยที่รํ่ารวยที่สุด ประจำปี 2562 พบว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยรวมของมหาเศรษฐีในทำเนียบอยู่ที่ 1.605 แสนล้านดอลลาร์ ประมาณ 5.14 ล้านล้านบาท พบว่า 50 มหาเศรษฐีไทยที่รํ่ารวยที่สุดมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ปี 2558จาก 2.6 ล้านล้านบาทในปี 2558 เป็น 5.14 ล้านล้านบาท
มหาเศรษฐีอันดับ1 ของไทย ตระกูลเจียรวนนท์ ภายใต้การนำของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” จากเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจาก 4.8 แสนล้านบาทในปี 2558 เป็น 9.41 แสนล้านบาท ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 4.61 แสนล้านบาท
อันดับ 2 ตระกูลจิราธิวัฒน์ กลุ่มเซ็นทรัล ทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 2.58 แสนล้านบาทจาก 4.12 แสนล้านบาทในปี 2558 เป็น 6.70 แสนล้านบาทในปี 2562
มหาเศรษฐีอันดับ 3 นายเฉลิม อยู่วิทยา กลุ่มกระทิงแดง 5 ปีที่ผ่านมาทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 3.15 แสนล้านบาท จาก 3.2 แสนล้านบาทในปี 2558 เป็น 6.35 แสนล้านบาท ในปี 2562
ตระกูลโอสถานุเคราะห์ มหาเศรษฐีอันดับ 8 ภายใต้การนำของ นายเพชร โอสถานุเคราะห์ และนายนิติ โอสถานุเคราะห์ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 5.81 หมื่นล้านบาท จาก 3.76 หมื่นล้านบาท ในปี 2558 เป็น 9.57 หมื่นล้านบาทในปี 2562
ขณะที่ไทยเลื่อนอันดับเป็นประเทศที่ “มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับ1ของโลก” คน 1% ของประเทศนี้ถือครองทรัพย์สินมากกว่า 66.9% และ คน 99% ถือครองทรัพย์สินเพียง 33.1% อันดับ 2 รัสเซีย 57.1 % อันดับ 3 ตุรกี 54.1 % อันดับ 4 อินเดีย 51.5%
นี่เป็นการสะท้อนสภาวะรวยกระจุกจนกระจายที่เราพูดขานกันอย่างชัดเจนที่สุด แล้วจะเห็นว่า กลุ่มคนรวยข้างบน 1% นั้น ยิ่งรวยขึ้นกว่าเท่าตัวใน 4-5 ปีที่ผ่านมา
ในขณะที่ฐานะการเงินของประเทศมีความแข็งแกร่งมาก โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศของทางการ เดือนกุมภาพันธ์ 2562 รวมกว่า 7.67 ล้านล้านบาท ส่วนมูลค่าทองคำ กว่า 2 แสนล้านบาท โดยไทยมีอันดับสำรองสูงเป็นอันดับ 12 ของโลก นับเมื่อเดือนตุลาคม 2562
ขณะที่มีข่าวว่าไอเอ็มเอฟได้ออกมาแนะนำว่าควรนำเอาทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยที่มีอยู่เกินความจำเป็นอย่างมากมาใช้ประโยชน์ ในการตั้งกองทุนเพื่อบริหารให้ได้ผลตอบแทน และนำรายได้ดังกล่าวไปช่วยเหลือผู้สูงอายุในประเทศไทยที่นับวันจะมีเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะประชากรของประเทศไทยจะแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วใน 20-30 ปีข้างหน้า แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ขานรับข้อเสนอนี้ เพราะกลัวว่าจะเกิดการคัดค้าน
หน้าที่สำคัญของทุนสำรองระหว่างประเทศคือ การรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศ แทรกแซงค่าเงินเพื่อลดความผันผวนและรักษาสมดุลของเศรษฐกิจ ไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไป รับมือความผันจากต่างประเทศและการโจมตีค่าเงิน ในบางประเทศมีการนำทุนสำรองระหว่างประเทศหรือเงินตราต่างประเทศส่วนที่เกินต่อความจำเป็นไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อให้เกิดดอกผลเพิ่มขึ้น เช่นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของต่างประเทศ การลงทุนในทองคำ เป็นต้น แต่จะเลือกลงทุนในตลาดที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ถึงแม้ผลตอบแทนจะไม่สูงมากนักก็ตาม
หน้าที่ที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งของทุนสำรองระหว่างประเทศคือ การใช้ค้ำประกันยอดการพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้งาน กล่าวคือ ยิ่งมีทุนสำรองมากก็จะสามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้งานได้มาก
ผมไม่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจจึงพยายามค้นหาตัวเลขทางเศรษฐกิจเหล่านี้มาเพื่อจะบอกว่า ในขณะที่รัฐบาลเชื่อว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจมาถูกต้อง ในขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่บ่นว่า เป็นปีที่เศรษฐกิจแย่มากนั้น ข้อเท็จจริงคืออะไร
รัฐบาลก็รู้ว่า ไม่มีเงินหมุนเวียนในตลาด แต่ยังสงสัยกันว่าชาวบ้านไม่มีกำลังซื้อหรือไม่ยอมใช้จ่ายเงิน จึงออกนโยบายประชานิยมชิม ช้อป ใช้ออกมาเอาเงินมาแจกให้เกิดการหมุนเวียน 2 เฟสแรกเลยคึกคักมาก แต่พอออกนโยบายเฟส 3 คือ ให้ชาวบ้านออกเงินจับจ่ายไปก่อนและคืนเงินให้ ปรากฏว่ามาตรการนี้กลับเงียบฉี่
เสียงบ่นของชาวบ้านร้านตลาดคนเล็กคนน้อยที่ทำการค้าขายนั้น ว่าไปแล้วสวนทางกับตัวเลขความร่ำรวยของกลุ่มเศรษฐี 1 % ที่ร่ำรวยเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็แสดงว่าจริงๆแล้วกำลังซื้อยังมีอยู่ไม่เช่นนั้นคนข้างบนจะร่ำรวยไม่ได้ เพียงแต่เงินมันไหลไปอยู่กับกลุ่มทุนใหญ่อย่างเดียว ไม่ไหลมาสู่คนข้างล่างที่ประกอบอาชีพค้าขาย
มีบางคนโทษชาวบ้านว่า พฤติกรรมในการบริโภคของชาวบ้านเปลี่ยนไป เพราะไปซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อเซเว่น หรือโลตัส หรือช็อปผ่านลาซาด้า ไปกินอาหารในห้าง จึงเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ที่เงินจะไหลไปกองอยู่กับกลุ่มนายทุน
ผมเข้าใจนะครับเรื่องซื้อของร้านสะดวกซื้อมากกว่าซื้อของร้านของชำของชาวบ้าน แต่จะเอาเรื่องนี้มาโทษประชาชนว่า พวกเอ็งไม่อุดหนุนกันเองไปอุดหนุนแต่เซเว่นโลตัสเองนี่หว่า ดังนั้นจะมาบ่นว่าเศรษฐกิจแย่ทำไมนั้น
ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ตลกมาก เขาเข้าร้านสะดวกซื้อของนายทุน เพราะมันมีสินค้าหลากหลายกว่าราคาถูกกว่า และตั้งอยู่ในแหล่งใกล้บ้านมากกว่า ปัญหามันมาตั้งแต่เริ่มต้นว่า รัฐบาลไม่ได้มองเห็นผลกระทบที่อนุญาตให้เปิดร้านแบบนี้เป็นดอกเห็ดจนทำลายเศรษฐกิชุมชนไปอย่างย่อยยับ
เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สภาพัฒน์ ก็ได้ออกมาแถลงคาดการณ์เศรษฐกิจไทยว่าปี พ.ศ. 2562 นี้น่าจะเติบโต 2.6 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าปีหน้าจะเติบโตอยู่ระหว่าง 2.7 ถึง 3.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าเลือกเอาค่ากลางก็คือ ปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 3.2 เปอร์เซ็นต์
ในขณะที่ เศรษฐกิจกัมพูชา จะยังเติบโตได้ที่ระดับราว 6.8% ในปี 2019 แต่เริ่มเห็นการชะลอตัวลงในระยะกลาง ความคืบหน้าของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการส่งออกและ FDI
เศรษฐกิจลาว จะกลับมาขยายตัวที่ราว 6.4% ในปี 2019 และคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเป็น 6.5% ในปี 2020 หลังจากที่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตชะลอลงในปี 2018 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจลาวคือ การส่งออกไฟฟ้า การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และภาคบริการ ซึ่งนำโดยภาคค้าส่ง-ค้าปลีกและการท่องเที่ยว
เศรษฐกิจเมียนมา จะเติบโตชะลอลงเล็กน้อยที่ราว 6.4% ในปีงบประมาณการเงิน 2018/19 (FY2018/19) ด้วยแรงส่งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในประเทศ การปฏิรูปและการลงทุนจากภาครัฐคาดว่าจะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2020 ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจเมียนมามาจากปัจจัยภายนอก โดยการชะลอตัวของการค้าโลกเริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกและ FDI
เศรษฐกิจเวียดนาม มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงราว 6.5% ในปี 2019 และในระยะกลาง สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนส่งผลบวกต่อการส่งออกและ FDI มายังเวียดนาม แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจหันมาเพ่งเล็งเวียดนามเป็นเป้าหมายรายต่อไปในการขึ้นภาษีได้ ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้อาจส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเวียดนามซึ่งพึ่งพาวัตถุดิบสินค้าเทคโนโลยีจากเกาหลีใต้
จะเห็นว่า ประเทศอื่นในอาเซียนนั้นมีการเติบโตในอัตราที่สูง ในขณะที่ไทยรั้งท้ายในอาเซียน แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็อธิบายว่า เพราะไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจมาก่อนแล้ว ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่อัตราการเติบโตจะต่ำ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านนั้นเพิ่งจะเริ่มขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุน
ขณะที่นโยบายของรัฐบาลไทยที่ผ่านมานั้นเห็นได้ว่ามุ่งเน้นที่จะเอื้อประโยชน์กับกลุ่มทุนใหญ่อย่างชัดเจน โดยกล่าวกันว่ารัฐบาลเชื่อว่า ผลประโยชน์จะกระจายลงมาสู่ระดับล่าง ถ้ากลุ่มทุนใหญ่มีผลประกอบการที่ดีขึ้น แต่โดยข้อเท็จจริงมันก็สะท้อนชัดเจนว่า สภาวะความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างเราๆนั้นสดับได้ซึ่งเสียงโอดครวญไปทั่วหัวระแหง ในขณะที่เศรษฐี 1% นั้นรวยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา
แล้วไปดูนะครับว่า คนที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจกึ่งผูกขาดและผูกขาดนั้น เขาประสบกับความเดือดร้อนแบบชาวบ้านไหม
ปรากฏว่าปีนี้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) จ่ายโบนัส 7.5 เท่าของเงินเดือน โดยในปีงบประมาณ 2562 ปตท. นำส่งรายได้เข้ารัฐมากเป็นอันดับ 2 คือ 29,198 ล้านบาท
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. จ่ายโบนัส 7.25 เท่าของเงินเดือน รวมเป็นเงินกว่า 1,957 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 ทอท. นำส่งรายได้แผ่นดินคิดเป็นเงินกว่า 10,500 ล้านบาท
ธนาคารออมสิน จ่ายโบนัส 7 เท่าของเงินเดือน นำส่งรายได้เข้ารัฐในปีงบประมาณ 2562 กว่า 16,000 ล้านบาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จ่ายโบนัส 7 เดือน โดยในปีงบประมาณ 2562 นำส่งรายได้เข้ารัฐด้วยจำนวนเงิน 5,646 ล้านบาท
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จ่ายโบนัส 5 เท่าของเงินเดือน
บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด จ่ายโบนัส 4 เท่าของเงินเดือน
สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จ่ายโบนัส 3.75 เท่าของเงินเดือน นำส่งรายได้เข้ารัฐมากที่สุดในปีงบประมาณ 2562 คิดเป็นเงิน 41,916 ล้านบาท
การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จ่ายโบนัส 2 เท่าของเงินเดือน นำส่งรายได้เข้ารัฐในปีงบประมาณ 2562 เป็นเงิน 10,903 ล้านบาท
ลองคิดดูนะครับว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจทำไมจึงได้รับผลตอบแทนที่สูง ทั้งที่อาศัยร่มเงาของรัฐ มีต้นทุนมาจากเงินภาษีของประชาชน และประกอบกิจการในลักษณะผูกขาดไม่มีคู่แข่งซึ่งต้องมีผลประกอบการที่ดีอยู่แล้ว แต่เราต้องใช้เงินไปเท่าไหร่ในการจ่ายเงินโบนัส แน่นอนว่า มีความจำเป็นที่จะต้องให้กำลังใจคนทำงาน แต่ถามว่ายอดเงินที่จ่ายให้กันนั้นมันเกินจำเป็นไปไหม ถ้าเอาเงินเหล่านั้นกลับมาสู่ชาวบ้านจะดีกว่าไหม
น่าประหลาดใจที่ยังมีความพยายามออกมาตอบโต้คนที่บอกว่าเศรษฐกิจแย่ เพราะกลัวว่า เสียงนั้นจะส่งผลกระทบกับรัฐบาลที่ตัวเองชื่นชอบ โดยไม่สนใจคน 1 % ที่รวยขึ้นถือครองทรัพย์สินมากขึ้น
กลายเป็นเสียงบ่นว่า คนจนนั่นแหละที่ไม่เจียมและประเมินตัวเองแทนที่จะมาบ่นว่ารัฐบาล ผมว่ามันแปลกดีนะ
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan