xs
xsm
sm
md
lg

ศาลโลกใกล้ตัดสินคำร้องแกมเบียเรื่องมาตรการฉุกเฉินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กับพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เอเอฟพี - ศาลสูงสุดของสหประชาชาติ จะประกาศวันนี้ (23) ว่าจะให้คดีที่กล่าวหาพม่าเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาเดินหน้าต่อและจะกำหนดมาตรการฉุกเฉินเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นอีกหรือไม่

คำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) มีขึ้นไม่กี่วันหลังคณะกรรมการพม่าได้สรุปว่า ทหารบางนายมีแนวโน้มว่าก่ออาชญากรรมสงครามต่อชนกลุ่มน้อย และว่าทหารไม่มีความผิดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

นางอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนของพม่าเดินทางไปกรุงเฮกในเดือน ธ.ค. เพื่อแก้ต่างให้ประเทศด้วยตัวเองจากข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการปราบปรามนองเลือดปี 2560 ที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา

แกมเบีย ประเทศในแอฟริกาที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมได้ยื่นฟ้องพม่าหลังชาวโรฮิงญาราว 740,000 คน หลบหนีข้ามแดนไปบังกลาเทศ พร้อมเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการข่มขืน การวางเพลิง และการสังหารหมู่

วิลเลม ฟาน เจนุกเตน ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยทิลบูร์ก ระบุว่า คำถามแรกคือ ศาลจะประกาศว่ามีขอบเขตอำนาจหรือไม่อย่างไร และหากศาลอนุมัติสิ่งที่เรียกว่า “มาตรการชั่วคราว” ตามที่แกมเบียต้องการ นั่นอาจนำมาซึ่งอีกหลายสิ่ง ตั้งแต่เรื่องทั่วๆไป ไปจนถึงเรื่องที่เฉพาะเจาะจงอย่างมาก

คำตัดสินในวันนี้ (23) เป็นเพียงก้าวแรกในการต่อสู้ทางกฎหมายที่มีแนวโน้มว่าจะใช้เวลานานหลายปีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อตัดสินข้อพิพาทระหว่างประเทศ

แกมเบียยื่นฟ้องคดีโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) นอกจากนั้น ยังมีแคนาดาและเนเธอร์แลนด์ให้ความสนับสนุนด้วยเช่นกัน

ในการพิจารณาคดีเดือน ธ.ค. แกมเบียกล่าวหาพม่าว่าละเมิดอนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 2491 และร้องขอขั้นตอนพิเศษที่จะป้องกันความเสี่ยงที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะเกิดขึ้นอีก และเพื่อหยุดพม่าจากการทำลายหลักฐาน แต่อย่างไรก็ตาม องค์กรตุลาการชั้นนำของสหประชาชาตินี้ไม่มีอำนาจที่จะบังคับใช้คำสั่งกับมาตรการชั่วคราว

ที่กรุงเฮกเมื่อเดือน ธ.ค. ซูจีแย้งว่าประเทศของเธอมีความสามารถในการสอบสวนข้อกล่าวหาต่างๆ เกี่ยวกับการละเมิดและเตือนว่าคดีความอาจจุดชนวนวิกฤตขึ้นมาอีก

เมื่อต้นสัปดาห์ ‘คณะกรรมการสอบสวนอิสระ’ ที่พม่าแต่งตั้งขึ้นระบุว่า เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงบางส่วนได้ใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมและก่ออาชญากรรมสงคราม และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ที่รวมถึงการสังหารชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ และทำลายบ้านเรือนของคนเหล่านั้น

แต่คณะกรรมการตัดประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ออก โดยระบุว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะโต้แย้งว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นด้วยเจตนาที่จะทำลาย ทั้งหมดหรือบางส่วนของสัญชาติ ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือกลุ่มศาสนา

ทั้งนี้ พม่ายังยืนกรานว่า การปราบปรามของกองกำลังทหารเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะกำจัดผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญาหลังการโจมตีหลายระลอกทำให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงเสียชีวิตหลายสิบนาย.
กำลังโหลดความคิดเห็น