รอยเตอร์ - พม่าได้กำหนดมาตรการในการปกป้องคุ้มครองชาวมุสลิมโรฮิงญาไว้อยู่แล้ว โฆษกพรรครัฐบาลของพม่ากล่าววันนี้ (24) ความเห็นที่ไม่ได้ใส่ใจต่อคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่มีในวันก่อนเพื่อหยุดการกระทำที่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์
ศาลในกรุงเฮกมีคำสั่งให้พม่าปกป้องชาวโรฮิงญาจากการกระทำโหดร้ายทารุณที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้ และรักษาหลักฐานอาชญากรรมที่ถูกกล่าวหา หลังแกมเบียยื่นฟ้องในเดือน พ.ย. กล่าวหาว่า พม่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
“รัฐบาลดำเนินการตามคำสั่งส่วนใหญ่ไปแล้ว อีกสิ่งที่เราต้องทำคือยื่นรายงาน” เมียว ยุ้นต์ โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย กล่าวกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ อ้างถึงหนึ่งในหลายมาตรการที่ศาลต้องการให้พม่าเขียนสรุปความคืบหน้าเป็นประจำ
แต่เมียว ยุ้นต์ กล่าวว่า รัฐบาลพลเรือนที่ปกครองประเทศร่วมกับทหารตามการจัดการของรัฐธรรมนูญซึ่งสงวนอำนาจให้แก่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้น ไม่สามารถควบคุมกองกำลังทหารได้
“ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน เราเผชิญกับความยากลำบากในการแก้ไขปัญหาบางประการ เช่น คำสั่งที่ว่ารัฐบาลต้องทำให้แน่ใจว่าทหารหรือกองกำลังติดอาวุธจะไม่กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หรือความพยายามที่จะกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญาหรือเบงกาลี” เมียว ยุ้นต์ กล่าว
ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ไปบังกลาเทศในปี 2560 เพื่อหลบหนีการปราบปรามของทหารที่สหประชาชาติระบุว่า เป็นการประหัตประหารที่มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พม่ากล่าวว่า การปราบปรามของทหารเป็นปฏิบัติการที่ชอบธรรมในการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบเพื่อตอบโต้เหตุโจมตีที่เกิดขึ้นกับกองกำลังความมั่นคง
ชาวโรฮิงญาราว 600,000 คน ยังคงอยู่ภายในพม่า แต่ถูกจำกัดขอบเขตในสภาพถูกเลือกปฏิบัติตามค่ายพักและหมู่บ้านต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพและการศึกษาได้อย่างเสรี
ศาลระบุในคำตัดสินเมื่อวันพฤหัสฯ ว่า ศาลไม่ยอมรับการยืนยันของพม่าว่าได้ดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัย ส่งเสริมสันติภาพในรัฐยะไข่ และนำทหารที่รับผิดชอบมาดำเนินคดีผ่านกลไกภายในประเทศได้
“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลสังเกตว่า พม่าไม่ได้แสดงให้ศาลเห็นถึงมาตรการที่เป็นรูปธรรมที่มีเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจงถึงการยอมรับและรับรองสิทธิของโรฮิงญาในฐานะกลุ่มที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ศาลระบุ.