รอยเตอร์ - ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มีคำสั่งให้พม่าดำเนินมาตรการเร่งด่วนในการปกป้องคุ้มครองประชากรมุสลิมโรฮิงญาของประเทศจากการกดขี่ข่มเหงและการกระทำทารุณโหดร้าย และให้รักษาหลักฐานของอาชญากรรมที่ถูกกล่าวหาว่าเกิดขึ้นกับคนเหล่านั้น
แกมเบีย ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ได้ยื่นฟ้องในเดือน พ.ย. ยังศาลสูงสุดของสหประชาชาติ โดยกล่าวหาว่า พม่าละเมิดอนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 2491
คำตัดสินวันนี้ (23) มีผลเฉพาะกับคำร้องของแกมเบียสำหรับมาตรการเบื้องต้น ซึ่งเทียบเท่ากับคำสั่งควบคุมสำหรับรัฐ อย่างไรก็ตาม คำตัดสินวันนี้ไม่ได้บ่งชี้ถึงคำตัดสินสุดท้ายของศาลที่อาจต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีกว่าจะไปถึงจุดนั้น
ในคำตัดสินที่เป็นเอกฉันท์โดยองค์คณะผู้พิพากษา 17 คน ระบุว่า ศาลเชื่อว่าเวลานี้โรฮิงญาอยู่ในอันตราย และพม่าต้องดำเนินทุกมาตรการภายในอำนาจของตนเพื่อป้องกันอันตรายร้ายแรงต่อชาวโรฮิงญา และพม่าต้องรายงานกลับภายใน 4 เดือน
ศาลยังสั่งให้รัฐบาลพม่าใช้อำนาจเหนือทหารและกลุ่มติดอาวุธต่างๆ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการสังหารสมาชิกของกลุ่ม ทำให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อจิตใจหรือร่างกายของสมาชิกของกลุ่ม สร้างความเสียหายต่อสภาพชีวิตของกลุ่มด้วยการทำลายกายภาพทั้งหมดหรือบางส่วน
ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีออกจากพม่าหลังการปราบปรามของทหารในปี 2560 และจำต้องอาศัยอยู่ในค่ายแออัดในฝั่งบังกลาเทศ ผู้สืบสวนสหประชาชาติได้สรุปการปราบปรามของทหารว่า กระทำด้วยเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ช่วงเวลาก่อนศาลในกรุงเฮกเริ่มอ่านคำตัดสิน หนังสือพิมพ์ไฟแนลเชียลไทมส์ได้เผยแพร่บทความของนางอองซานซูจี ซึ่งเธอระบุว่า อาจเกิดอาชญากรรมสงครามกับชาวมุสลิมโรฮิงญา แต่ผู้ลี้ภัยได้กล่าวเกินจริงถึงการละเมิดที่เกิดขึ้นกับพวกเขา
ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ของการพิจารณาคดีเมื่อเดือนก่อน ซูจีได้ขอให้ผู้พิพากษาถอนฟ้อง แต่อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของศาลโลกจะถือเป็นสิ้นสุดและไม่มีการอุทธรณ์ แต่ขณะเดียวกัน ศาลก็ไม่สามารถบังคับใช้คำตัดสินได้
อับดุลกาวี ยูซุฟ ประธานองค์คณะผู้พิพากษาของศาล ระบุว่า ศาลมีความเห็นว่าโรฮิงญาในพม่ายังคงมีความเสี่ยงอย่างยิ่งยวด นอกจากนี้ ศาลยังมีความเห็นว่าขั้นตอนต่างๆ ที่อ้างว่าได้ดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่อยู่ในบังกลาเทศ เพื่อส่งเสริมความปรองดองทางชาติพันธุ์ ความสงบสุข และความมั่นคงในรัฐยะไข่ และการทำให้ทหารรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ดูเหมือนยังไม่เพียงพอ
กลุ่มประชาสังคมพม่ามากกว่า 100 กลุ่ม ได้เผยแพร่คำแถลงที่ระบุว่า พวกเขาหวังให้ความพยายามของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทำความจริงให้ปรากฏและยุติการได้รับยกเว้นจากการลงโทษ
“นโยบายทางทหารและทางการเมืองมักกำหนดขึ้นด้วยกำลังความรุนแรงและการข่มขู่เหนือประชาชนชาวพม่า อย่างเป็นระบบ และในเชิงสถาบัน บนพื้นฐานของความเชื่อทางศาสนาและการเมืองของพวกเขา และอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ และดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เราเข้าใจอย่างชัดแจ้งว่าคดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศกับพม่านั้นมุ่งไปยังผู้ที่รับผิดชอบในการใช้อำนาจทางการเมืองและกำลังทหาร ไม่ใช่กับประชาชนชาวพม่า” คำแถลง ระบุ.