xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาฝุ่นพิษ ชีวิตนั้นแสนสั้นใยไม่ Work from Home ?

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์



ศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Email: pongpiajun@gmail.com


ผมได้นำเสนอแนวคิด Work from Home ในรายการตอบโจทย์ของ Thai PBS เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 (ตามรายละเอียดลิงค์ที่แนบมา http://ssed.nida.ac.th/en/about-us/video/video/vdo32?start=117)

ซึ่งหากพิจารณา 12 มาตรการลดฝุ่นของรัฐบาลที่กำลังจะมีการชงเรื่องเข้า ครม. อย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มกราคม 2563 โดยสาระสำคัญของมาตรการดังกล่าวมีดังนี้คือ

มาตรการที่ 1. ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้า กทม. จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก
มาตรการที่ 2. ห้ามรถบรรทุกตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เข้ามาในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครในวันคี่ ระหว่างเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ 2563 สำหรับวันคู่ให้เข้าได้ตามช่วงเวลาที่กำหนด
มาตรการที่ 3. ตรวจวัดควันดำอย่างเข้มงวดกับรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุด ใน 50 เขต
มาตรการที่ 4. ปฏิบัติการร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจรในการยกระดับความเข้มงวดการตรวจสอบตรวจจับรถควันดำสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุก เพื่อการออกคำสั่งห้ามใช้รถ
มาตรการที่ 5. ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่นละออง หากตรวจสอบแล้วไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กำหนด ให้สั่งปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดหรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ
มาตรการที่ 6. กำกับให้กิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าและการก่อสร้างอื่น ๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนด ไม่ทำให้เกิดฝุ่น และปัญหาการจราจรติดขัดในบริเวณรอบพื้นที่ก่อสร้าง
มาตรการที่ 7. ไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้กระทำการเผา
มาตการที่ 8. จังหวัดและ อปท. อาศัยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงสถานการณ์วิกฤตฝุ่นละออง และเข้มงวดการควบคุมยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง
มาตรการที่ 9. ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง (Premium diesel) ที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 ppm ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศน้อยกว่าน้ำมันดีเซลปกติที่ขายในตลาดปัจจุบัน
มาตรการที่ 10. ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน และรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน
มาตรการที่ 11. ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษา สนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง สำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง
มาตรการที่ 12. สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นละออง

จะสังเกตได้ว่าจาก 12 มาตรการมีถึง 8 มาตรการ (1,2,3,4,8,9,10,11) ที่เกี่ยวข้องกับการลดปริมาณฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศจากไอเสียยานพาหนะและมีเพียงแค่ 2 มาตรการ (7,8) เท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับการลดปัญหามลพิษทางอากาศจากการเผาในที่โล่งแจ้ง ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผลเพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า แหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศที่สำคัญในกรุงเทพมหานครคือไอเสียจากยานพาหนะเกือบร้อยละ 70 มาตรการนี้ดูเหมือนว่าจะมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯก่อนแต่ปัญหาคือประเทศไทยไม่ได้มีแต่เพียงแค่ “กรุงเทพมหานคร”

ในฐานะที่เป็นลูกหลานคนเชียงใหม่บางครั้งก็อดรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจไม่ได้ว่าทำไมดูเหมือนรัฐบาลจะให้ความสำคัญและเอาอกเอาใจกับความรู้สึกของคนกรุงเทพฯมากเป็นพิเศษ? ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็ช่วงที่เกิดวิกฤตมลพิษทางอากาศแบบหนักในช่วงกลางเดือนมกราคมปี 2562 ตอนนั้นค่า PM2.5 รวมทั้งดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศหรือ AQI ในกรุงเทพฯสูงเกินค่ามาตรฐานที่ทาง กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้จริง แต่ก็ยังไม่รุนแรงเท่ากับมลพิษทางอากาศที่พี่น้องชาวเชียงใหม่รวมทั้งชาวเหนืออีกหลายชีวิตต้องทนสูดดมกันแทบรายวันโดยที่สื่อหลายสำนักก็มุ่งสนใจแต่กิจกรรมทางการเมืองของแต่ละพรรคเพราะเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการเดินสายหาเสียงของเหล่านักการเมือง

หรือแม้แต่หมอกควันของมลพิษข้ามพรมแดนจากอินโดนีเซียที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องชาวใต้มาตลอดเป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ IOD ในรูปแบบ Positive Mode และแนวโน้มจะสาหัสรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกหากปีนั้นบังเอิญไปชนกับปรากฏการณ์ เอลณีโญ เนื่องจากตนเองเคยเป็นอาจารย์ประจำคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อยู่เกือบ 5 ปีจึงสามารถพูดได้เต็มปากว่า ปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนในภาคใต้ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่อง “มโน” ดราม่าฝุ่นไปวันๆ เพราะหลายชีวิตได้รับผลกระทบจริงโดยเฉพาะเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์และคนชรา ยังไม่นับรวมผู้ป่วยที่นอนให้น้ำเกลือตัวติดเตียงอยู่ตามโรงพยาบาล

ขออนุญาตหยิบยกคำพูดของ รองศาสตราจารย์ ดร.คะนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสมาชิกของเครือข่ายอากาศสะอาดว่าปัญหาฝุ่น PM2.5 มันมีรากเหง้ามาจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) และผลกระทบที่เราเจออยู่เป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นส่วนปัญหาที่แท้จริงกลับถูกซุกซ่อนไว้ใต้ภูเขาน้ำแข็งอีกมากมาย ดังนั้นหากจะแก้ปัญหามลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคว้านลึกลงไปยังต้นตอของปัญหาโดยลงพื้นที่ไปพบปะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังในตอนต่อไป

ภาพจาก pixabay.com
สำหรับวันนี้ขอกลับมาพูดเรื่อง Work from Home อีกครั้ง ว่าทำไมถึงเวลาแล้วที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองควรที่จะหันมาพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในปัญหาที่มีมิติความลุ่มลึกมากขึ้นผมขอนำเสนอตัวเลขธรรมดาที่ทุกท่านรู้จักกันดีแต่อาจไม่เคยนำมาขบคิดกันอย่างจริงจังถึงความสำคัญของสัดส่วนเวลาในแต่ละเรื่องที่เราสูญเสียไปตลอดการใช้ชีวิตในหนึ่งภพชาติ

จากรายงานของ TDRI ฉบับที่ 152 พฤษภาคม 2562 พบว่าคนไทยมีอายุขัยคาดการณ์เฉลี่ยตามช่วงเวลา (Period Life Expectancy) ประมาณ 75 ปีหรือคิดเวลาเป็นชั่วโมงคร่าวๆจะอยู่ที่ 24X365X75 = 657,000 ชั่วโมง (การคำนวณนี้ไม่นับรวมปี อธิกสุรทินหรือปีที่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันเท่ากับว่าทั้งปีจะมี 366 วัน) ผมอยากให้ท่านผู้อ่านจำตัวเลขนี้ไว้ให้ดีเพราะจากนี้ต่อไปจะแสดงให้เห็นว่าในหนึ่งชีวิตของท่านซึ่งมี 657,000 ชั่วโมง ต้องสูญเสียไปกับเรื่องอะไรบ้าง

การนอน
ผลการสำรวจดัชนี Healthy Living Index 2559 ของประชากรวัยทำงานในประเทศไทยพบว่าค่าเฉลี่ยในการนอนอยู่ที่ 6.3 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณเลยสมมุติให้ช่วงเวลาในการนอนคงที่ในทุกช่วงวัย (ซึ่งในความเป็นจริงช่วงวัยเด็กจะนอนมากกว่าช่วงวัยทำงานและช่วงวัยชราจำนวนชั่วโมงในการนอนจะลดลงตามธรรมชาติ) จำนวนชั่วโมงที่ใช้ในการนอนทั้งหมดชั่วชีวิตอยู่ที่ 6.3X365X75 = 172,463 ชั่วโมง คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 26 ของจำนวนชั่วโมงทั้งหมดในหนึ่งชีวิต

ณ จุดนี้เวลาที่ท่านคงเหลืออยู่คือ 657,000-172,463 = 484,538 ชั่วโมง

การรับประทานอาหาร
ผมสมมุติตัวเลขขึ้นมาโดยสังเขปเพราะระยะเวลาในการทานอาหารของแต่ละคนต่างกันซึ่งแน่นอน จำนวนชั่วโมงที่หายไปจากการบริโภคของแต่ละท่านย่อมไม่เหมือนกัน สมมุติให้มื้อเช้าที่เร่งรีบใช้เวลาไม่มากประมาณ 20 นาทีมื้อกลางวันอีก 40 นาทีและมื้อเย็นราว 60 นาทีเท่ากับว่าในหนึ่งวันเราใช้เวลา 2 ชั่วโมงโดยประมาณสำหรับการทานอาหารสามมื้อให้ครบ เท่ากับว่าเวลาทั้งหมดที่ใช้ไปในการบริโภคทั้งชีวิตคือ 2X365X75=54,750 ชั่วโมงหรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 8.3 ของจำนวนชั่วโมงทั้งหมดในหนึ่งชีวิต

ณ จุดนี้เวลาที่ท่านคงเหลืออยู่คือ 484,538-54,750 = 429,788 ชั่วโมง

การเข้าห้องน้ำ
ความถี่ในการปัสสาวะอยู่ระหว่าง 4-10 ครั้งต่อวัน ลองสมมุติตัวเลขที่ 7 ครั้งต่อวัน โดยกำหนดให้การปัสสาวะแต่ละรอบไม่เกิน 5 นาทีและการถ่ายอุจจาระ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องถ่ายทุกวัน)โดยกำหนดให้เป็นวันละครั้ง ครั้งละ 15 นาทีเท่ากับว่าระยะเวลาในการใช้ไปกับการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายอยู่ที่ 50 นาทีต่อวัน หรือ 0.83 ชั่วโมงต่อวันเท่ากับว่าเวลาทั้งหมดที่ใช้ไปในการขับถ่ายชั่วชีวิตคือ 0.83X365X75=22,721 ชั่วโมงหรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 3.5 ของจำนวนชั่วโมงทั้งหมดในหนึ่งชีวิต

ณ จุดนี้เวลาที่ท่านคงเหลืออยู่คือ 429,788-22,721 = 407,066 ชั่วโมง

การศึกษา
จากข้อมูลของสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาปี 2559 พบว่าสัดส่วนของประชากรที่จบปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 69 ของจำนวนผู้ที่ได้รับการศึกษาทั้งหมด สมมุติให้เวลาในการอยู่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวันเท่ากับว่าในหนึ่งปีจะมีเวลาที่อยู่ในสถาบันการศึกษา 261 x 8 = 2,088 ชั่วโมงต่อปี จากประถมศึกษา 1 ถึงปริญญาตรีปี 4 ใช้เวลาอยู่ในรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั้งหมด 16 ปีเท่ากับว่า ชีวิตหมดเวลาไปกับการเรียนรู้ทั้งหมด 33,408 ชั่วโมง ทั้งนี้ยังไม่รวมเวลาที่เด็กต้องไปเรียนพิเศษ หรือการศึกษานอกเวลาเรียน

ณ จุดนี้เวลาที่ท่านคงเหลืออยู่คือ 407,066-33,408 = 373,658 ชั่วโมง

การทำงาน
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 23 ได้กำหนดให้นายจ้างสามารถจ้างลูกจ้างได้วันหนึ่งไม่เกิน 8 ชั่วโมงและสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง สมมุติให้เริ่มการทำงานตั้งแต่อายุ 25 และเกษียณตอนอายุ 60 เท่ากับว่ามีอายุในการทำงานทั้งหมด 35 ปีและในแต่ละปีลาพักร้อนได้หนึ่งอาทิตย์ ดังนั้นระยะเวลาในการทำงานทั้งหมดเท่ากับ 48X51X35 = 85,680 ชั่วโมงหรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 13 ของจำนวนชั่วโมงทั้งหมดในหนึ่งชีวิต

ณ จุดนี้เวลาที่ท่านคงเหลืออยู่คือ 373,658-85,680=287,978 ชั่วโมง

ท่องเน็ตเล่นโซเชียลดูคลิปวีดีโอ
จากผลสำรวจของ We Are Social และ Hootsuite ปี 2018 พบว่าค่าเฉลี่ยของคนไทยที่ใช้เวลาไปกับโลกออนไลน์สูงถึง 9 ชั่วโมง 38 นาทีต่อวัน เพื่อง่ายต่อการคำนวณผมขอสมมุติเป็นตัวเลขกลมๆที่ 9 ชั่วโมงและแน่นอนพฤติกรรมของชาวเน็ตมักจะจับมือถือมาเล่นเวลากินข้าวหรือเข้าห้องน้ำ ผมเลยขอหักเอาเวลาเหล่านี้ออกเท่ากับว่า 9-2-0.83=6.17 ชั่วโมงต่อวันคือจำนวนที่คนไทยนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์รวมทั้งนั่งจ้องหน้าสมาร์ทโฟน สมมุติว่าพฤติกรรมนี้เริ่มตั้งแต่อายุ 10 ขวบจนสิ้นอายุขัยเท่ากับว่า ระยะเวลาทั้งหมดที่ถูกใช้ไปกับการท่องเน็ตคือ 6.17X365X65 =146,383 ชั่วโมงหรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของจำนวนชั่วโมงทั้งชีวิตของท่าน!

ณ จุดนี้เวลาที่ท่านคงเหลืออยู่คือ 287,978-146,383 = 141,595 ชั่วโมง

ชีวิตในวัยเด็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
นับตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงอายุ 7 ขวบ ผมสมมุติให้ระยะเวลานี้เรายังเด็กเกินกว่าที่จะตัดสินใจเรื่องร่าวต่างๆด้วยตัวเองได้ จึงขอสมมุติให้วัยนี้เป็นวัยที่ยังขาดอิสระในการใช้ชีวิตเพราะยังหาเงินเองไม่ได้และต้องพึ่งพาพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่ ระยะเวลาทั้งหมดของช่วงเวลาในการฟักไข่นี้อยู่ที่ 24X365X7=61,320 ชั่วโมงหรือคิดเป็นร้อยละ 9.3 ของจำนวนชั่วโมงในการใช้ชีวิตทั้งหมด

ณ จุดนี้เวลาที่ท่านคงเหลืออยู่คือ 141,595-61,320 = 80,257 ชั่วโมง

ระยะเวลาที่ใช้ไปกับการเดินทางไปโรงเรียนหรือที่ทำงาน
ผมคงตีกรอบเฉพาะมนุษย์เมืองกรุงที่ต้องเผชิญกับรถติดอย่างแสนสาหัสทุกวัน สมมุติให้ช่วงเวลาในการเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานหรือโรงเรียน 2 ชั่วโมงและขากลับอีก 2 ชั่วโมงเท่ากับว่าเป็น 4 ชั่วโมงต่อวันหรือ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สมมุติให้ทำงานหรือเรียนทั้งหมด 51 สัปดาห์ต่อหนึ่งปีเท่ากับว่า คนหนึ่งคนใช้เวลาในการเดินทางตั้งแต่เรียนประถม 1 จนจบปริญญาตรีทั้งหมด 16 ปีและทำงานต่อจนเกษียณอีก 35 ปีเป็นระยะเวลาทั้งหมด 51 ปี คิดเป็นชั่วโมงคือ 20X51X51=52,020 ชั่วโมง หรือคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 7.9 ของจำนวนชั่วโมงในการใช้ชีวิตทั้งหมด

ณ จุดนี้เวลาที่ท่านคงเหลืออยู่คือ 80,257-52,020 = 28,237 ชั่วโมง หรือพูดง่ายๆคือท่านเหลือเวลาที่เป็นเวลาส่วนตัวของท่านจริงๆที่สามารถทำสิ่งนี้ที่ตัวเองอยากทำ เช่นการออกไปท่องเที่ยว เดินป่า เรียนดนตรี หัดวาดรูป แต่งสวน หรือหันเข้าวัดไป ปฏิบัติธรรม ทั้งหมดท่านเหลือเวลาคิดเป็นอัตราส่วนร้อยละเพียงแค่ 4.3 ของชีวิตทั้งหมดที่มี!

แน่นอนเราคงอยากที่จะเพิ่มเวลาส่วนตัวตรงนี้ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่เราคงไม่สามารถตัดเวลานอน เวลาทานข้าวหรือเวลาขับถ่ายออกไปได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือ ใช้เวลากับการท่องโลกอินเตอร์เน็ตให้น้อยลง, ลดเวลาการเดินทางให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น แล้วขโมยเวลาส่วนที่ต้องใช้ในโรงเรียนหรือที่ทำงานมาอยู่ในบ้านมากขึ้น

ประโยชน์ที่ได้รับจากการ Work from Home หรือการเรียนแบบ Home School หรือการเรียนแบบ Flipped Classroom หรือห้องเรียนกลับด้าน กล่าวคือการสนับสนุนให้เด็กใช้เวลาในการเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้เองที่บ้านผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ดูคลิปวีดีโอที่ครูสอนมาก่อนล่วงหน้าแล้วมาโรงเรียน เพื่อมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนและซักถามประเด็นที่สงสัยกับครูผู้สอน ซึ่งแม้แต่ในส่วนที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กันก็อาจไม่จำเป็นที่ต้องมาโรงเรียนด้วยตัวเองเสมอไป ส่วนการ Work from Home นอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายน้ำไฟรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเช่าสำนักงานแล้ว ยังช่วยประหยัดเชื้อเพลิง ลดค่าเดินทางและที่สำคัญคือลดการปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 รวมทั้งมลพิษทางอากาศประเภทอื่นอีกด้วย

ที่สำคัญการ Work from Home หรือ Flipped Classroom จะทำให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้นเพราะมันคือการคืนเวลาของพ่อและแม่ให้กับลูกในวัยที่กำลังต้องการความรักความอบอุ่น และเปิดโอกาสให้ลูกในวัยทำงานได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดาผู้แก่เฒ่าและจำเป็นต้องการได้รับความเหลียวแลเอาใจใส่จากลูกหลานมากเป็นพิเศษ ความท้าทายของการ Work from Home คือระบบบริหารจัดการขององค์กร วิธีการกำหนดค่า KPI หรือตัวชี้วัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน และการพิจารณาประเภทของงานที่สามารถทำที่บ้านได้เช่น เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ การวางแผนนโยบาย เจ้าหน้าที่บัญชี ส่วนงานด้านฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ที่มีความจำเป็นต้องพบปะติดต่อกับลูกค้าก็ยังคงจำเป็นต้องมาซึ่งในส่วนนี้ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหารในแต่ละองค์กรเป็นหลัก

สิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยน “Mind Set” หรือความเชื่อที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ที่กำลังขับเคลื่อนองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐอยู่ว่าท่านจะปรับตัวท่านให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในยุคที่เทคโนโลยีกำลังก้าวกระโดดหรือจะรอเวลาให้ เทคโนโลยีมาดิสรัปตัวท่านเอง?


กำลังโหลดความคิดเห็น