จากปีก่อนค่าฝุ่นพิษอยู่ที่ 179 ปีนี้พุ่งขึ้นมาเป็น 191 สะท้อนสถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ นักวิชาการชี้ รัฐบาลควรสื่อสารให้ประชาชนตื่นตัวมากกว่านี้ ที่สำคัญควรเร่งแก้ไขปัญหาการจราจร ก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤตขั้นสุด!!
ประชาชนรู้ แต่ไม่สนใจป้องกัน
ปีที่แล้วกรุงเทพมหานครเคยติดอันดับเป็นเมืองที่มีอากาศยอดแย่เป็น “อันดับที่ 2” ของโลก จากข้อมูลของแอปพลิเคชั่น “Air Visual” ระบุไว้ว่าค่ามลพิษทางอากาศของกรุงเทพฯ อยู่ที่ 179 AQI (Air Quality Index) ซึ่งถือเป็นค่าความสูง “ระดับที่ 4” หรือ “ระดับไม่ดีต่อสุขภาพ” จากทั้งหมด 6 ระดับ
และในช่วงต้นปีนี้ ที่เชียงใหม่ก็ติดอันดับ "คุณภาพอากาศยอดแย่ของโลก" อีกครั้ง คืออยู่ที่ อันดับ 4 ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีสภาพอากาศแย่อยู่ โดยปีนี้ ระดับคุณภาพอากาศสูงสุดอยู่ที่ 191 AQI
ตัวเลขดังกล่าว ถือได้ว่าแทบจะทะลุปรอทของระดับความสูงระดับ 4 ไปสู่ระดับ 5 (200 - 300 AQI) ซึ่งถือเป็นระดับ “ไม่ดีต่อสุขภาพมาก” แต่ยังไม่ถึงระดับ 6 (300 - 500 AQI) หรือระดับอันตราย ตามข้อมูลการวัดคุณภาพทางอากาศ
ชี้ให้เห็นปัญหาสภาพอากาศสุดย่ำแย่ของเมืองไทย ซึ่งปีนี้แย่ลงยิ่งกว่าเดิมอีก แต่แทนที่ประชาชนจะตื่นตัวกับเรื่องนี้ด้วยการสวมหน้ากาก กลายเป็นว่ากลับเพิกเฉย ไม่ค่อยสนใจป้องกันตัวเองเหมือนปีที่ผ่านมา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ช่วยวิเคราะห์เอาไว้ว่า เป็นเพราะการสื่อสารของรัฐบาลไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งยังสะท้อนว่าประชาชนอาจเริ่มชินชากับการใช้ชีวิตร่วมกับฝุ่นแล้ว
“ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้มีฝุ่นสูง แต่ผมไม่เห็นมีใครใส่หน้ากากนะ เพราะฝุ่นมันเดี๋ยวมาเดี๋ยวหาย ทำให้คนเริ่มไม่ค่อยสนใจแล้ว
เนื่องจากฝุ่นมันมีมา 2 ปี เข้าปีที่ 3 แล้ว ผมมองว่าการประชาสัมพันธ์ กับการรณรงค์เรื่องของฝุ่น PM 2.5 ปีนี้ค่อนข้างอ่อน ไม่เป็นกระแสเท่าที่ควร ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มเคยชินกับการอยู่ร่วมกับฝุ่น
สิ่งที่สำคัญคือการสื่อสารระหว่างหน่วยราชการ มันไม่ได้ก่อให้เกิดแรงกระตุ้น หรือจูงใจให้ประชาชนป้องกันตัวเหมือนปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่าปีนี้ชาวบ้านจะไม่สวมหน้ากากอนามัย เด็กไปโรงเรียนยังวิ่งเล่นอยู่กลางแจ้งในช่วงที่มีฝุ่นเยอะ ผมว่ามาจากการสื่อสารของราชการกับประชาชนที่มีน้อยเกินไป”
ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ นั้น อาจารย์ได้วิเคราะห์ผ่านเฟซบุ๊ก “Sonthi Kotchawat” เอาไว้ว่า น่าจะเกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนถ่าย จากฤดูหนาวสู่ฤดูร้อน ซึ่งก็คือช่วง ม.ค. - มี.ค.ของทุกปี ซึ่งมลพิษทางอากาศจะไม่ลอยตัว และลมจะค่อนข้างสงบ ส่งให้ฝุ่น PM 2.5 กลายเป็นปัญหาที่ฟุ้งขึ้นมาอีก
“ฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ มีปริมาณสูงมาจากแหล่งกำเนิดที่สำคัญคือ จำนวนรถยนต์ประมาณ 10.3 ล้านคัน โดยเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซลถึง 2.7 ล้านคัน ที่วิ่งและติดขัดอยู่บนถนนเกือบตลอดทั้งวัน จึงปล่อยมลพิษทางอากาศออกมามาก
ประกอบกับมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า ถึง 6 โครงการบนถนน 10 เส้นทางหลัก ยิ่งทำให้การจราจรติดหนักมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวพื้นที่ กทม. และปริมณฑลยังได้รับฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไร่อ้อย ที่มีอยู่ประมาณเกือบ 5.0 ล้านไร่ และการเผาในที่โล่ง ซึ่งจะถูกนำเข้ามาโดยลมที่พัดมาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศเหนือ
บวกกับใน กทม.มีอาคารสูง (สูงเกิน 23 เมตร หรือมากกว่า 8 ชั้น) จำนวนถึง 2,810 อาคาร โดยสถิติข้อมูลในช่วง 10 ปี (2550-2561) มีการลงทุนคอนโดฯ ไม่ต่ำกว่า 994 โครงการ
และกทม.ยังมีตึกที่สูงเกิน 100 เมตรเป็นอันดับ 6 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ในเอเชียรองจากฮ่องกงและโตเกียวเท่านั้น อาคารเหล่านี้จะบดบังทิศทางและความเร็วลมที่พัดผ่านเมือง จึงทำให้ฝุ่น PM 2.5 ไม่สามารถเจือจางในแนวราบได้ แต่จะถูกกักขังอยู่กลางเมืองในพื้นที่กทม.นานขึ้น”
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญรายเดิมยังได้เพิ่มมุมมองเรื่องพื้นที่สีเขียวเอาไว้ด้วยว่า ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่ดังกล่าวเหลือน้อย คือมีสวนสาธารณะ 34 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนพื้นที่สีเขียว 6.7 ตร.ม ต่อประชากร 1 คน ซึ่งถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ซึ่งอยู่ที่ 9 ตร.ม ต่อประชากร 1 คน
ขณะที่ประเทศสิงคโปร์ มีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 66 ตร.ม ต่อประชากร 1 คน ส่วนกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เหลืออยู่ 44 ตร.ม ต่อประชากร 1 คน เห็นได้ชัดจากตัวเลขเปรียบเทียบทั้งหมดนี้ว่า เมืองหลวงของไทยเรามีต้นไม้ที่จะช่วยดูดซับฝุ่น PM 2.5 อยู่น้อยมาก
ถึงเวลากำจัด “ฝุ่นพิษ” ไม่ให้เรื้อรัง!!
แล้วรัฐบาลได้ออกมาเคลื่อนไหวอะไร เกี่ยวกับวิกฤตทางอากาศระดับประเทศเรื่องนี้บ้าง? คำตอบคือการออกมาให้ข้อมูลกับสื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงสาเหตุหลักของฝุ่นพิษว่า เกิดจากปัญหาการจราจร 72.5 เปอร์เซ็นต์, โรงงานอุตสาหกรรม 17 เปอร์เซ็นต์ และการเผาในที่โล่ง 5 เปอร์เซ็นต์
ส่วนเรื่องทางแก้นั้น ฟากผู้บริหารประเทศบอกเอาไว้แค่ว่า ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน เพราะสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการจราจร และต้องมีการปรับเรื่องของขนส่งมวลชน, รถเมล์, รถบรรทุกที่ปล่อยควันดำ รวมถึงต้องสร้างรถไฟฟ้ามาทดแทน
ในขณะที่ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมออกมาตรการคุมเข้มการใช้รถในเมือง แต่จะคุมกันเข้มไปถึงระดับไหนนั้น ยังไม่ขอเปิดเผยข้อมูล
เมื่อหันกลับมาถามถึงหนทางแก้ปัญหา ผ่านสายตาผู้เชี่ยวชาญดูบ้างว่า ที่ทำๆ กันอยู่ทุกวันนี้ ได้ผลมากน้อยแค่ไหน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพรายเดิม จึงช่วยชี้ช่องโหว่ให้เห็นว่า กรมอุตุนิยมวิทยายังรายงานเรื่องฝุ่นน้อยเกินไป
“เรื่องการสื่อสารความเสี่ยงให้ประชาชนเข้าใจ อาจจะยังไม่ดีพอ อย่างเวลารายงานพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาต้องไม่พูดแต่เรื่องพยากรณ์อย่างเดียว ต้องพูดเรื่องฝุ่นด้วย
เช่น วันนี้ฝุ่นน้อย-ฝุ่นเยอะ และอีก 3 วันฝุ่นจะเป็นยังไง จะได้เป็นการเตือนประชาชนล่วงหน้าด้วย ต้องให้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศออกทาง ทีวีและวิทยุด้วย”
เรื่องมลพิษทางอากาศที่เกิดจากยานพาหนะก็เป็นอีกประเด็นที่น่าหนักใจ โดยอาจารย์มองว่าทางด้านรถเมล์ ถึงแม้ในอนาคตจะเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเกรดดี ทำให้เผาไหม้อย่างสมบูรณ์ได้ แต่ก็ต้องหมั่นบำรุงรักษาให้ดีด้วย เพราะถ้าเครื่องยนต์ไม่ดี ก็ปล่อยแก๊สพิษได้เหมือนกัน
“เรื่องรถเมล์ก็มีปัญหา เพราะรถเมล์ก็ปล่อยควันดำ รถเมล์บางทีใช้เกิน 7 ปี บางทีเป็น 10 ปี เพราะฉะนั้น ถึงแม้เราจะใช้น้ำมันดี แต่เครื่องยนต์มันเก่า เพราะมันทำงานทั้งวันทั้งคืน วิธีการก็คือต้องบำรุงรักษา ต้องเปลี่ยนไส้กรอง เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนน้ำมันเกียร์ ต้องดูแลเครื่องยนต์อย่างดี
ดังนั้น ก่อนออกจากอู่ต้องมีการตรวจวัดควันดำก่อน ถ้าควันดำเกินมาตรฐาน ห้ามเอาออกมาใช้ทันที แล้วก็ต้องบำรุงรักษาตามขั้นตอนให้ถูกต้อง ตามกำหนดเวลา”
ทั้งนี้ ถ้าอยากจะแก้ปัญหา “ฝุ่น PM 2.5” ให้ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนนั้น ต้องแบ่งการแก้ออกเป็น 3 ระดับ คือมีทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้น, ระยะกลาง และระยะยาวด้วย
“วิธีการแก้ปัญหาระยะสั้น เราทำได้เพียงแค่ป้องกันเฉยๆ เช่น ถ้าฝุ่นเยอะก็ต้องหยุดการก่อสร้าง จับรถควันดำ กระจายพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ห้ามปิ้งย่าง ห้ามเผาในที่โล่ง
จริงๆ มันมีแผนที่กำหนดไว้แล้ว เช่น ถ้าฝุ่นเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ผู้ว่าฯ ต้องเริ่มมีแอ็กชั่น และหน่วยงานต่างๆ ก็ต้องเริ่มทำงานแล้ว ต้องเริ่มจับควันดำ, เอาน้ำมาสเปรย์, ต้องเริ่มเตือนประชาชนแล้ว
ทีนี้ปัญหาต้องแก้ด้วยระยะกลางถึงระยะยาว ยกตัวอย่างในกรุงเทพฯ ซึ่งปัญหาหลักมาจากรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ส่วนใหญ่ ที่ใช้เครื่องดีเซล ใช้น้ำมันยูโร 3 ซึ่งมีค่ากำมะถันสูง ทำให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์
รถยนต์พวกนี้ต้องเปลี่ยนไปใช้น้ำมัน ยูโร 4 ยูโร 5 คือให้มีค่ากำมะถันน้อยลง เพื่อลดการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์
ต้องแก้ปัญหาการจราจรติดขัด รีบคืนพื้นที่ผิวจราจร ถ้ารถไฟฟ้าครบลูปเมื่อไร และจะต้องทำให้รถวิ่งน้อยลง เช่น ใครจะซื้อรถคุณจะต้องมีที่จอดรถที่บ้าน แสดงสำเนา แสดงทะเบียนบ้าน ว่ามีที่จอดรถไม่งั้นไม่ให้ซื้อรถ เหมือนที่ญี่ปุ่น
และค่ารถไฟฟ้าต้องราคาถูกลง เพื่อจูงใจไม่ให้คนเอารถออกไปใช้ นี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนั่นกรุงเทพฯ คงต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี ถึงจะทำได้”
สกู๊ป: ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **