“ผมคิดว่าปัญหาเรื่องฝุ่น มันสะท้อนปัญหาของระบบราชการไทย” ชัชชาติ ร้องรัฐอย่าทำแค่แผน เพราะพวกเราหยุดหายใจไม่ได้ 2 นักวิชาการรุมยำ ชี้ชัดช่องโหว่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีแผนแต่ขาดการนำไปปฏิบัติ ทุกภาคส่วนขาดความร่วมมือ
“ฝุ่น” สะท้อนปัญหาระบบราชการไทย
“ตอนนี้เรื่องที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของคน กทม. ก็คือ เรื่องฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและน่าจะเป็นปัญหาในระยะยาวที่เราต้องเผชิญไปอีกนาน ผมคิดว่าปัญหาเรื่องฝุ่น มันสะท้อนปัญหาของระบบราชการไทยใน 2 เรื่องด้านหลักๆ”
เป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมาก เมื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” อดีต รมว.คมนาคม ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจ สะท้อนปัญหาของระบบราชการไทยออกเป็น 2 ด้าน ในการแก้ปัญาฝุ่น PM 2.5 พร้อมเรียกร้องอีกว่าพวกเราหยุดหายใจไม่ได้
“1.มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน พอมีหลายหน่วยงาน ทางแก้คือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เช่น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมมลพิษ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
โดยแต่ละคณะจะมีประธานกรรมการเป็นข้าราชการระดับสูง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ซึ่งทุกคนก็มีภาระหนักในหน้าที่ประจำอยู่แล้ว อีกทั้งไม่ได้เชี่ยวชาญเฉพาะในสาขานั้น ทำให้การขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการชุดต่างๆ ช้า ไม่คล่องตัว
2.มีแผนจำนวนมาก แต่ขาดการนำไปปฏิบัติ ปัญหาสำคัญต่างๆ ผมเชื่อเรามีแผนรองรับไว้เกือบหมด แต่ไม่ได้นำไปปฏิบัติ (เขาถึงเรียกว่า วางแผน - ทำแผนแล้ววางไว้ หรือแพลนนิ่ง Planning แพลนแล้วนิ่งๆ)”
นอกจากนี้ ชัชชาติ ยังได้ให้กำลังใจภาครัฐในการแก้ปัญหา พร้อมทั้งเสนอแนะอีกว่า อย่าทำแค่วางแผน ให้ลงมือปฏิบัติจริงด้วย
“อย่างเรื่องกรณีฝุ่น PM 2.5 เท่าที่ผมหาเจอ ทางกรมควบคุมมลพิษได้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 จำนวน 52 หน้า โดยมีทั้งแผนระยะสั้น กลาง ยาว แต่ไม่แน่ใจว่าในทางปฏิบัติได้ดำเนินการไปแค่ไหนแล้ว (ถ้ามาเล่าให้พวกเราฟังบ้างก็ดีนะครับ)
หนึ่งในข้อเสนอในแผนนี้ที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์และทำได้ทันที อย่างน้อยสำหรับการแก้ปัญหาในระยะสั้น คือ การกำหนดให้ปัญหาฝุ่นพิษเป็น สาธารณภัย และใช้กลไกของระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550
โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในการเข้าควบคุมสถานการณ์อํานวยการ สั่งการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงาน ส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เมื่อเกิดภัยเรื่องฝุ่น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องเข้าไปช่วยดูแลประชาชน มีการแจ้งเหตุ เตือนภัย แจกหน้ากาก ให้ข้อมูล ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น เด็ก คนชรา ผู้ป่วย อย่างทันท่วงที
เป็นกำลังใจให้ภาครัฐในการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นนะครับ ขออย่าทำแค่ วาง-แผน หรือแพลน-นิ่ง พวกเราหยุดหายใจไม่ได้”
ขณะที่ ธารา บัวคำศรี ผอ.ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังช่วยสะท้อนถึงปัญหาระบบการจัดการแก้ปัญหาฝุ่นของรัฐ กับทีมข่าว MGR Live ในฐานะที่เป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม และยังเป็นองค์กรที่เรียกร้องการจัดการมลพิษทางอากาศ ว่ามีความเชื่องช้าเป็นอย่างมาก และควรให้ประชาชนมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ ผู้อำนวยการกรีนพีซ ยังสะท้อนถึงระบบการจัดการของภาครัฐว่ามีความเชื่องช้าเป็นอย่างมาก และควรให้ประชาชนมีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วย
“เขาเรียกว่าไม่มีน้ำยา มันไม่ได้หมายถึงว่าเขาไม่อยากทำนะ แต่มันทำอะไรไม่ได้ เพราะว่าระบบราชการที่มันเป็นอยู่ของเรามันมั่วไปหมด หยิบอะไรก็ติดขัดไปหมด
สะท้อนถึงระบบที่เป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมภาครัฐที่มันช้ามาก เพราะว่ากรมควบคมมลพิษเองก็ไม่มีน้ำยา คือไม่มีอำนาจในการเข้าไปสั่งการเข้าไปจัดการ เข้าไปใช้กฎหมายในการลงโทษ ถ้ามีการละเมิด กรมควบคุมมลพิษทำอะไรไม่ได้เลย ก็ทำหน้าที่แค่แจ้งเตือน แค่เอาเครื่องมือมาดูว่าตรงไหนวิกฤต
ที่จริงแล้วเรื่องหลายเรื่องที่มันสามารถเปิดพื้นที่ให้การมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น อย่างการเปิดให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารโดยมีเครื่องมือตรวจวัดอากาศราคาถูก แล้วก็สร้างเครือข่ายสถานีอากาศภาคประชาชน มันควรจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะทำ และภาครัฐควรที่จะเปิดโอกาส จริงๆ แล้วมีกลุ่มต่างๆ ที่เก่งมากในภาคประชาชน ถ้ามันมีเวทีของพวกเขาแล้วให้พวกเขาลงมือทำเอง แล้วเสนอแผนขึ้นไปให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนงบประมาณ ให้ได้มีการริเริ่มจากภาคประชาชน ปัญหาจะแก้ได้เยอะ”
ไม่เพียงเท่านี้ ผู้อำนวยการกรีนพีซก็ได้ช่วยวิเคราะห์ถึงช่องโหว่ใหญ่ที่แก้ปัญหาไม่จบสิ้นสักที ว่ามาตรการบางอย่างควรที่จะเป็นมาตรการเร่งด่วนได้แล้ว พร้อมทั้งเสนอข้แนะว่าทุกภาคส่วนควรทำไปด้วยกัน
“อันแรกเลยที่มันเป็นช่องโหว่ที่ใหญ่มากก็คือ มันเป็นแผนปฏิบัติการดูโดยรวมแล้วดี แต่ถ้าเราเข้าไปดูในรายละเอียด
มาตรการจากแหล่งกำเนิด มาตรการการควบคุม การเผาในที่โล่ง การควบคุมการปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานยนต์ หรือภาคส่วนต่างๆ คำถามใหญ่ก็คือ มาตรการเหล่านี้ไปสอดคล้องกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหนอย่างไร มันไม่ได้บอกไว้
ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือว่า แผนปฏิบัติการที่มีอยู่ไปลดทอนประเด็นหลักที่เป็นเรื่องใหญ่ ที่เป็นเรื่องผลกระทบสุขภาพ คือไม่ได้เอาผลกระทบสุขภาพของคนไปเป็นตัวตั้ง ยังใช้ค่ามาตรฐานที่ค่อนข้างเป็นช่องว่างในเรื่องของการปกป้องสุขภาพอนามัยของคนเข้ามาเป็นตัวยึด ก็คือรอให้เกิดผลกระทบก่อน อย่างเช่นต้องรอให้ค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานไปถึง 3-4 วันก่อนแล้วค่อยลงมือทำ
อีกอย่าง ต้องให้ความเข้มข้นของ PM 2.5 ถึง 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ก่อน ผู้ที่มีหน้าที่ถึงจะมีอำนาจสั่งการ บริหารจัดการ แต่จริงๆ แล้วความเข้มข้นของฝุ่นแค่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร หรือน้อยกว่านั้น เช่น 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร มันก็ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพแล้ว จริงๆ แล้วมันจึงไม่ได้เป็นการทำงานเชิงรุก
บางทีสิ่งที่ควรจะทำก่อนมันไปอยู่ที่มาตรการระยะสั้นแทนที่จะเป็นมาตรการเร่งด่วน ยกตัวอย่าง การเปลี่ยนค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ มันควรจะปรับได้ในมาตรการเร่งด่วนด้วยซ้ำไป
จริงๆ ข้อเสนอของกรีนพีซเรามีข้อเสนอเชิงนโยบาย เราต้องทำไปด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องของการขยายเครือข่าย การตรวจวัดมลพิษทางอากาศให้มันครอบคลุม เพื่อที่จะให้คนได้เข้าถึงข้อมูลของคุณภาพอากาศตามเวลาจริงแบบเรียลไทม์ เพื่อที่จะให้เขาได้ใช้ข้อมูลเหล่านั้นดูแลสุขภาพป้องกันตัวเอง หรือมีวิธีจัดการในวิกฤตมลพิษที่เกิดขึ้นในชุมชนของตัวเองได้”
แผนดี แต่ปฏิบัติไม่ได้
“ มีคนพูดเยอะ แต่ว่าคนทำ และทำด้วยกันมันไม่ค่อยมี ตอนนี้ทุกอย่างถูกผลักไปเป็นวาระแห่งชาติหมดแล้ว มีแผนมีอะไรกันหมดแล้ว แต่ไม่มีใครที่จะทำร่วมกัน และกล้าที่จะทำร่วมกัน”
ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ คณบดีคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังได้ช่วยวิเคราะห์ถึงช่องโหว่ในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อีกว่า รัฐมีแผนการปฏิบัติที่ดี แต่ทุกหน่วยงานยังไม่มีความร่วมมือกันมากพอ
“สิ่งที่หน่วยงานราชการทำที่มันก็ยังไม่ได้ถึงจุดที่ดีที่สุดที่มันควรจะเป็น อย่างเช่นเรื่องของรู้ว่ารถยนต์กับเรื่องของการเผา เป็นสิ่งที่สาเหตุหลักแต่เราก็ไม่สามารถลดมันได้ในช่วงที่มีปัญหา นั่นคือประเด็นหลัก”
นักวิชาการรายเดิมยังวิเคราะห์อีกว่า สิ่งหนึ่งที่เวลาเกิดปัญหามักจะมองหาว่าใครเป็นคนทำให้เกิด ซึ่งจริงๆ ไม่ว่าใครจะทำให้มันเกิด แต่ว่าความสำคัญอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น และใครจะเป็นคนลงมือแก้ปัญหามากกว่า
“การทำงานบางครั้งมันอาจจะต้องเกินสิ่งที่ตัวเองจะต้องมีหน้าที่ บางครั้งมันก็จำเป็นต้องทำ เพื่อมองถึงประชาชนที่เขาได้รับถึงผลกระทบ ต้องมองคนที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ ใช่หน้าที่ตัวเองเป็นเรื่องหลัก แต่สิ่งที่มันเกิดกับประชาชนเกิดกับคนทั่วไปที่เขาต้องเดินถนนเขาก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เขาต้องเดินถนน และยืนอยู่ตรงนั้นเป็นเวลานาน เราเป็นห่วงเขาไหม ถ้าเป็นห่วงก็มองถึงตรงนั้นเป็นหลัก
ก็เข้าใจระบบการทำงานของประเทศไทย เรามีภาคส่วนเยอะ เรามีหน่วยงานกรมกรองเยอะ การที่จะบูรณาการหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกันมันก็อาจจะไม่ได้เต็มที่ แต่ผมว่ามันอาจจะดีกว่าเดิมเยอะแล้วนะ แต่มันก็ยังไม่ถึงจุดที่มันเห็นผลของการลดฝุ่นได้อย่างชัดเจน”
นอกจากนี้ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมยังช่วยสะท้อนถึงการทำงานการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นของทุกภาคส่วนว่า อยากจะให้ร่วมมือกันแบบจริงจังในการแก้ปัญหาให้ฝุ่นหมดไป
“ผมมองว่าภาคราชการท่านมีภาระหน้าที่ ท่านมีขอบเขตการทำงาน แต่ภาควิชาการอย่างผม มองเรื่องวิชาการเป็นหลัก และมองถึงความร่วมมือที่จะทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้นคณะสิ่งแวดล้อมยินดีที่จะร่วมมือกับทุกภาค และยินดีกับนักวิชาการที่อื่นด้วยซ้ำที่จะทำงานร่วมกัน แล้วเอาภาคราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ มาทำงานกันจริงๆ จังๆ
อย่างถ้าเกิดว่าค่าฝุ่นพุ่งขึ้นสูง ต้องทำอะไรสักอย่าง ใครกล้าไหมที่จะสั่งปิดการจราจร หรือสั่งให้งดไม่ให้รถเข้าบริเวณนั้น มีใครกล้าไหม แน่นอนว่ามันต้องมีคนด่าแน่ แต่ในเมื่อเราก็รู้อยู่ว่ารถยนต์เป็นประเด็นหลักสำคํญในการเกิดฝุ่น
เรามีแผนหมดทุกอย่าง มาตรการทุกอย่างที่สั่งได้ก็สั่ง พอสั่งเสร็จแล้วยังไงต่อ คือมันไม่ไปต่อ เพราะคนจะรับไปปฏิบัติก็มองว่าไม่ใช่งานหลักของตัวเอง ก็ทำได้เฉพาะตอนที่มีปัญหา แต่พอวงรอบมันหมุนมาอีกปีหนึ่ง ปีหน้าเราก็จะเห็นแบบนี้อีกครั้งคือต้องมีคนสั่ง ต้องมีคนทำ สุดท้ายเมื่อไหร่เราจะมีระบบอัตโนมัติที่ไม่ต้องหวังพึ่งรัฐมนตรีหรือใครมาเป็นคนสั่ง ผมว่ามันควรที่จะเป็นแบบนั้นได้แล้ว”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **