ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ดับควันเทียนได้รวดเร็วพอสมควร
กับกระแสข่าวต้อนรับปีหนูทองที่ว่า “หญิงหน่อย” คุณหญิงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย ร่อนหนังสือลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรค เว้นไว้แค่สถานะสมาชิกพรรคเท่านั้น
นอกเหนือจากคำปฏิเสธจากคนในพรรคเพื่อไทยหลายก๊กหลายก๊วนแล้ว ก็ยังมีภาพความชื่นมื่นในปาร์ตี้ปีใหม่ 2 วันติด ที่จัดขึ้นที่ “คฤหาสน์ลาดปลาเค้า” บ้านพักส่วนตัวของ “หญิงหน่อย” ที่คนพรรคเพื่อไทยเฮโลไปร่วมกันอย่างคับคั่ง
โดยเฉพาะวันที่ 2 ซึ่งเป็นการจัดงานเลี้ยงขอบคุณ พ่วงฉลองเทศกาลปีใหม่ ให้กับทีมงานและ ส.ส.ที่ลงแรงช่วยหาเสียงเลือกตั้งซ่อมขอนแก่นที่ผ่านมา ซึ่งมี ส.ส.อีสาน “ส่วนใหญ่” มาร่วมหลายสอบชีวิต เจ้าตัว “หญิงหน่อย” ก็ถือโอกาสเปิดฟลอร์ปฏิเสธกระแสข่าวอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งฟาดหางไปถึง “คนปล่อยข่าว” ด้วยว่า “ไม่เป็นสุภาพบุรุษ”
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่หนแรกกับข่าวความแตกร้าวในพรรคเพื่อไทย เพราะหลังจากเสร็จศึกการเลือกตั้ง ที่แม้ “ค่ายทักษิณ” คว้าชัยได้ ส.ส.มาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็มีกระแสข่าวการแย่งชิงอำนาจในพรรคกันเนืองๆ
พร้อมทั้งโยนความผิดที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ไปที่ “ประธานยุทธศาสตร์” ต่อเนื่องมาถึงการทำงานในสภาผู้แทนราษฎร ที่ดูฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยจะง่อยเปลี้ยเสียขา ถูกความโดดเด่นของพรรคป้ายแดง “อนาคตใหม่” กลบจนมิด
ท่ามกลางเสียงกระซิบกระซาบกระหึ่ม “ตึกโอเอไอ” ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถึงความไม่ยอมรับในตัว “คุณหญิงสุดารัตน์” โดยเฉพาะจากซีก ส.ส.อีสาน
กระทั่งมาแตกหักอีกรอบ หลังความพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมที่ เขต 7 จ.ขอนแก่น ที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถรักษาที่นั่งของตัวเองเอาไว้ได้ สำคัญกว่านั้นคือสูญเสีย “สองเด้ง” เมื่อที่นั่งดังกล่าวเสร็จ “ค่ายลุงตู่” พรรคพลังประชารัฐ ไปเสียอีก
สอดรับพอดิบพอดี กับคิวที่ไม้เบื่อไม้เมาของ “เจ้าแม่นครบาล” อย่าง “สารวัตรดาวเทียม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นักการเมืองลายคราม เจ้าของตำแหน่ง “ดาวสภา” กลับเข้ามามีบทบาทในพรรคอีกครั้ง กับตำแหน่งประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ ที่จะมาเป็น “พี่เลี้ยง” ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ยิ่งทำให้น้ำหนักข่าวลือ “คุณหญิงหน่อย” ถอดใจจากพรรคเพื่อไทย เพิ่มขึ้นอีกหลายกระบุง
แน่นอนว่าฉากความชื่นมื่นที่ “บ้านลาดปลาเค้า” อาจสามารถดับเทียนกระแสข่าว “ไขก๊อก” ของเจ้าของบ้านไปได้ แต่ลึกๆแล้วความไร้เอกภาพในพรรคเพื่อไทย แกนหลักของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็หาได้จางลงไป
รอยร้าว “เพื่อไทย” ยากประสาน
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้น ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่มีข่าวทำนองว่า “เจ๊หน่อย” จะลาออก หรือถูกลดบทบาทจากพรรคเพื่อไทย
เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค.62 ก็เคยมีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยระบุว่า ส.ส.อีสาน พรรคเพื่อไทย กว่า 60 คน เดินทางไปพบ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร ถึงนครดูไบ เพื่อร้องเรียนไม่พอใจการทำงานของ “คุณหญิงสุดารัตน์” และเสนอให้ยกเลิกตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค มาครั้งหนึ่งแล้ว
และช่วงเวลาเดียวกัน “เจ๊หน่อย” ก็บุกไปถึงนครดูไบ เพื่อ “ยื่นคำขาด” เกี่ยวกับการส่งผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในนามพรรค ตามมติ “ส.ส.กทม.” หลังจากที่ “เสี่ยทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชิงประกาศลงสมัครในนามอิสระไปก่อนหน้านั้น แต่ก็ไม่ได้มีการตอบรับจากปลายทางแต่อย่างใด
จนเป็นเรื่องที่ถูกมองว่า “เจ้าแม่นครบาล” กับ “นายใหญ่ดูไบ” ชักจะเล่นกัน “คนละคีย์”
ก่อนที่จะมีภาพ “สารวัตรเหลิม” ร่วมวงชนไวน์กับ “ทักษิณ” รวมไปถึง “คุณหนูปู” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สองศรีพี่น้องอดีตนายกฯหนีคดี ที่ร้านอาหารชื่อดังบนเกาะเกาลูน ฮ่องกง ในอีกไม่กี่วันต่อมา
อันนำมาซึ่งคำสั่ง “เฮียพงษ์” สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่จรดปากกาแต่งตั้ง “เหลิม ดาวเทียม” มาเป็นประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษของพรรค เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค.62
ใครก็รู้ว่า “สุดารัตน์- เฉลิม” ซดเกาเหลากันมานานนม ฟาดฟันในสมรภูมิ กทม.ตั้งแต่อดีต กระทั่งมาร่วมหัวจมท้ายค่ายเดียวกัน ก็ยังเป็น “น้ำกับน้ำมัน” เข้ากันไม่ได้อยู่ดี
การดึง “เฉลิม” มีตำแหน่งแห่งที่ ทั้งที่มีประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคหัวโด่อยู่ ก็ไม่ต่างจากการตบหน้า “หญิงหน่อย” ฉาดใหญ่อย่างไรอย่างนั้น
จากความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยระยะหลัง จะทำให้ “คุณหญิงหน่อย” ถอดใจก็คงไม่แปลก
ส่วนตัว “คุณหน่อย” เอง ก็รู้ถึงความไม่มั่นคงของตัวเองดี แม้จะ “ตราตั้ง” จาก “นายใหญ่” รวมทั้ง “นายหญิง” คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร ให้เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค นำการเลือกตั้ง พ่วงด้วยแคนดิเดทนายกรัฐมนตรี เบอร์ 1 ของพรรคก็ตาม
เพราะจาก “เหตุการณ์ 8 ก.พ.62” ก็ทำให้ใครหลายคนรู้ว่า “คนแดนไกล” ไม่ได้วาง “เพื่อไทย” ไว้เป็น “สาขาหลัก” อีกต่อไป แต่เทน้ำหนักไปให้ “ไทยรักษาชาติ” ที่ถูกยุบพรรคไปมากกว่า
หลังเลือกตั้งเมื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ แล้วตัวเองยัง “ขาลอย” ไม่ได้เป็น ส.ส.ด้วยแล้ว การบังคับบัญชาพรรคตามตำแหน่งที่ได้รับก็ยิ่งยากไปใหญ่
ยิ่งเมื่อเก้าอี้หัวหน้าพรรคไปอยู่กับ “สมพงษ์” สายแข็งจากเชียงใหม่ อำนาจคอนโทรลพรรคก็ยิ่งลดน้อยลง แม้จะส่ง “เสี่ยป๊อป” น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เด็กในเครือ ไปค้ำอำนาจในตำแหน่งเลขาธิการพรรค เบียด “เสี่ยอ้วน” ภูมิธรรม เวชชยชัย อดีตเลขาฯพรรค สายตรงดูไบ ที่เฟดตัวไปที่ปรึกษาของ “สมพงษ์” ทั้งในพรรค-ในสภา รวมทั้งในคณะกรรมการฯของ “เฉลิม” ด้วยก็ตาม
เพราะอย่าลืมว่า พื้นเพของ “หญิงหน่อย” มาจากพื้นที่ กทม.จนเคยได้รับสมญา “เจ้าแม่นครบาล” มาแล้ว ทว่าในขณะที่ปัจจุบันพรรคเพื่อไทย มี “ส.ส.นครบาล” เพียง 8 เสียง และเสียงส่วนใหญ่ของพรรคคือ “ส.ส.ภูธร” และส่วนใหญ่ในนั้นคือ “ส.ส.อีสาน” ที่มี “หัวหน้ามุ้ง” อยู่แล้ว
ทั้ง “หัวเขียง” ประยุทธ์ ศิริพานิชย์ และ “เฮียเกรียง” เกรียง กัลป์ตินันป์ ที่แม้จะไม่ได้เป็น ส.ส.งวดนี้ แต่ก็รู้กันว่าเป็นหัวเรือใหญ่ของ ส.ส.อีสาน พรรคเพื่อไทย
รายแรกถือเป็น “สายตรงดูไบ-ลอนดอน” จากผลงาน “นิรโทษฯสุดซอย” ที่เป็นเหตุให้ “รัฐบาลปู” ล่มสลาย แต่ก็ถือว่าได้ใจเจ้านาย ขณะที่รายหลังก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับ “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวนายใหญ่ มาก่อน
โดยเฉพาะ “เสี่ยเกรียง” ว่ากันว่า ไม่ยอมรับการที่ “คุณหญิงหน่อย” นำพรรคเพื่อไทย จนเคยผละไปอยู่กับ “ไทยรักษาชาติ” มาแล้วด้วยซ้ำ ก่อนเกิดอุบัติเหตุ และกลับมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยในภายหลัง
ขณะที่ “ส.ส.เหนือ” ก็ยังอยู่ภยใต้อิทธิพลของ “เจ๊แดง - เยาวภา” ที่แม้ตัวจะไม่ค่อยอยู่ในประเทศ แต่ก็รู้กันว่ายังคอยแวะเวียนมาสั่งการทีมงานหลายหน
จนน่าสังเกตว่า งานเลี้ยงที่ “บ้านลาดปลาเค้า” ที่ ส.ส.เพื่อไทยไปกันครึ่งร้อยชีวิตวันก่อนนั้น ยังขาด ส.ส.หลายก๊วน ทั้งอุบลราชธานี-สุรินทร์ ที่ไม่ได้ไปร่วมเช็คชื่อให้กำลังใจ “หญิงหน่อย” ด้วย
ท่ามกลางข่าว “บิ๊กเพื่อไทย” ทั้งสายตรงดูไบ-สายอีสาน กริ๊งกร๊างบล็อค ส.ส.ไม่ให้ไป “บ้านเจ๊” กัน
สะท้อนถึงความลำบากในการคอนโทรลหลายกลุ่มหลายก๊วนภายในพรรค ที่ต่างอยู่ในสภาพ “อดยากปากแห้ง” หลัง “หัวจ่ายดูไบ” ปิดตายมานาน ก็เลยกลายเป็นงานหินของ “หญิงหน่อย” ไปโดยปริยาย เป็นที่มาของคำโอดครวญว่า ตั้งแต่เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์มาก็ถูกแทงหลังจนพรุนไปหมด
อีกทั้งสภาพ “อดยากปากแห้ง” ที่ว่า ก็เป็นช่องให้ “บิ๊กพลังประชารัฐ” ไล่เจาะหาทาง “ป้อนกล้วย” ตลอดเวลา ถึงขนาดใช้คอนเนคชันเก่าๆ เปิด “ดีลฝากเลี้ยง” ต่อสายไปถึง “เมืองนอก” ว่าขอรับ ส.ส.เพื่อไทยไปดูแล ปลายสายก็ไม่ว่ากระไรเสียด้วย แถมฝากฝังดิบดีว่า “ฝากเลี้ยงไปแล้ว ก็ขอให้เลี้ยงให้ดีด้วยนะ”
อันเป็นเหตุให้ ส.ส.เพื่อไทย กล้าแหกมติพรรค-มติฝ่ายค้าน ไปโหวตให้ฝ่ายรัฐบาล โดยที่ไม่มีบทลงโทษ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ว่ากันว่า ในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะถึงนี้ อาจจะมี “กองทัพงูเห่า” ของพรรคเพื่อไทย ทำทีโหวตปิด-โหวตถูก แล้วไปวางบิลกับ “บิ๊กรัฐบาล”
ดีไม่ดีอาศัยจังหวะปรับคณะรัฐมนตรี รวมเสียงไปแลกแต้มเป็น “เก้าอี้ รมต.” ด้วยซ้ำ หากเกิดขึ้นจริงก็จะยิ่งประจานความแยกแยก-รอยร้าวของพรรคเพื่อไทยให้แจ่มชัดขึ้น
ถึงเวลานั้น “ข่าวลือ” ก็อาจจะกลายเป็น “ข่าวจริง” หาก “หญิงหน่อย” จะหันหลังให้ “เพื่อไทย” แล้วไปตั้งพรรคใหม่ดังที่กระหึ่มๆ มาหลายระลอกแล้ว
ส่องหมาก “ค่ายสีส้ม” แก้เกมถูกยุบพรรค
รอยร้าวลึกใน “เพื่อไทย” ก็ไม่ต่างจากความระส่ำระสายของเพื่อนร่วมฝ่ายค้านอย่าง “ค่ายสีส้ม” พรรคอนาคตใหม่ ก็เวลานี้ดูเหมือนจะหมกมุ่นอยู่กับคิวที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดพิจารณาวินิจฉัยคดีที่ พรรคอนาคตใหม่ ถูกร้องว่าใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข หรือไม่ ในวันอังคารที่ 21 ม.ค.2563 เวลา 11.30 น.
ขีดเส้นตายไว้เข้มด้วยว่า เป็นการนัดพิจารณาวินิจฉัย โดยไม่มีการไต่สวน เนื่องจากพยานหลักฐานเพียงพอเสียด้วย
เป็น “ศาลรัฐธรรมนูญ” ชุดเดิมชุดเดียวกับที่เพิ่งลงดาบให้ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.จากกรณีถือหุ้นสื่อสารมวลชน ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร ส.ส. โดยขั้นนั้นมีการเปิดศาลไต่สวนโจทก์-จำเลยโดยละเอียด
คดีล้มล้างการปกครอง ต่างจากคดีถือหุ้นสื่อของ “เสี่ยเอก” เนื่องจากคดีที่จะวินิจฉัยในวันที่ 21 ม.ค.นี้ ผู้ถูกร้องมีตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 “ธนาธร” และ “จารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ผู้ถูกร้องที่ 2-3 จนไปถึง คณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นผู้ถูกร้องที่ 4
หากถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดก็จะนำมาซึ่งกระบวนการ “ยุบพรรค” พร้อมตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด
ผลพวงย่อมรุนแรงกว่าคดีหุ้นสื่อที่เป็นความผิดเฉพาะตัวของ “ธนาธร” หัวหน้าพรรค
หรือแม้จะรอดพ้นคดีล้มล้างการปกครองนี้ ก็ยังมี “ดาบสอง” ที่แจ่มแจ้งแดงแจ๋อย่างคดี “ธนาธร” ปล่อยกู้พรรค 191 ล้านบาท
ว่ากันว่าคดีหลังต่างหากที่จะนำไปสู่การปิดตำนาน “ค่ายสีส้ม” มากกว่า
ยามนี้ “คนอนาคตใหม่” ก็เลยดูจะหมกมุ่นจับจดอยู่กับกรณี “ยุบพรรค” มากเหนือสิ่งอื่นใด โดยเฉพาะการทำงานในสภาฯที่ทำกัน “พอเป็นพิธี” แล้วเน้นไปที่การเปิดเกมรุก “นอกสภา” มากกว่า
โดยเฉพาะการเข้าไปมีส่วนร่วมโหมกระแสอีเว้นท์ “วิ่งไล่ลุง” ในวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง “ธนาธร” รวมทั้ง “สาวช่อ” พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ดูจะให้ความสำคัญราวกับเป็น “ตัวตั้งตัวตี” เสียเอง
คล้ายจะคาดหวังเอฟเฟกต์จากอีเว้นท์ “วิ่งไล่ลุง” โหมกระแสไม่เอา “รัฐบาลลุงตู่” หลังจากก่อนหน้านี้เคยจัด “แฟลชม็อบ” แล้วจุดกระแสไม่ค่อยติด
สำหรับเกมนอกสภานั้น ดูเหมือน “ค่ายสีส้ม” จะรู้ดีกว่าที่ตีปิ๊บว่า พรรคอนาคตใหม่ถูกกระทำนั้น สร้างความรู้สึกร่วมจากมวลชนไม่ได้ตามเป้า ก็เลยปรับเกมมาใช้วิธีจับโยงประเด็นที่สังคมสนใจเข้ากับการเรียกร้องต่อต้านรัฐบาล
ไม่ว่าจะอาศัยทีมงานอีเว้นท์ “วิ่งไล่ลุง” ตระเวนไปสร้างกระแสหลายจุด ทั้งการออกหมายเชิญนายกรัฐมนตรี หรือผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้ไปร่วมงาน หรือการสร้างดรามาถูกกีดกันไม่ให้จัดงานในหลายจังหวัด เหมือนที่เคยโวยวายว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกดดันไม่ให้แถลงข่าวหลายครั้งใน กทม. แต่ทางตำรวจเองก็ยืนยันว่า ไม่ได้ทำอะไรเลย
กระทั่งเหตุการณ์ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน ก็ยังถูก “ธนาธร” หยิบโยงมาถึงประเด็นเรียกร้อง “ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” ได้อย่างน่าอัศจรรย์
สะท้อนให้เห็นถึงความแห้งแล้งประเด็นที่จะโจมตีรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด
อันน่าจะเป็นเหตุมาจากความพะว้าพะวงกับอนาคตของพรรคมากกว่า โดยที่ผ่านมาวอร์รูมของ “ค่ายสีส้ม” มีการประเมิน “ซีนาริโอ” สถานการณ์ความน่าเป็นว่า ถ้าพรรคอนาคตใหม่ถูกวินิจฉัยว่ามีความผิดไม่ว่าคดีล้มล้างการปกครอง หรือคดีกู้เงินหัวหน้าพรรค ที่นำมาซึ่งกระบวนการ “ยุบพรรค” พร้อมตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด ออกมาได้หลายระดับ
ส่วนใหญ่มองว่าตัวเองไม่รอด ถูกยุบพรรคค่อนข้างแน่ เพียงแต่ว่ายุบเมื่อไร คดีไหนเท่านั้น
ในส่วนของกรรมการบริหารพรรคก็ทำใจล่วงหน้ากันแล้วว่า คงต้องตามรอยหัวหน้าพรรคที่ล่วงหน้าหลุดจาก ส.ส.ไปก่อนแล้ว ที่พอมีลุ้นก็คงเป็น ส.ส.ของพรรคที่ขณะนี้เหลือ 76 ชีวิต หลังขับ 4 ส.ส.ออกไปก่อนหน้านี้ ว่าจะมีชะตากรรมอย่างไรเท่านั้น
ส.ส.เขต ที่เหลืออยู่ 26 คนตอนนี้ คงไม่มีผลกระทบ เนื่องจากได้รับการเลือกตั้งมาโดยตรงจากประชาชนในพื้นที่ ครั้นจะถูกสอยตามพรรคไปก็ดูจะ “ใจร้าย” ไปหน่อย
ที่น่าจะเป็นห่วงคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่มีอยู่ 50 ชีวิตมากกว่า เนื่องจากมีการประเมินกันว่า หากพรรคถูกยุบ ส.ส.กลุ่มนี้อาจสิ้นสภาพตามพรรคไปด้วย อย่างไรก็ดี “มองในแง่ดี” ก็ยังเชื่อกันว่า สถานะ ส.ส.จะติดตัวแต่ละคนไป
โดยมีกรณีการยุติกิจการพรรคประชาชนปฏิรูปของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ไปเป็น ส.ส.พลังประชารัฐ ที่คะแนนพรรคเดิมอาจหายไป แต่สถานะ ส.ส.ยังติดตัวไปด้วยเป็นโมเดล
อย่างไรก็ดี ที่น่าเป็นห่วงคงเป็น 11 กรรมการบริหารพรรค ที่มีสถานะ ส.ส.ด้วย ตั้งแต่ “จารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค, “ครูจุ๊ย” กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ - ชํานาญ จันทร์เรือง - “เสธ.โหน่ง” พล.ท.พงศกร รอดชมภู รองหัวหน้าพรรค, ไกลก้อง ไวทยการ นายทะเบียนพรรค, “สาวช่อ” พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคและที่เหลือเป็นกรรมการบริหารพรรค ได้แก่ สุรชัย ศรีสารคาม - เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ - เจนวิทย์ ไกรสินธุ์ - จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ - นิรามาน สุไลมาน (ลาออกภายหลัง)
โดยทั้ง 11 คนเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด จึงได้มีการเตรียมการให้กรรมการบริหารเหล่านี้จะลาออกจาก ส.ส.ก่อนวันที่ 21 ม.ค.ที่ศาลรัฐธรรมนูญนักวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง
เพื่อเปิดทางให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับถัดไปเป็นที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคขึ้นมาเป็น ส.ส. เพื่อคงสถานะความเป็น ส.ส.ไว้ หลังจากพรรคถูกยุบนั่นเอง
เป็นหมาก “แก้เกม” ไว้ล่วงหน้า เพื่อคงสถานะ ส.ส.ไว้ที่ 76 เสียงตามเดิม เพราะคาดว่าหากรอดจากคดีล้มล้างการปกครอง ก็ไม่น่าล้มคดีกู้เงิน “ธนาธร”
เพียงแค่ว่า เมื่อถึงวันนั้นจริง “เสี่ยเอก” จะรวบรวมไพร่พล “เลือดแท้” ไปต่อได้มากน้อยขนาดไหน ก่อนหน้านี้เจ้าตัวก็เปรยๆแล้วว่า อาจจะเหลือแค่ราว 60 ชีวิตเท่านั้น ที่ปักหลักอยู่กับ “อนาคตใหม่” ในนามพรรคใหม่ เท่ากับว่าจะมีราว 20 เสียงที่ “สบช่อง” ไปหารังใหม่ ตามรอย 4 อดีตเพื่อนร่วมพรรคไป
หากแต่หมากแก้เกมที่ว่าจะ “แป้ก” ทันที หากว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่ถูกยุบ เพราะต้องยอมรับว่า ผู้ที่เข้ามาเสียบเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ แทนนั้น คุณภาพด้อยกว่าชุดเดิมอย่างเห็นได้ชัด
แล้วอาจจะ “แป้ก” หนักกว่าเดิม หากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ถูกขยับไปหลังวันที่ 24 มี.ค.63 หรือ 1 ปีให้หลังจากวันเลือกตั้งทั่วไป
เพราะมี “เงื่อนเวลา” ที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ทำนองว่า หลังพ้น 1 ปีนับแต่วันเลือกตั้งทั่วไป จะไม่มีการคำนวณ ส.ส.พึงมี ที่แต่ละพรรคได้ใหม่
ปัญหามีว่า ถึงเวลานั้นอาจไม่มีพรรคการเมืองที่ชื่อ “อนาคตใหม่” แล้วก็เป็นได้ ดังนั้น “6.3 ล้านเสียงทั่วประเทศ” ก็ไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหนเช่นกัน
เข้ากรณีนี้จริงคงต้องมีการตีความกันวุ่นวายไม่น้อย
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ แกนนำหลักของฝ่ายค้านในขณะนี้ ย่อมทำให้ฝ่ายรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ นั่งผิวปากอยู่บนภูแบบชิลล์ๆ เพราะดูเหมือนอะไรๆก็เข้าทางไปหมด
จากที่เคยประเมินว่าจะร่อแร่หลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จำต้องงัดแผนเขย่าติ้วปรับคณะรัฐมนตรี หา “แพะรับบาป” ก็พับแผนเก็บใส่ลิ้นชักไปก่อนได้
อย่างที่ “ป๋าป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พี่ใหญ่รัฐบาล ประกาศเปรี้ยง เรื่องปรับคณะรัฐมนตรียังไม่ใช่ช่วงนี้
จะมาลุ้นกันอีกทีก็ช่วงหลัง “บิ๊กแดง-พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” ผู้บัญชาการทหารบก เกษียณอายุราชการ เพราะไม่แน่นักว่า อาจมีการขยับขยายเก้าอี้สำคัญบางตัว ซึ่งก็ไม่รู้ว่า งานนี้จะมี “พี่คนไหน” ต้องเสียสละเก้าอี้เพื่อ “น้องตู่” หรือไม่เท่านั้น.