xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

การเมืองปีชวด ศึกใหญ่-น้อยจ่อคิวเขย่ารัฐบาล “งบฯ63-ซักฟอก-เลือกตั้งท้องถิ่น” ไฟต์เดือดๆ “หนูธนาธร” ขอบู๊ “ราชสีห์ตู่”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “มีอีกหลายอย่างที่ต้องทำในปีหน้า ขณะนี้ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น ไม่มีอะไรที่จะดีไปทั้งหมด หรือเลวไปทั้งหมด ทำอย่างไรให้ดีขึ้นมากกว่าที่ไม่ดี คือสิ่งที่ต้องช่วยกันแก้ไข...”

คำพูดของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือเจ้าของฉายา “อิเหนาเมาหมัด” ที่มีต่อสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสที่ตัวแทนสื่อเข้าอวยพรปีใหม่นายกฯ และรัฐมนตรีบางส่วน ก่อนวันหยุดเทศกาลปีใหม่

นัยของคำพูดที่ว่า ยังมีการบ้านต้องทำอีกอื้อนั้น ก็ดูจะไม่ต่างจากคำพูดในช่วง 4-5 ปีที่ “ลุงตู่” ยังสวมหมวกหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ ที่เจ้าตัวมักหล่นวาทะทำนองว่า ยังมีงานต้องทำอีกแยะ จนยังไม่สามารถผละตัวออกจากอำนาจได้นั่นเอง

หรือดั่งบทเพลงท๊อปชาร์ตอย่าง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” ที่มีท่อนฮุก หลอนหู “ขอเวลาอีกไม่นาน...” ที่ทำให้ “บิ๊กตู่” ถูกแซวมาจนทุกวันนี้

เป็นทิศทางที่ทำให้ “วาทะแห่งปี” ของ “นายกฯ ประยุทธ์” ที่เลือกโดยสื่อฯประจำทำเนียบรัฐบาล ที่ว่า “อย่าเพิ่งเบื่อผมก็แล้วกัน ยังไงผมก็อยู่อีกนานพอสมควร” แจ่มชัดขึ้น

ยิ่งสำรวจภูมิทัศน์ทางการเมืองช่วงก่อนวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ด้วยแล้ว ก็ดูทุกอย่างจะเข้ารูปเข้ารอย การเมืองเริ่มลงตัว งานในสภาฯ ขับเคลื่อนได้ รัฐบาลยังไม่มีแผลจากการสะดุดขาตัวเอง

ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องที่หัวทิ่มมาหลายปีเศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณเป็นบวก แนวโน้มดีขึ้น ดอกผลจากนโยบายรัฐบาลเริ่มเก็บเกี่ยวได้ วิกฤตราคาพืชเศรษฐกิจเริ่มคลี่คลาย ทั้งราคาข้าวที่ได้ปัจจัยส่งจนสูงขึ้นแบบที่ไม่ต้องทำอะไร

หรือที่โดดเด่นเคลมผลงานได้ ก็คงเป็นราคาปาล์มที่พุ่งพรวดไปเป็นเท่าตัว จากกิโลกรัมละ 2.30-2.80 บาท ไปเป็น 5.70-6.60 บาท อันเป็นผลมาจากมาตรการการซื้อปาล์มน้ำมันไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการผลิตน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B10 ของกระทรวงพลังงาน ภายใต้การนำของ “บิ๊กสน” สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน

ไม่ต้องเป็นโหรเจ้าสำนักอะไร ก็ทำนายได้ว่า “ลุงตู่อยู่ยาว” ชัวร์

ขณะที่คิวหนักๆ ด้านการเมืองที่ “รัฐบาลเซียงกง” ต้องเผชิญใน “ขวบปีแรก” เต็มๆ ครั้งแรกหลังผ่านการเลือกตั้ง แปรสภาพ “รัฐบาลรัฐประหาร” มาเป็น “รัฐบาลเลือกตั้ง” ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

หากจะ “พรีวิวการเมืองปีชวด” โดยสังเขป ก็จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. ที่มีการการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ในวาระ 2-3 หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ซึ่ง ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ ในวันที่ 8-9 ม.ค.63 โดยปลายเปิดไว้ว่าหาก 2 วันไม่จบ สามารถขยายเวลาเพิ่มเติมได้

ทั้งนี้ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯในวาระ 2-3 นั้นแตกต่างจากการพิจารณาในวาระแรก ที่เป็นเพียงการรับหลักการ แต่ในวาระ 2-3 นั้น ส.ส.สามารถอภิปรายลงรายละเอียดของแต่ละหน่วยงานได้

โดยเป้าที่จะถูกถล่ม หลักอยู่ “งบกลาง” ซึ่งเป็นอำนาจการเบิกจ่ายของนายกรัฐมนตรี รวมไปถึง “กระทรวงกลาโหม” ที่ถูกปรับลดในชั้นกรรมาธิการสัดส่วนมากที่สุด ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน

ทั้งนี้ เป้าหมายของฝ่ายค้าน ก็เป็นไปตามข้อสังเกตที่มีการตั้งไว้ในชั้นกรรมาธิการว่า ควรให้ความสำคัญกับกำลังพลในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยควรใช้วิธีรับสมัครแทนการเกณฑ์ทหาร เพื่อให้คัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถ มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการกำลังพล

ตามธง “ลดไซส์กองทัพ” ตลอดจน “ยกเลิกเกณฑ์ทหาร” อันเป็นนโยบายแหลมคมของ “ค่ายสีส้ม” พรรคอนาคตใหม่ นั่นเอง

อย่างไรก็ดีการลงมติในชั้น “สภาล่าง” เพื่อผ่านร่างงบประมาณฯ ที่อาศัย “เสียงกึ่งหนึ่ง” คงไม่ใช่ปัญหา ด้วยเหตุที่หลังจากเกิด “เสียงงูเห่า” ในการโหวตญัตติรีเซ็ตคำสั่ง คสช. ตลอดจนการที่พรรคอนาคตใหม่ ขับ 4 ส.ส.แหกคอกออกจากพรรค รวมทั้งการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครปฐม และ จ.ขอนแก่น ที่พรรคฝ่ายรัฐบาลคว้าชัยรวด ส่งผลให้เสียง ส.ส.ของฝ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นมามากกว่า 10 เสียงเข้าให้แล้ว และมีกระแสข่าวว่ายังมี “กองทัพงูเห่า” ซุ่มอยู่ใน “ดงงูเห่า” สภาผู้แทนราษฎร อีกหลายสิบชีวิต

จนอาจพูดได้ว่า ฝ่ายรัฐบาลพ้นสภาวะ “เสียงปริ่มน้ำ” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ถัดมา ยกที่สอง การยื่นญัตติขออภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่คาดว่าจะมีการยื่นขอบรรจุวาระกันภายหลังจากการพิจารณาร่างงบประมาณฯแล้วเสร็จ และจะมีการอภิปรายกันในช่วงคาบเกี่ยวเทศกาลตรุษจีน ไม่เกินปลายเดือน ม.ค.นี้

ทางฝ่ายค้านคาดหมายว่าจะเป็นการขยายแผลสดของรัฐบาล หลังจากเปิดแผลไปแล้วในการอภิปรายงบประมาณปี 63

โดยเฉพาะ “ค่ายเพื่อไทย” ที่ได้ตั้ง คณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย โดย “บัญชาแดนไกล” ขึ้น พร้อมเบิกตัว “สารวัตรดาวเทียม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ ในฐานะ “ดาวสภาตลอดกาล” มาเป็น “กุนซือ” ศึกซักฟอกให้กับพลพรรคเพื่อไทย

ให้อำนาจหน้าที่ในการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองเพื่อเสนอต่อ “เฮียพงษ์” สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค พร้อมทั้งติดตามควบคุมการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

พลันที่ “เฉลิม” เปิดตัวออกมา กระแสความสนใจเทไปที่สถานะของ “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่ครองอำนาจเบ็ดเสร็จมาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มากกว่าจะสนใจว่า “พ่อ ส.ส.วัน” จะมีทีเด็ดอะไรมาซัด “รัฐบาลประยุทธ์” เสียอีก

หลังเปิดตัว “เฉลิม” เองก็ได้ “กางข้อสอบ” ออกมาเบื้องต้นว่า มีรัฐมนตรีเป้าหมายที่จะอภิปราย 6 คน เปิดเผยชื่อมาแล้ว 4 คน ได้แก่ “นายกฯประยุทธ์” ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ที่ในญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ต้องมีการแนบชื่อแคนดิเดตนายกฯของฝ่ายค้านขึ้นมาด้วย ซึ่งหากโป๊ะเชะไปที่แคนดิเดตนายกฯ ในลิสต์ของพรรคเพื่อไทยที่ไม่ใช่ “หญิงหน่อย” ก็คงเป็นการเฉลยคำถามจากวรรคด้านบนได้เป็นอย่างดี

ส่วนรัฐมนตรีรายอื่นๆที่อยู่ในข่ายโดนซักฟอก จะมี “เซียนลอดช่อง” วิษณุ เครืองาม และ “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สองรองนายกรัฐมนตรีคู่ใจของ “บิ๊กตู่” ติดโผด้วย

ที่เซอร์ไพร์สหน่อยๆคงเป็นรายของ “ทูตดอน” ดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่ถูกล็อกเป้าด้วยเฉยเลย

แต่จากการที่ฝ่ายรัฐบาลสามารถกุมเสียงในสภาฯได้ “คงที่” แล้ว ก็อาจส่งผลให้ศึกซักฟอกอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ ไม่สมราคาคุยก็เป็นได้

ตรงเป๊ะกับคำที่ “เฉลิม” ได้ออกตัวไว้ว่า “ยอมรับว่าแม้การอภิปรายครั้งนี้จะล้มรัฐบาลยาก แต่มั่นใจว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ได้”

กลับกันในช่วงลงมติ อาจมีการ “แกรนด์โอเพนนิ่ง” ของ “กองทัพงูเห่า” ที่จะฝาก “แผลในใจ” ให้กับฝ่ายค้านมากกว่าด้วยซ้ำไป

ยกที่สาม เป็นสังเวียนใหญ่ “เลือกตั้งท้องถิ่น” ที่ถือเป็นสนามวัด “คะแนนนิยม” ทั้งรัฐบาล-ฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการ โดยหมายตากันว่า จะดีเดย์ได้กากกันในช่วงครึ่งหลังของปี ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-ก.ค. ไปแล้ว

จั่วหัวกันด้วย “เขตปกครองพิเศษ” สนาม “ผู้ว่า กทม.-นายกฯ เมืองพัทยา” นำร่อง ก่อนจะปูพรมให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศต่อไป

สำหรับสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ย่อมถูกจับจ้องเป็นพิเศษ ทั้งในฐานะเมืองหลวงมหานครของประเทศ แล้วยังเป็น “ตัวชี้วัด” คะแนนนิยมของรัฐบาล และพรรคการเมืองต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

แต่ข่าวคราวเริ่มหนาหูว่าทุกขั้วอำนาจพร้อมใจเปิดทางให้ “เสี่ยทริป” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่ประกาศลงสมัครในนาม “อิสระ” ขึ้นครองอาณาจักรเสาชิงช้า

ซึ่งหาก “ค่ายลุงตู่” พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะแชมป์ ส.ส.กทม.ไม่ส่งผู้สมัคร ก็เท่ากับว่า “ลุงตู่” ไม่ต้องเอาชื่อไปเสี่ยงในสนามเมืองหลวง

ทีนี้หันไปดูสนามภูธร ตามธรรมชาติแล้วที่ผ่านมาผลการเลือกตั้งท้องถิ่น ระดับ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) -องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มักล้อไปกับผลการเลือกตั้งใหญ่ พรรคไหนมี ส.ส.เยอะก็มักจะส่งคนไปยึดเก้าอี้ “นายกฯ อบจ.” ได้ไม่ยาก รวมทั้งยังมีการ “รวมกันเฉพาะกิจ” ที่คู่แข่งทางการเมืองจะหันมาแตะมือสนับสนุน “ทีมงานเดียวกัน” ลงยึดพื้นที่ท้องถิ่น

อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มการเลือกตั้งซ่อมที่้ฝ่ายรัฐบาลเอาชนะได้ทั้งที่ จ.นครปฐม และ จ.ขอนแก่น

ทั้งที่ “สามพราน” ซึ่ง “เสี่ยเตี้ย” เผดิมชัย สะสมทรัพย์ สามารถทวงพื้นที่คืนจากผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ได้

สำคัญกว่านั้น ก็สนาม “เขต 7 ขอนแก่น” ที่ สมศักดิ์ คุณเงิน จากพรรคพลังประชารัฐ โค่นผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ได้สำเร็จ แบบที่มีข่าวว่า เจ้าของพื้นที่ศิโรราบยอมตั้งแต่ในมุ้งเลยทีเดียว

ถือเป็นสัญญาณที่ดีไม่น้อย เพราะเป็นการเลือกตั้งหลังจากที่ “รัฐบาลบิ๊กตู่” เริ่มทำงานไปแล้ว แสดงว่าที่ว่ากันว่า “เบื่อลุง” กันทั่วประเทศนั้น ยังไม่ตรงกับความเป็นจริงที่สะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งซ่อม

และยัง “กระแส” ของบางพรรคการเมืองที่เคยร้อนแรง ก็วูบวาบไม่ต่างจาก “ผีพุ่งใต้” เท่านั้น

ชี้ให้เห็นว่าหากมีการบริหารจัดการที่ดี “พื้นที่แดง - พื้นที่ส้ม” ที่ว่าแน่ๆ ก็โดนเจาะได้ไม่ยาก ไปได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีพันธมิตรเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ที่ดีดลูกคิดบวกคะแนนที่ ส.ส.รัฐบาล ได้รวมกัน แล้วหลายจังหวัดเข้าวินสบาย และหลายจังหวัดในภาคอีสาน “แดนทักษิณ” ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงเช่นกัน

ดังนั้นยกที่สาม การเลือกตั้งท้องถิ่น เชื่อเหลือเกินว่า “ค่ายพลังประชารัฐ” จะทำได้ดีกว่าที่คาด

การเมืองศักราชใหม่ “ปีชวด” น่าจะจับตามองไปที่ “เกมแก้รัฐธรรมนูญ” ที่สภาผู้แทนราษฎร เพิ่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี “เสี่ยตุ๋ย” พีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน ไปเมื่อเดือนก่อน

ต้องยอมรับว่าทุกพรรคการเมือง รวมทั้งรัฐบาลเอง ก็เห็นพ้องที่จำเป็นต้องเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทว่าการเปิดทางให้แก้ไขเพิ่มเติม ก็หาใช่เต็มใจให้ “รื้อทั้งฉบับ” อย่างที่มีความพยายามตีปี๊บกันอยู่ มีประเภท “ประเด็นที่แตะต้องไม่ได้” อยู่ไม่น้อย

โดยเฉพาะประเด็น “ที่มา-อำนาจ” ของวุฒิสมาชิก (ส.ว.) ที่ดูท่า “ฝ่ายการเมือง” กำลังขย่มกันอย่างหนัก

จนทำให้ “ผู้สันทัดกรณี” ฟันล่วงหน้าว่า ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯชุด “เดอะตุ๋ย” ไม่อาจนำพาไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้

เมื่อถึงจุดนั้นก็อยู่ที่ “ฝ่ายอำนาจ” จะรับมือจากกระแสรุมโห่จากสังคมได้ดีขนาดไหน

เกมการเมืองที่ทำท่าจะเดือดที่สุดของปีหนูทอง คงเป็นการเปิดเกมรุก “นอกสภา” เต็มสูบของ “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นสถานภาพ ส.ส. และพรรคที่ตัวเองเป็นเจ้าของก็ส่อจะมีชะตากรรมไม่ต่างกัน ทั้งจากคดีล้มล้างการปกครอง หรือที่แจ่มแจ้งแดงแจ๋อย่างคดี “ธนาธร” ปล่อยกู้พรรค

ประเมินว่า หากมีการยุบ “ค่ายสีส้ม” จริง อาจจะนำไปสู่ “จลาจลกลางเมือง” แต่หากลงรายละเอียดการตัดสินใจ “ลงถนน” ไม่ว่าจากคดีถือหุ้นสื่อของตัวหรือคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวของ “ธนาธร และคณะ” ล้วนๆ หาได้เป็นประโยชน์ของสาธารณะที่จะสร้าง “แนวร่วม” ขึ้นมา

หรือพูดได้ว่าเชื้อไม่พอ ที่จะเรียก “สาวก” ให้ลงนอนกลางดินกินกลางถนนหรือตายแทนได้อย่าง “ม็อบโค่นรัฐบาล” ในอดีตได้

หรือเรียกได้ว่า “สถานการณ์ยังไม่สุกงอม” แต่พยายาม “เร่งโต” จนไม่เป็นธรรมชาติ ที่สุดกระแสอาจตีกลับไปถล่มตัว “เสี่ยใหญ่ไทยซัมมิท” เอง

มี “หนังตัวอย่าง” ให้ดูแล้ว จาก “ม็อบ 4.0 เกาะฮ่องกง” ที่มี “ตี๋หว่อง” โจชัว หว่อง น้องเลิฟของ “เฮียทอน” เป็นแกนนำ เดิมทีชาวฮ่องกงตื่นตัวออกมาร่วมเคลื่อนไหวชุมนุม จนยกระดับไปถึงการแบ่งแยกประเทศออกจากจีนแผ่นดินใหญ่

แต่นานเข้าเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว พังพินาศจากน้ำมือม็อบเอง ความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ของ “ม็อบหว่อง” ก็เสื่อมลงตามกลายเวลา มีวูบวาบๆ ตามอีเวนท์นานๆ ครั้งเท่านั้น

หันกลับมาดูที่เมืองไทย อย่างที่ไล่เรียงคิวการเมืองปีชวดที่ยังไม่มีแมตซ์ถึงขั้นทำให้รัฐบาลสะเทือนได้ แถม “รัฐบาลลุงตู่” ยังแกร่งขึ้นทุกขณะ ขนาด “คนเพื่อไทย” ยังออกปากว่า โค่นลำบาก เลย

อีเวนท์เก็บค่าตั๋วอย่าง “วิ่งไล่ลุง” ในวันที่ 12 ม.ค. ที่ “ธนาธร” ทำตัวเหมือนเป็น “แบรนด์แอมบาสเดอร์” งานนี้ ตีฆ้องร้องเป่าเชิญชวนผู้คนให้จ่ายค่าตั๋วไปร่วมงานในทุกโอกาส

หรือถึงขนาดลงทุนไล่แท็ก “เซเลบฯ-คนดัง” ในทวิตเตอร์ หวังปั่น “แฮชแท็ก” ให้ติดระดับทอปตลอด จนเจอตอบกลับปฏิเสธอย่างไม่ไว้หน้า

ที่สุดกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ก็คงเป็นอีเวนท์สร้างกระแส ที่ทำ “กระสุน” ให้ผู้จัดงานเป็นกอบเป็นกำ แต่ถึงขั้นเป็นกระแสไล่รัฐบาล ต้องบอกว่าห่างไกล

“แบรนด์แอมบาสเดอร์” อย่าง “เฮียทอน” ก็คงต้องกลับไปคิดอีเวนท์สร้างกระแสครั้งใหม่ให้แนบเนียนกว่าเดิม

กลายเป็นว่ากิจกรรมที่ปั่นกระแสมาข้ามปี ไม่สะทกสะท้าน “รัฐบาลลุงตู่” ได้

หากเปรียบเทียบตามยุคสมัยศักราชใหม่ปีชวด “ธนาธร” ก็คงไม่ต่างจาก “หนู” ครั้นจะริอาจมาขอท้ารบกับ “ราชสีห์” อย่าง “ประยุทธ์” ก็ยากที่จะต่อกรได้

อย่างที่บอกข้างต้น ไม่ต้องเป็นโหรเจ้าสำนักอะไร ก็ทำนายได้ว่า “ลุงตู่อยู่ยาว” ชัวร์

เพียงแต่อย่าให้เกิด “สนิมเนื้อใน” หรือ “สะดุดขาตัวเอง” เท่านั้นเอง.


กำลังโหลดความคิดเห็น