ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จบโครงการโซลาร์ภาคประชาชน หรือโซลาร์รูฟท็อป นำร่องเฟสแรกเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา ผลปรากฏออกมาแล้วว่าพลาดเป้าอย่างแรง จนดูคล้ายกับว่าเจอเตะสกัดไม่ให้ผุดไม่ให้เกิดหรือเลิกรากันไปโดยปริยาย
ถึงแม้โครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่เปิดให้บ้านที่อยู่อาศัย ยื่นข้อเสนอขายไฟผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) ในส่วนที่ผลิตแล้วเหลือใช้อัตรา 1.68 บาทต่อหน่วยระยะเวลา 10 ปี ซึ่งนำร่องปี 2562 ปีแรกจำนวน 100 เมกะวัตต์ จะเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าร่วมผลิตไฟใช้เองส่วนที่เหลือขายให้รัฐ แต่การออกกฎเกณฑ์เข้าร่วมโครงการที่ยุ่งยาก บวกกับราคารับซื้อคืนเข้าระบบต่ำสุดๆ ดูก็รู้แล้วว่าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่วางตามแผนจะทำให้ได้ 1 หมื่นเมกะวัตต์ ภายในปี 2580 เป็นภาพฝันกลางวันเหมือนที่ผ่านมา
ภารกิจสำคัญเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นจริง จึงต้องรอให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหมวกอีกใบคือเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ผลักดันต่อไปให้สุดทาง ทะลุทะลวงทุกอุปสรรคปัญหาให้ได้
หากว่านายสนธิรัตน์ ทำได้จริง เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ ประชาชนสามารถลดภาระค่าไฟฟ้า แถมมีรายได้เข้าครัวเรือนจากการขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ เมื่อบวกกับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งกำลังเดินเครื่องเต็มที่ โอกาส พปชร.จะกวาดคะแนนนิยม มองเห็นเป็นเรื่องใสๆ เพราะนี่คือการกระจายโอกาส สร้างรายได้ให้ประชาชน ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาพลังงานแบบรวมศูนย์ แบบที่เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว
แต่เรื่องนี้ต้องกลับไปทบทวนดูกันใหม่ว่า โครงการโซลาร์รูฟท็อป ที่มีหลักการดีมาก เหตุไฉนถึงผลักต่อไปไม่ได้
ทำไมเมื่อรัฐบาลต้องการเฉลี่ยกระจายการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ องคาพยพของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ถึงไม่เดินตามนโยบายทำให้เกิดขึ้นได้จริง ทำไมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องออกหลักเกณฑ์ที่ยุ่งยากในการเข้าร่วมโครงการ, ทำไม กกพ. ถึงกำหนดระยะเวลาในการขายไฟ ระยะเวลา 10 ปี ทั้งๆ ที่อายุใช้งานโซลาร์เซลล์ เฉลี่ย 25 ปี
ทำไม กกพ.ถึงกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับการรับซื้อไฟจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ทั้งที่อัตรารับซื้อไฟตามต้นทุนจริงหรือ Feed in tariff ระยะเวลา 25 ปี ก่อนหน้านั้น กกพ.เคยเคาะราคาอยู่ที่ 6.16-6.96 บาทต่อหน่วยสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 6.96 บาทต่อหน่วย ด้วยซ้ำไป
ทำไมจึงกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมาโดยที่รู้ทั้งรู้ว่าราคารับซื้อไฟตามข้อกำหนดใหม่นี้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และไม่มีความสมเหตุสมผลด้วยประการทั้งปวงในช่วงเริ่มต้นส่งเสริมให้ประชาชนเข้าร่วมโครงการนี้
เบื้องหลังที่ทำให้โครงการโซลาร์รูฟท็อปไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ใช่หรือไม่ว่า ยังเป็นปัญหาวังวนเดิมๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน เพราะ 3 หน่วยงานผลิตไฟฟ้า ทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมทั้ง กกพ. เอง ไม่ได้อยากจะให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานได้
ดังที่ นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) บอกว่า “โครงการนี้หลักการที่กำหนดคือส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งใช้เองเป็นหลักที่เหลือจึงขายเข้าระบบจึงให้อัตราเพียง 1.68 บาทต่อหน่วย เพื่อไม่ให้กระทบภาพรวมต่อค่าไฟฟ้า”
ภาพรวมค่าไฟฟ้าที่ว่านั้นหมายถึงรายได้และกำไรของ 3 การไฟฟ้า ที่จะลดต่ำลง และโครงสร้างของกิจการไฟฟ้าของประเทศไทย จะเปลี่ยนโฉมหน้าไปด้วย ใช่หรือไม่ ซึ่งอันที่จริง กกพ. และ 3 การไฟฟ้า ยังไม่ต้องวิตกกังวลมากเกินไป จนทำให้โซลาร์รูฟท็อปเกิดได้ยากเย็นแสนเข็ญ
อย่างที่ ดร.วิชสินี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยให้ความเห็นผ่านสื่อเอาไว้ว่า โซลาร์รูฟท็อปมีต้นทุนลดต่ำลงจึงมีผู้ติดตั้งมากขึ้น แต่ทว่าขณะนี้ประเทศไทยสัดส่วนของผู้ติดตั้งไม่มากยังไม่ถึงร้อยละ 1 ของความต้องการไฟฟ้าจนส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าและต้องมีการเก็บค่าไฟฟ้าสำรอง หรือการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในระยะสั้นแต่อย่างใด
ขณะที่งานวิจัยของ National Renewable EnergyLab และ Lawrence Berkeley National Lab ระบุว่า ผลกระทบต่อการไฟฟ้าและราคาไฟฟ้าจะเริ่มชัดเจนเมื่อการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปเกิน 10% ของความต้องการไฟฟ้า หากโซลาร์รูฟท็อปเข้ามาในปริมาณมากจะเปลี่ยนรูปแบบความต้องการไฟฟ้าในแต่ละวัน โดยความต้องการช่วงกลางวันจะลดลง ขณะที่การใช้ไฟฟ้าช่วงกลางคืนเท่าเดิม ถึงตอนนั้นการไฟฟ้าฯ จะต้องเตรียมรับมือกับความผันผวนในระบบที่จะเกิดขึ้น
ไม่ใช่เพียงทำให้การเข้าร่วมโครงการโซลาร์รูฟท็อปยุ่งยากมากความ แต่ร่ำลือกันไปไกลถึงกับว่าจะมีนโยบายยกเลิกเลยหรือไม่ กระทั่งนายสนธิรัตน์ออกมาย้ำอีกครั้งยังเดินหน้า แม้ว่าจะพลาดเป้าอย่างแรงก็ตาม โดยยอมรับว่ามีประชาชนให้ความสนใจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควร ทั้งที่ตอนคิกออฟโครงการนั้นมีเสียงขานรับแบบฮือฮากันมาก จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประเมินผลภาพรวมและวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ เพื่อที่จะทบทวนนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนว่าจะต้องปรับปรุงอย่างไร
“คงจะต้องขอรอผลสรุปก่อนว่าเป็นอย่างไร ขณะนี้ยังถือเป็นนโยบายที่ไม่ได้เร่งรีบอะไรยังพอมีเวลาที่จะพิจารณาในรายละเอียด และยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะยกเลิกนโยบายนี้หากแต่จะต้องปรับปรุงส่วนจะมีการเพิ่มอัตรารับซื้อค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือไม่เพื่อจูงใจนั้นก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้งว่าเหมาะสมหรือไม่” นายสนธิรัตน์ กล่าวย้ำ
โครงการโซลาร์ภาคประชาชน เป็นนโยบายโบแดงของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยกำหนดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นสมัคร ซึ่ง กกพ. ได้ออกประกาศเมื่อ 23 พฤษภาคม 2562 และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้เปิดให้ยื่นข้อเสนอผ่านเว็บไซต์ของสองหน่วยงานตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 จนถึงสิ้นปี 2562 โดยกำหนดเป้าหมายปริมาณรับซื้อรวม 100 เมกะวัตต์ แบ่งพื้นที่ดำเนินการรับซื้อไฟออกเป็น กฟน. จำนวน 30 เมกะวัตต์ ครอบคลุม3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ และ กฟภ.จำนวน 70 เมกะวัตต์ ครอบคลุม74 จังหวัด ที่เหลือ
จากข้อมูล ณ วันที่ 23 ธันวาคม 62 พบว่ามีผู้มาลงทะเบียนและยื่นเอกสารเพื่อเสนอเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนรวม 1,472 ราย คิดเป็นปริมาณไฟฟ้าที่ยื่นเสนอขาย 7,970 กิโลวัตต์(kWp) แบ่งเป็นการลงทะเบียนและยื่นเอกสารผ่าน กฟน.จำนวน 731 รายคิดเป็นปริมาณไฟฟ้า 3,732.7 กิโลวัตต์ ยื่นฯผ่านกฟภ. จำนวน 741 ราย คิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟ 4,231.4 กิโลวัตต์ โดยในจำนวนดังกล่าวมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมทั้งหมด 383 รายคิดเป็นปริมาณไฟฟ้า 2,077.89 กิโลวัตต์ แบ่งเป็น กฟน. 256 รายคิดเป็น 1,407.94 กิโลวัตต์ กฟภ.จำนวน 127 รายคิดเป็น 669.94 กิโลวัตต์ ถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายมากๆ
หลังจากนายสนธิรัตน์ ย้ำชัดเจนว่า จะพิจารณารายละเอียดถึงสาเหตุที่ประชาชนไม่สนใจเข้าร่วมโครงการ จากนั้นจะปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ ทาง กกพ. ก็รีบส่งการบ้านทันที โดยวิเคราะห์สาเหตุที่หลุดเป้าหมายกำหนดรับซื้อว่า หนึ่ง ปัจจัยหลักมาจากราคาที่สนับสนุนค่าไฟที่ขายเข้าระบบ 1.68 บาทต่อหน่วยไม่จูงใจการลงทุน สอง ขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการยุ่งยาก สาม หน่วยงานราชการที่ติดต่อยังมีระบบเอกสารที่ไม่เชื่อมต่อกัน และ สี่ การประชาสัมพันธ์โครงการไม่ได้ชี้แจงขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการขอจดแจ้งยกเว้นใบอนุญาตซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เป็นต้น
หลังจากที่ กกพ. วิเคราะห์สาเหตุที่โครงการไม่ประสบผลสำเร็จแล้ว จะนำเสนอการรายงานต่อบอร์ด กกพ. จากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เพื่อขอนโยบายว่าจะปรับปรุงรายละเอียดหรือไม่ อย่างไร คาดว่าจะเป็นช่วงกลางมกราคม 2563 ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในเดือนมกราคม 2563 เพื่อเตรียมเดินหน้าโครงการในระยะที่ 2 ต่อไป
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงงาน (กกพ.) ยอมรับว่า การยื่นข้อเสนอโซลาร์ภาคประชาชนที่ต่ำกว่าเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ เนื่องจากภาคครัวเรือนส่วนใหญ่จะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเพียงเดือนละ 2,000-3,000 บาท เท่านั้น หากการลงทุนติดตั้งระดับ 200,000 บาท ก็จะไม่คุ้มค่ากับการขายไฟระยะเวลา 10 ปีในอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วย
นอกเหนือจากโครงการโซลาร์รูฟท็อป ที่จะไม่ถูกทิ้งไว้กลางทางแล้ว นายสนธิรัตน์ ยังกำลังเดินหน้าบุก “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากรับศักราชใหม่ เป็นเป้าหมายที่อยากจะสร้างผลงานชิ้นโบแดงเก็บตุนคะแนนเสียงเป็นกอบเป็นกำ
ล่าสุด หลังจากที่ กพช. อนุมัติกรอบโครงการในรูปแบบโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (วีเอสพีพี) ที่มีขนาดไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ รวมทั้งหมด 700 เมกะวัตต์แล้วนั้น นายสนธิรัตน์ บอกว่าจะเร่งให้มีการวางหลักเกณฑ์และคุณสมบัติในการดำเนินงาน โดยจะเร่งให้สามารถเปิดรับสมัครได้ภายในเดือนมกราคม 2563 นี้ ใครพร้อมก่อนสามารถยื่นเข้ามาได้ทันทีจะพิจารณาตามหลักเกณฑ์และข้อกำหนด โดยยึดหลักโครงการที่ให้ผลตอบแทนกับชุมชนสูงที่สุด ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ คิดเป็น 60% ของเกณฑ์ คาดว่าภายในครึ่งปีแรกนี้จะเห็นโครงการเร่งด่วนเกิดขึ้นนำร่องเป็นตัวอย่าง
โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เปิดกว้างให้ภาคเอกชนสามารถเข้าร่วมได้แต่ต้องจับคู่กับชุมชน โดยจะรับซื้อไฟฟ้า 4 ประเภทเชื้อเพลิง แบ่งเป็น 1.ชีวมวล 2.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย-ของเสีย) 3.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน 100%) และ 4.เชื้อเพลิงไฮบริด จาก 3 ประเภทเชื้อเพลิงดังกล่าว รวมกับโรงไฟฟ้าโซลาเซลล์ ในอัตราราคารับซื้อ คือ พลังงานแสงอาทิตย์ 2.90 บาท ชีวมวลที่กำลังผลิตน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เมกะวัตต์ 4.8482 บาท ชีวมวลกำลังผลิตมากกว่า 3 เมกะวัตต์ 4.2636 บาท ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) 3.76 บาท ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน 100%) 5.3725 บาท ก๊าซชีวภาพ พืชพลังงานผสมน้ำเสีย/ของเสีย 4.7269 บาท
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังเตรียมปัดฝุ่นส่งเสริมผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวมวลจากหญ้าเนเปียร์ ตามที่มีเสียงเรียกร้องอีกด้วย ถือเป็นการปรับแผนผลิตกำลังไฟฟ้าหรือแผนพีดีพีใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน และลดสัดส่วนโซลาร์รูฟท็อปที่พลาดเป้า ตามข่าวจากกระทรวงพลังงาน ที่ว่าจะปรับลดการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปที่จะทำให้ได้หมื่นเมกะวัตต์ภายในปี 2580 ลดลงเหลือ 8,500 เมกะวัตต์ โดยเกลี่ยไปส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ 1,500 เมกะวัตต์ เมื่อสิ้นแผนปี 2580 แทน และอาจปรับสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนอื่นด้วย แต่ภาพรวมยังอยู่ที่ 2 หมื่นเมกะวัตต์ เมื่อสิ้นแผนพีดีพีในปี พ.ศ. 2580
ก่อนหน้านี้ กพช. มีมติเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 เห็นชอบแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ระยะเวลา 10 ปี (2555-2564) ของประเทศไทย มีเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้า จากหญ้าเนเปียร์ 3,000 เมกะวัตต์ ลดสัดส่วนโซลาร์รูฟท็อป แต่นโยบายดังกล่าวถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2557 พร้อมกับหันมาส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปอีกครั้งในสมัยที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระทั่งมาถึงเวลานี้ที่นายสนธิรัตน์ มีนโยบายรีวิวใหม่อีกครั้ง
เป็นการช่วงชิงในเชิงนโยบายด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนไปทางไหนก็ล้วนแต่สร้างความคึกคักให้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งสิ้น แต่ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าประชาชนต้องได้รับโอกาสในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน รวมทั้งเป็นช่องทางสร้างรายได้ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชนด้วย
ได้เวลา “สนธิรัตน์” ลุยปรับจูนเครื่องผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ พร้อมเก็บแต้มคะแนนนิยม โดยจะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง ใช่ไหม?