“สนธิรัตน์”รับโซลาร์ภาคประชาชนปี 2562 ประชาชนยังสนใจต่ำกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ในการรับซื้อ 100 เมกะวัตต์รอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาข้อเท็จจริงเพื่อทบทวนแนวทางดำเนินงานอีกครั้งซึ่งขณะนี้ยังไม่มีนโยบายยกเลิก เผยรายงานล่าสุดที่เปิดให้ยื่นข้อเสนอตั้งแต่ 24 พ.ค. จนถึง 23 ธ.ค.62 มีผู้มายื่นลงทะเบียน1,472 รายเสนอขายไฟเพียง 7,970 กิโลวัตต์ “กกพ.”รับพลาดเป้ามากจากปัจจัยหลักค่าไฟที่ได้ไม่คุ้มกับการลงทุน ขั้นตอนยุ่งยาก ขาดการประชาสัมพันธ์
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่เปิดให้ภาค บ้านที่อยู่อาศัยยื่นข้อเสนอขายไฟผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่อยู่อาศัย(โซลาร์รูฟท็อป) ในส่วนที่ผลิตแล้วเหลือใช้อัตรา 1.68 บาทต่อหน่วยระยะเวลา 10 ปีซึ่งนำร่องปี 2562 ปีแรกจำนวน 100 เมกะวัตต์ ว่า ขณะนี้ยอมรับว่ามีประชาชนให้ความสนใจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควรจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประเมินผลภาพรวมและวิเคราะห์ถึงปัจจัยต่างๆ เพื่อที่จะทำการทบทวนนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนว่าจะต้องปรับปรุงอย่างไร
“คงจะต้องขอรอผลสรุปก่อนว่าเป็นอย่างไร โดยขณะนี้ยังถือเป็นนโยบายที่ไม่ได้เร่งรีบอะไรยังพอมีเวลาที่จะพิจารณาในรายละเอียด และยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะยกเลิกนโยบายนี้หากแต่จะต้องปรับปรุงส่วนจะมีการเพิ่มอัตรารับซื้อค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือไม่เพื่อจูงใจนั้นก็ต้องมาพิจารณากันอีกครั้งว่าเหมาะสมหรือไม่”นายสนธิรัตน์กล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการโซลาร์ภาคประชาชนเป็นนโยบายของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยกำหนดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ออกหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นสมัครซึ่งกกพ.ได้ประกาศเมื่อ 23 พ.ค.62 และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ได้เปิดให้ยื่นข้อเสนอผ่านเว็บไซต์ของสองหน่วยงานตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. 62 จนถึงสิ้นปี 2562 โดยกำหนดเป้าหมายปริมาณรับซื้อรวม 100 เมกะวัตต์ แบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น กฟน. จำนวน 30 เมกะวัตต์ ครอบคลุม3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ และ กฟภ.จำนวน 70 เมกะวัตต์ ครอบคลุม74 จังหวัด ที่เหลือ
จากข้อมูล ณ วันที่ 23 ธันวาคม 62 พบว่ามีผู้มาลงทะเบียนและยื่นเอกสารเพื่อเสนอเข้าร่วมโครงการโซลาร์ภาคประชาชนรวม 1,472 รายคิดเป็นปริมาณไฟฟ้าที่ยื่นเสนอขาย 7,970 กิโลวัตต์(kWp) แบ่งเป็นการลงทะเบียนและยื่นเอกสารผ่าน กฟน.จำนวน 731 รายคิดเป็นปริมาณไฟฟ้า 3,732.7 กิโลวัตต์ ยื่นฯผ่านกฟภ. จำนวน 741 รายคิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟ 4,231.4 กิโลวัตต์ โดยในจำนวนดังกล่าวมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวมทั้งหมด 383 รายคิดเป็นปริมาณไฟฟ้า 2,077.89 กิโลวัตต์ แบ่งเป็นกฟน. 256 รายคิดเป็น 1,407.94 กิโลวัตต์ กฟภ.จำนวน 127 รายคิดเป็น 669.94 กิโลวัตต์
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวว่า ขณะนี้กกพ.ได้วิเคราะห์สาเหตุที่โครงการโซลาร์ภาคประชาชนมีผู้เข้าร่วมโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดรับซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์นั้นปัจจัยหลักมาจากราคาที่สนับสนุนค่าไฟที่ขายเข้าระบบ 1.68 บาทต่อหน่วยไม่จูงใจการลงทุน ขณะเดียวกันขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการยุ่งยาก และยังพบว่าหน่วยงานราชการที่ติดต่อยังมีระบบเอกสารที่ไม่เชื่อมต่อกัน และการประชาสัมพันธ์โครงการไม่ได้ชี้แจงขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการขอจดแจ้งยกเว้นใบอนุญาตซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เป็นต้น
“ หลังจากที่วิเคราะห์สาเหตุต่างๆ แล้วจะนำเสนอการรายงานต่อบอร์ดกกพ.จากนั้นคาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ที่มีรมว.พลังงานเป็นประธานเพื่อขอนโยบายว่าจะปรับปรุงรายละเอียดหรือไม่อย่างไร คาดว่าจะเป็นช่วงกลาง มกราคม 2563 ก่อนที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในเดือนเดียวกันเพื่อที่จะเตรียมตัวโครงการในระยะที่ 2 ต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงงาน(กกพ.) กล่าวว่า กกพ. จะรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการโซลาร์ภาคประชาชนให้กับกระทรวงพลังงานแต่จะเดินหน้าต่อไปหรือไม่อยู่ที่การตัดสินใจระดับนโยบาย อย่างไรก็ตามการยื่นข้อเสนอโซลาร์ภาคประชาชนที่ต่ำกว่าเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์จากการพิจารณาเบื้องต้นยอมรับว่าภาคครัวเรือนส่วนใหญ่จะใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยเพียงเดือนละ 2,000-3,000 บาทเท่านั้นหากการลงทุนติดตั้งระดับ 200,000 บาทก็จะไม่คุ้มค่ากับการขายไฟระยะเวลา 10 ปีในอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วย
“โครงการนี้หลักการที่กำหนดคือส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งใช้เองเป็นหลักที่เหลือจึงขายเข้าระบบจึงให้อัตราเพียง 1.68 บาทต่อหน่วยเพื่อไม่ให้กระทบภาพรวมต่อค่าไฟฟ้า”นายเสมอใจกล่าว