xs
xsm
sm
md
lg

วัฏจักรคลุกฝุ่น PM 2.5 มลภาวะทางอากาศที่คนไทยต้องเจอทุกปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผ่านมาครบปีแทบจะพอดิบพอดีที่คนกรุงและอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย กลับมาเผชิญกับ “ภัยฝุ่น PM 2.5” อีกหน หลายคนคงจะสงสัยว่าทางของฝุ่น PM 2.5 ที่สร้างปรากฎการณ์ครองเมืองอยู่ขณะนี้ มาจากที่ไหนกันบ้าง แล้วเมื่อคุณภาพอากาศไม่ดีแบบวนๆ เวียนๆ เช่นนี้ คนไทยจะดูแลสุขภาพกันอย่างไรดี ในเมื่อมาตรการของภาครัฐแก้ไขไม่ทันการณ์สักที


กางแผนปฏิบัติการของรัฐ
หลังหยุดยาวปีใหม่ โรงงาน ธุรกิจเปิดกิจการ ฝุ่นละอองกลับมาปกคลุมท้องฟ้ามหานครอีกครั้ง ค่าฝุ่น PM 2.5 พุ่งพรวดพราดขึ้นมาอีก มาดูกันว่ารัฐบาลได้ทำอะไรไปแล้วบ้างเพื่อแก้ปัญหานี้
รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกให้ การแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติเมื่อปีที่แล้ว และก็มีแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2562 ซึ่งเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน ไม่เพียงกรมควบคุมมลพิษ แต่ยังรวมถึง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม สาธารณสุข รวมถึงท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร
ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่าในช่วงนี้การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นส่วนใหญ่ เป็นไปตามมาตรการในระยะเร่งด่วนหรือระยะวิกฤต เช่น การตรวจดักจับรถที่มีควันดำสูง ถี่ขึ้น การปรับเปลี่ยนการใช้นำมันเชื้อเพลิงของรถเมล์ ขสมก. ตั้งแต่เดือน ก.พ. ปีที่แล้ว และการขอความร่วมมือเอกชนผู้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าคืนผิวจราจรให้มากที่สุด
ส่วนการควบคุมการเผาในที่โล่งในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุร้อยละ 10 ของการเกิดฝุ่นสะสมในระดับสูง เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องสั่งให้ทางเกษตรจังหวัด ควบคุมและงดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร ก็เริ่มมีการดำเนินการบางพื้นที่
นอกจากมาตรการในระยะเร่งด่วน ในแผนนี้ระบุถึงมาตรการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด)

- มีการนำน้ำมันเชื้อเพลิงมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาใช้ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อนกฎหมายบังคับใช้ และกำหนดใช้ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567
- ไม่ให้มีการเผาในไร่อ้อย ร้อยละ 100 ภายในปี 2565
- บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ ยูโร 6/VI ภายในปี 2565
- จำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ริมทาง และพื้นที่ชุมชนลดลง
- จำนวนวันที่ฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานในช่วงวิกฤตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี
- กำหนดมาตรการทางกฎหมายโดยการออกระเบียบกำหนดให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 20 ต่อวัน ภายในปี 2564

ประลอง ดำรงค์ไทย
วิกฤตฝุ่นจะดีขึ้นเมื่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายเสร็จ

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า จากการดำเนินการเมื่อปีที่แล้ว พบว่ามาตรการก็เห็นผลมากขึ้น อย่างค่าฝุ่นเดือน ธ.ค. 2562 มีพื้นที่ที่ค่าปริมาณฝุ่นเกิน 5 พื้นที่ ขณะที่ปี 2561 เกินมาจำนวน 14 พื้นที่ คาดว่าสถานการณ์วิกฤตฝุ่นจะดีขึ้นเมื่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าทุกสายดำเนินการเสร็จ

"ถ้าเรารู้ก็แก้ปัญหาที่ต้นทาง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปปฏิบัติ ส่วนการเผาในที่โล่ง กระทรวงมหาดไทย ก็มีหนังสือสั่งการไปแต่ละจังหวัด เราก็คอยติดตาม และพัฒนาเครื่องมือวัดอากาศที่มีคุณภาพดีขึ้นอีกและกำลังจะเริ่มติดตั้งปีนี้"

ขณะที่วิกฤตฝุ่นในช่วงฤดูหนาว อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบายว่า เนื่องจากเป็นช่วงที่มีความกดอากาศต่ำแผ่ลงมา ทำให้ลักษณะของอากาศใน กทม.มีสภาพ "คล้ายฝาชีมาครอบอยู่" ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือน ธ.ค.- ม.ค. ซึ่งในภาพรวมนั้น สาเหตุของค่าฝุ่นที่สูงขึ้นเกิดจากรถยนต์ร้อยละ 72.5 ที่เหลือเกิดจากการเผาในที่โล่ง และจากภาคอุตสาหกรรม

ทำไมฝุ่นถึงมาทุกฤดูหนาว

ในช่วงปลายปีของประเทศไทยที่เข้าสู่ช่วงอากาศเย็น จะเป็นช่วงที่ความกดอากาศสูงจากทางตอนเหนือเคลื่อนตัวลงมาปกคลุมพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้รูปแบบการเคลื่อนตัวของชั้นอากาศเหนือประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงไป เพราะพื้นดินคายความร้อนอย่างรวดเร็ว ทำให้อากาศที่อยู่เหนือพื้นดินนั้นเย็นตามไปด้วย ทำให้อากาศร้อนดันขึ้นไปอยู่คั่นกลางระหว่างชั้นอากาศเย็น กลายสภาพเป็นเกราะ หรือ ที่เรียกกันว่าอากาศปิด เนื่องจากไม่มีช่องว่างให้อากาศไหลผ่านไปตามระบบ อากาศ รวมถึงฝุ่นพิษที่สะสมอยู่จึงไหลย้อนกลับลงสู่พื้นดินอีกครั้ง เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดอากาศปิด มลภาวะในอากาศจึงสูงตามไปด้วย

ฝุ่นในกรุงมาจากไหน

จากข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ปี 2561 ระบุว่าต้นกำเนิดฝุ่นพิษ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ กว่า 60% เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดควันดำและฝุ่น และอีกราว 35% มาจากการเผาขยะ หญ้าแห้ง กิ่งไม้แห้ง ในที่โล่งแจ้ง และการก่อสร้าง โดยนายสนธิ คชรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีมานานแล้ว แต่ที่เพิ่งจะมีการตื่นตัวกันเนื่องจากเพิ่งจะมีเครื่องมือวัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ประกอบกับปัจจัยทางธรรมชาติที่เป็นตัวหนุนในช่วงปลายปีเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม - กุมภาพันธ์ ที่อากาศค่อนข้างปิด ทำให้กรุงเทพที่เป็นเมืองใหญ่มีอาคารสูงล้อมรอบจำนวนมาก จึงไม่มีที่ให้ลมถ่ายเทและระบายอากาศได้อย่างสะดวกเพียงพอ มลพิษ ฝุ่น ควันต่าง ๆ จึงไม่สามารถระบายออกไปได้
วัฎจักรของฝุ่น PM 2.5 ในไทย

อันที่จริงแล้ว ฝุ่น PM 2.5 กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งมีความมากน้อยแตกต่างกันในช่วงเวลาและภูมิภาคตามปัจจัยภายในและภายนอกที่เข้ามากระทบ เริ่มจากกรุงเทพฯ ที่มักจะเกิดในช่วงความกดอากาศสูง ตอนเดือนตุลาคมไปจนถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ ภาคตะวันออกและตะวันตก ที่เป็นพื้นที่เพาะปลูก ก็ได้รับผลกระทบจากการเผาพื้นที่การเกษตร เช่น ไร่อ้อย ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน - มีนาคม ของทุกปี ขณะที่ภาคเหนือและภาคกลาง จะได้รับผลกระทบจากความกดอากาศต่ำจากกรุงเทพที่แผ่ขึ้นไปยังภาคเหนือ 10 จังหวัด ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่มกราคม - เมษายน ขณะที่ภาคใต้จะเกิดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคมของทุกปี เนื่องมาจากการเผาพื้นที่การเกษตรและหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา

เมื่อดูจากปัจจัยแวดล้อมทั้งฤดูกาล ความกดอากาศ กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและนอกประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าวงรอบคุณภาพอากาศของประเทศไทยมีโอกาสเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่เรียกว่า PM 2.5 ต่อเนื่องตลอดปี โดยมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นในช่วงต้นปี และลดต่ำลงในช่วงกลางปีที่เป็นฤดูฝน





สวมหน้ากากรับมือกับฝุ่น
ด้าน ธวัชชัย ชินวิเศษวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัย บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย ให้คำแนะนำในการเลือกหน้ากากป้องกัน PM 2.5 โดยอ้างอิงจากข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) และกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ว่า หน้ากากต้องเป็นชนิด N95 ตามมาตรฐาน NIOSH ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งในระยะหลังนี้คนไทยคุ้นเคยดี แต่ถ้าหาซื้อหน้ากาก N95 ไม่ได้ แนะนำให้ใช้หน้ากากมาตรฐานอื่นที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันทดแทน ได้แก่ หน้ากากชนิด FFP2 มาตรฐานยุโรป (EN149) หรือหน้ากากชนิด P2 มาตรฐานออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ (AS/NZS 1716) หน้ากากทั้ง 3 มาตรฐานมีหลายรุ่น หลายขนาด หลายรูปแบบ สามารถป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน ที่เล็กประมาณ 1 ใน 25 เท่าของเส้นผมมนุษย์ ทำให้ขนจมูกมนุษย์ของเรานั้นไม่สามารถกรองเอาไว้ได้
นอกจากเรื่องมาตรฐานแล้ว ในการสวมใส่หน้ากาก ต้องทำตามคำแนะนำของผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด ต้องไม่ดัดแปลงวิธีการสวมใส่และปรับแต่งวัสดุบนหน้ากาก จากนั้น ผู้สวมใส่ควรทำความคุ้นเคยกับหน้ากากโดยเลือกรุ่นที่สวมใส่ได้สะดวกสำหรับตัวเอง เช่น ในผู้ที่เริ่มสวมใส่อาจเลือกแบบมีลิ้นวาล์วระบายอากาศ เพื่อช่วยระบายความร้อนอบอ้าวภายในหน้ากาก สวมใส่ให้แนบกระชับกับใบหน้า เพื่อประสิทธิภาพในการกรองอากาศและลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยหรือเกิดโรคจากอนุภาคที่ปนเปื้อนในอากาศ นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตหน้ากาก หากเริ่มรู้สึกอึดอัด หายใจไม่สะดวกแสดงว่าหน้ากากเริ่มอุดตัน หรือหน้ากากเริ่มชำรุด สกปรก ก็ควรเปลี่ยนหน้ากากกรองใหม่เพื่อประสิทธิภาพในการกรองที่ดีและปลอดภัย
เมื่อรู้ถึงวัฎจักรของฝุ่นที่วนเวียนรอบตัวเราตลอดปีและอาจจะตลอดไปแบบนี้แล้ว สิ่งสำคัญที่ทุกคนควรมีคือการร่วมแรงร่วมใจแก้ไขปัญหา และร่วมสร้างความรู้และความเข้าใจถึงพิษภัยฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ เพื่อป้องกันและดูแลสุขภาพตัวเองได้อย่างเหมาะสม




กำลังโหลดความคิดเห็น