xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ย้ำเช็กคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ หากค่าฝุ่นสูงควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง สั่งเข้มตรวจรถควันดำ-เผาที่โล่ง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม.ย้ำตรวจเช็กคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ หากค่าฝุ่นสูงควรควรลดกิจกรรมกลางแจ้ง ป้องกันตนเอง พร้อมกำชับตรวจจับเข้มรถควันดำ ห้ามเผากลางแจ้งสั่งการศูนย์บริการสาธารณสุข 68 แห่ง ติดตามกลุ่มเสี่ยงทั้งผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ 

วันนี้ (8 ม.ค.) นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ในหลายพื้นที่ของ กทม. ว่า ช่วงเช้าวันที่ 8 ม.ค. พบว่าค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน จำนวน 22 พื้นที่ของ กทม. ช่วงนี้ขอให้ประชาชนเฝ้าระวัง และรักษาสุขภาพของตนเอง สำหรับพื้นที่ที่คุณภาพอากาศปานกลาง ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ ผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง ส่วนพื้นที่ที่คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ประชาชนทั่วไปในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐานให้เฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการเบื้องต้น เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้งโดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ เด็กและผู้ป่วยทางเดินหายใจ และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากเกิดความจำเป็น ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศของ กทม. แบบ Real Time ได้ที่ www.bangkokairquality.com , www.air4bangkok.com , Facebook : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มความถี่การแจ้งเตือนเป็นวันละ 3 รอบ เวลา 07.00  12.00 และ 15.00  น. หรือสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ Facebook : สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม.

นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศช่วงวันที่ 6-11 ม.ค. ความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ทำให้มีลมอ่อน หรือสงบในช่วงเช้า อาจส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น สำนักสิ่งแวดล้อมได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" รวมทั้งเตรียมความพร้อมตามแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงวิกฤตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ ได้แก่ เข้มงวดการตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำทุกประเภทร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจร กรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การประสานงานกับสถานีตำรวจในพื้นที่อำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้คล่องตัว เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้กำชับสำนักงานเขตพื้นที่เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุม กำกับดูแล และแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองจากยานพาหนะ เช่น รณรงค์ไม่ขับ ช่วยดับเครื่องและบำรุงรักษาเครื่องยนต์รถราชการในสังกัดไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน ประชาสัมพันธ์การบำรุงรักษารถเพื่อลดมลพิษแก่ผู้ประกอบการขนส่งและประชาชน  การห้ามเผาขยะและเผาในที่โล่งทุกชนิดตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ การคุมเข้มปัญหาฝุ่นละอองจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าและการก่อสร้างอาคารตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองสะสมในอากาศและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน รวมทั้งเมื่อฝุ่นละอองมีค่าเกินมาตรฐานได้มีการประสานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภารกิจ ภายใต้แผนประชาสัมพันธ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานครอีกด้วย ด้านการประชาสัมพันธ์ ได้เชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจวัดฝุ่นละอองให้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์และสำนักงานประชาสัมพันธ์ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้ประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 เมื่อมีค่าเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ผ่านทางสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า สำนักอนามัย ได้เตรียมรณรงค์สร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง PM2.5 รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของ กทม. เพื่อให้บริการประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยมอบหมายให้กองควบคุมโรคติดต่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและระวังอันตรายจากภาวะฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ตามแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) และขอความร่วมมือศูนย์บริการสาธารณสุข ทั้ง 68 แห่ง ดำเนินการดังนี้  ในสถานการณ์ปกติ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ในระดับไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ความรู้ในการป้องกัน และดูแลตนเองจากภัยหรืออันตรายที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) แก่ประชาชนในพื้นที่ เฝ้าระวังติดตามเป็นพิเศษในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง เด็ก ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด และหญิงตั้งครรภ์   ในสถานการณ์ที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินมาตรฐานมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ให้ความรู้ และเฝ้าระวังแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง โดยบุคลากรของศูนย์บริการสาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข เมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ในระดับ 50 - 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ และติดตามเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อยู่ในระดับ 76 - 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกัน 3 วัน ทั้งนี้สำนักอนามัยได้การดำเนินงานตามแผนดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเป็นประจำอยู่แล้ว เพื่อให้บรรเทาความรุนแรงของปัญหา รวมทั้งให้ประชาชนได้รู้จักดูแลตนเองหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น