“ต้องปรับปรุงระบบราชการให้เร็วขึ้น” นักวิชาการสิ่งแวดล้อมจวกมาตรการไทย แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 “ล่าช้า- -หลายขั้นตอน-ไม่เข้มงวด-ประชาสัมพันธ์น้อย” ยกเคสต่างประเทศเทียบ เกาหลีส่งข้อความแจ้งเตือน จีนพบปัญหาจัดการทันที อเมริกามีองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ขึ้นตรงกับประธานาธิบดี “รัฐบาลของเขาให้ความสำคัญกับสุขภาพประชาชนมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ”
ฝุ่นต้องหนักแค่ไหน ถึงจะเข้มงวด?!
“มาตรการเข้มงวดหรือยาแรงที่จะออกมาบังคับใช้ยังไม่ขอเปิดเผย แต่ต้นเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาจากรถยนต์เป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างยาแรงประเทศเกาหลีใต้ มีมาตรการที่เข้มงวด เช่น ประกาศห้ามรถยนต์วิ่งในเขตเมือง รวมถึงสภาพอากาศก็มีส่วน จึงต้องถามสังคมว่าจะต้องทำอย่างไร เพราะเรารู้ต้นตอของปัญหาแล้ว
ดังนั้น มาตรการเข้มงวดจะดำเนินการเป็นหห้วงเวลาที่คับขันเท่านั้น อีกทั้งมาตรการต่างๆ จะไม่สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากต้องประกาศสภาวะฉุกเฉินก่อน จึงเกิดข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น จะต้องมาพิจารณาร่วมกันในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก่อนจะเกิดปัญหาได้หรือไม่ เพื่อใช้มาตรการเข้มงวดก่อนปัญหาจะเกิดขึ้น”
เรียกได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดจากทางฟากฝั่งรัฐบาล เมื่อ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นละลองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่กลับมามีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชนอีกครั้ง
แต่ดูเหมือนว่ามาตรการที่ผ่านมาของภาครัฐนั้น อย่างการรณรงค์ให้สวมหน้ากากอนามัย N95 การขอความร่วมมือในการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล การฉีดพ่นละอองน้ำลดฝุ่น การดำเนินคดีต่อคนลักลอบเผาป่า ถูกมองว่าเป็น “เสือกระดาษ” เพราะเป็นเพียงการขอความร่วมมือ ในขณะที่ประเทศอื่นที่เผชิญปัญหานี้เช่นกัน เลือกที่จะใช้มาตรการเข้มงวด นี่จึงเป็นเหตุให้ประชาชนบ้านเราตั้งคำถามไปยังรัฐบาลถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองที่เวียนมาในทุกๆ ปี
เกี่ยวกับเรื่องนี้ สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ให้ความเห็นแก่ทีมข่าว MGR Live หลังจากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 กลับมาเป็นปัญหาใหญ่อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่แก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง พร้อมยกตัวอย่างการแก้ปัญหาในต่างประเทศที่เห็นผลจริงเพราะการจัดการอย่างเข้มงวด
สนธิ คชวัฒน์
“เกาหลีเขามีหน่วยราชการที่สั่งการเลย กระทรวงสิ่งแวดล้อมของเขามีหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับประธานาธิบดี ถ้ามีฝุ่นรุนแรงขนาดนี้ เขา Take Action ได้ทันที สั่งหยุด สั่งห้ามรถเข้า หรือสั่งให้หน่วยงานต่างๆ แก้ไขผลกระทบ
ส่วนสหรัฐอเมริกา มีองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอเมริกา (US-EPA) ขึ้นตรงกับประธานาธิบดี สามารถสั่งได้เลยเวลามันมีเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา ประกาศเป็นเหตุฉุกเฉินปั๊บ สั่งหยุด หรือกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเมืองจีน เขาสั่งเลย มีปัญหาสั่งหยุดหมด สั่งจัดการได้ วันคู่วันคี่ สั่งไม่ให้รถเข้าได้
ซึ่งของต่างประเทศช่วยลดฝุ่นได้ครับ เพราะมีหน่วยงานจัดการเบ็ดเสร็จ เขามีการพยากรณ์ล่วงหน้าประมาณ 7 วัน เขารู้ว่าพรุ่งนี้ มะรืนนี้ฝุ่นจะสูงแค่ไหน คุณต้องหยุดก่อสร้าง โรงงานต้องลดกำลังการผลิต เขาจะให้ประชาชนเตรียมตัว เตือนเลยว่าคุณจะออกบ้านต้องเตือนหน้ากาก N95 จะต้องหยุดโรงเรียน เขาประกาศล่วงหน้าเพราะเขาทำนายได้”
ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมในปี 2562 พบว่า ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เคยออกมากล่าวถึงมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของแต่ละประเทศ
ยกตัวอย่าง จีน มีการแก้ปัญหาระยะสั้น คือ ห้ามปิ้งย่าง ใช้โดรนพ่นสารกำจัดหมอกควัน ยิงจรวดสร้างฝนเทียม ติดสปริงเกอร์ขนาดยักษ์ ส่วนระยะยาวมีการควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม การใช้พลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า มีการพัฒนาแอปพลิเคชันตรวจวัดสภาพอากาศที่มีความแม่นยำสูง การใช้กฎหมายภาษีอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ ระยะสั้นมีการรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากาก ลดกิจกรรมกลางแจ้ง มีการส่งข้อความแจ้งเตือนปริมาณฝุ่นโดยตรงจากรัฐบาลผ่านแอปพลิเคชัน การตั้งเซ็นเซอร์กระจายทุกที่ มีการลดชั่วโมงการผลิตโรงไฟฟ้า จำกัดการผลิตไฟฟ้าที่ 80% และทำฝนเทียม ส่วนระยะยาว มีการจำกัดการใช้รถรุ่นเก่า
ส่วนฝั่งตะวันตก สเปนและเดนมาร์ก มีการส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยานมากกว่ารถยนต์ ฝรั่งเศส ห้ามขับเข้าไปในย่านใจกลางเมืองช่วงกลางวัน โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล ขณะที่สวีเดน แม้มีมลพิษน้อย แต่ก็มีมาตรการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรถที่ขับเข้าไปในพื้นที่การจราจรหนาแน่น
ขณะเดียวกัน เมื่อหันกลับมามองในบ้านเรา ที่เผชิญปัญหานี้ติดต่อกันมาหลายปี อ.สนธิ กล่าวว่า ประเทศไทยเองมีความติดขัดในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะระบบราชการที่ทำให้การแก้ไขปัญหาล่าช้า
“รัฐบาลต่างประเทศเขาให้ความสำคัญต่อปัญหานี้ เรื่องสุขภาพประชาชนมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ แต่ของเราเน้นเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าไปสั่งประกาศว่ามีฝุ่น เป็นภัยพิบัติ ถามว่าใครจะมาเที่ยว นี่คือปัญหาเรา เลยทำให้มีการแจ้งเตือนน้อย ไม่กล้าประกาศโครมครามออกข่าวเท่าที่ควร
ของเราระบบพยากรณ์เรื่องฝุ่นยังน้อยอยู่ ที่บอกวันนี้คือข้อมูลย้อนหลัง 24 ชม. นี่คือความแตกต่าง ของเกาหลีมีมีแอปเตือนที่มือถือเลย ของเราไม่มี คำถามก็คือ พวกที่ประกอบอาชีพข้างนอก พ่อค้าแม่ค้าขายของริมถนน จราจร ขับขี่รถสาธารณะกลางแจ้ง กรรมกรก่อสร้าง รู้เรื่องมั้ย ก็ไม่รู้เรื่อง ข้อมูลเข้าไม่ถึง แล้วจะไปให้เขาซื้อหน้ากากอนามัยก็แพง ก็เป็นเรื่องของรัฐที่จะต้องซัปพอร์ตตรงนี้
ของเราทำในรูปคณะกรรมการ แต่ละคนมีบทบาทของตัวเอง ก็กลายเป็นว่าจะต้องมานั่งประชุมกันที่กรมควบคุมมลพิษก่อน มันมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบในภารกิจต่างๆ เช่น กรมการขนส่งทางบกก็มีหน้าที่ไปจับรถควันดำ พวกรถไฟฟ้าก็ทำการก่อสร้าง แล้วกรมควบคุมมลพิษก็บอกว่ามันมีผลกระทบสูง หน่วยงานต่างๆ ต้องไปขออนุญาต ซึ่งมันไม่เบ็ดเสร็จทันที
เพราะฉะนั้นมันต้องไปแก้ พ.ร.บ. แก้กฎหมายให้มันมีหน่วยงานขึ้นมาสามารถสั่งการได้ทันที เวลาเกิดภัยพิบัติเรื่องสิ่งแวดล้อม ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี แต่ทุกวันนี้เป็นแค่หน่วยงานกลางที่ประชุมหารือ แค่นั้นเอง มันกลายเป็นว่าต้องมาบอกให้หน่วยงานต่างๆ ไปจัดการ มันก็เลยช้า ติดเรื่องระเบียบราชการ ไม่มีหน่วยงานเบ็ดเสร็จที่สามารถสั่งได้เลย”
อันตราย คนไทยเริ่มชินฝุ่น!
“เมื่อปีที่ผ่านมา ประชาชนเขาตื่นตัวมาก มีการรณรงค์ มีการใช้หน้ากากกันเยอะแยะ แต่พอมาปีนี้มันเบาลง ประชาชนเริ่มชิน แล้วการประชาสัมพันธ์ของเราปีนี้อ่อนลง ประชาชนเลยไม่ใส่หน้ากาก แล้วเวลากรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ ไม่เคยพูดเรื่องฝุ่น PM 2.5 เลย เราพูดแต่ลมฟ้าอากาศ จริงๆ เราอยากจะให้ประกาศเรื่องฝุ่น PM 2.5 มีการทำนายไปในอนาคต ช่วงที่ออกข่าวต่างๆ ทุกวันนี้เราไม่มี
แล้วช่วงที่เกิดวิกฤตจริงๆ เราก็ไม่ได้แก้ไขอะไร ช่วงวันเด็กที่ผ่านมา เรามีฝุ่นถึง 130 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่ก็เฉยๆ เด็กก็ยังเล่นกลางแจ้ง จริงๆ แล้วถ้าเกิดอย่างนั้นมันจะต้องมีมาตรการเร่งด่วนจัดการแล้ว ห้ามรถเข้ามา ต้องหยุดก่อสร้าง รถพวกสาธารณะ รถไฟฟ้าต้องลดราคาลง ให้คนไปใช้มากขึ้น แต่ไม่มีใครสั่ง”
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในบ้านเรา ที่ในปีนี้ยิ่งอันตรายมากขึ้น เพราะประชาชนขาดความตื่นตัว จนละเลยในการระวังสุขภาพ โดยฝุ่นนั้นมีมาจากสาเหตุเดิมเช่นทุกปี หลักๆ คือเรื่องมาจากเครื่องยนต์ สภาพอากาศ และฝุ่นที่เกิดจากการเผาทางการเกษตร ที่ถูกเรียกว่า “หิมะดำ”
“ถ้าในกรุงเทพฯ ก็มาจากรถเครื่องยนต์ดีเซล มีรถยนต์ 10.3 ล้านคัน แล้วก็มีรถเครื่องยนต์ดีเซลอยู่ 2.7 ล้านคัน าเกิดการจราจรติดขัด เนื่องจากมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า 6 สาย 6 โครงการ 10 เส้นทางหลัก รถติดอุตลุดเลย โรงเรียนก็เปิดพร้อมกันหมด
ขณะเดียวกัน อากาศก็ปิดด้วย เนื่องจากความกดอากาศสูงแผ่ลงมา เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายจากฤดูหนาวไปฤดูร้อน ลมมันก็อ่อน เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนฝาชีมาครอบกรุงเทพฯ ถ้าเป็นรอบๆ กรุงเทพฯ ก็มาจากโรงงานอุตสาหกรรม 6,000-10,000 โรง
ในต่างจังหวัดถ้าเป็นภาคเหนือตอนนี้เกิดจากการเผาเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็นตอซังฟางข้าว หรือมีการเผาป่า เผาไร่ข้าวโพดมหาศาล ภาคเหนือปลูกข้าวโพดประมาณ 7 ล้านไร่ แล้วข้าวโพดมันอยู่ในที่สูงบนภูเขาเป็นที่ลาดชัน เป็นพื้นที่เชิงเดี่ยว อาศัยน้ำฝนอย่างเดียว พอถึงเวลาก็ไปตัด แต่ทีนี้ตอซังของมันก็เผาเลย เพราะรถไปไถก็ไม่ได้มันอยู่ในที่สูง
ภาคอีสานและภาคตะวันตก เกิดจากการเผาไร่อ้อย ตอนนี้แรงงานไปตัดอ้อยมันไม่มี ไปตัดก็คัน เขาก็เลยเผา ถ้าหากว่าเป็นอ้อยสดตัดได้ประมาณ 1-1.5 ตันเท่านั้น แต่ถ้าเป็นอ้อยไฟไหม้ ตัดได้วันละ 2-3 ตัน โรงงานน้ำตาลเขาบอกเข้าได้ 50 เปอร์เซ็นต์แต่จะโดนปรับตันละ 30 บาท ชาวไร่เขาก็ยอม แล้วรัฐบาลก็ไม่มีทางเลือก ยังไงให้เอาอ้อยไฟไหม้เข้าได้ เรื่องนี้ในอนาคตมันต้องเลิก ต้องห้ามเอาอ้อยเผาไหม้เข้า 100 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2564-65 ตรงนี้ต้องวางแผนกัน”
สุดท้าย นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษสำหรับประเทศไทย ทั้งระยะสั้นและระยะยาว และฝากไปถึงประชาชนที่ต้องดูแลตนเองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง
“ระยะสั้น 1.ต้องมีเจ้าภาพที่แท้จริงในการสั่งการได้เบ็ดเสร็จ เขาเรียก Single Command 2.ต้องมีระบบพยากรณ์อากาศที่แม่นยำ เพื่อจะเตือนประชาชนถูกต้อง 3.ทุกหน่วยงานจะต้องให้ความร่วมมือทั้งหมด 4.ระบบราชการที่ขัดข้องก็ต้องโละออกไปบ้าง อย่าช้า ต้องทันที
ส่วนระยะยาวอย่างที่เขาทำตามแผนอยู่แล้ว 1.ต้องเอาน้ำมันยูโร 5 มาใช้ เพื่อลดปริมาณกำมะถันลง 2.สร้างรถไฟฟ้าครบลูปเมื่อไหร่ปั๊บ จะต้องไม่ให้คนเอารถออกจากบ้าน 3.ใครจะซื้อรถต้องมีที่จอดรถ ช่วยลดปริมาณการจราจร 4.จะต้องรับอ้อย 100 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่มีการเผา
สำหรับภาคประชาชนก็ต้องช่วยตัวเอง ดูข้อมูลจากประชาสัมพันธ์ต่างๆ แล้วก็ป้องกันตัวเอง ออกนอกบ้านก็ใช้ N95 แล้วก็ช่วยกันลดเรื่องฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นรถเครื่องยนต์เก่าก็ต้องดูแลทำความสะอาดด้วย ในส่วนของรัฐบาลอย่างที่ผมบอกคือว่าจะต้องไปปรับปรุงระบบราชการให้เร็วขึ้น หาเจ้าภาพ ระบบพยากรณ์อากาศที่ถูกต้อง มีการแจ้งเตือนประชาชน คือการประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน ให้ออกข่าวทุกช่อง เรื่องฝุ่นไม่ใช่แค่ลมฟ้าอากาศอย่างเดียว”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **