xs
xsm
sm
md
lg

อ.นิด้า ชี้ 12 มาตรการแก้ฝุ่นพิษ แค่เอาปัญหาซุกพรม ลั่นคนตระหนักแล้วควรออกยาแรง ส่วนแรงต้านเรื่องปกติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ.นิด้า ชี้ 12 มาตรการชง ครม.แก้ฝุ่นพิษ แค่ไฟไหม้ฟาง เอาปัญหาซุกพรม ยังไร้ทางออกระยะยาว คว้านลึกถึงเชิงโครงสร้าง หวั่นแค่รอฝุ่นหายตลบก็ผ่านไป เป็นวงจรแบบเดิม กี่สิบปีก็แก้ไม่ได้ ลั่นคนตระหนักรู้พิษภัยฝุ่นละอองแล้ว ควรออกยาแรง ส่วนแรงต้านเป็นเรื่องปกติ เพราะมีความชอบธรรมในการออก


วันนี้ (20 ม.ค.) ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึง 12 มาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่กรมควบคุมมลพิษจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 21 ม.ค.นี้ ว่า ภาพรวมของมาตรการที่จะเสนอนั้น ตนมองว่ายังเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเพื่อให้พ้นไปก่อน แต่ไม่มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือต้นตอของฝุ่น PM 2.5 โดยมาตรการที่ 1-4 เป็นเรื่องเกี่ยวกับไอเสีย มาตรการที่ 5 เป็นเรื่องโรงงาน มาตรการที่ 6 ก่อสร้าง มาตรการที่ 7-8 เรื่องห้ามเผาในที่โล่ง มาตรการที่ 9 เป็นแรงจูงใจใช้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่สะอาดขึ้น มาตรการที่ 10 เป็นการขอความร่วมมืองดใช้รถยนต์ มาตรการที่ 11 การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันรถยนต์ และมาตรการที่ 12 เป็นเรื่องการสร้างความตระหนักรู้ 

"ผมก็ให้กำลังใจในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ แต่อยากถามว่า 1 ปีที่ผ่านมาทำอะไรกันบ้าง เพราะขณะนี้การแก้ปัญหาก็เหมือนไฟไหม้ฟาง ทั้งที่ต้นตอคือเรื่องของเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ปัญหาและเรื่องของการขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งผมไม่อยากให้เป็นวงจรแบบเดิมๆ คือ เกิดปัญหาก็มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รอให้พ้นปัญหาฝุ่นไป แล้วก็ไปเล่นเรื่องอื่นต่อ แล้วพอปัญหาฝุ่นกลับมาอีกก็วนเวียนอยู่แบบนี้ไม่รู้จบ กี่สิบปีก็จะเหมือนเดิม ตอนนี้ผมมองว่าเป็นโอกาสแล้ว เพราะคนตระหนักรู้ มีเหตุผลในการที่จะออกยาแรง มีโอกาสที่จะคว้านลึกถึงต้นตอ แต่ตอนนี้มาตรการต่างๆ ก็ดูเหมือนแค่แตะผิวๆ เพื่อให้ผ่านไป เหมือนกับมีโอกาสที่จะทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ แต่กลับกวาดขยะและเศษๆ มาซุกใต้พรมต่อ " ศ.ดร.ศิวัช กล่าว


ศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่า การจะออกมาตรการอะไรสักอย่างมักมีแรงต้านอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ทุกคนตระหนักก็มีเหตุผลมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการ ยกตัวอย่าง เรื่องของไอเสียรถยนต์ การตรวจจับควันดำก็ยังจำเป็นต้องทำ แต่ระยะยาวคือต้องเปลี่ยนผ่านการใช้เชื้อเพลิงให้ได้ จากยูโร 4 เป็นยูโร 5 ซึ่งหากเปลี่ยนไม่ได้ ปัญหาก็จะยังอยู่ หรือมาตรการที่จะห้ามใช้รถควันดำ จริงอยู่ว่าอาจกระทบสิทธิในการขับขี่ แต่การขับขี่นั้นก่อผลกระทบต่อสุขภาพคนอื่น ก็เหมือนกับบุหรี่ที่กระทบกับสุขภาพคนอื่นที่ไม่สูบเช่นกัน แต่ก็ออกมาตรการมาควบคุมสำเร็จมากว่า 30 ปี เพราะมีความชอบธรรมในการออกมาตรการ เรื่องรถควันดำก็เช่นกัน แต่หากรถเก่าแต่ดูแลดี ไม่ให้ควันดำเกินมาตรฐาน มีการติดอุปกรณ์ดักจับควันดำ เพื่อลดมลพิษ ก็ควรให้วิ่งได้ และรัฐควรมีมาตรการสนับสนุนอุปกรณ์ เช่น การลดภาษีอุปกรณ์เหล่านี้ เช่นเดียวกับหน้ากากอนามัยที่คนใช้กันมากตอนนี้ ก็ควรมีมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนเช่นกัน แต่มาตรการทั้ง 12 ข้อ ไม่มีการพูดถึงเรื่องหน้ากากอนามัยเลย

ศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่า จริงๆ ยังมีอีกหลายมาตรการที่สามารถทำได้ และเป้นโอกาสที่ควรทำเพื่อช่วยลดค่าฝุ่นละออง อย่างที่ตนเคยเสนอไปเมื่อปีที่แล้ว อย่างการลดการใช้รถไปเรียนไปทำงานด้วยการทำงานที่บ้าน (Work From Home) หรือการเรียนกลับหัว (Flip Learning) เพื่อช่วยลดการใช้รถและการเดินทาง อย่างเรื่องการเรียนก็อาจเป็นการเรียนผ่านคลิปหรือช่องทางต่างๆ ที่จะสามารถฟังอาจารย์สอนได้ขณะอยู่ที่บ้าน และนัดวันเวลามามหาวิทยาลัยแค่บางช่วงเพื่อสอบถามสิ่งที่ไม่เข้าใจ หรืออย่างนักเรียนก็อาจลดเวลาเรียนลง และเน้นให้ทำการบ้าน ให้เด็กได้ไปคิดไปทำมากขึ้น อย่างการไปช่วยกิจการงานของพ่อแม่ ซึ่งพบว่าเด็กที่ไปช่วยงานพ่อแม่ตนเองจะฉลาดกว่าวัยเดียวกัน และได้เรียนรู้จากการทำงานจริง ส่วนการทำงานที่บ้าน ก็ต้องเปลี่ยนแนวคิด เพราะทุกวันนี้ส่วนใหญ่จะติดกับภาพว่าจะต้องเห็นลูกน้องมาทำงานออฟฟิศ ก็ต้องปรับเปลี่ยนเรื่องนี้ และหาแนวทางในการทำงานที่บ้านเพิ่มขึ้น ซึ่งก็อาจจะเปิดช่องว่า หากทำงานที่บ้านอาจจะขอรับเงินเดือนลดลง 10-15% ซึ่งตนเคยถามลูกศิษย์ ก็พบว่าหากเป็นเช่นนี้เกือบทั้งหมดก็ยอม เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปกลับรวม 4 ชั่วโมงต่อวัน แต่มีเวลาไปทำอย่างอื่น ไม่ต้องเสียค่าเดินทาง ซึ่งเป็นประโยชน์กว่ามาก มาตรการแบบนี้ก็ยังไม่เห็นใน 12 ข้อที่เสนอเลย

ศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่า ส่วนเรื่องของการมีส่วนร่วมก็สำคัญ อย่างภาคเหนือมีปัญหาการเผา แต่ถามว่าพื้นที่ป่า 9 จังหวัดภาคเหนือมี 56 ล้านไร่ แต่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลมีประมาณเพียง 2 พันคน ก็ต้องอาศัยอาสาสมัคร จิตอาสาในการเข้าไปช่วยดูแลเรื่องของไฟป่า การเข้าไปดับไฟ ก็ควรจะมีมาตรการที่สนับสนุนจิตอาสาเหล่านี้ เช่น งบประมาณ อุปกรณ์ หน้ากากในการป้องกัน เพราะพบว่าจิตอาสาเหล่านี้บางส่วนก็เสียชีวิต ได้รับผลกระทบจากอุปกรณ์ที่ไม่ดีพอในการป้องกันตนเอง และบางคนก็เป็นหัวหน้าครอบครัว ขณะที่เรื่องของมลพิษข้ามพรมแดนยังมีการเจรจากันอย่างไรก็ยังไม่เห็นมาตรการที่ชัดเจนพวกนี้

สำหรับ 12 มาตรการแก้ปัญหาฝุ่น ประกอบด้วย 1. ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ จากวงแหวนรัชดาภิเษก เป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก

2. ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯในวันคี่ ระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 63

3.ตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน โดยเพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุด ครบทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ

4.กรมการขนส่งทางบกปฏิบัติการร่วมกับกองบังคับการตำรวจจราจรในการตรวจสอบ ตรวจจับรถควันดำสำหรับรถโดยสารและรถบรรทุก เพื่อออกคำสั่งห้ามใช้รถ 

5. ตรวจสอบโรงงานที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองหากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้สั่งปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ

6. กำกับให้กิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้าและก่อสร้างอื่นๆ เป็นไปตามข้อกำหนดไม่ทำให้เกิดฝุ่นและปัญหาการจราจร บริเวณรอบพื้นที่ก่อสร้าง

7. ไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่กระทำการเผา

8. จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องควบคุมการเผาในที่โล่งในช่วงสถานการณ์วิกฤตฝุ่นละออง และเข้มงวดการควบคุมยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง 

9. ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM ซึ่งเป็นน้ำมันที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองน้อย

10. ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงานและรถยนต์ของส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน

11. ให้ภาครัฐ ภาคเอกชนและสถานศึกษาสนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี เพื่อช่วยลดฝุ่นละออง

12. สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง


กำลังโหลดความคิดเห็น