“ดร.สถิตย์” เผยรัฐควรมีนโยบายมาตรกรสนับสนุนการลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้มูลค่าการลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเทียบเท่าค่าเฉลี่ยโลก
วันนี้ (20 ม.ค.) การประชุมวุฒิสภา วาระร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประเด็นงบประมาณการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ให้ข้อมูลว่าเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 สถาบันการจัดการนานาชาติ IMD (IMD: International Institute for Management Development) ได้เผยแพร่การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ในรายงานประจำปีความสามารถในการแข่งขันของโลก (WCY : The World Competitiveness Yearbook โดยดำเนินการเป็นประจำทุกปี มาตั้งแต่ปี 2532 โดยในรายงานฉบับล่าสุดนี้มีการจัดอันดับทั้งหมด 63 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
ส่วนประเทศไทยมีอันดับความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นจากอันดับที่ 30 ในปี 2561 ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 25 โดยปัจจัยหลักด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 8 (ดีขึ้นสองอันดับ) ปัจจัยหลักด้านประสิทธิภาพของภาครัฐอยู่ในอันดับที่ 20 (ดีขึ้นสองอันดับ) ปัจจัยหลักด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจอยู่ในอันดับที่ 27 (ลดลงสองอันดับ) ปัจจัยหลักด้านโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในอันดับที่ 45 (ดีขึ้นสามอันดับ) ซึ่งปัจจัยหลักด้านโครงสร้างพื้นฐานประกอบด้วยปัจจัยย่อยด้านต่างๆ อาทิ ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมถึงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น
สถาบันจัดการนานาชาติ (IMD) ได้ชี้ให้เห็นการลงทุนของประเทศชั้นนำด้านโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และวิจัย 3 ลำดับแรกคือ 1) สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการลงทุนด้านวิจัยที่ร้อยละ 2.79, 2) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ร้อยละ 2.13 และ 3) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ที่มีการลงทุนด้านนี้ถึงร้อยละ 4.55 ของ GDP
จากรายงานองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD : Organization for Economic Cooperation and Development) ในปี 2560 พบว่าประเทศสมาชิกมีการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมเฉลี่ยร้อยละ 2.372 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP: Gross Domestic Product)
นอกจากนี้ รายงานองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO: United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ชี้ว่าค่าเฉลี่ยโลกการลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอยู่ที่ร้อยละ 1.46 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายของประเทศไทยตามแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ร้อยละ 1.5 ของ GDP ทั้งนี้ในปัจจุบันการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโดยรวมมีเพียงประมาณร้อยละ 1 ของ GDP
การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมประกอบด้วย 2 ลักษณะ คือ 1) การสร้างองค์ความรู้พื้นฐานเพื่อการสะสมองค์ความรู้สู่ความเป็นเลิศ 2) การต่อยอดการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ไปสู่นวัตกรรมทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมทางสังคม
ดร.สถิตย์กล่าวว่า เป้าหมายของประเทศไทยตามแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน กำหนดให้ 1) มูลค่าการลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโดยรวมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มเป็นร้อยละ 1.5 ภายในปี 2565 2) ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ในลำดับ 1 ใน 30 ของ IMD ภายในปี 2565 เพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทดังกล่าว ดร.สถิตย์ เสนอแนะดังนี้
1. รัฐควรมีนโยบาย/มาตรกรสนับสนุนการลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้มูลค่าการลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างน้อยเทียบเท่าค่าเฉลี่ยโลก และอย่างน้อยต้องเพิ่มขึ้นเป็นขั้นตอนให้เท่ากับร้อยละ 1.5 ของ GDP ในปี 2565 และต้องส่งผลต่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ให้อยู่ในลำดับ 1 ใน 30 ของ IMD ภายในปี 2565 จากลำดับที่ 38 ในปี 2562 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม พ.ศ. 2561-2580 โดยควรดำเนินการดังนี้
1.1 รัฐควรจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมให้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากข้อมูลการนำเสนอของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณในมุมมองของวุฒิสภานั้น ระบุว่างบประมาณการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมภาครัฐปีงบประมาณ 2563 ได้รับการจัดสรรทั้งสิ้น 20,295 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 0.1 ของ GDP
1.2 รัฐควรมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผ่านทางมาตรการภาษี เช่น สำหรับนิติบุคคล : ให้สามารถหักรายจ่ายด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมได้ 3 เท่าต่อไป สำหรับบุคลลธรรมดา : สามารถหักค่าใช้จ่ายได้มากขึ้นกว่าเดิม
ทั้งนี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น
1.3 รัฐควรมีนโยบายสนับสนุนให้การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชื่อมโยงกับการลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นเครื่องยนตร์ทางเศรษฐกิจใหม่ (New Engine of Growth) ของไทย และเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC: Eastern Economic Corridor) เป็นฐานการผลิตที่สำคัญ
1.4 รัฐควรมีนโยบายเน้นหนักการลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุน ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมฐานความรู้ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งเน้นการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม จะช่วยดึงดูดให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน และจากต่างประเทศมากขึ้น
2. รัฐควรมีนโยบายส่งเสริมให้การลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเข้าถึงตลาดของภาครัฐให้มากขึ้น โดยศึกษาบทเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการเช่นนี้จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและสาธารณรัฐเกาหลี
3. รัฐควรมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่เชื่อมโยงกับนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) โดยการประยุกต์ใช้ความคิดใหม่ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ในการยกระดับคุณภาพชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม และควรสนับสนุนให้คณะกรรมการผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงระดับจังหวัด (PCIO: Provincial Chief Information Officer Committee) ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ทำหน้าที่บูรณาการทุกภาคส่วนรวมถึงสถาบันการศึกษาในจังหวัด เพื่อเชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมกับการพัฒนาในระดับภูมิภาค รวมทั้งชุมชนและการเกษตร
4. รัฐควรมีนโยบายสนับสนุนให้การลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ได้รับความสะดวกในการจดทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Right) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เห็นความสำคัญอยู่แล้ว โดยมีมาตรการทางเลือกชั่วคราวแบบแบ่งปันงาน (Work Sharing) ที่เป็นการนำผลการทำงานของสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศมาช่วยในการตรวจสอบ แต่ก็ยังคงมีคำขอคงค้างอยู่มาก อาจต้องปรับโครงสร้างและขยายอัตรากำลังตามปริมาณงานที่จะต้องเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายการลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของประเทศที่จะเพิ่มสู่ร้อยละ 1.5 ของ GDP ในปี 2565 นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์อาจต้องเพิ่มบทบาทในการเพิ่มการสร้างความรู้ความเข้าใจ เข้าไปหาหน่วยงานวิจัยให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนการจดทรัพย์สินทางปัญญาให้มากขึ้น
5. รัฐควรมีนโยบายสนับสนุนให้การลงทุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมบูรณาการองค์ความรู้การวิจัยกับภาคอุตสาหรรม ภาคธุรกิจ ณ สถานประกอบการ (WIL: Work-Integrated Learning) เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรม และจากภาคธุรกิจ เข้ามาบูรณาการกับนักวิชาการของสถาบันการศึกษา เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรด้านการศึกษาและการวิจัยพัฒนาของประเทศ
การส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น จะเป็นองค์ประกอบสำคัญทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ดีขึ้นตามเป้าหมายแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม พ.ศ. 2561-2580 คือ มูลค่าการลงทุนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมโดยรวมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มเป็นร้อยละ 1.5 ภายในปี 2565 และ ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ในลำดับ 1 ใน 30 ของ IMD ภายในปี 2565
จากบทเรียนประเทศที่พัฒนาแล้วจะเห็นว่าการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ การส่งเสริมการลงทุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ จะต้องทำให้บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่ประเทศไทยต้องมีงบประมาณการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น และขีดความสามารถในการแข่งขันในลำดับที่ดียิ่งขึ้น