“พาณิชย์” วิเคราะห์ผลดีผลเสียจากกรณีสหรัฐฯ และจีนลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรก เผยจะช่วยให้บรรยากาศการค้าโลกดีขึ้น และส่งผลดีต่อการค้าของไทย ระบุมีสินค้าหลายรายการที่มีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้น รับบางตัวอาจแข่งขันรุนแรงขึ้น
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงการวิเคราะห์กรณีที่สหรัฐฯ และจีนลงนามในข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรกว่า เป็นข่าวดีที่จะช่วยลดแรงกดดันและสร้างบรรยากาศการค้าโลกให้ดีขึ้น และเพิ่มความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจ นักลงทุน เนื่องจากเป็นสัญญาณบวกชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่ดีขึ้น และยังส่งผลดีต่อเนื่องถึงการส่งออกของไทย โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนและสหรัฐฯ ที่จะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น และทำให้การส่งออกในภาพรวมของไทยดีขึ้น
สำหรับสินค้าที่ไทยยังมีโอกาสในการส่งออกทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ในตลาดจีน เช่น อาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องประดับ และเครื่องสำอาง เพราะในข้อตกลงระยะแรกไม่ได้ระบุเงื่อนไขให้จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ไทยจึงมีโอกาสในการส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ได้ต่อไป ส่วนสินค้าที่มีการกำหนดให้จีนต้องซื้อจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม เช่น เนื้อสัตว์ ฝ้าย อาหารทะเล ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ และถ่านหิน ไทยยังมีโอกาสส่งออกไปจีนได้ เพราะจีนยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ ที่สินค้าไทยยังมีความได้เปรียบสินค้าจากประเทศอื่นในตลาดจีน แต่อาจเผชิญการแข่งขันเพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี และการพัฒนา ควบคุมมาตรฐานการผลิต จึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ไทยมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นทางอ้อม เพราะสหรัฐฯ ได้ปรับลดภาษีสินค้ากลุ่ม 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เหลืออัตรา 7.5% จากเดิม 15% และชะลอการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเติม ทำให้สินค้าไทยที่เป็นซัปพลายเชนสามารถส่งออกไปยังจีนได้เพิ่มขึ้น จากการที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นจากการปรับลดภาษีนำเข้าลงมา
ทั้งนี้ สนค.จะศึกษารายละเอียดสินค้าภายใต้ข้อตกลง เพื่อประเมินผลกระทบและชี้ช่องโอกาสการส่งออกเพิ่มเติม และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการดำเนินการตามข้อตกลงระยะแรก รวมถึงการหารือประเด็นสำคัญเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่จะอยู่ในข้อตกลงระยะถัดไป (เฟส 2) เช่น การอุดหนุนรัฐวิสาหกิจ การคุกคามทางไซเบอร์ การเลือกปฏิบัติต่อการค้าดิจิทัล ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความท้าทาย
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า รายละเอียดข้อตกลงเศรษฐกิจการค้าระยะแรกในด้านการค้าและการค้าสินค้าเกษตรและอาหาร จีนจะซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ใน 2 ปี (1 ม.ค. 2563-31 ธ.ค. 2564) ประกอบด้วยสินค้าอุตสาหกรรม 7.77 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานพาหนะ เหล็ก สินค้าเกษตร 3.20 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เช่น เมล็ดพืชน้ำมัน เนื้อวัว หมู ไก่ อาหารทะเล อาหารสัตว์ สินค้าพลังงาน 5.24 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และบริการ 3.79 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เช่น การท่องเที่ยว การประกันภัย และหลักทรัพย์ และยังจะร่วมมือลดอุปสรรคการค้าในสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผลิตภัณฑ์นม อาหารทารก สัตว์ปีก เนื้อสัตว์ สินค้าประมง ข้าว อาหารสัตว์ พืชสวน และผลิตภัณฑ์เกษตรชีวภาพ
ส่วนจีน จะเพิ่มระดับการคุ้มครองและบังคับใช้กฎหมายต่อการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยจีนต้องเสนอร่างแผนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายใน 30 วัน จะเปิดตลาดบริการทางการเงิน เช่น บริการธนาคาร การประกันภัย การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่สหรัฐฯ มากขึ้น
ขณะเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะละเว้นการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยีและการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเข้าครอบครองเทคโนโลยีของต่างชาติ และจะละเว้นการดำเนินนโยบายค่าเงินที่สร้างความได้เปรียบทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งจะตั้งคณะทำงานด้านกรอบการค้าเพื่อติดตามการดำเนินการตามข้อตกลง