xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ยันความเชื่อมั่นผู้บริโภคพุ่งแน่ หลังเร่งดันส่งออก-มีแผนรับมือตัด GSP

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” โชว์แผนดึงความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยันมีมาตรการเชิงรุกต่อเนื่อง ด้านส่งออก “จุรินทร์” เตรียมลุยเจาะตลาด 18 ประเทศ ทำแผนเพิ่มยอดส่งออกสินค้าที่มีโอกาส รุกเจรจาสหรัฐฯ ระงับการตัดสิทธิ GSP พร้อมหาตลาดทดแทน ด้านสงครามการค้าส่อแววชะลอตัวหลังลงนามข้อตกลงการค้าเฟส 1 คาดความเชื่อมั่นระยะต่อไปดีขึ้นแน่

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงกรณีที่ ม.หอการค้าไทยระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 2 ปีว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ธ.ค. 2562 เช่นเดียวกัน โดยพบว่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 44.5 คงที่ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่ดัชนีปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจาก 39.0 เป็น 39.4 และดัชนีอนาคตอยู่ที่ระดับ 48.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตโดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในระดับเชื่อมั่นสูงกว่า 50 อยู่ที่ระดับ 52.8 ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ดัชนีในอนาคตเดือนธ.ค. 2562 อยู่ในระดับเชื่อมั่นที่ 52.0 และเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ระดับ 54.4 ชี้ว่าในภาพรวมปี 2562 ผู้บริโภคทั่วไปยังมีความคาดหวังและมีมุมมองเชิงบวกว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ดีในระยะต่อไป และเชื่อว่าความผันผวนจากปัจจัยภายนอกน่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น

“ในประเด็นที่ผู้บริโภคมีความกังวลและทำให้กระทบต่อความเชื่อมั่น ทั้งในเรื่องการส่งออกที่ชะลอตัว การถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกเรื่อง และมีมาตรการเร่งด่วนออกมารับมือในทุกประเด็นที่เป็นข้อกังวลแล้ว และเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยเชิงบวกสนับสนุนให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้น และทำให้มุมมองและความคาดหวังในอนาคตของประชาชนกลับขึ้นมาอยู่ในช่วงเชื่อมั่นได้ในระยะต่อไป”

ทั้งนี้ ในด้านการส่งออก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีแผนที่จะนำคณะผู้แทนการค้าไทยเดินทางไปขยายตลาดรวม 18 ประเทศ ได้แก่ ตลาดเดิม เช่น จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี อังกฤษ สหภาพยุโรป ตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ตุรกี ศรีลังกา บังกลาเทศ แอฟริกาใต้ ตลาดฟื้นฟู เช่น ตะวันออกกลาง ตลาดอาเซียน และ CLMV เช่น กัมพูชา แต่เฉพาะจีนและอินเดียจะเจาะตลาดลึกเป็นรายมณฑลและรายรัฐมากขึ้น โดยอินเดียจะนำร่องไปเมืองเบงกาลูรู และไฮเดอราบัด ระหว่างวันที่ 16-20 ม.ค. 2563 พร้อมกับทำการศึกษาสินค้าที่มีโอกาสส่งออกท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่ชะลอตัวว่ามีรายการไหนบ้างที่จะเร่งผลักดันได้เพิ่มขึ้น เบื้องต้นมีสินค้า เช่น ไก่แปรรูป เครื่องดื่ม นาฬิกาและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัวและของใช้ในบ้านเรือน เป็นต้น

ส่วนประเด็นสหรัฐฯ ตัด GSP ได้มีการหารือและทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาให้สหรัฐฯ พิจารณาทบทวนการระงับสิทธิ GSP และยังได้แจ้งผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบสถานการณ์ความคืบหน้าเป็นระยะ ตลอดจนร่วมกันประเมินผลกระทบและเตรียมมาตรการรองรับ โดยเฉพาะการหาตลาดใหม่ และการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยมีอยู่ และเดินหน้าขยาย FTA กับคู่ค้าสำคัญเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้า

สำหรับประเด็นสงครามการค้า ได้มีมาตรการรับมือ ทั้งการหาตลาดทดแทน การผลักดันการส่งออกสินค้าเข้าไปทดแทนสินค้าที่ถูกสหรัฐฯ และจีนขึ้นภาษีระหว่างกัน ซึ่งถือว่าทำได้ดี สินค้าหลายตัวมียอดส่งออกเพิ่มขึ้น และยังเชื่อว่าการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟส 1 ของสหรัฐฯ กับจีนจะทำให้ผลกระทบจากสงครามการค้าชะลอตัวลง และส่งผลดีต่อการส่งออกและเศรษฐกิจโลก และยังมีความชัดเจนเรื่องการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) จีนถูกถอนจากบัญชีประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงิน และไทยไม่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตา ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยบวก


กำลังโหลดความคิดเห็น