ศูนย์ข่าวศรีราชา - บีโอไอฟุ้งยอดขอส่งเสริมการลงทุนปี 62 ได้ตามเป้ากว่า 7.56 แสนล้านบาท พบมูลค่าขอส่งเสริมกว่าครึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการอีอีซี ขณะที่ปี 63 เชื่อแนวโน้มดีหลังอัดสิทธิพิเศษมากมาย รวมทั้งปรับมาตรการส่งเสริมลงทุน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เผยถึงสถานการณ์การลงทุนในปี 2562 ว่า มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ จำนวน 1,624 โครงการ และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 756,100 ล้านบาท ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 750,000 ล้านบาท
ส่วนคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่โครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มีจำนวนทั้งสิ้น 506 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 444,880 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด
โดยจังหวัดระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือ ชลบุรี และฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ ยอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีจำนวน 838 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 286,520 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด คือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีเม็ดเงินลงทุนรวม 80,490 ล้านบาท
รองลงมา คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เงินลงทุนรวม 74,000 ล้านบาท และอันดับ 3 คือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เงินลงทุนรวม 40,100 ล้านบาท
เชื่อปี 63 สดใสหลังอัดสิทธิประโยชน์ ปรับมาตรการส่งเสริมในอีอีซี
ด้าน น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอกล่าวว่า ในปี 2563 คาดว่าการลงทุนยังคงมีแนวโน้มที่ดีเนื่องจากบีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้านเพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ผ่านมาตรการ Thailand Plus ที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2563 และมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564
รวมทั้งยังได้ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ใช้อยู่เดิมจนถึงเดือน ก.พ.2563 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ก่อนที่บีโอไอจะนำเสนอมาตรการ SMEs ที่ปรับปรุงใหม่ในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไป
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่โครงการอีอีซี ด้วยการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม (ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% 3 ปีหรือยกเว้น 2 ปี) ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมหรือไม่หากรับนักศึกษาฝึกงานตามจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด
เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทั้งในโครงการที่ตั้งในพื้นที่พิเศษ (เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์พัทยาหรือ EECmd รวมทั้งนิคมนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอันเนื่องจากที่ตั้งอีกด้วย
“มาตรการนี้ใช้สำหรับคำขอรับการส่งเสริมที่ยื่นตั้งแต่ 2 ม.ค.2563 จนถึงสิ้นปี 2564 แต่หากตั้งโครงการในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ ได้แก่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจรธรรมศาสตร์พัทยา หรือ EECnd ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด” เลขาธิการบีโอไอ กล่าว