xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แก้ PM 2.5 กัน “เยี่ยงนี้” ไม่แปลกใจทำไม “ลุงตู่” หัวร้อน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปัญหา “ฝุ่นพิษ PM 2.5” ได้กลายเป็นเรื่องที่ทิ่มตำหัวใจของ “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จนเกิดอาการ “หัวร้อน” อย่างเห็นได้ชัด ด้วยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า รัฐบาลทำงานอย่างเชื่องช้าและไม่ใส่ใจในการแก้ปัญหา ทั้งๆ ที่น่าจะทำ “ได้ดีกว่านี้”

“ปัญหานี้มีมานานแล้ว และอย่ากล่าวโจมตีว่ารัฐบาลไม่มีผลงาน เพราะผมเองทำงานตลอด เมื่อบ้านเมืองมีความเจริญเข้าไปถึง ปัญหาต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย จะให้รัฐบาลทำอย่างไร”

ฟังน้ำเสียงก็รู้ว่า “ลุงตู่” หงุดหงิดในหัวใจขนาดไหน

ขณะที่ “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) บอกว่า
“กำลังเร่งแก้ไขปัญหา โดยสถานการณ์ปีนี้ไม่หนักเท่าปีที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดี”
แต่คำถามที่ประชาชนไม่เข้าใจก็คือ คพ.ก็รับรู้ปัญหา ทส.ก็รับรู้ปัญหา รัฐบาลก็รับรู้ปัญหา แต่ทำไมประชาชนถึงไม่สามารถสัมผัสมาตรการในการแก้ไขปัญหาได้

ปัญหาอยู่ตรงที่รัฐบาลทำงาน “เชิงรับ” มากกว่า “เชิงรุก” ใช่หรือไม่

มีปัจจัยอะไรที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับรู้ถึงการทำงานของรัฐบาล

หรือเป็นเพราะประชาชนไม่ร่วมไม้ร่วมมือกันในการแก้ไขสถานการณ์ เช่นนั้นหรือ

หลังประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา “นายกฯ ลุงตู่” ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวอีกครั้งว่า “ต้องดูสาเหตุมาจากตรงไหนบ้าง รัฐบาลทำอะไรได้บ้าง แต่ที่สำคัญคือประชาชนทุกกลุ่มต้องร่วมมือกัน ทุกคนรู้หมดสาเหตุทั้งจากการขับรถที่มีควันดำ ไม่มีควันดำ ทุกคนรู้หมด ต้องช่วยกันแก้ไข อย่างเรื่องการเผาต้องไปช่วยกันลดการเผาให้ได้ ผมได้ย้ำในส่วนของขนส่งมวลชนไปแล้ว รวมถึงการตั้งด่านจุดสกัดให้มากขึ้น รถคันไหนมีปัญหาก็ไม่ให้วิ่ง จนกว่าจะแก้ไขได้ หามาตรการเข้ามาแก้ไขและช่วยเหลือ ซึ่งบางครั้งหลายคนมีความเดือดร้อนต้องใช้รถแบบนี้ ก็ต้องมีการเข้าไปแก้ปัญหาให้”

นายกฯ ลุงตู่อรรถาธิบายด้วยว่า ปัญหา PM 2.5 เกิดจากการจราจร 70 เปอร์เซ็นต์ โรงงานอุตสาหกรรม 17 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการเผาและอื่นๆ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรัฐบาลมีตัวเลขหมดแล้ว โดยรัฐบาลมีหน้าที่กำกับดูแล ในส่วนของขนส่งมวลชน รถบรรทุก การลดควันดำ การเปลี่ยนใช้รถ การเดินหน้าไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นไปตามขั้นตอน เพราะไม่สามารถสั่งการได้ทีเดียว

“เราต้องช่วยกันอธิบาย ไม่อย่างนั้นก็ตีกันไปตีกันมา ทำอะไรไม่ได้ ท้ายที่สุดมาตรการที่รัฐบาลทำได้เต็มที่ คือมาตรการทางกฎหมาย ห้ามรถวิ่ง ห้ามรถบรรทุกเข้าเมือง แล้วจะเดือดร้อนใครไหมล่ะ อะไรที่ช่วยกันได้ก็ช่วยกันก่อน อย่าประโคมข่าวแค่ค่าฝุ่น แต่ไม่ประโคมว่าจะแก้อย่างไร...”

และเมื่อถอดรหัสจากคำให้สัมภาษณ์ของลุงตู่ก็มีคำถามย้อนกลับไปเหมือนเดิมคือ รัฐบาลลุงตู่รู้และเข้าใจปัญหาดี แต่ไอ้ที่ลุงตู่ว่าเอาไว้นั้น ได้มีการทำอะไรที่เป็นจริงเป็นจังที่ตรงไหนบ้าง

ความจริงต้องบอกว่า ประเทศไทยมี “แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ที่ได้รับความเห็นชอบจากครม.มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1ตุลาคม 2562 แต่ดูเหมือนว่ามาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่โดยเฉพาะแผนตอบโต้สถานการณ์ช่วงวิกฤตตามที่กำหนด ยังไม่ค่อยขยับขับเคลื่อนเท่าที่ควร

กล่าวคือในช่วงที่มีฝุ่นละอองสูงเกิน100 มค.ก/ลบ.ม.แม้กรมควบคุมมลพิษได้แจ้งเตือนไปแล้วแต่ยังไม่เห็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม).และผู้ว่าราชการจังหวัดใดใช้กฎหมายที่มีอยู่ เช่น พ.ร.บ.การสาธารณสุขพ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยพ.ศ.2550 เข้าควบคุมพื้นที่หรือควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติการก็ยังไม่มีการดำเนินการตามแผนเท่าที่ควร เช่น การควบคุมเรื่องจราจรได้ทำบ้างหรือไม่? เห็นมีแต่แพลมๆ ออกมาว่าจะจับจราจรวันคู่วันคี่ ควบคุมการเข้าออกรถบรรทุกในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่จนป่านนี้ ก็ยังไม่ได้ทำอะไร เผลอๆ จะเอาเข้าที่ประชุม ครม.ในวันที่ 21 มกราคมที่จะถึงนี้ทันหรือไม่ ก็ยังไม่รู้

มาตรการที่ควรทำเป็นปกติ เช่น การล้างถนน การควบคุมไซต์งานก่อสร้าง ประชาชนนึกแทบไม่ออกว่าเคยเห็นที่ไหนบ้าง ยังคงปล่อยให้มีการก่อสร้างทุกชนิดบนพื้นผิวถนนซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการจราจรติดขัดในขณะนี้ รวมทั้งยังให้มีการก่อสร้างอาคารต่างๆริมถนนได้เหมือนเดิม

การควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมที่ว่ากันว่าเป็นต้นตอสำคัญทำไปถึงไหนแล้ว? ทำไมถึงยังปล่อยให้โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงเดินเครื่องจักรอย่างเต็มกำลัง

การลดการเผาได้ประชาสัมพันธ์เชิงรุกบ้างหรือไม่ เพราะทุกวันนี้ก็ยังเห็นเกษตรกรเผาอยู่ในหลายพื้นที่อย่างโจ่งแจ้ง ทั้งเผาขยะ เผาไร่อ้อย

ไม่ใช่เอะอะก็ออกมาขู่ว่าจะใช้ “ยาแรง” ถ้าประชาชนเดือดร้อนแล้วจะรับได้หรือไม่

นอกจากนี้ยังไม่มีมาตรการจูงใจใดๆ เพื่อให้ประชาชนลดการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวในช่วงที่ปริมาณฝุ่นสูง เช่น การลดค่าโดยสารรถสาธารณะหรือรถไฟฟ้า เป็นต้น

“ไม่มีเจ้าภาพที่แท้จริงหรือหน่วยงานหลักในการสั่งการแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ ทุกวันนี้กรมควบคุมมลพิษเป็นเพียง Focal pointและCoordinator ในการแจ้งข้อมูลสถานการณ์ฝุ่นPM 2.5 และประสานงานให้หน่วยงานปฏิบัติไปดำเนินการเท่านั้น ซึ่งยังไม่สามารถจัดการปัญหาฝุ่นในช่วงที่เกินค่ามาตรฐานหรือเกิดวิกฤตได้ทันท่วงที ซึ่งต่างจากในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาจะมี US.EPA หรือประเทศจีนจะมีหน่วยงานดูแลกฎหมายอากาศสะอาดหรือแม้แต่ประเทศเกาหลีใต้ยังออกกฎหมายฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม หากประกาศให้ฝุ่น PM 2.5เป็นภัยธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อสังคมแล้ว หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นเจ้าภาพหลักซึ่งขึ้นต่อประธานาธิบดีโดยตรงสามารถประกาศสั่งการให้แก้ไขปัญหาได้ทันทีโดยไม่ต้องรอให้หน่วยงานปฏิบัติมาดำเนินการ เช่นสั่งหยุดการก่อสร้างบนถนน,สั่งหยุดเผาในที่โล่งทุกประเภท,สั่งโรงงานลดกำลังการผลิต ,สั่งรถยนต์ควันดำวิ่งเข้าเมือง, สั่งลดปริมาณรถยนต์วิ่งในเมืองโดยกำหนดวันคู่วันคี่ เป็นต้น ที่จริงประเทศไทยมีพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 สามารถประกาศให้ฝุ่น PM 2.5ที่เกินค่ามาตรฐานเป็นภัยธรรม ชาติสามารถนำวิธีการจัดการต่างๆมาใช้ได้โดยอาศัยอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ถึงบัดนี้ยังไม่มีจังหวัดใดกล้าประกาศเพราะกลัวจะกระทบการท่องเที่ยวและกลัวถูกฟ้องจากภาคเอกชน” สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์ถึงจุดอ่อนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นPM 2.5 ตามแผนวาระแห่งชาติ ซึ่งทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐไม่ได้ทำอะไร เอาไว้อย่างน่าสนใจ

กล่าวสำหรับสถาน การณ์มลพิษของประเทศไทย ประจำปี 2562 นั้น ยอมรับว่า ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้กลายเป็น “ปัญหาหลัก” และ “ปัญหาถาวร” ของประเทศไทยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มิใช่เป็นปัญหาชั่วคราวที่สามารถนิ่งเฉยเลยผ่านได้

มีข้อมูลจากการเปิดเผยของ ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) น่าสนใจว่า โดยภาพรวมมลพิษที่น่ากังวลเป็นเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่ต้องจับตาเฝ้าระวังมากที่สุดเพราะกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และรองลงมาเป็นเรื่องปัญหาน้ำเสีย และปัญหาขยะ

ทั้งนี้ คุณภาพอากาศในพื้นที่ทั่วไปมลพิษหลักที่ยังเป็นปัญหา คือฝุ่นละออง PM 2.5 ฝุ่นละออง PM10 และก๊าซโอโซน มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานมากกว่าปีที่ผ่านมา ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศใน 34 จังหวัด ที่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติ มีจำนวนวันในรอบปีที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐานมากกว่าร้อยละ 20 ใน 8 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง ลำพูน แพร่ ขอนแก่น และสระบุรี

ส่วนคุณภาพอากาศในพื้นที่วิกฤต 4 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่นำไปสู่การยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและการจัดทำแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล โดยมีระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง (พ.ศ.2562-2564) และระยะยาว (พ.ศ.2565-2567) รวมถึงการติดตามตรวจสอบและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 โดย กทม. จะติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในทุกเขตของพื้นที่ กทม.

สำหรับพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มีจำนวนวันที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานเพิ่มขึ้นจากปี 2561 จาก 34 วัน เป็น 59 วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 73 จุดความร้อนสะสมมีค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2561 จาก 4,722 จุด เป็น 10,217 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 และพบค่าปริมาณฝุ่นละออง PM10 สูงสุด เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จาก 233 มคก.ต่อลบ.ม. เป็น 394 มคก.ลบ.ม. ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ จะดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 โดยกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) เน้นการป้องกันและเข้าดับไฟให้รวดเร็ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนทางวิชาการ

...ก็ไม่รู้ว่า หลัง “นายกฯ ลุงตู่” ลงมาเคาะด้วยตัวเองแล้ว รัฐราชการที่เชื่องช้าจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาหรือไม่ อย่างไร แล้วก็เลิกขู่เสียทีว่าจะใช้ “ยาแรง” เพราะถ้า “จำเป็น” ต้องใช้ ก็เดินหน้าใช้ไป ประชาชนก็เข้าใจ แต่มิใช่ “ไม่ทำอะไรเลย” และปล่อยให้เป็น “ยาหมดอายุ” ก็เท่านั้น.


กำลังโหลดความคิดเห็น