xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เลี่ยงบาลี “เบียร์ 0%” น้ำ(ไม่)เมา ที่เขาว่า...เคลือบพิษ!?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เดินหน้าเต็มสูบสำหรับ “กรมสรรพามิตร” ที่เตรียมขึ้นภาษี “เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์” หรือ “เบียร์ 0%” โดยจะเก็บในอัตราสูงกว่าปัจจุบันที่ 14% แต่ต่ำกว่าเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ที่ 22 % และเตรียมชงเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อให้ประกาศใช้ภายในปี 2563

ทว่า ก็กลายเป็นประเด็นดรามากันพอสมควร กล่าวคือ หากพิจารณาในแง่จิตวิทยาวัยรุ่นถือเป็น “จุดสตาร์ท” นำสู่การดื่มเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ในอนาคต ส่งเสริมให้เกิด “นักดื่มหน้าใหม่” แทนที่จะเป็น “เครื่องดื่มทางเลือก” แคลลอรี่ต่ำตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนชอบดื่มเบียร์ แต่ไม่อยากรับปริมาณแอลกอฮอล์

ตามคำยืนยันของ นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะเริ่มจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่เรียกกันว่า เบียร์ไม่มีแอลกอฮอร์ หรือ เบียร์ 0% โดยพิกัดภาษีเก็บสูงกว่าภาษีเครื่องดื่มปัจจุบันที่ 14% แต่จะไม่เท่ากับอัตราภาษีเบียร์ที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบันที่เก็บอยู่ 22% รวมถึงการพิจารณาภาษีผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องแต่เป็นนวัตกรรมของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์อัดเม็ด สุราอัดเม็ด ที่ไปใช้ผสมน้ำและดื่ม ที่ยังไม่เคยมีพิกัดภาษีด้วย โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อนประกาศมีผลบังคับใช้ ภายในปี 2563

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เบียร์ 0% มีการวางขายในราคาใกล้เคียงกับเบียร์ปกติ ทั้งๆ ที่เสียภาษีต่ำกว่า ทำให้มีกำไรมาก ดังนั้น แม้อัตราจัดเก็บภาษี เบียร์ 0% จะเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 14% และแต่น้อยกว่า 22% ของอัตราภาษีเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์นั้น จะไม่กระทบกับราคาขายปลีก และไม่มีเหตุผลสมควรที่ต้องปรับขึ้นราคาขาย

อย่างไรก็ตาม ด้วยรสสัมผัสของเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์คล้ายคลึงกับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ เข้าถึงผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยไม่จำกัด จึงเกิดความกังวลถึงผลกระทบในเรื่องการผลักดันให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งที่ผ่านมา นอกจากพฤติกรรมนักดื่มไทยไม่ลดลง ยังสวนทางเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

“การบริโภคเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ไม่ได้ลด มีแต่เพิ่มขึ้น แสดงว่าไม่น่ามีการเปลี่ยนมาดื่มเบียร์ 0% แอลกอฮอล์ แต่นักดื่มหน้าใหม่เริ่มดื่มเบียร์ 0% และเปลี่ยนไปดื่มแบบปกติ” นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

ขณะที่ ผศ.ดร.นพ. อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) อธิบายว่าเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เป็นกลยุทธ์การตลาดที่หาช่องโหว่ทางกฎหมาย แฝงโฆษณา ใช้สัญลักษณ์ แพ็คเกจ ที่เหมือนหรือคล้ายกับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ เพื่อหวังขยายฐานลูกค้า ทำกำไร ผลกระทบระยะยาวคือ การเพิ่มยอดขายให้เบียร์เพราะกฎหมายทำอะไรไม่ได้ ชื่อและตราสัญลักษณ์คล้ายกัน จนแทบจะแยกไม่ออก

จึงเป็นประเด็นที่ต้องฝากภาครัฐให้รู้เท่าทัน โดยเฉพาะการกำกับดูแลไม่ให้จดทะเบียนการค้า หรือใช้ตราสัญลักษณ์ที่ใกล้เคียงกัน ต้องแยกประเภทให้มีความแตกต่าง คำนึงถึงผลกระทบ เพราะหากมีการโฆษณามากขึ้น เท่ากับกระตุ้นการดื่ม ซึ่งปัจจัยที่ทำให้คนดื่มมี 3 อย่าง คือ ราคา การโฆษณา การเข้าถึง เมื่อมีการดื่มแอลกอฮอล์ยิ่งมาก ผลกระทบและอันตรายจะยิ่งทวีคูณ

จะเห็นว่า เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือ เบียร์ 0% นั้น โหมทำการตลาดทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ แม้ยอดขายเบียร์ 0% น้อยนิด แต่มีนัยยะโฆษณาแฝงเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้สังคมไทย โดยเฉพาะเด็กชินกับเบียร์ เริ่มลิ้มลองจาก 0% แล้วเพิ่มดีกรีขึ้นเรื่อยๆ

นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่าธุรกิจน้ำเมาเริ่มหันมาทำการตลาดด้วยการออกผลิตภัณฑ์เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ พยายามหาทางเลี่ยงกฎหมาย และพยายามเปิดตัวสินค้า หรือแพกเกจใหม่ๆ เพื่อจะทำให้เป็นอีเวนต์ แล้วจะจุดกระแสต่อ ซึ่งก่อนหน้านี้ ใช้กลยุทธ์สินค้าพวก “น้ำดื่ม” และ “โซดา” ที่มีตราโลโก้เสมือนเบียร์ ล่าสุด ใช้กลยุทธ์ตราเสมือน โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ “เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์” เรียกว่าต้องการจะใช้โฆษณาสินค้าอื่นแล้วโยงเข้าสู่สินค้าแอลกอฮอล์ของตนเอง เจตนาส่อให้เห็นว่าต้องการที่จะใช้ยี่ห้อที่สามารถโฆษณาได้ตลอดเวลา และขายได้ตลอดเวลา

เรียกว่า ใช้แบรนด์ DNA เดียวกัน มีการปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อย ขณะที่สัญลักษณ์ “โลโก้” เบียร์ 0% ไม่แตกต่างไปจาก “โลโก้” ของเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เดิม ชนิดที่ว่าหากวางจำหน่ายคู่กันจะเผลอหยิบผิดก็ไม่แปลกเลย

อ้างอิงงานวิจัยของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เมื่อเห็นโฆษณาเครื่องดื่มเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ จะนึกถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทันที เป็นการโฆษณาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของสินค้า

ปัญหาประการหนึ่ง กฎหมายไทยขาดการบูรณาการระหว่างกระทรวงต่างๆ เป็นต้นว่า กระทรวงสาธารณสุข ควบคุมเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การลดการบริโภค ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แน่นอนว่า ทั้ง 2 กระทรวงฯ มีมุมมองต่างกันและไม่ได้บูรณาการแนวคิดในทิศทางเดียวกัน ทำให้มีการจดทะเบียนซ้ำชื่อเดียวกันกับเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มันทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญ

อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มโต้แย้งกรณีกรมสรรพสามิต เตรียมขึ้นภาษีเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือ “เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์” หรือ “เบียร์ 0%” โดยมองว่าเป็นการคิดภาษีลักลั่น เหตุใดคิดอัตราเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มทางเลือก สูงกว่าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บางชนิดเสียอีก

ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิพากษ์กรณีกรมสรรพสามิตประกาศว่าจะมีการปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณต่ำ ซึ่งเป็นการนำมาตรการทางภาษีเข้ามาเป็นกลไกในการดูแลสุขภาพของประชากรในประเทศ กลับกลายเป็นว่า จะเรียกเก็บภาษีเบียร์ 0% โดยจะเก็บในอัตราที่สูงกว่าปัจจุบันที่ 14% แต่ต่ำกว่าเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ที่ 22% ซึ่งมีความย้อนแย้งเนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่มาทดแทนการดื่มแอลกอฮอล์ ทว่า กำลังจะโดนเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้น

มิหนำซ้ำ สูงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกหลายชนิด โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสผลไม้ต่างๆ ที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ทั้งๆ ที่ เบียร์ 0% เป็นตัวเลือกสุขภาพ แคลอรีต่ำ สำหรับคนชอบดื่มแต่ไม่อยากรับปริมาณแอลกอฮอล์ รวมถึง เป็นปัจจัยเอื้อเรื่องความปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะหลังการดื่มสังสรรค์

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าคนไทยส่วนใหญ่เห็นถึงประโยชน์ของเครื่องดื่มเบียร์ 0% ว่ามีส่วนสำคัญในการลดโอกาสของการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ และไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มมอลต์ไร้แอลกอฮอล์ในอัตราสูงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิด

กลุ่มตัวอย่างมองว่า เบียร์ 0% เป็นทางเลือกในการทดแทนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ และลดปัญหาสุขภาพจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง

อีกทั้ง มีความกังวลหากจัดเก็บภาษีในอัตราสูงจะทำให้ราคาเบียร์ 0% สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความรู้สึกที่อยากจะเลือกดื่มเบียร์ 0% เพื่อทดแทนการดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงสังสรรค์

และหากวิเคราะห์ตามสถิติของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางท้องถนน (ศปถ.) สรุปสถานการณ์อุบัติเหตุทางท้องถนนระหว่าง 7วันอันตราย ในช่วงส่งท้ายปี 2562 ต้อนรับปีใหม่ 2563 พบว่าอุบัติเหตุลดลงเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยสาเหตุอันดับ 1 อย่างเมาแล้วขับลดลงต่อเนื่องทุกปี ซึ่งเป็นปัจจัยมาจากบทลงโทษทางกฎหมายกรณีเมาแล้วขับที่มีความเข้มข้นรุนแรง นอกจากนี้ เครื่องดื่มมอลต์ไร้แอลกอฮอล์ หรือที่เรียกกันว่า เบียร์ 0% ได้กลายมาเป็นทางเลือกในการดื่มสังสรรค์สำหรับผู้ขับขี่อีกด้วย

“จากการศึกษาเบื้องต้นนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีเบียร์ 0% เป็นทางเลือกในการทดแทนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ และลดปัญหาสุขภาพจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเครื่องดื่มเบียร์ 0% นี้อาจจะเป็นมาตรการที่ผิดฝาผิดตัว ตัดทางเลือกที่จะช่วยแก้ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย” ผศ.ดร.สุทธิกร โต้ตอบกรณีกรมสรรพามิตลักลั่นขึ้นภาษีเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือ เบียร์ 0%

กรณี “ขึ้นภาษีเบียร์ 0%” ไม่ว่าจะ “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณส่วนบุคคล เพราะต้องยอมรับว่าต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลสนับสนุนของตน


กำลังโหลดความคิดเห็น