xs
xsm
sm
md
lg

ภาษียุคพลังประชารัฐ กลุ่มธุรกิจเฮ-ประชาชนอ่วม !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตา นโยบายภาษียุครัฐบาล “บิ๊กตู่” ภาษีความหวานทำราคาเครื่องดื่มพุ่ง ขึ้นภาษีเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ กระทบกลุ่มรักสุขภาพ และคนอยากเลิกเหล้า ขณะที่การเพิ่มภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ช่วยกระจายการถือครอง แต่กลับเพิ่มภาระแก่เกษตรกรตัวจริง คนชั้นกลางแบกภาษีไม่ไหวอาจต้องขายที่ อีกทั้งยังลดภาษีที่ดินให้กลุ่มธุรกิจสูงสุดถึง 90% ประโยชน์ตกกับกลุ่มพลังงาน สถาบันการเงิน นิคมอุตสาหกรรม เพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม

กล่าวได้ว่ารัฐบาลพลังประชารัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นรัฐบาลที่มีการขึ้นภาษีมากที่สุดรัฐบาลหนึ่ง โดยระยะเวลาเพียง 7 เดือน หลังจากจัดตั้งรัฐบาลเมื่อเดือน มิ.ย.2562 ถึงปัจจุบัน ปรากฏว่ามีการปรับขึ้นอัตราภาษีไปแล้วหลายชนิดประเภท ตั้งแต่อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงยานพาหนะ อีกทั้งยังเตรียมที่จะจัดเก็บเพิ่มขึ้นอีกหลายรายการ ส่วนว่ามีภาษีตัวไหนบ้างนั้นคงต้องไล่เรียงไปตามลำดับ


ตัวแรกที่ปรับขึ้นมาตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค.2562 ก็คือ “ภาษีความหวาน” ในเครื่องดื่มต่างๆ อาทิ น้ำอัดลม ชาเขียว ฯลฯ ซึ่งกรมสรรพสามิตได้กำหนดอัตราภาษีเครื่องดื่มที่มีความหวานในอัตราใหม่ ดังนี้ ปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัม ไม่ต้องเสียภาษี , ปริมาณน้ำตาล 6-8 กรัม เสียภาษี 0.30 บาท/ลิตร , ปริมาณน้ำตาล 10-14 กรัม เสียภาษี 1 บาท/ลิตร , ปริมาณน้ำตาล 14-18 กรัม เสียภาษี 3 บาท/ลิตร และเกิน 18 กรัม เสียภาษี 5 บาท/ลิตร ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลให้ต้นทุนของเครื่องดื่มต่างๆสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเครื่องดื่มหลายตัวจึงมีการขยับราคาขึ้น โดยน้ำอัดลมได้ประกาศขึ้นราคาเฉลี่ยขวดละ 2-3 บาทเลยทีเดียว ขณะที่ภาครัฐให้เหตุผลในการขึ้นภาษีดังกล่าวว่าเพื่อลดการบริโภคน้ำตาลซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ

ตามด้วยการขึ้นภาษีและปรับวิธีคิด “ภาษีรถจักรยานยนต์” โดยเปลี่ยนจากการคำนวณจากขนาดเครื่องยนต์ มาเป็นคำนวณจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.2563 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดมลภาวะ จึงกำหนดให้ภาษีขยับตามปริมาณการปล่อยก๊าซพิษ ไล่ตั้งแต่ 3% , 5% , 9% และ 18% ส่งผลให้รถบิ๊กไบค์ ซึ่งมีขนาด 1,000 CC และคาดว่าจะปล่อยมลพิษในอัตราสูง อาจต้องเสียภาษีถึง 18% ของราคาขาย ซึ่งคำนวณแล้วเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท ขณะที่รถจักรยานยนต์ทั่วไป ซึ่งมีขนาดเครื่องยนต์ 150 CC และเป็นที่นิยมใช้ของประชาชนส่วนใหญ่ (90% ของผู้ใช้รถจักรยานยนต์) จะเสียภาษีเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ของราคาขาย เป็น 3% ของราคาขาย หรือเพิ่มขึ้นคันละ 100 กว่าบาท อย่างไรก็ดี ภาษีใหม่ดังกล่าวจะเริ่มเก็บกับรถที่นำออกจากโรงงานหรือนำเข้ามา ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เท่านั้น

อีกตัวที่จะปรับขึ้นคือ “ภาษีบุหรี่” ซึ่งจะปรับเพิ่มจาก 20% เป็น 40% ทุกชนิด โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ซึ่งแม้การยาสูบแห่งประเทศไทย(ยสท.)จะออกมาคัดค้าน โดยระบุว่าการขึ้นภาษีบุหรี่ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อรายได้ของ ยสท. ทำให้ปีที่แล้วไม่สามารถส่งรายได้เข้ารัฐได้ ขณะเดียวกันมาตการขึ้นภาษีไม่ได้ทำให้จำนวนนักสูบลดลงแต่อย่างใด แต่ในมุมของนักวิชการด้านสุขภาพต่างเห็นด้วยกับแนวทางนี้ ส่วนกระทรวงการคลังและกรมสรรพสามิต ก็ยืนยันว่าได้ขยายการขึ้นภาษีบุหรี่เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวมานานถึง 1 ปีแล้ว

นอกจากนั้นยังมี “ภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0%” หรือที่เรียกกันว่า เบียร์ 0% ซึ่งวางแผนว่าจะปรับขึ้นภายในปี 2563 นี้อย่างแน่นอน แต่ยังไม่มีกำหนดพิกัดภาษีชัดเจน โดยในหลักการจะต้องจัดเก็บสูงกว่าภาษีเครื่องดื่มทั่วไปที่ 14% แต่จะไม่เท่ากับอัตราภาษีเบียร์ที่จัดเก็บอยู่ในปัจจุบันที่เก็บอยู่ที่ 22% ซึ่งกรมสรรพสามิตประเมินว่าอัตราภาษีเบียร์ 0% น่าจะไม่เกิน 17% ทั้งนี้การขึ้นภาษีดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากเบียร์ 0% ซึ่งไม่มีแอลกอฮอล์ หรือมีแอลกอฮอล์อยู่ปริมาณไม่เกิน 0.49% ถือเป็นทางเลือกของผู้ที่ชอบสังสรรค์แต่ต้องการงดเว้นแอลกอฮอล์เพื่อดูแลสุขภาพและเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะ รวมถึงผู้ที่ต้องการลดและเลิกดื่มแอลกอฮอล์ แต่การเก็บภาษีเบียร์ 0% ในอัตราที่สูงกว่าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บางชนิด อาทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสผลไม้ จะเป็นการผลักให้คนกลับไปดื่มเบียร์หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เหมือนเดิม


แต่ที่พีคสุดและได้รับการพูดถึงอย่างมากคือ “ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งไม่ใช่แค่มาตรการ “ขึ้นภาษีที่ดิน” เท่านั้นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ มาตรการ “ลดภาษีที่ดิน” ในยุครัฐบาลพลังประชารัฐก็มีเสียงติติงอย่างหนักเช่นกัน

ตัวแรกคือ “ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562” ซึ่งออกมาบังคับใช้แทนภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 โดยภาษีดังกล่าวเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นมา และนับเป็นภาษีที่ถูกพูดถึงอย่างมาก เพราะแม้การปรับปรุงภาษีที่ดินครั้งนี้จะมีเป้าหมายเพื่อลดการถือครองที่ดินของกลุ่มคนรวยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่หากคิดไม่รอบด้านอาจยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

เนื่องจากภาษีฉบับใหม่ เป็นการจัดเก็บที่ครอบคลุมทั้งสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน ไม่ว่าสิ่งปลูกสร้างและที่ดินนั้นจะก่อให้เกิดรายได้หรือไม่ ต่างจากภาษีโรงเรือนที่เก็บเฉพาะภาษีสิ่งปลูกสร้างที่สร้างรายได้ให้แก่เจ้าของเท่านั้น โดยภาษีฉบับใหม่กำหนดให้เก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งที่ใช้เพื่ออยู่อาศัย ใช้ประกอบธุรกิจ ใช้ในการเกษตร ไปจนถึงที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยฐานภาษีที่จัดเก็บจะคำนวณจากมูลค่าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ ซึ่งที่ดินแบบพาณิชยกรรมและที่ดินรกร้างว่างเปล่า จะเสียภาษีมากกว่าที่ดินที่ใช้ทำเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยหลักถึง 10 เท่า และหากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ผู้เสียภาษีมีชื่อถือครองในโฉนดมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วนมีที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีมูลค่า ไม่เกิน 75 ล้าน จะเสียภาษีในอัตรา 0.01% (ดูตารางประกอบ)

ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อย่างไรก็ดีมีผู้ท้วงติงว่าโครงสร้างภาษีใหม่นำไปสู่ปัญหาหลายประการ อาทิ 1) กฎหมายภาษีใหม่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินจากคนรวยไปสู่ผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากการกักตุนที่ดินก็ยังสามารถทำได้ โดยอาศัยการทำเกษตรกรรมแบบไม่ต้องดูแลมาก ไม่หวังผลผลิต เพื่อให้เสียภาษีในอัตราต่ำ 2) การเรียกเก็บภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรในยุคที่ราคาที่ดินมีแต่พุ่งสูงขึ้นอาจเป็นแรงกดดันให้ชาวไร่ชาวนาต้องขายที่ เพราะแม้กฎหมายจะกำหนดว่าที่ดินเพื่อการเกษตรมูลค่าไม่เกิน 75 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.01% แต่เมื่อคำนวณออกมาแล้วก็ถือว่าไม่ใช่น้อย อาทิ ที่นา ราคาประเมินไร่ละ 5 ล้านบาท มีที่ดิน 10 ไร่ จะต้องเสียภาษีถึง 5,000 บาท ชาวนาที่ไม่สามารถแบกรับภาษีได้ อาจจำต้องขายที่ 3) การเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า อาจส่งผลให้ชาวบ้านซึ่งมีที่ดินไม่มากต้องขายที่เพราะไม่สามารถแบกรับภาระภาษี อาทิ พ่อแม่มีที่ดิน 2 ไร่ พ่อแม่แก่ตัวไม่มีแรงทำเกษตร ต้องการเก็บที่ไว้ให้ลูกหลาน แต่กฎหมายกำหนดว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่า มูลค่าไม่ถึง 50 ล้าน เสียภาษี 0.2% ซึ่งหากที่ดิน 2 ไร่ ดังกล่าวมีมูลค่า 10 ล้าน จะต้องเสียภาษีถึง 20,000 บาท

4) การแบ่งประเภทการเสียภาษี โดยคิดอัตราภาษีที่ต่างกันเป็นสิบเท่า ส่งผลให้คนมุ่งใช้ประโยชน์ที่ดินไปในทางที่เสียภาษีน้อย มากกว่าจะใช้ประโยชน์เต็มที่ตามที่เป็นจริง ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าที่ดินแปลงสวย ๆหลายแห่งถูกนำไปใช้ปลูกต้นไม้เพื่อให้เข้าข่ายที่ดินเพื่อการเกษตรเกษตรกรรม 5)ไม่ได้กระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างถูกประเภท เพราะแทนที่จะคิดภาษีเฉพาะที่ดินกลับคิดทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทั้งที่การสร้างสิ่งปลูกสร้างคือการใช้ประโยชน์ ยิ่งสร้างใหญ่โตมากก็แปลว่ามีการใช้ประโยชน์มาก แต่กลายเป็นว่าต้องเสียภาษีมากขึ้น ซึ่งขัดกับจุดประสงค์การกระตุ้นให้คนใช้ประโยชน์จากที่ดิน 6) การตีความกฎหมายยังไม่ชัดเจน ขึ้นกับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจเป็นช่องว่างในการทุจริต 7) ไม่มีกฏหมายอนุรักษ์อาคาร เมื่อกฏหมายนี้ออกมาบังคับใช้ ผู้ที่ถือครองบ้านโบราณจะต้องหาเงินมาจ่ายภาษี ซึ่งจะนำไปสู่การรื้อบ้านโบราณและสิ่งก่อสร้างที่ควรอนุรักษ์เป็นจำนวนมาก


ขณะที่ภาษีที่ดินตัวที่สองคือ “พระราชกฤษฎีกา ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563” ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 (ดูตารางประกอบ) ก็ถูกวิจารณ์ว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการปรับลดภาษีให้แก่กลุ่มธุรกิจในอัตราที่สูงถึง 50-90% เลยทีเดียว อาทิ ปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตไฟฟ้า ในอัตรา 50% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย , ลดภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ รอการขายที่สถาบันการเงิน หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ ได้รับมาไม่เกิน 5 ปี ในอัตราสูงถึง 90% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย , ลดภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นโครงการจัดสรร เพื่อที่อยู่อาศัยหรือการอุตสาหกรรม เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปีนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต ในอัตรา 90% ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย ซึ่งมาตรการนี้ทำให้สังคมเคลือบแคลงว่าเป็นการออกกฎหมานเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มทุนหรือไม่ ? ในขณะที่หากย้อนไปมองมาตการขึ้นภาษีต่างๆ รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการจัดเก็บภาษีในช่วงที่ผ่านมา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆล้วนแต่เป็นชนชั้นกลางและผู้มีรายได้น้อยทั้งสิ้น

ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์การคลังซึ่งเกาะติดประเด็นเรื่องการปฏิรูประบบภาษีมาอย่างต่อเนื่อง มองว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับปัจจุบันไม่ได้มีผลต่อการกระจายการถือครองมากนัก และมีประเด็นที่ยังเป็นปัญหาในเชิงวิชาการอยู่ เช่น บางคนทำการเกษตรมานานแล้ว แต่พื้นที่เพิ่งได้รับการพัฒนา มีห้างสรรพสินค้ามาเปิดใกล้ๆ ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น คนกลุ่มนั้นจะตั้งคำถามว่า เขาต้องทำอย่างไร เพราะเขายังทำเกษตรอยู่ ในขณะที่ราคาที่ดินสูงขึ้น อันนี้อาจต้องไปดูว่า เราจะจัดการกลุ่มนี้อย่างไร ถ้าพูดตามหลักประสิทธิภาพ หากที่ดินราคาแพงขึ้นมาก ก็ไม่ควรทำการเกษตร แต่ในความเป็นจริง เราไม่สามารถตัดสินเอาเองหรือบังคับแบบนั้นได้ เกษตรกรควรเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง และระบบควรรองรับการตัดสินใจของเขาไม่ว่าผลลัพธ์เป็นเช่นไร

“ภาษีตามกฎหมายใหม่อาจทำให้ชาวบ้านตกใจ ซึ่งต้องใช้เวลาปรับตัว เช่น กรณีที่เดิมเป็นที่ดินเพื่อทำเกษตรแต่รุ่นพ่อแม่แก่เฒ่าลงทำไร่ทำนาไม่ไหว ลูกหลานก็ยังไม่พร้อมจะกลับมาทำ ก็อาจจะปรับตัวด้วยการให้เช่าที่นาปลูกข้าวหรือทำประโยชน์อื่นเพื่อไม่ให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งต้องเสียภาษีในอัตราสูง ส่วนกรณีที่คนรวยที่ถือครองที่ดินจำนวนมากเลี่ยงภาษีด้วยการปลูกพืชเพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ดินเพื่อการเกษตรนั้น รัฐก็คงต้องพิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่ออุดช่องโหว่ตรงนี้” ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น