“นักวิชาการ” ติง “สรรพสามิต” คิดภาษีลักลั่น “เบียร์ 0%” ทางเลือกใหม่ กลับคิดภาษีสูงกว่ามีแอลกอฮอล์ตัวอื่น ยกสถิติ-ผลวิจัยฟ้อง “เบียร์ 0%” ยกระดับความรับผิดชอบ-ลดอุบัติเหตุดื่มแล้วขับ
ผศ.ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่กรมสรรพสามิตประกาศว่าจะมีการปรับเปลี่ยนการเก็บภาษีสรรพสามิตของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากการจัดเก็บตามมูลค่าของสินค้าไปสู่การจัดเก็บตามปริมาณแอลกอฮอล์ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณต่ำ มาตรการทางภาษีเหล่านี้เป็นแนวทางที่แปลกใหม่ในการใช้เครื่องมือทางภาษีมามีส่วนช่วยในการดูแลสุขภาพของประชากรในประเทศ แต่เร็วๆ นี้ทางสรรพสามิตกลับออกมาผลักดันให้มีการเก็บภาษีสรรพสามิตในเบียร์ 0% โดยจะเก็บในอัตราที่สูงกว่าปัจจุบันที่ 14% แต่ต่ำกว่าเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ที่ 22%
“อาจดูขัดความรู้สึกของใครหลายคนที่คิดว่าเครื่องดื่มที่มาทดแทนการดื่มแอลกอฮอล์อย่างเบียร์ 0% นี้ กลับต้องถูกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราที่สูง แถมยังสูงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลายชนิด โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสผลไม้หลากหลายชนิดที่ขายอยู่ในท้องตลาด ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเบียร์ 0% เป็นช่องทางเลือกของนักดื่มเพื่องดเว้นการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งเพื่อดูแลสุขภาพหรือเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะหลังการดื่มสังสรรค์ด้วย” ผศ.ดร.สุทธิกร ระบุ
ผศ.ดร.สุทธิกร กล่าวต่อว่า เทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการเมาแล้วขับที่น่าจับตามองในปัจจุบัน นอกจากข้อบังคับกฎหมาย คือ การที่ผู้บริโภคดูเหมือนจะมีจิตสำนึกมากขึ้น และยังมีสินค้าและบริการให้ทางเลือกในการบริโภคอย่างรับผิดชอบมากขึ้น หนึ่งในนั้น คือ เครื่องดื่มมอลต์ไร้แอลกอฮอล์ หรือที่เรียกกันว่า เบียร์ 0% ซึ่งเบียร์ 0% อยู่ในตลาดเมืองไทยมานาน โดยจะจัดว่าเป็นเบียร์ 0% ได้ต่อเมื่อมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ขับขี่ ในโอกาสที่ต้องเข้าสังคม หรือการไปสังสรรค์
ผศ.ดร.สุทธิกร เปิดเผยด้วยว่า จากผลการศึกษาเบื้องต้นโดยศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่เห็นถึงประโยชน์ของเครื่องดื่มเบียร์ 0% นี้ว่ามีส่วนสำคัญในการลดโอกาสของการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ นอกจากนั้นคนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มเบียร์ 0% ในอัตราสูงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิด เพราะคิดว่าถ้าการจัดเก็บภาษีในระดับสูงจะทำให้ราคาเบียร์ 0% สูงขี้นมากจนเท่ากันหรือสูงกว่าเครื่องดื่มเบียร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์รสผลไม้ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รูปแบบใกล้เคียงกันชนิดอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกที่อยากจะเลือกดื่มเบียร์ 0% เพื่อทดแทนการดื่มแอลกอฮอล์ในงานเลี้ยงสังสรรค์
“จากการศึกษาเบื้องต้นนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีเบียร์ 0% เป็นทางเลือกในการทดแทนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ และลดปัญหาสุขภาพจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเครื่องดื่มเบียร์ 0% นี้อาจจะเป็นมาตรการที่ผิดฝาผิดตัว ตัดทางเลือกที่จะช่วยแก้ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทย” ผศ.ดร.สุทธิกร กล่าว.