หน.พลังธรรมใหม่ อัด มท.-คลัง ไร้ประสิทธิภาพ ออก กม.ลำดับรองช้า กระทบเก็บภาษีที่ดิน ต้องเลื่อนไป ส.ค. แถมอ่อนพีอาร์ ทำ ปชช.ระส่ำระสาย แนะเตรียมแผนรองรับ ทบทวน กม.ใหม่ เก็บให้ตรงจุด อย่าให้เจตนาดีลดเหลื่อมล้ำ เป็นเพิ่มภาระคนชั้นกลาง
วันนี้ (13 ม.ค.) นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงกรณีขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จากวันที่ 1 มกราคม 2563 ไปเป็นเริ่มจัดเก็บในเดือนสิงหาคม 2563 ว่าเรื่องนี้สะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารจัดการของภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากมีกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมปีที่แล้ว แต่กฎหมายลำดับรอง 8 ฉบับในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังที่ต้องออกมารองรับกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายใน 120 วันนับจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ตามบทเฉพาะกาลมาตราที่ 89 ของกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งครบเส้นตายวันที่ 10 กรกฎาคม 62 กลับดำเนินการอย่างล่าช้า โดยกระทรวงมหาดไทยเพิ่งออกประกาศกฎกระทรวงมหาดไทย ที่เกี่ยวข้องกับจัดเก็บภาษี 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 62 ก่อนการจัดเก็บภาษีต้องเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 มกราคม 63 เพียงแค่ 11 วันเท่านั้น ขณะที่กฎหมายลำดับรองอีก 4 ฉบับ ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดความโกลาหลทั้งประชาชนที่เป็นผู้เสียภาษีและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องเป็นผู้จัดเก็บภาษี
“เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาภาครัฐขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีจนทำให้เกิดความระส่ำระสายในหมู่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความล้มเหลวของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้รับผิดชอบด้วยว่าขาดการบริหารจัดการที่ดี จนทำให้การออกกฎหมายลำดับรองไม่เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ กระทั่งต้องขยายเวลาการจัดเก็บภาษีที่ดินละสิ่งปลูกสร้างออกไป ผมหวังว่าเรื่องนี้จะเกิดเพราะความด้อยประสิทธิภาพเท่านั้น ไม่มีเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนที่ดินเหมือนที่หลายคนตั้งข้อสงสัย” นพ.ระวีกล่าว
หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ต้องเตรียมการรองรับคือ จะทำอย่างไรกับการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะล่าช้าออกไปตามระยะเวลาที่ขยาย เพราะแม้รายได้ส่วนนี้จะเป็นเพียงประมาณร้อยละ 5 ของรายได้ทั้งหมด แต่ต้องไม่ลืมว่าการจัดงบประมาณปี 63 ก็ล่าช้ามาพอสมควรแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อการบริหารงานท้องถิ่นหรือไม่ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการคลังจะดูแลอย่างไรต้องมีคำตอบที่ชัดเจน รวมถึงการให้หลักประกันกับประชาชนถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมด้วย อย่าให้เจตนารมณ์ที่ดีในการลดความเหลื่อมล้ำ กลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ให้กับคนชั้นกลาง จึงควรมีการทบทวน สร้างภาระให้กับคนชั้นกลาง เช่น การกำหนดให้ผู้ครอบครองบ้านหลังที่ 2 ต้องจ่ายภาษี โดยคาดว่าอาจต้องการ สกัดการเก็งกำไร แต่ในความเป็นจริง เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ออกมาเพื่อแก้ปัญหานายทุนใหญ่ ครอบครองที่ดินแล้วไม่ทำประโยชน์ แต่การเรียกเก็บภาษี บ้านหลังที่ 2 เหมือนเป็นการรีดเลือด กับคนชั้นกลางที่พอมีเงินเก็บ ก็เอาไปลงทุนกับอสังหาริมทรีพย์นิดหน่อยเพื่อปล่อยเช่ามีรายได้ไว้เก็บกินตอนเกษียณ เมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมา ภาระจึงตกกับคนชั้นกลางมากกว่านายทุนใหญ่ จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านเป็นวงกว้าง สิ่งเหล่านี้รัฐบาลควรทบทวน ว่าควรมีเพดานอย่างไรในการเก็บภาษีเพื่อให้ เก็บได้ถูกจุดตามเป้าหมาย ไม่ใช่กลายเป็นคนชั้นกลางได้รับความเดือดร้อน เพื่อให้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง