ภาคปชช. ยื่นคำร้องผู้ตรวจฯ เสนอระงับใช้กม.ภาษีที่ดินไม่มีกำหนด ชี้ที่มาขัดรธน.-เนื้อหาไม่เหมาะสมสร้างภาระแก่ปชช. ซ้ำบีบให้เป็นทาส อปท. แถมมีช่องนายทุนเลี่ยงภาษี
วันนี้ (27ธ.ค.) นายพลภาขุน เศรษฐญาบดี ผู้แทนคณะราษฎรไทยแห่งชาติ (ครช.) เข้ายื่นคำร้องต่อต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้มีข้อเสนอแนะภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 ที่จะบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.นี้ ออกไปก่อน เนื่องจากเห็นว่า เรื่องนี้ประชาชนทั่วไปถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียสำคัญ และเป็นผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ จากการออกกฎหมายดังกล่าว เพราะสร้างความโกลาหล สร้างภาระแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก อีกทั้งกฎหมายดังกล่าวมีที่มาที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 58 และ 77 อย่างชัดเจน เนื่องจากในการออกกฎหมายดังกล่าวไม่มีการทำประชาพิจารณ์หรือรับฟังความเห็นจากส่วนที่เกี่ยวข้อง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมแต่อย่างใด ส่วนเนื้อหาของกฎหมายก็มีความไม่เหมาะสม เพราะมีการกำหนดให้รายได้จากการเก็บภาษีดังกล่าวที่มีมูลค่ามหาศาลให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 3 เนื่องจากเป็นการบังคับให้ประชาชนจ่ายภาษีให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสร้างภาระกับประชาชน ทำให้ประชาชนกลายเป็นทาสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากการเก็บภาษีดังกล่าวไม่ได้สร้างประโยชน์หรือความผาสุขให้แก่ประชาชนและชุมชน และยังเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจจนยากจะตรวจสอบได้ ขณะที่อัตราภาษีที่ตั้งไว้สูงมากมีความหยาบ เนื่องจากการประกอบอาชีพ การทำกิจกรรมในที่ดินไม่ได้มีแค่การเกษตร แต่เนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวกลับให้สิทธิพิเศษแค่เกษตรกร ซึ่งถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และ 27
“ล่าสุดมีข่าวของกลุ่มผู้ถือครองที่ดินในเขตที่มีราคาสูงก็มีการเลี่ยงภาษีโดยการปลูกมะนาวในที่ดิน ทำให้เลี่ยงภาษีจากที่ต้องเสียร้อยละ 1.2 ของราคาประเมินที่ดิน กลายเป็นเสียภาษีร้อยละ 0.3 ของราคาประเมินที่ดิน ทั้งที่เจตนาในการออกกฎหมายนี้คือการลดความเหลื่อมล้ำ แต่วิธีการจัดการกลายเป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ ที่สำคัญสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ถือว่าวิกฤติที่สุด มีการฆ่าตัวตายรายวัน มีการปิดกิจการโรงงานหลายแห่ง ประชาชนที่มีตึกอาคารพาณิชย์ที่ไม่มีอาชีพ ที่ปิดไว้ไม่รู้จะทำอาชีพอะไร ก็ต้องมาเจอภาระภาษี ซึ่งกลายเป็นที่รกร้างไม่ได้ทำกิจการและต้องจ่ายอัตราภาษีที่สูง”
นายพลภาขุน กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทางกลุ่ม ครช. ได้ทำหนังสือไปยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยื่นเรื่องถึงนายกฯ ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์แล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำชี้แจงหรือการปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 43 แต่ประการใด ด้วยเหตุดังกล่าวจึงนำเรื่องมาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้มีความเห็นเสนอยังส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้ระงับการบังคับใช้ออกไปอย่างไม่มีกำหนด และขอให้นำข้อกฎหมายเดิมมาถือปฏิบัติก่อน แต่หากส่วนราชการยังไม่มีการดำเนินการก็ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน มาตรา 23(2) ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง รวมทั้งขอให้เสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 23(1)