"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"
เมื่อนักการเมืองที่สังกัดพรรคการเมืองหนึ่งมาอย่างยาวนาน ตัดสินใจลาออกจากพรรค เป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่ายนัก ดังนั้นหากมีการตัดสินใจลาออกเกิดขึ้น และยังเป็นการลาออกอย่างต่อเนื่องของนักการเมืองหลายคนจากพรรคเดียวกัน นั่นคือพรรคประชาธิปัตย์ การทำความเข้าใจกับปรากฎการณ์นี้จึงเป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์หลายคนที่เคยมีบทบาทสูง เคยเป็นอดีตรัฐมนตรี เคยเป็นผู้สมัครช่วงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค และมีชื่อเสียงรู้จักกันดีในแวดวงการเมืองได้ทะยอยกันลาออกจากพรรคทั้งที่กำลังเป็นส.ส.สองคนคือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และ นายกรณ์ จาติกวณิช ส่วนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่มีบทบาทสูงไม่น้อยก็คือ นายวรงค์ เดชกิจวิกรม
ความเหมือนกันอีกอย่างหนึ่งของนายกรณ์และนายพีระพันธุ์คือ การมีฐานเสียงและคะแนนนิยมในเขตกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตามทั้งสองมีจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันมากพอสมควร แม้ว่าเคยสังกัดพรรคเดียวกันก็ตาม นายพีระพันธุ์ มีความคิดทางการเมืองค่อนไปทางอนุรักษ์นิยม ขณะที่นายกรณ์ ค่อนไปทางเสรีนิยมสายกลาง
ผมคิดว่า เหตุผลในการลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์มีหลายประการด้วยกัน ประการแรกคือ การถูกลดและจำกัดบทบาทภายในพรรคโดยกลุ่มผู้บริหารที่มีอำนาจอยู่ในพรรคขณะนี้ เหตุผลนี้หากมองในบริบทการเมืองไทยก็พอเข้าใจได้อยู่ เพราะเป็นหลักการทั่วไปที่ถือปฏิบัติในองค์กรการเมืองที่ว่า ผู้ที่ชนะในการแข่งขันช่วงชิงอำนาจ ย่อมต้องนำผู้สนับสนุนและพันธมิตรของตนเองเข้ามามีบทบาทและตำแหน่งสำคัญภายในองค์กร ขณะที่พื้นที่อำนาจย่อมไม่มากพอสำหรับจัดสรรให้คู่แข่งทางการเมืองของตนเองครอบครองได้
ทั้งนายกรณ์ นายพีระพันธุ์ และนายวรงค์ เป็นผู้แพ้ในเกมอำนาจภายในพรรคด้วยกันทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้แพ้โดยทั่วไปก็คือ การถูกลดและจำกัดบทบาทลง หากผู้แพ้ยอมรับสภาพการมีบทบาทลดลงได้ และคิดว่ามีโอกาสพลิกฟื้นบทบาทกลับคืนมาในอนาคต รวมทั้งไม่มีทางเลือกอื่น ๆ ที่ดีกว่าปรากฎแก่ตนเอง พวกเขาก็ยังคงอยู่ในพรรคเดิม แต่หากเงื่อนไขข้างต้นเป็นไปในทิศทางที่ตรงข้าม โอกาสตัดสินใจละทิ้งพรรคก็มีสูง
นอกจากเรื่องถูกจำกัดบทบาทภายในพรรค เหตุผลอีกอย่างหนึ่งคือ การไม่ลงรอยด้านความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง ความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันมีลักษณะเป็นอนุรักษ์นิยมแบบอ่อน ๆ ผสมกับจุดยืนปฏิบัตินิยมทางการเมือง ที่สามารถผสมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ พรรคใดก็ได้ หากได้เป็นรัฐบาล ภายใต้ความเชื่อที่ว่า การเป็นรัฐบาลทำให้มีโอกาสนำนโยบายพรรคไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสรักษาฐานเสียงเดิมและขยายความนิยมให้มากขึ้น
ส่วนผู้ที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสามคนข้างต้นมีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างจากผู้บริหารพรรคในบางระดับ ในกรณีของนายวรงค์ และนายพีระพันธุ์ พวกเขามีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมแบบเข้มข้นและมีส่วนผสมของอุดมการณ์ชาตินิยมแบบดั้งเดิมสูง ซึ่งเน้นดำรงรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิมเชิงประเพณีของสังคมไทยเป็นหลัก เน้นความมั่นคงของชาติและความเป็นเอกภาพของความเชื่อและวัฒนธรรมของคนในสังคม และมองพื้นฐานทางสังคมการเมืองแบบเอกะวัฒนธรรมซึ่งมีการยอมรับความแตกต่างทางความคิดและความเชื่อที่ค่อนข้างจำกัด
ความเชื่อทางการเมืองของนายวรงค์และนายพีระพันธุ์สอดคล้องกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆในปัจจุบัน โดยเฉพาะพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ดังนั้นเมื่อลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ นายวรงค์ ก็ไปสังกัดพรรค รปช. ส่วนนายพีระพันธุ์ ได้ไปสังกัดพรรค พปชร. อันที่จริงนอกจากทั้งสองมีความคิดและความเชื่อทางการเมืองสอดคล้องกับพรรคใหม่ที่ตนเองไปสังกัดแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ ในพรรคใหม่ พวกเขากลายเป็นบุคคลสำคัญที่มีบทบาทสูงทางการเมือง ซึ่งสถานภาพแบบนี้แตกต่างจากการอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์มาก
วันที่นายวรงค์ เดินทางไปสังกัดพรรค รปช. อย่างเป็นทางการนั้น พรรค รปช. ได้แสดงออกทางสัญลักษณ์ในการต้อนรับอย่างเต็มที่ โดยมีผู้ก่อตั้งและทรงอิทธิพลของพรรคอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำสำคัญของพรรค มาร่วมแสดงพิธีการรับเข้าพรรคอย่างพร้อมหน้า และมอบตำแหน่งที่ประหลาดพอสมควรสำหรับพรรคการเมืองไทยแก่นายวรงค์ นั่นคือตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรค หรือ ซีอีโอพรรค มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบาย และยุทธศาสตร์พรรคไปสู่การปฏิบัติ และภารกิจที่มอบหมายเป็นพิเศษคือ ปราบลัทธิชังชาติ
ด้านนายพีระพันธุ์ เมื่อเข้าไปสังกัดพรรค พปชร. ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และต่อมาก็ได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เรียกว่า เมื่อออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ก็ได้รับการส่งเสริมให้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองขึ้นมาทันที
สำหรับนายกรณ์ จาติกวณิช มีเรื่องราวแตกต่างอยู่ไม่น้อย อย่างแรกคือนายกรณ์มีอุดมการณ์แบบเสรีนิยมสายกลาง มีความปรารถนาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตย มีความเป็นสากลนิยม และเป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรมมากขึ้น สังคมการเมืองแบบนี้มีสิ่งสำคัญคือ การยอมรับความแตกต่างและความหลากหลายทางความคิดและวัฒนธรรมของกลุ่มคนในสังคมค่อนข้างสูง อุดมการณ์ของนายกรณ์ ย่อมเข้าด้วยกันไม่ได้กับอุดมการณ์ของพรรคแกนนำหลักของรัฐบาลในปัจจุบัน ดังนั้นโอกาสที่นายกรณ์ จะเข้าไปสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น ๆนั้น ย่อมมีความเป็นไปได้น้อย
เช่นนี้แล้ว เส้นทางการเมืองของนายกรณ์ จะเป็นอย่างไรต่อไป ผมประเมินว่ามีความเป็นไปได้อย่างน้อยสี่ประการด้วยกัน ประการแรกคือ การลงไปเล่นการเมืองท้องถิ่นแบบอิสระ โดยการสมัครแข่งขันเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครในอนาคตอันใกล้นี้ และโอกาสในการชนะเลือกตั้งของนายกรณ์ ก็มีอยู่ไม่น้อยทีเดียว แม้จะมีคู่แข่งที่สำคัญหลายคนก็ตาม ประการที่สอง การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ โดยรวบรวมกลุ่มคนที่เป็นนักธุรกิจและวิชาชีพอื่น ๆ ที่มีความคิดทางการเมืองแบบเสรีนิยมสายกลาง เพื่อสร้างพรรคที่เป็นทางเลือกที่สามแก่ประชาชนในสนามการเมืองระดับชาติ และรอจังหวะโอกาสในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ประการที่สาม เข้าร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ หรือกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบก็ร่วมกับนักการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาและสร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่ลดความเป็นเสรีนิยมสุดโต่งลงให้เป็นเสรีนิยมสายกลาง และ ประการที่สี่ คือวางมือทางการเมือง ซึ่งอาจเป็นการวางมือชั่วคราว เพื่อรอคอยจังหวะกลับคืนมาอีกครั้งในอนาคต หรือ อาจจะวางมือถาวรและหันไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมอื่น ๆ ตามความถนัดก็ได้
ผมประเมินว่า ทางเลือกเป็นไปได้มากที่สุดที่อนายกรณ์ อาจเลือกคือ การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา โดยมุ่งหวังให้เป็นพรรคทางเลือกที่สาม เพราะว่าสภาพการเมืองในปัจจุบันมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่มีความคิดเสรีนิยมสายกลาง และปรารถนาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป สภาพแบบนี้สามารถทำให้พรรคทางเลือกที่สามมีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากพรรคนั้นมีหัวหน้าและแกนนำพรรคที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก
ด้วยศักยภาพของนายกรณ์ ผมคิดว่าเขาสามารถจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่มีส่วนผสมของกลุ่มบุคคลที่หลากหลายชนชั้น อายุ และอาชีพ แต่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน และสามารถพัฒนาเป็นพรรคทางเลือกในสนามการแข่งขันทางการเมืองในอนาคตได้อย่างน่าเกรงขามไม่น้อยทีเดียว