รายการ “ข่าวลึก ปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 15 มกราคม 2563 ตอน เส้นทาง"กรณ์"หลังตีจาก ปชป. ลงผู้ว่าฯ กทม. - ตั้งพรรคใหม่ - ซบ พปชร.?
การลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อันมีผลทำให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ การเป็นส.ส.ของนายกรณ์ จาติกวนิช อดีตรมว.คลัง อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อกรณ์ไป ทำให้เห็นถึงรอยร้าว ในพรรคประชาธิปัตย์ ที่เกิดขึ้นมานาน และยังดำรงอยู่ แม้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์สายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรค พยายามกลบเกลื่อนมาตลอด
จุดสำคัญเกิดรอยปริร้าว เนื่องมาจากการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสองรอบ ทั้งตอนก่อนเลือกตั้ง ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเอาชนะ หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม และตอนหลังเลือกตั้ง ที่ประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งย่อยยับจนอภิสิทธิ์ลาออก ทำให้ต้องมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่
และสุดท้าย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ที่ได้ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาหนุนหลัง ก็เอาชนะ ทั้ง กรณ์ จาติกวนิช พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และอภิรักษ์ โกษะโยธิน จนสุดท้าย จุรินทร์ ก็นำประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล เพื่อสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ
การตีจากของกรณ์ ไม่ใช่คนแรกเพราะในช่วงไม่ถึง 2เดือนมานี้ อดีตแคนดิเดท ชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกจากพรรคไปแล้วรวมกรณ์ก็เป็น 3 คน
เริ่มที่ หมอวรงค์ ที่แม้จะเป็นส.ส.สอบตก พิษณุโลก แต่มีเครดิตการเมืองอยู่ไม่น้อย ที่ได้ลาออกจากประชาธิปัตย์ไปเมื่อ 20 พ.ย. 2562 เพื่อมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่กำลังแสดงบทบาท เคลื่อนไหวต่อต้านลัทธิชังชาติ อย่างเข้มข้น
จากนั้นไม่นาน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก็ทิ้งเก้าอี้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อ 9 ธ.ค. 2562 เพื่อมาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ช่วยงาน พลเอกประยุทธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล
พร้อมกับภารกิจสำคัญที่พรรคพลังประชารัฐวางตัวไว้ก็คือ การให้ไปคุมหางเสือเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหลังจากนี้ เชื่อว่า เลือกตั้งรอบหน้า พีระพันธุ์ จะเป็นหนึ่งในผู้สมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของ พลังประชารัฐ อันดับต้นๆแน่นอน
กรณีของกรณ์ เป็นคนที่สามแต่ไม่ใช่คนสุดท้าย ที่ลาออกจากประชาธิปัตย์วันนี้ 15 มกราคม รวมเวลาอยู่กับประชาธิปัตย์มาร่วม 15 ปี
โดยมีกระแสข่าวยืนยัน ว่า พรรคประชาธิปัตย์ เลือดยังไม่หยุดไหลแค่นี้ ยังจะมีเลือดไหลออกไปอีกหลายล็อต หลังมีคลื่นใต้น้ำในพรรค นับแต่จุรินทร์ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคและพรรคเข้าร่วมรัฐบาล แต่ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ไม่ดีขึ้น
เพราะคนในพรรคยังคาใจกับเรื่อง การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีและตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ในรัฐบาล ที่คนของสายจุรินทร์ยึดไปหมด ทำให้สภาพภายในพรรค ที่ผ่านมา อยู่ในสภาพอึมครึมถดถอยมาตลอด
ผสมกับ ความไม่พอใจการบริหารจัดการทุกอย่างภายในพรรคแบบเบ็ดเสร็จทั้งเรื่องภายในพรรคและเรื่องทางการเมือง โดยเฉพาะการพยายามลดบทบาทแกนนำพรรค -ส.ส.ของพรรคหลายคน จนมีเสียงพูดกัน ว่า ประชาธิปัตย์ ยามนี้ มีสภาพเหมือน"พรรคพี่น้อง"
ส่วนเส้นทางของ กรณ์ จาติกวนิช หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าติดตาม เพราะเป็นที่รู้กันว่า อดีตขุนคลังคนนี้ มีความทะเยอทะยานทางการเมืองสูงคนหนึ่ง และมีการเล่นการเมืองแบบวางแผนคิดหลายชั้น
แกะรอยให้เห็นกันชัดๆ ที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน ในช่วงหลังเลือกตั้งเป็นต้นมา พลันที่ อภิสิทธิ์ ประกาศลาออกจากหัวหน้าพรรคในคืนวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 คนในพรรคประชาธิปัตย์ ก็รู้ตั้งแต่คืนนั้นแล้วว่า กรณ์ จะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แน่นอน
เมื่อการจัดตั้งรัฐบาล โดยการนำของพรรคพลังประชารัฐ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ช่วงที่ประชาธิปัตย์ กำลังเริ่มเตรียมจะประชุมใหญ่พรรคเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนใหม่ ก็มีข่าวว่า เวลานั้น กรณ์ ที่เริ่มเปิดตัวกับคนในพรรคประชาธิปัตย์แล้วว่าจะลงชิงหัวหน้าพรรค
และก็มีข่าวว่า กรณ์เดินสายพูดคุยหยั่งท่าทีกับแกนนำพลังประชารัฐที่คุ้นเคยกัน บางส่วน ถึงเรื่อง การจัดตั้งรัฐบาล จนทำให้หลายคนในประชาธิปัตย์ต่างแปลกใจมาก และพร้อมกันนั้น ก็มีข่าวว่า กรณ์ ได้เปิดดีลคุยกับ กลุ่มของถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคมเวลานี้
เพื่อขอให้กลุ่มของนายถาวร ที่กุมเสียงโหวตเตอร์ในพรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่ง หนุนให้ตนเองเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแข่งกับจุรินทร์ โดยมีสัญญาใจคือ หากได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค จะดัน ถาวร เป็นเลขาธิการพรรค
ซึ่งตอนแรก ทำท่าจะไปได้ดี แต่ปรากฏว่า ปีกของนายถาวร เกิดเปลี่ยนใจ หันไปหนุน พีระพันธุ์แทน จนสุดท้าย ผลโหวตเลือกหัวหน้าพรรค คะแนนของกรณ์ ไม่ได้ลุ้น แพ้ขาดทั้งจุรินทร์ และพีระพันธุ์
และหลังจากนั้น กรณ์ ก็โลว์โปรไฟล์ตัวเอง ไม่มีบทบาทอะไรในพรรคประชาธิปัตย์ ในยุคของจุรินทร์ พร้อมกับที่ จุรินทร์ หันไปดัน ปริญญ์ พานิชภักดิ์ ลูกชายศุภชัย อดีตผอ. WTO มาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของประชาธิปัตย์ เพื่อกลบรัศมีของกรณ์
มาถึงช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีข่าวออกมาเป็นระยะถึงความเคลื่อนไหวของกรณ์ เช่นไปคุยกับ แกนนำพลังประชารัฐ อย่างณัฏฐพล ที่คุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร จนมีข่าวว่า พลังประชารัฐจะส่ง กรณ์ ลงชิงผู้ว่าฯกทม.ในสังกัดพลังประชารัฐ
แต่มีเงื่อนไขว่า ประชาธิปัตย์ต้องไม่ส่งคนลงชิงผู้ว่าฯกทม. จนมาตัดคะแนนกันเอง ฉากนี้แกนนำประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย เพราะพรรคเป็นผู้ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯมาสี่สมัย ติดต่อกัน หากพรรคไม่ส่งคนลงแล้วตัวนายกรณ์ ไปลงในนาม พลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ มีแต่เสีย กับเสียไม่มีได้
ยังกระแสข่าว กรณ์ จะไปบุกเบิกตอกเสาเข็มตั้งพรรคการเมืองใหม่ ที่มีกระแสข่าวออกมาหลายระลอกว่ามีคนร่วมก่อการหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรมว.คมนาคม ที่ตอนนี้ประกาศตัวชิงผู้ว่ากทม.อิสระ
หรือพวกอดีตส.ส.สอบตก ของประชาธิปัตย์ ร่วมด้วยอาทิ อรรถวิชญ์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.กทม. ตลอดจน ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับกรณ์ เช่น ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช ประชาธิปัตย์
โดยจะมีกลุ่มนักธุรกิจหลายสาขาทั้ง ธุรกิจสายการบิน สายการเงินการธนาคาร พร้อมให้การสนับสนุนทางการเงิน
การที่ กรณ์ เลือกที่จะตัดสินใจลาออกจากประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ตอนนี้ น่าจะเชื่อได้ว่า เพราะได้สัญญาณบางอย่างจากแกนนำรัฐบาลพลังประชารัฐให้ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งได้แล้ว เพราะกำลังจะมี บางอย่างเกิดขึ้น
จนมีการถอดรหัสไปว่า อาจจะมีการปรับครม.หลังเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ และพลเอกประยุทธ์ อาจดึง กรณ์ มาร่วมทีมเศรษฐกิจ บ้างก็วิเคราะห์ว่า กรณ์ ได้สัญญาณจากแกนนำพลังประชารัฐว่า ใกล้จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ในอนาคตอันใกล้แล้ว เลยทำให้ กรณ์ อาจต้องตัดสินใจอะไรบางอย่างออกมา
เส้นทางการเมือง ของกรณ์ จะเดินไปทางไหน จะไปอยู่กับพลังประชารัฐ โดยเข้าไปช่วยงานรัฐบาลก่อน หรือตั้งพรรคใหม่ แล้วลงสมัครผู้ว่าฯกทม. ยังต้องรอลุ้นกันไป ในสถานการณ์ที่ประชาธิปัตย์ เลือดยังไหลไม่หยุด