xs
xsm
sm
md
lg

นิติสงคราม เสียเอง! จวกยับ “ส้มหวาน” สั่งฆ่าคนทั้งเป็นใช้เวลารวดเร็ว แต่ตรวจสอบความถูกต้องใช้กว่า 30 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สองคนสองคม “หมอวรงค์-อดีตรอง ผอ.ข่าวกรอง” จวกยับ “ส้มหวาน” ทำนิติสงครามตุกติก ใช้ข้อกฎหมายอ้างองค์ประชุมกับ “4 งูเห่า” เปรียบเจ็บ “สั่งฆ่าคนทั้งเป็นใช้เวลารวดเร็ว แต่ตรวจสอบความถูกต้องใช้ถึง 30 วัน”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (17 ม.ค. 63) เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) โพสต์หัวข้อ “ลอว์แฟร์ (Lawfare)”

โดยระบุว่า “เมื่อไม่นานมานี้ นักการคนหนึ่งได้เปิดประเด็น “ลอว์แฟร์” (Lawfare) นิติสงคราม โดยระบุว่าเป็นการใช้กฎหมายหรือกระบวนการทางยุติธรรม เป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมือง ทั้งๆ ที่พวกตนเองเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด แต่กลับไม่พูดถึง

มาวันนี้นักการเมืองคนนี้กำลังใช้ลอว์แฟร์เสียเอง จากมติที่ขับ ส.ส.ออกจากพรรค (กรณี 4 งูเห่า) ถึงเวลากลับใช้ข้อกฎหมายมาอ้างเรื่ององค์ประชุม คุณทำกับเขาขนาดนี้แล้ว กลับใช้ลูกตุกติกไม่แจ้ง กกต.ตามขั้นตอนของกฎหมาย ดูช่างไม่มีศักดิ์ศรีจริงๆ ไม่สมกับอ้างว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ เพราะแบบนี้นักการเมืองโบราณเขาทำกัน

ที่ผมต้องนำเรื่องนี้มาพูด เพราะผมเชื่อว่า คนเหล่านี้ไม่จริงใจต่อประเทศไทยของเรา ลองดูว่า วันใดที่เขามีอำนาจ จะเผด็จการยิ่งกว่ายุคทักษิณเสียอีก


#รู้ทันพวกชังชาติ
#ปราบลัทธิชังชาติด้วยความจริง”

สำหรับ เรื่อง Lawfare หรือ “นิติสงคราม” ก่อนหน้านี้
(26 ธ.ค. 62) เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการ และส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ เคยโพสต์ข้อความ หัวข้อ “ชวนทุกท่านมาทำความเข้าใจกับ Lawfare หรือ “นิติสงคราม” กันอีกครั้ง”

โดยระบุว่า “Lawfare คือ คำที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ โดยล้อเลียนไปกันคำว่า Warfare หรือแปลว่าการสงคราม โดยเปลี่ยน War เป็น Law จึงเป็น “Lawfare” อาจแปลได้ว่า “นิติสงคราม” หรือ “สงครามทางกฎหมาย”

เริ่มต้นมาเป็นคำในแง่บวก เพราะหมายถึงการลดใช้อาวุธในการห้ำหั่นกัน แต่หันมาใช้กฎหมายและความยุติธรรมในการจัดการแทน แต่อย่างไรก็ตาม คำนี้มีความหมายในแง่ลบมากขึ้น เมื่อมีการใช้กฎหมาย ใช้ศาล เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ในทางสงครามหรือเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมือง

Lawfare ทำงานโดยกลไลหลัก 2 กลไก

1. Judicilization of Politics กระบวนการทำให้ประเด็นทางการเมืองกลายไปเป็นคดีและอยู่ในมือศาล

2. Mediatization of Judicial Political Case การนำประเด็นทางการเมืองจากมือศาลไปไว้ในมือสื่อ แม้ศาลยังไม่ได้ตัดสิน แต่สื่อนำมารายงานไปเรื่อยๆ จนทำให้คนเชื่อว่า มีความผิดจริง จนทำให้คนไม่ได้สนใจรายละเอียดข้อกฎหมายที่เป็นเรื่องซับซ้อน และข้อเท็จจริงของเรื่องอีกต่อไป

นิติสงครามเกิดขึ้นในหลายประเทศในโลก นิติสงครามไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาทางการเมือง ไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตย แต่กลับกลายเป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมืองโดยที่ไม่ต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ และไม่ต้องชนะการเลือกตั้ง...

นั่นแสดงว่า การใช้ “นิติสงคราม” กำจัดศัตรูทางการเมือง ก็อาจถูกพลิกแพลงมาใช้กับเกมการเมืองด้วยกันเองได้? กรณีที่ยื้อตรวจสอบความถูกต้องเรื่องมติขับ 4 ส.ส.ออกจากพรรคอนาคตใหม่ ที่กำลังมีปัญหาอาจพ้นสภาพส.ส.ด้วยกลเกมดังกล่าวอยู่ในเวลานี้

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น เฟซบุ๊ก Nantiwat Samart ของนายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์หัวข้อ “ส.ส.พ้นสมาชิกภาพมั้ย”

เนื้อหาระบุว่า “มีคำถามที่ผู้คนสนใจว่า พรรคการเมืองใหญ่ เรียกประชุมใหญ่ และมีมติขับส.ส.ของพรรค 4 คน ออกจากความเป็นสมาชิกพรรค และมีการแถลงข่าวใหญ่โต แกนนำพรรคออกมาให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเป็นราว

คิดง่ายๆ แบบชาวบ้านก็คือ ส.ส.ทั้ง 4 คนต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 30 วัน มิเช่นนั้นต้องหมดสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.

ภาพจากเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart
รัฐธรรมนูญมาตรา 101 (9) ระบุไว้ว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลง เมื่อพ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรคที่ตนเป็นสมาชิกตามมติของพรรคการเมือง ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ ของที่ประชุมร่วมของคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น

ในกรณีนี้ ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นภายในสามสิบวัน นับตั้งแต่วันที่พรรคมีมติ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิภาพนับแต่วันที่พ้นสามสิบวันดังกล่าว


เรื่องของเรื่อง คือ วันนี้เป็นวันสุดท้าย วันที่ครบ 30 วัน มติของพรรคขับส.ส.พ้นจากความเป็นสมาชิกของพรรค หาก ส.ส.4 คนนี้ หาพรรคใหม่ไม่ได้ ต้องพ้นจากความเป็น ส.ส.

แต่แล้วพรรคการเมืองกลับรวนเร อ้างว่า ที่ประชุมใหญ่ที่มีมติขับ ส.ส.4 คนดังกล่าว จะถือว่าเป็นการประชุมที่ถูกต้องหรือไม่ ครบองค์ประชุมมั้ย เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (9) ระบุว่า ต้องเป็นการประชุมร่วม ส.ส.พรรคและกรรมการบริหาร เลยอ้างว่า ที่พรรคยังไม่ออกเอกสารขับ ส.ส.พ้นสมาชิกพรรค เพราะต้องตรวจสอบว่า องค์ประชุมถูกต้องหรือไม่ มีกรรมการภาคของพรรคร่วมประชุมด้วยมั้ย

มันเกิดคำถามว่า ทำไมพรรคการเมืองใหญ่ใช้เวลาอันรวดเร็ว สั่งฆ่าคนทั้งเป็น ตัดอนาคตนักการเมือง แต่กลับใช้เวลาในการตรวจสอบเรื่องความถูกต้องขององค์ประชุมนานมาก นานถึง 30 วัน จนครบเดดไลน์ของการหาพรรคใหม่สังกัด พรรคตั้งใจดึง ถ่วงเรื่องหรือเปล่า

คิดแบบชาวบ้านๆ ก็แค่ตรวจรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม มาในฐานะอะไร เด็กธุรการก็น่าจะทำได้ พรรคการเมืองใหญ่ขนาดนี้ บุคคลากรในพรรคต้องมีประสิทธิภาพสูงมากอยู่แล้ว งานที่ไม่ต้องใช้สมอง แค่เช็คชื่อ งานกล้วยๆ พรรคการเมืองกลับไม่แจ้งอย่างเป็นทางการต่อสมาชิกที่ถูกขับออกและไม่แจ้งต่อ กกต.

หรือนี่เป็นกลเกมของพรรคการเมืองที่เล่นกับเวลา สั่งสอนสมาชิกที่แข็งข้อกับมติพรรค

รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีบทบัญญัติ ให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรคโดยเคร่งครัด แต่กลับตั้งใจให้ ส.ส.มีความเป็นอิสระ ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่พรรคสั่งซ้ายหันขวาหัน ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ให้สามารถแสดงสิทธิเสรีภาพในการอภิปรายที่แตกต่างจากมติพรรค และต้องออกเสียงตามมติพรรคการเมือง ดังนั้น ว่าไปแล้ว รัฐธรรมนูญ 2560 จึงให้เสรีภาพแก่ ส.ส.ในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศหรือสิ่งที่ ส.ส.เห็นเป็นประโยชน์มากกว่ามติพรรค

หรือเรื่องนี้ต้องสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อหาคำวินิจฉัยในเรื่องสมาชิกภาพ ส.ส.

นั่นคือ สิ่งที่วิญญูชนเห็นจากการกระทำของพรรคอนาคตใหม่ และชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ประเด็นปัญหาคืออะไร ใครผิด ใครถูก

แต่นั่นยังน่าเศร้าใจไม่พอ ที่น่าเศร้าใจไปกว่านั้นก็คือ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 63 “ช่อ” น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ เผยว่าขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบองค์ประชุมในวันประชุมใหญ่สามัญของพรรค เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.62 ที่มีมติขับ 4 ส.ส.ของพรรคออกจากพรรค โดยเชื่อว่าต้นสัปดาห์หน้าจะส่งเอกสารมาที่สภาผู้แทนราษฎร และให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้

พร้อมระบุว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่าองค์ประชุมในวันดังกล่าวครบหรือไม่ และส่วนตัวไม่มีความรู้เรื่ององค์ประชุมและข้อกฎหมาย จึงไม่สามารถให้รายละเอียดอะไรได้มาก ยืนยันว่าฝ่ายกฎหมายของพรรคดำเนินการเต็มที่

แต่พรรคมีคดีความกว่า 30 คดี จึงต้องจัดลำดับความสำคัญ โดยเฉพาะคดีใหญ่ที่นำไปสู่การยุบพรรคได้ถึง 2 คดี
ดังนั้นหากมีปัญหาเรื่องสมาชิกภาพของ 4 ส.ส.ก็ขึ้นอยู่กับการตีความของ กกต. ยืนยันไม่ได้กลั่นแกล้งและไม่จำเป็นต้องยื้อ 4 ส.ส.

เมื่อถามว่า หาก 4 ส.ส.ฟ้องร้องดำเนินคดีพรรคอนาคตใหม่ น.ส.พรรณิการ์กล่าวว่า เป็นความรับผิดชอบคุณสมบัติของตนเอง ไม่ใช่อำนาจของพรรคที่จะให้ใครพ้นสมาชิกภาพ การเป็น ส.ส. ส่วนการตรวจสอบสมาชิกภาพและสิทธิในการย้ายพรรคก็เป็นหน้าที่ของตัว ส.ส.เอง

อ้าว!!! พูดอย่างนี้เหมือนไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไรเลย ในการทำเอกสารมติขับ 4 ส.ส. แถมแถไปเรื่องมีคดีให้สะสางเยอะแยะ รวมถึงคดียุบพรรค (ซึ่งนั่นมันเรื่องความผิดของตัวเอง ตัวเองก่อขึ้น ก็ต้องรับกรรม) ทั้งที่เป็นหน้าที่ของพรรคอนาคตใหม่ อย่างที่หลายฝ่ายหยิบยกมาให้เห็น ถ้าคิดได้แค่นี้จะทำเรื่องใหญ่ระดับเป็นรัฐบาลได้อย่างไร?

และอย่างที่อดีตรอง ผอ.สำนักข่าวกรองฯว่า “พรรคสั่งฆ่าคนทั้งเป็นใช้เวลารวดเร็ว แต่ตรวจสอบความถูกต้องใช้กว่า 30 วัน” มันหมายความว่าอย่างไร!? คนที่คิดได้ก็น่าจะรู้อยู่แล้ว!


กำลังโหลดความคิดเห็น