สหรัฐฯ กับจีนได้ตกลงหยุดสงครามการค้าหลังจากห้ำหั่นกันมานานกว่า 2 ปี สร้างปัญหาเศรษฐกิจให้ทั้ง 2 ชาติมหาอำนาจ และประเทศคู่ค้าอื่นๆ ทั่วโลก มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเชื่อมโยงกับทั้งคู่ นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นฝ่ายเริ่มก่อน
คนทั้งโลกเริ่มมีความเห็นพ้องกันแล้วว่า ทรัมป์ ผู้นำทำเนียบขาวจอมห้าว ได้เป็นปัญหาหลักของโลกในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สร้างความปั่นป่วนให้กับการดำเนินชีวิตของคนทั้งโลก
แม้กระทั่งองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ก็ต้องปรับท่าทีรับกับทรัมป์ ซึ่งบริหารงานเอาแต่อารมณ์ของตัวเอง ผีเข้าผีออก ไร้หลักการ มีปัญหาด้านคุณธรรม จริยธรรม เป็นนักโกหกตัวยง รวมถึงความหน้าด้านที่กล้าให้ข้อมูลเท็จ แต่ไม่มีใครทำอะไรได้
ตามเวลาของสหรัฐฯ วันพุธที่ผ่านมา ทรัมป์มีกำหนดจะลงนามในข้อตกลงด้านการค้า “ขั้นแรก” กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ยอมลดราวาศอกให้กับแรงกดดันจากทรัมป์ ทำให้การต่อสู้ในสงครามการค้าอยู่ในขั้นที่ว่าแทบเจรจากันไม่ได้
การที่ทรัมป์ต้องยอมเจรจาแทนการเดินหน้ากดดันจีนด้วยมาตรการต่างๆ เป็นเพราะได้รับรู้ว่าถ้าตัวเองยังดึงดัน สหรัฐฯ จะเผชิญกับการถดถอยเชิงโครงสร้างด้านอุตสาหกรรม คนอเมริกันจะต้องรับกับค่าใช้จ่าย ปัญหาค่าครองชีพ ชีวิตลำบาก
ทรัมป์รู้ดีว่า ถ้าคนเริ่มโวยจะส่งผลต่อการหาเสียงเลือกเพื่อตั้งรักษาเก้าอี้ตัวเอง
ถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบยั้งไม่อยู่ อย่างปัจจุบัน สหรัฐฯ จะเลี่ยงไม่ได้ แต่ทรัมป์ก็ยังปากแข็ง ไม่ยอมรับว่าเป็นความผิดของตัวเอง เหมือนกรณีอื่นๆ แม้จะถูกจับได้ไล่ทัน ก็หาเหตุเอาสีข้างเข้าถู เบี่ยงเบน โบ้ยให้เป็นเรื่องอื่นๆ หนีการตรวจสอบ
แม้จะลงนามข้อตกลงขั้นแรก ทรัมป์ก็จะยังไม่ยกเลิกมาตรการกำแพงภาษีสำหรับสินค้าจากจีน ซึ่งรวมมูลค่าประมาณ 370 แสนล้านดอลลาร์ หรือ 2 ใน 3 ส่วนของการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ทำให้สินค้าหลายอย่างนำเข้าจากจีนมีราคาแพงสำหรับทุกครัวเรือน
สินค้าพื้นฐานสำหรับสังคมอเมริกัน เช่น ไม้ตีเบสบอล กระเป๋าเดินทาง รถจักรยาน ทีวี รองเท้ากีฬา และสินค้าอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับผู้ผลิตต่างๆ ในสหรัฐฯ ทรัมป์ได้ใช้มาตรการกำแพงภาษีกดดันให้จีนเข้าสู่การเจรจา หลังจากเสียดุลการค้าต่อเนื่องหลายปี
ปัญหาหลักที่สหรัฐฯ อ้างตลอดคือการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การบังคับให้ผู้ผลิตสินค้าสหรัฐฯ ในจีนต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี นี่เป็นประเด็นในข้อตกลงหลักที่ตัวแทนภาคธุรกิจและบรรดานักกฎหมายในสภานิติบัญญัติได้มีความเห็นตรงกัน
ทรัมป์เป็นฝ่ายเริ่มขึ้นกำแพงภาษี ก่อนถูกจีนโต้กลับ แต่ความเป็นจริงก็คือคนอเมริกันต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกอย่าง ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบ ต้นทุนสูงทำให้ต้องลดจำนวนแรงงาน ขึ้นราคาสินค้า และสร้างบรรยากาศความไม่แน่นอน
ภาคธุรกิจประเมินไม่ได้ว่าทรัมป์จะทำสงครามการค้าอีกนานแค่ไหน หรือปรับทิศทางอย่างไร การตัดสินใจก็ทำแบบเฉียบพลัน ไม่ปรึกษาใคร ทำให้นักธุรกิจ นักลงทุน ผู้ประกอบการ ไม่กล้าวางแผนระยะยาวในการลงทุนขยายกิจการ เศรษฐกิจมีปัญหา
คนอเมริกันต้องตกงานมากถึง 3 แสนคน จากพิษสงครามการค้าเริ่มในปี 2018
แม้จะมีปัญหา ตัวเลขการจ้างแรงงานเพิ่มยังดูดี การวิเคราะห์โดยหน่วยงานของมูดี้ส์ ชี้ชัดว่าในปี 2019 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการจ้างงานเพิ่ม 2.1 ล้านตำแหน่ง แต่ยังน้อยกว่าปีก่อนหน้านี้ซึ่งมีการจ้างงานมากถึง 2.9 ล้านตำแหน่ง
การสำรวจโดยบริษัท ชาเลนเจอร์ เกรย์ แอนด์ คริสต์มาส ระบุว่า มีการลดการจ้างงาน 10,000 ตำแหน่งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และองค์กรมูลนิธิภาษีชี้ว่าผลกระทบด้านการลดจำนวนการจ้างจะมีเพิ่มขึ้นในระยะยาว นอกเหนือจากผลด้านลบอื่นๆ
สงครามการค้าทำให้ผู้นำเข้าสินค้าจากจีนต้องจ่ายเงินเพิ่ม 46 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับภาษี พิสูจน์ให้เห็นว่าทรัมป์ผิดพลาดในการกล่าวอ้างว่าจีนต้องรับภาระหนักกว่าในสงครามการค้า และเห็นได้ชัดว่าบริษัทต้องเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายสำหรับภาษีนำเข้า
ถ้าทรัมป์ไม่ตั้งกำแพงภาษี ผู้นำเข้าก็ไม่ต้องจ่ายเงินมากถึง 46 หมื่นล้านดอลลาร์ และจำนวนนี้ก็จะเกิดคำถามต่อไปว่าผู้นำเข้าจะรับภาระเงินก้อนใหญ่นี้ไว้เอง หรือส่งผ่านต่อส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด ให้ผู้บริโภคด้วยการปรับราคาสินค้า
เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด ผู้ผลิตจีนอาจปรับลดราคาสินค้าเพื่อให้สินค้าของตัวเองไม่แพงเกินไป อยู่ในระดับแข่งขันได้ในตลาดสหรัฐฯ แต่เบื้องต้น บริษัทอเมริกันและผู้บริโภคต้องรับภาระนี้ไว้ บริษัท เจพี มอร์แกน เชส คาดว่าภาษีทำให้เพิ่มค่าใช้จ่าย
ครอบครัวชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยต้องจ่ายเพิ่มขึ้น 600 ดอลลาร์ต่อปี การศึกษาธนาคารกลางของนิวยอร์ก มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และโคลัมเบีย ระบุว่าครอบครัวคนอเมริกันต้องจ่ายเพิ่มแต่ละปี 831 ดอลลาร์ต่อปี ภาคธุรกิจต้องจ่ายในการปรับตัวด้วย
เมื่อการนำเข้าสินค้ามีราคาแพง ต้องหาแหล่งผู้ส่งสินค้าจากแหล่งอื่นทดแทน ในเดือนกันยายนสินค้าราคาเพิ่มขึ้นมีทั้ง ทีวี เครื่องนุ่งห่ม ของเด็กเล่น สินค้าอุปโภคอื่นๆ
การผลิตภาคอุตสาหกรรมต้องรับภาระหนัก มีการจ้างงานสุทธิเพิ่มเพียง 46,000 ตำแหน่ง หรือ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2019 และยังต้องจ่ายเพิ่มในการสั่งเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตในประเทศ เช่นเหล็ก เครื่องยนต์ และชิ้นส่วนจักรยาน จะทำให้การผลิตลดลง
ภาคการเกษตรยิ่งถูกกระทบหนัก แต่ทรัมป์จ่ายเงินอุดหนุนชดเชยให้ถึง 28 พันล้านดอลลาร์ เมื่อจีนหยุดนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพด ถ้าไม่จ่ายให้ ชาวนาอเมริกันต้องเผชิญกับเสียหายมหาศาล แม้กระนั้นการล้มละลายในภาคเกษตรยังเพิ่ม
ตัวเลขการล้มละลายของชาวนาอเมริกันเพิ่ม 24 เปอร์เซ็นต์ในปี 2019 จากปีก่อน และต้องดูว่าจากนี้ไป ผลกระทบต่อ 2 ประเทศ จะเป็นอย่างไร ใครได้ใครเสียมากกว่า