ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อ IMF เข้ามาควบคุมการเงินการคลังของประเทศไทย เจตนารมณ์อย่างหนึ่งของ IMF คือทำให้ราชการเล็กลง ต้องการ privatization ให้มากที่สุด และทำให้หน่วยราชการที่ออกนอกระบบมาเป็นองค์กรอิสระหรือองค์กรมหาชนเหล่านั้น เลี้ยงดูตนเองได้ด้วยตนเอง ภาครัฐจะได้ประหยัดงบประมาณมากขึ้น (และมีเงินมาจ่ายคืนเงินกู้ IMF ได้เร็วขึ้น)
มหาวิทยาลัยไทยก็ต่างทยอยออกนอกระบบในช่วงนั้น (แต่ตอนนี้ที่ออกมาแล้วก็อาจจะตายและไม่รอดได้ คิดว่าแน่ในเวลาออกมาจากระบบ)
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอแนวคิดแก่ผู้แทน Asian Development Bank : ADB โดยการนำโรงพยาบาลออกนอกระบบราชการ โดยเป็นพันธะส่วนหนึ่งของการที่รัฐบาลรับเงินกู้จาก ADB ด้วย โรงพยาบาลบ้านแพ้วเดิมเป็นโรงพยาบาลชุมชนเล็กๆ 10 เตียง จากที่ดินบริจาค ขยายมาจนเป็น 30 เตียง ก็เปลี่ยนสถานะเป็น โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 เป็นของตัวเอง และมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขนาดทั้งหมด 323 เตียง
ในขณะที่โรงพยาบาลของรัฐแทบทุกแห่ง ขาดทุนย่อยยับบักโกรก จากโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค) มีหลายฝ่ายชอบออกมาพูดว่า ให้แปรรูปโรงพยาบาลของรัฐทั้งหมดให้เป็นองค์การมหาชนแบบโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จึงจะอยู่รอด ผมเองไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะเห็นว่าโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ไม่ได้อยู่รอดด้วยการหากินในพื้นที่ตนเองแต่อย่างใด แต่โรงพยาบาลบ้านแพ้วนั้นเก่งในการทำมาหากินนอกพื้นที่ตนเอง โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร อันมีประชากรหนาแน่น และกลุ่มสิทธิรักษาพยาบาลราชการซึ่งเบิกจ่ายได้สูงกว่าและมีข้อจำกัดน้อยกว่า เมื่อมีรายได้จากข้างนอกพื้นที่แล้วจึงนำไปชดเชยที่ขาดทุนบักโกรกจากการให้บริการในพื้นที่ อาทิ บัตรทอง อันที่จริง สิทธิบัตรทองหากมีประชากรหนาแน่นพอ มีผู้ถือบัตรทองกับโรงพยาบาลมากพอก็จะไม่ขาดทุน พอจะอยู่ได้
แต่ปัญหาคือ อำเภอบ้านแพ้วมีประชากรแค่ 100,373 คน และงบเหมาจ่ายรายหัวบัตรทองเท่ากับ 3,784 บาทต่อหัวต่อปี หากประชากรทุกคนในอำเภอบ้านแพ้วถือบัตรทองและขึ้นกับโรงพยาบาลบ้านแพ้วหมด จะทำให้ โรงพยาบาลบ้านแพ้วได้เงินปีละ 378,400,000 บาท แต่เมื่อส่องดูงบการเงินจากรายงานประจำปี 2561 ของโรงพยาบาลบ้านแพ้วด้านล่างนี้
ก็พอจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า หนึ่ง โรงพยาบาลบ้านแพ้วได้รายได้จากบัตรทอง ไม่น่าจะเกินรายได้จากงบประมาณหรือหนึ่งร้อยสิบล้านบาท ไม่มีทางได้รายได้จากบัตรทองสามร้อยกว่าล้านบาทต่อปี
สอง ค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ตกปีละประมาณหนึ่งพันห้าร้อยเจ็ดสิบล้าน ถ้ามีแต่รายได้บัตรทองอยู่ไม่ได้แน่นอน
สาม โรงพยาบาลบ้านแพ้วได้กำไรปีละประมาณ 200 ล้านบาท (ดูงบการเงินย้อนหลังหลายๆ ปีก็พบว่าได้กำไรประมาณนี้ทุกปี ทำให้มีเงินสะสม) ต้องถือว่าเก่งมาก และกำไร 200 ล้านบาทนี้เท่ากับยอดรวมจากเงินบริจาค ร้อยกว่าล้านบาทต่อปี โดยประมาณ อันนี้ต้องยกย่อง หาเงินบริจาคเก่งมากทุกปี และทำให้ได้กำไรเพราะเงินบริจาค การขายสินค้าอื่นๆ ประมาณ 50 ล้านบาททุกปี และรายได้อื่นๆ อีก ประมาณ 50 ล้านบาททุกปี
โดยสรุป ถ้าอยู่ด้วยงบบัตรทองล้วนๆ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ไปไม่รอดแน่นอน
อย่างไรก็ตาม สมุทรสงครามอันเป็นพื้นที่ลักษณะพิเศษที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพอันเกิดจากการบริหารเงินแบบคณิตศาสตร์ขาดธรรมาภิบาลของ สปสช. https://mgronline.com/daily/detail/9600000086336
ที่ทำให้ งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวบัตรทอง สามพันเจ็ดร้อยบาทต่อคนต่อปี เมื่อหักงบค่าจ้างบุคลากรออกไปแล้วจะเหลือจังหวัดที่มีเงินเหมาจ่ายรายหัวประชากรน้อยที่สุดคือ สมุทรสาครพื้นที่ของอดีต ส.ว. สมุทรสงคราม นางบุญยืน ศิริธรรม NGO และเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย แต่จังหวัดสมุทรสงครามได้เงินเหมาจ่ายรายหัวหลังหักค่าแรงบุคลากรเพียง 82 บาทต่อหัวต่อปี
ดังนั้นหากโรงพยาบาลบ้านแพ้วมีประชากรบัตรทองในพื้นที่ 100% ก็จะได้เงินค่าหัว 8,200,000 ต่อปีเท่านั้น ไม่พอยาไส้อะไรใดๆ ทั้งสิ้น และโรงพยาบาลบ้านแพ้วก็จะล้มละลายแน่นอน
อย่างที่เราทราบกันดีว่า โรงพยาบาลบ้านแพ้วมาเปิดให้บริการในกรุงเทพหลายที่มาก และได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ข้าราชการและแม้แต่ประชาชนทั่วไป ในรายงานประจำปีของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ได้สาธกสร้างความชอบธรรมให้กับการออกมาทำมาหากินนอกพื้นที่ของตัวเองเอาไว้ว่า การให้บริการนอกเขตพื้นที่ เป็นการให้การบริการ ตามนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นกรณีการขยายสาขาสามารถกระทำได้ ในกรณีที่เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐ แต่จะต้องอยู่ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการฯ เพียงชุดเดียวตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 334/2546 หนังสือที่ นร 1901/0466 ลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2546
โรงพยาบาลบ้านแพ้วเลยมาเปิดให้บริการในกรุงเทพมหานครเท่าที่ทราบมากถึง 8 แห่ง ดังนี้
1. โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สาขาสาทร อาคาร TPI Tower ชั้นตัดใหม่ 10 ถนนจันทน์ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร
2. โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สาขาประสานมิตร 1281 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
3. โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สาขาเจริญกรุง ถนนมไหสวรรย์ แขวงบางคอแหลม เขตบางคอแหลม กรุงเทพมหานคร
4. ศูนย์แพทย์และทันตกรรม โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (สาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550) กรุงเทพมหานคร
5. ศูนย์ล้างไตทางช่องท้องธนบุรี กรุงเทพมหานคร
6. ศูนย์แพทย์ชุมชนธนบุรี โรงพยาบาลบ้านแพ้ว กรุงเทพมหานคร
7. ศูนย์ไตเทียมเทอดไท กรุงเทพมหานคร
.ในขณะที่ในตัวอำเภอบ้านแพ้ว เปิดบริการนอกที่ตั้ง ห้าแห่ง คือ
1. โรงพยาบาลบ้านแพ้ว 2 ตั้งอยู่ที่ตำบลชัยมงคล อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร
2.โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (สาขาเกษตรพัฒนา)
3.โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (สาขาหลักห้า)
4.ศูนย์แพทย์ชุมชนราษฎร์บำรุง
5. ศูนย์สุขภาพชุมชนหลักสาม
จำนวนครั้งในการรักษาผู้ป่วยนอก (OPD) ของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว 50% ขึ้นไปน่าจะมาจากนอกเขตพื้นที่ให้บริการ ดังจะเห็นได้จาก สิทธิเบิกได้ ซึ่งมาจากข้าราชการเป็นส่วนใหญ่ในกรุงเทพมหานครประมาณ สองแสนครั้งในหนึ่งปี เฉพาะที่ศูนย์ราชการอาคาร B ของโรงพยาบาลบ้านแพ้วก็คงท่วมทะลักทลายอยู่แล้วอย่างไม่ต้องสงสัย ในขณะที่ประกันสังคมก็ประมาณ แสนสองหมื่นครั้งต่อปี
ในบางแผนกของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว น่าจะหากินกับคนไข้นอกพื้นที่เป็นหลักมากกว่า 70-80% เช่น จักษุแพทย์ มีมากถึง 15 คน รับผ่าต้อกระจกโดยร่วมมือสำานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดบริการหน่วยผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ในท้องถิ่นต่างจังหวัดที่ห่างไกลขาดแคลนจักษุแพทย์ (ขาดแคลนหรือแย่งเคสคนไข้? พอติดเชื้อแล้วใครดูแล วิ่งตามมารักษาที่บ้านแพ้วหรือรักษาโรงพยาบาลชุมชนแถวนั้น)
โปรดอ่านบทความ “ก่อนจะผ่าต้อกระจกในดวงตา จงผ่าตัดการขัดกันผลประโยชน์ออกไป และตอบคำถามราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ให้ได้เสียก่อน”
นอกจากนี้ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ยังเก่งในการทำมาหากินนอกพื้นที่ โดยการมีศูนย์ตรวจสุขภาพเคลื่อนที่
บริการออกหน่วยเคลื่อนที่ตรวจสุขภาพประจำปีให้กับ พนักงานบริษัท หน่วยงานภาครัฐฯ ภาคเอกชนทั่วไป
โดยให้บริการตรวจสุภาพในและนอกสถานที่ ตรวจทันตกรรมเคลื่อนที่และรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ ซึ่งหน่วยราชการในกรุงเทพชื่นชอบและชื่นชมมาก
ผมต้องขอชื่นชมความสามารถพิเศษในการทำมาหากินนอกพื้นที่ของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว หาเงินบริจาคกก็เก่ง ขายของก็เก่ง กำไรปีละประมาณสองร้อยกว่าล้านบาท เท่ากับรายได้อื่น+เงินบริจาค+ขายของ แสดงว่าหากไม่มีรายได้พิเศษพวกนี้และโรงพยาบาลบ้านแพ้วงอมืองอเท้าก็จะไม่มีกำไร หาเงินบริจาคได้ปีละร้อยกว่าล้านบาทจากรายได้รวมพันเจ็ดร้อยล้านบาทต่อปี ถือว่าไม่ธรรมดา เก่งมากจริงๆ
การเข้ามาทำมาหากินส่วนใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผมก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้าย เพราะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คิวยาวมาก ประชากรหนาแน่นมาก การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐของคนกรุงเทพมหานครนั้นต่ำมาก เอาเป็นว่าแม้แต่โรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพมหานครเวลานี้ก็แน่นเสียจนต้องรอสองถึงสามชั่วโมง เมื่อเป็นไข้หวัดธรรมดาๆ เพราะมีไม่พอจำนวนประชากรและประชากรแฝง การที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วเข้ามาทำมาหากินให้บริการในกรุงเทพมหานครมากๆ และควรทำให้มากกว่านี้อีก เพื่อช่วยคนกรุงเทพให้เข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้ดีมากขึ้น
แต่ ต้องพูดให้ชัดๆ ว่า โรงพยาบาลบ้านแพ้ว หากมีรายได้บัตรทองอย่างเดียวนั้นตายแน่นอน หากหากินเฉพาะในพื้นที่มีประชากรแค่แสนคน ค่าเหมาจ่ายรายหัวหลังสปสช จัดสรร หัวละ 82 บาทต่อคนต่อปี แล้วอยู่ได้ เลี้ยงตัวเองได้ อันนี้ไม่จริง
โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เลี้ยงตัวเองไม่ได้เลย หากให้บริการเฉพาะในพื้นที่บ้านแพ้ว ไม่น่าจะรอดเลย ผลการวิเคราะห์งบการเงินชี้ชัดเช่นนั้น
ดังนั้นจงเลิกพูดกันเถิดว่า ให้เอาโรงพยาบาลของรัฐออกนอกระบบ แล้วทำแบบ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว แล้วจะอยู่รอด ไม่มีการขาดทุนอีก เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ผมคุยกับอดีต ผอ โรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ ที่สอนนิสิตแพทย์และแพทย์เฉพาะทางด้วย กล่าวว่า ผมเคยคิดทำโรงพยาบาลที่ตัวเองเป็นผอ ให้เป็นแบบโรงพยาบาลบ้านแพ้วเลย รับรองว่าอยู่ได้ เรามีตึก มีอุปกรณ์ มีหมอ พยาบาลพร้อมมาก แต่ถ้าเราออกไป น้องๆ โรงพยาบาลอื่นๆ รอบๆ เราจะลำบาก เราจะไปฆ่าโรงพยาบาลอื่นๆ (Cannibalized) ทำให้โรงพยาบาลอื่นตาย เพราะประชากรก็เท่านี้ คำตอบจึงไม่ใช่ เห็นแก่ตัวเกินไป ผมทำไม่ลง เราเคยลำบากมาด้วยกัน ก็ไม่ควรเอาตัวรอดอยู่คนเดียว แต่ควรหาวิธีที่เราจะรอดและเติบโตไปด้วยกันไม่ใช่หรือ