คณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมเอไอเอส พัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ ชุมชนหลังเขื่อนภูมิพล หลังไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ไม่มีสัญญาณสื่อสาร พบพยาบาลต้องติดต่อแพทย์ ประสานส่งผู้ป่วยทางวิทยุถึง 3 ต่อ ทำล่าช้าไม่ทันการณ์ เผยนำร่องติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณแล้ว ช่วยติดต่อได้ทันที ช่วยเหลือผู้ป่วยได้รวดเร็ว ส่งผู้ป่วยถึง รพ.ทันเวลา พร้อมเร่งพัฒนาเรือฉุกเฉินมาตรฐานรองรับส่งต่อทางน้ำ ตั้งเป้าสำเร็จใน 2 ปี
วันนี้ (13 ม.ค.) ที่ รพ.จุฬาภรณ์ คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงข่าวโครงการวิจัย "การพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ" โดย ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การวิจัยเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ทั้งนี้ เราพบว่า ประชาชนในหลายท้องถิ่นยังมีปัญหาเข้าไม่ถึงบริการสาธารณสุข แม้จะมีสิทธิสุขภาพจากทั้ง 3 กองทุนสุขภาพของไทยแล้วก็ตาม คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และข้าราชการ โดยโครงการวิจัยในครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉินทางเรือ จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาชุมชนพื้นที่หลังเขื่อนภูมิพล ตำบลบ้านนา จ.ตาก ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่รวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น
รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเกิดจากอาจารย์พยาบาลของเราไปพบว่า พื้นที่หลังเขื่อนภูมิพล จ.ตาก ยังมีปัญหาทั้งไฟฟ้าเข้าไม่ถึง รวมถึงเรื่องของสัญญาณการสื่อสาร ทำให้ประสบปัญหาเมื่อเจอผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จำเป็นที่พยาบาลในพื้นที่จะต้องขอรับคำปรึกษาจากแพทย์ ทำให้เกิดการตัดสินใจได้ช้า จึงให้ลงไปทำการศึกษาวิจัยหาแนวทางแก้ไข จนเป็นที่มาของโครงการดังกล่าว โดยมีความร่วมมือกับทางอุทยานแห่งชาติ ปลัดอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน มูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิศวกรชำนาญการ และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ซึ่งผลลัพธ์จากการวิจัยในครั้งนี้จะเกิดประโยชน์กับประชากรหลังเขื่อนภูมิพลจำนวน 2,051 คน และพื้นที่โดยรอบ อ.สามเงา อีก 31,890 คน
รศ.ดร.วิไลวรรณ ทองเจริญ รองคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า โครงการนี้จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี มี 3 แผนงาน คือ การศึกษาพื้นที่ ประสานความร่วมมือ พัฒนาระบบโทรคมนาคม และผลิตเรือฉุกเฉิน จากนั้นจึงจะขยายผลในอีก 5 พื้นที่ใก้ได้รับบริการที่ทั่วถึง
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมาย ทำให้เราไม่สามารถติดตั้งเครื่องขยายสัญญาณได้ทุกพื้นที่ อย่างพื้นที่หลังเขื่อนก็เป็นป่าอนุรักษ์ ดังนั้น การจะติดตั้งตัวส่งสัญญาณการสื่อสาร จึงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายเช่นโครงการนี้ที่มีทั้งราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ อุทยานก็ร่วมด้วย ฝ่ายปกครองในพื้นที่ มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในการดำเนินการ และมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ โดยเมื่อ ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้รับการอนุโลมให้นำร่องไปติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณบริเวณวัด โดยใช้ไฟจากระบบโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี ซึ่งเมื่อมีเครื่องส่งสัญญาณก็ทำให้พยาบาลสามารถใช้สื่อสารไปยังแพทย์ที่ รพ.สามเงา เพื่อขอรับคำปรึกษาได้ว่า จะดูแลผู้ป่วยอย่างไร ต้องส่งต่อหรือไม่
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับการผลิตเรือฉุกเฉินตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้สำเร็จภายใน 2 ปี ซึ่งเรือฉุกเฉินนี้จะสามารถทำการกู้ชีพบนเรือได้ และจะมีการติดตั้งจีพีเอส และการรับส่งสัญญาณ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับทั้งต้นทางและปลายทางได้ เพื่อการประสานงานในการส่งต่อตัวผู้ป่วยจากจุดรับตัวผู้ป่วยไปยังอักด้านของเขื่อน เพื่อส่งต่อให้แก่รถพยาบาลฉุกเฉินต่อไป ซึ่งการจะสร้างและออกแบบนั้นอาจจะต้องรอข้อมูลเคสการเจ็บป่วยในพื้นที่เข้ามาบูรณาการเพื่อออกแบบผลิตเรือด้วย
น.ส.มัตติกา ใจจันทร์ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า จากการที่ตนลงพื้นที่พบว่า พื้นที่หลังเขื่อนภูมิพลยังไม่มีไฟฟ้าใช้และสัญญาณโทรศัพท์ พยาบาลที่ประจำอยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ก็มีความลำบากในการดูแลผู้ป่วย เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็ต้องรีบไปช่วยเหลือที่จุดเกิดเหตุ บางทีอยู่ในป่าก็ต้องตามผู้ใหญ่บ้านเข้าไป และยิ่งเป็นเคสที่หนักเกินขีดความสามารถจำเป็นที่จะต้องปรึกษากับแพทย์ ก็มีความลำบากในการสื่อสาร เพราะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งการจะติดต่อได้มีอยู่ 2 ทาง คือ บริเวณโขดหินจุดหนึ่งที่พอมีสัญญาณทีโอทีดาวเทียม กับอีกทางคือต้องใช้ช่องวิทยุ ซึ่งก็ต้องใช้วิทยุติดต่อกันถึง 3 ต่อ กว่าจะถึงแพทย์ และเมื่อตอบกลับมาก็ต้องใช้เวลาอีก เพราะต้องส่งกลับมา 3 ต่อเช่นกัน ซึ่งก็จะไม่ทันการณ์กับการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งยอมรับว่าบางรายก็เสียชีวิต อย่างปีที่ผ่านๆ มามีเสียชีวิตประมาณ 3 ราย ทั้งจากกรณีมารดาเสียชีวิตหลังคลอด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และอุบัติเหตุท้องแตก
น.ส.มัตติกา กล่าวว่า จากการลงพื้นที่หารือกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็เห็นตรงกันว่าจะต้องมีการพัฒนาเรื่องของระบบการสื่อสาร ก็ได้ทางเอไอเอสเข้ามาช่วย และการพัฒนาเรือฉุกเฉิน เพราะที่ผ่านมาก็ต้องใช้เรือหางยาวจากชาวบ้าน ซึ่งก็ไม่ปลอดภัยทั้งตัวผู้ป่วยเองและบุคลากรทางการแพทย์ และต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าน้ำมันค่าเรือด้วย จึงควรมีการพัฒนาเรือฉุกเฉินเพื่อส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งก็จะเก็บข้อมูลและนำมาวิจัยพัฒนาเป็นมาตรฐานที่สามารถนำเรือฉุกเฉินต้นแบบนี้ไปใช้ในพื้นที่อื่นได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการนำร่องติดเครื่องส่งสัญญาณแล้ว บังเอิญว่าเกิดเหตุ 2 รายที่จำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วย คือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มศีรษะกระแทกจนสลบ ประกอบกับเป็นช่วงที่พวกเราไปลงพื้นที่ จึงได้ทดลองใช้สัญญาณสื่อสาร โทร.ประสานทีมสกายดอกเตอร์มารับตัวผู้ป่วยไป 2 ราย ไปยัง รพ.ตาก โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ทำให้ช่วยชีวิตผู้ป่วยทั้งสองรายไว้ได้ หากไม่เช่นนั้นก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับการเจ็บป่วยของคนในชุมชนไม่ต่างจากพื้นที่อื่น แต่ที่กังวลคือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วเกินขีดความสามารถจำเป็นต้องปรึกษาหรือส่งต่อ ต้องมีสัญญาณการสื่อสาร ซึ่งโครงการนี้จะเข้ามาช่วยให้คนในพื้นที่เข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ดีขึ้น
เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายในการส่งต่อ หากโครงการสำเร็จ รศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า ผู้ป่วยมีสิทธิการรักษาอยู่แล้วทั้งบัตรทอง หรือหากเป็นฉุกเฉินวิกฤตก็มีสิทธิยูเซป รักษาทุกที่ดีทุกสิทธิที่รองรับเรื่องค่ารักษาพยาบาล แต่ในเรื่องของค่าพาหนะในการส่งต่ออย่างเรือฉุกเฉิน ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่ระหว่างการพัฒนาในประเด็นนี้