xs
xsm
sm
md
lg

โรงพยาบาลญี่ปุ่นเผชิญปัญหาการเก็บค่ารักษาพยาบาลกับนักท่องเที่ยวไร้ประกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในยุคที่การท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเติบโตเป็นอย่างมากโดยไม่มีทีท่าจะหยุดยั้ง ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นจุดหมายปลายทางที่ผู้คนจากทั่วโลกหมายใจจะมาให้ได้ แถมยังกลับมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ต่างจากพวกเราชาวไทยที่เฝ้าเพ้อละเมอถึงอยู่ไม่น้อย

เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น โรงพยาบาลญี่ปุ่นก็ถือเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

กรณีนักท่องเที่ยวฟิลิปปินส์กับค่ารักษากว่า 1.6 ล้าน

เมื่อเดือนพฤษภาคมของปี 2018 นักท่องเที่ยวชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งได้เดือนทางไปท่องเที่ยวที่กรุงโตเกียว คาดหวังว่าจะเป็นทริปเมืองหลวงในฝันอันแสนสุข แต่แล้วความฝันก็ดับสลาย เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดทำการรักษาฉุกเฉินที่ศูนย์การแพทย์ NTT Tokyo ในเขต Shinagawa จากภาวะเลือดออกในสมอง

เคราะห์ดีที่การผ่าตัดสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่เคราะห์ร้ายที่เขาต้องตื่นมาเผชิญกับบิลค่ารักษาพยาบาลที่สูงกว่า 1.6 ล้านบาท ในฐานะนักท่องเที่ยวแล้ว ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดจึงไม่อยู่ในความรับผิดชอบของระบบสวัสดิการและประกันสังคมแห่งประเทศญี่ปุ่นแต่อย่างใด

“ถ้าคุณเป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ในการคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพของชาติ
ในกรณีนี้คุณอาจเสียค่าใช้จ่ายเพียงแค่ 2-3 หมื่นบาทเท่านั้น
แต่ถ้าคุณเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางโดยไม่มีประกันการเดินทางใด ๆ คุ้มครองแล้วล่ะก็
แน่นอนว่าคุณจะต้องแบกรับภาระค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดด้วยตัวคุณเอง
มีนักท่องเที่ยวจำนวนน้อยมากที่จะสามารถชำระค่ารักษาฯ ได้ด้วยตนเอง
ที่เหลือจึงต้องขอความช่วยเหลือในการสำรองจ่ายจากสถานทูตของตนเองเสียเป็นส่วนใหญ่”
- Isao Ebihara -
ผู้ประสานงานทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติ
ประจำศูนย์การแพทย์ NTT Tokyo กล่าว

นี่เป็นเพียงกรณีหนึ่งเท่านั้น จากอีกหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลทั่วประเทศญี่ปุ่นในยุคที่จำนวนนักท่องเที่ยวกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

นักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นตามเป้าหมายของรัฐบาลญี่ปุ่น
เมื่อพิจารณาจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2009 อยู่ที่ 6.79 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าในปี 2017 มาอยู่ที่ 28.69 ล้านคน อันเป็นผลพวงจากการงดเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ไทย มาเลเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และบราซิลนั่นเอง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังตั้งเป้ามุ่งมั่นที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ได้สูงถึง 40 ล้านคนต่อปีภายใน 2020 (โอลิมปิค) และให้ได้ถึง 60 ล้านคนต่อปีภายในปี 2030 เลยทีเดียว!

อย่างไรก็ดี การเติบโตของการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นให้มีสภาวะกดดันมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มักจะเดินทางโดยไม่มีประกันคุ้มครอง


จากผลการสำรวจโดยหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของสนามบินนานาชาติทั้ง 3 แห่งในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2017 ถึงเดือนมกราคมปี 2018 พบว่า ร้อยละ 27 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ได้ทำการสำรวจ 3,383 คน ไม่มีประกันการเดินทางคุ้มครองสุขภาพเมื่อมาถึง นอกจากนี้ยังพบอีกว่าร้อยละ 6 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามครั้งนี้ เกิดอาการเจ็บป่วยในระหว่างการท่องเที่ยว และร้อยละ 1.5 จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลญี่ปุ่น

หากเทียบสัดส่วนเช่นนี้แล้ว สถานการณ์ที่โรงพยาบาลญี่ปุ่นจะต้องเผชิญในปี 2020 และปี 2030 จะต้องหนักหนาสาหัสกว่าที่เป็นอยู่อย่างเห็นได้ชัด จึงเริ่มเกิดเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว สร้างมาตรการหรือการรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงการจัดหาประกันสุขภาพเพื่อคุ้มครองการเดินทางของตนเองให้มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดภาวะความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ รวมถึงเป็นการลดภาวะความตึงเครียดให้กับโรงพยาบาลภายในประเทศญี่ปุ่นเองด้วยเช่นกัน

การรักษาพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นและโรงพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นมีความทันสมัยและเป็นระบบระเบียบ เอื้ออำนวยต่อคนในชาติของเขาเองเป็นอย่างมาก แต่ในทางกลับกันสำหรับชาวต่างชาติย่อมต้องมีเงื่อนไขมากมายเกิดขึ้น รวมถึงค่ารักษาที่สูงลิบแตกต่างจากโรงพยาบาลในประเทศเราเองที่เราอาจได้รับการคุ้มครองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ดังนั้น ไม่เพียงแต่ประเทศญี่ปุ่น แม้จะเป็นการเดินทางไปในประเทศอื่นๆ จะสั้นหรือจะยาวแค่ไหน ก็อย่าได้ประมาท ทำประกันเดินทางไว้ล่วงหน้าเพื่อความสบายใจกันดีกว่า ท่องเอาไว้ “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย”
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ anngle.org




กำลังโหลดความคิดเห็น