สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ที่เป็นสิทธิสุขภาพขั้นพื้นฐานของคนไทย รวมกว่า 48 ล้านคน นับตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันกว่า 17 ปี มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้คนไทยไม่น้อย ซึ่งทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คอนเฟิร์มว่า มีความครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟู และการดูแลแบบประคับประคอง
ในปี 2563 ทางสิทธิบัตรทองก็มีการขยายหรือเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
1.ประชาชนทุกกลุ่มวัย ได้แก่
1.เพิ่มสิทธิประโยชน์ ยาออกทรีโอไทด์ แอซีเทต เป็นยาจำเป็นที่มีราคาแพง ในบัญชียา จ (2) สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคอะโครเมกาลี (Acromegaly) ที่ได้รับการผ่าตัดเนื้องอกหรือฉายแสงแล้ว แต่ระดับฮอร์โมน GH และ IGF ยังสูงอยู่
ทั้งนี้ โรคอะโครเมกาลีเป็นหนึ่งในโรคหายากที่มีความรุนแรงสูง มีอัตราเสียชีวิตสูง 2-4 เท่าของคนปกติ มีสาเหตุมาจากเนื้องอกของต่อมใต้สมอง ส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยสร้างโกรว์ธฮอร์โมน (Growth Hormone) มากกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมาผู้ป่วยยังประสบปัญหาเข้าไม่ถึงยานี้
2.ขยายระบบดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงครอบคลุมคนไทยทุกสิทธิและทุกกลุ่มวัย จากเดิมที่ดูแลเพียงผู้สุงอายุติดบ้านติดเตียงในสิทธิบัตรทองเท่านั้น ก็ขยายออกเป็นทุกสิทธิสุขภาพ ทั้งข้าราชการและประกันสังคม และทุกกลุ่มวัย
3.จัดระบบการรักษาโรคหายาก (Rare Disease) ในระบบหลักประกันสุขภาพ ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยกลุ่มเสี่ยง การตรวจยืนยัน การรักษาพยาบาล และการติดตามผลการรักษา รวมถึงค่าพาหนะรับส่งต่อส่งกลับ ที่ผ่านมาผู้ป่วยโรคหายากยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงยาที่ไม่มีขายในประเทศไทย ทั้งโรคเหล่านี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ดังนั้นหากมีระบบที่รองรับเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคหายากเหล่านี้ ก็เหมือนกับทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวเหมือนมีชีวิตใหม่
4.การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี สำหรับผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อก่อนมีการสัมผัสเชื้อ หรือ ยาเพร็พ (Pre-Exposure Prophylaxis: PrEP) สำหรับกลุ่มเสี่ยงในทุกสิทธิ จำนวน 2,000 ราย เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2563 ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีลงได้ ดำเนินการนำร่องในสถานพยาบาล 51แห่ง ใน 21 จังหวัดทั่วประเทศ
2.กลุ่มเด็ก
1.เพิ่มสิทธิประโยชน์ยาริทูซิแมบ (Rituximab) ยาจำเป็นที่มีราคาแพง ในบัญชียา จ (2) สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด NHL (Non-Hodgkin lymphoma) ในเด็ก ซึ่งเป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในไทย
2.เพิ่มสิทธิประโยชน์วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา (Rotavirus Vaccine) ในทารกอายุ 2-6 เดือน ซึ่งโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ประมาณครึ่งหนึ่งของเด็กที่เข้านอนโรงพยาบาลด้วยโรคอุจจาระร่วงมีสาเหตุมาจากไวรัสโรตา โดยจะให้สิทธิดังกล่าวแก่เด็กไทยทุกคนในทุกปี
3.เพิ่มรายการเคลือบฟลูออไรด์ในเด็กอายุ 4-12 ปี เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่ฟัน อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี อัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการ 100 บาท/ครั้ง กำหนดเป้าหมาย 2,005,740 คน งบประมาณจำนวน 200.57 ล้านบาท
4.เพิ่มรายการเคลือบหลุมร่องฟันในเด็กอายุ 6-12 ปี เพื่อป้องกันฟันแท้ผุ ในอัตรา 250 บาท/ซี่ ไม่เกิน 4 ซี่/ราย/ปี เป้าหมายบริการ 1,046,110 คน งบประมาณจำนวน 261.52 ล้านบาท
3.กลุ่มผู้หญิง
1.เพิ่มสิทธิคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีเอชพีวี ดีเอ็นเอ เทสต์ (HPV DNA test) ซึ่งเป็นวิธีใหม่ที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า สามารถตรวจพบผู้ป่วยในระยะแรกเริ่มเพิ่มขึ้นและเข้าสู่การรักษาได้เร็วก่อนลุกลาม ช่วยให้อุบัติการณ์และการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกลดลงเมื่อเทียบกับวิธีคัดกรองในปัจจุบัน ทั้งยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ใกล้เคียงกัน
2.ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเดิมเหมารวมอยู่ในงบบริการฝากครรภ์ มาเป็นจ่ายชดเชยตามรายการบริการ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์ได้รับการตรวจสุขภาพในช่องปาก ขัดและทำความสะอาดฟัน ขูดหินน้ำลาย อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยอัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการอยู่ที่ 500 บาท/ราย กำหนดเป้าหมาย 221,760 คน งบประมาณจำนวน 110.88 ล้านบาท
4.กลุ่มผู้ต้องขัง โดยเพิ่มสิทธิตรวจคัดกรองวัณโรคกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ ค้นหาผู้ป่วยให้ได้รับการรักษาทันท่วงที ลดการแพร่เชื้อเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำ สนับสนุนแผนปฏิบัติการระดับชาติร่วมยุติปัญหาวัณโรค