อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ
ศาสตราจารย์ ดร นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ
ศาสตราจารย์ ดร นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
ผู้เขียนคนแรกเขียนบทความเรื่อง Who tell the truth about money? สปสช หรือ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข? www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000053669 เกี่ยวกับเรื่องการผ่าต้อกระจกที่สปสช ดำเนินโครงการเอาไว้ว่า
“สิ่งที่ผมถามคือการบริหารกองทุนเหล่านี้ทำกันอย่างไร การบริหารกองทุนต่างๆ ใน 38,000 ล้านบาทนั้นได้ทราบว่าอาจจะมีปัญหา กองทุนต้อกระจกนั้น เพื่อนๆ ผมเป็นหมอตาเอง บ่นกันให้ระงมว่า ใช้เงินของชาติอย่างฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นที่สุด เพราะเอายอดหัวของคนเข้ารับการผ่าตัดเป็นที่ตั้ง โรงพยาบาลจะได้เงินก็ต่อเมื่อผ่าตัดไปได้มากๆ แต่การผ่าต้อกระจกนั้นต้องรอให้ต้อสุกเสียก่อนจึงสมควรผ่าและผ่าได้ง่ายได้ ผลดี เมื่อนับหัวและโรงพยาบาลขาดทุนก็เลยเร่งผ่าหาคนไข้ที่ต้อกระจกยังไม่สุกมา ผ่าเสียมากมายเพื่อเบิกเงินจากสปสช ทำให้เป็นการรักษาที่เกินจำเป็น ก่อนเวลา เสียทรัพยากรและกำลังบุคลากรในการรักษาที่จำเป็น และก็ได้ยินหมอหัวใจบ่นเรื่อง stent ของกองทุนโรคหัวใจในทำนองเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ผมต้องการให้ชี้แจงออกมา ว่าเอาเงินจะ 50,000 หรือ 38,000 ล้านไปใช้อย่างไร ผมมีสิทธิ์ที่จะถามในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไม่ว่าผมจะเป็นนักวิชาการชนชั้นกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะผมเป็นคนไทยคนหนึ่ง”
ทางสปสช ได้ตอบโต้มาว่า
“ส่วนเรื่องการผ่าตัดตาต้อกระจกนั้น ถือเป็นกรณีคลาสสิกเป็นอย่างมาก ที่มีการหยิบยกมาโจมตี สปสช.อยู่บ่อยครั้ง เรื่องนี้คงต้องโทษ สปสช. ที่ชี้แจงไม่เคลียร์
การผ่าตัดตาต้อกระจกที่ สปสช. ดำเนินการ ไม่ใช่การใช้เงินของชาติอย่างฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น อย่างที่ ดร.อานนท์ ระบุ สิ่งที่ ดร.อานนท์ ยกมามีการเข้าใจผิดอยู่มาก
สปสช. ขอยืนยันว่า ไม่มีการผ่าอย่างไม่สมควรผ่า ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะ รพ. ขาดทุน แต่อยากได้เงิน จึงไปเอาผู้ป่วยที่ยังไม่สมควรผ่ามาผ่า ทำไม่ได้ ผิดหลักเกณฑ์ ผิดระเบียบ ไม่ตรงตามคุณภาพและมาตรฐานอย่างที่สุด ที่ผ่านมาไม่มีการทำแบบนั้น อย่างที่เรียนให้ทราบแล้วว่า เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ไม่ใช่ใครนึกสนุกอยากทำอะไรก็ทำได้ เช่น นึกสนุกอยากผ่าตาเอามาเบิกตาต้อกระจกกับ สปสช. ก็ไปนำผู้ป่วยมาทำ ตานะครับ ไม่ใช่สิว ใครจะยอมให้ผ่ากันง่ายๆ ถ้าผู้ป่วยไม่มีปัญหาด้านการมองเห็น สปสช. ไม่ใช่สักแต่จ่ายเงินตามที่มีการ รพ. เบิกมาเท่านั้น แต่มีระบบการตรวจสอบเวชระเบียน (Medical Audit) อย่างเข้มข้น ที่ผ่านมา บอร์ด สปสช. ได้มีมติให้เรียกเงินคืนพร้อมค่าปรับไปยัง รพ. ที่มีการบันทึกข้อมูลเพื่อเบิกเงินชดเชยกับ สปสช. อันเป็นเท็จมาแล้ว
ดังนั้น ขอตอบว่า ไม่ได้เด็ดขาด เพราะมีระเบียบ กฎเกณฑ์รองรับ การจะใช้เงินที่มาจากภาษีของประชาชน ต้องมีหลักเกณฑ์มากมาย เงินจึงจะจ่ายไปได้ รพ. ที่ผ่าตาต้อกระจกได้ ต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐานการแพทย์ ไม่ใช่นึกอยากจะไปเอาผู้ป่วยที่ไหนมาผ่าก็ได้ โดยบอกว่าเพื่อแก้ปัญหาขาดทุน ส่วนที่บอกว่า “การผ่าต้อกระจกนั้นต้องรอให้ต้อสุกเสียก่อนจึงสมควรผ่าและผ่าได้ง่ายได้ ผลดี” ไม่เป็นความจริง ตามหลักเกณฑ์ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ หากเป็นตาต้อกระจกแบบสายตาเลือนรางรุนแรงปานกลาง ไม่ต้องรอให้ถึงสุกก็ควรต้องได้รับการผ่าตัดแล้ว หากอธิบายตรงนี้ก็จะยาวมากไปอีก โปรดดูเอกสารแนบ ที่เป็นรายงานข่าวจากผู้สื่อข่าวที่มาสัมภาษณ์ สปสช. ภายหลังจากที่ สปสช. ถูกโจมตีเรื่องนี้ หรือสืบค้นข่าว นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 30 ต.ค. 57 เรื่อง ปมร้อน สธ.- สปสช. เติมเต็มปฏิรูปสุขภาพ
หาก ดร.อานนท์ มีญาติที่มีปัญหาจากตาต้อกระจกสายตาเลือนรางรุนแรงปานกลาง ดร.อานนท์ จะพาญาติมาผ่า หรือจะต้องรอให้สุกก่อนจึงจะพามาผ่า ระหว่างที่รอให้สุก ก็ให้มีสายตาเลือนรางไปเรื่อยๆ เช่นนั้นหรือ เช่นนี้แล้ว ในการใช้ชีวิตประจำวันจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างไร”
บังเอิญว่าราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์การวิชาการและวิชาชีพของจักษุแพทย์หรือหมอตาทั้งประเทศไทย และมีความเชี่ยวชาญทางวิชาการจักษุแพทย์ได้ประชุมร่วมกันและมีความเห็นตามจดหมาย รจท.123/2557 ลงวันที่ 22 ก.ย. 2557 ดังนี้
ประเด็นปัญหา โครงการผ่าตัดต้อกระจก สปสช. (งบหมวดเฉพาะโรค) ความผิดพลาดเชิงนโยบาย (ตั้งใจหรือผิดพลาด) ที่มา : เป้าหมายขององค์การอนามัยโลกวางไว้ ในปี ค.ศ. 2020 ทุกประเทศมีอัตราตาบอด ไม่เกินร้อยละ 0.5 สำหรับประเทศไทยโดยการสำรวจตาบอดครั้งที่ 4 เมื่อปีพ.ศ. 2550 พบว่าประเทศไทยมีอัตราตาบอด ร้อยละ 0.59 หรือประมาณ 101,602 คน โดยในจำนวนนี้ มาจากต้อกระจกชนิดบอดตกค้าง (Backlog Blinding Cataract) จำนวน 98,336 คน หมายถึงมีต้อกระจกที่ตาบอดตกค้างอยู่ประมาณหนึ่งแสนคน เมื่อปี 2550 สปสช.เริ่มดำเนินโครงการเฉพาะโรค ผ่าตัดต้อกระจก ตั้งแต่ปี 2550 ราชวิทยาลัยจักษุยินดีที่มีผู้เห็นความสำคัญของการลดอัตราตาบอด โดยโครงการนี้ทำให้มีการรณรงค์ผ่าตัดต้อกระจกที่ตาบอดตกค้าง ซึ่งมีประมาณ 100,000 คน ประเด็นปัญหา : จนถึงปัจจุบันโครงการนี้สปสช.ยังคงดำเนินการอยู่ต่อ พบว่าจำนวนผู้ป่วยสิทธิ UC ได้รับการผ่าตัดต้อกระจกประมาณ 1,000,000 คน ใช้งปม.ไปแล้วกว่า 10,000 ล้านบาท ยังไม่มีการประเมินผลสำเร็จของโครงการนี้เลย ทั้งๆที่ใช้งบประมาณไปจำนวนมาก ในภาพรวมของประเทศไทยมีอัตราการผ่าตัดประมาณต่อปี ในสิทธิ UC 150,000 สิทธิเบิกได้ 45,000 และสิทธิประกันสังคม 10,000 รวมประเทศไทยมีการผ่าตัดต้อกระจกประมาณ 200,000 คนต่อปี (ไม่รวมรพ.เอกชน) ข้อเท็จจริง : อ้างอิงจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกWHO กรณีตาบอดจากต้อกระจก เห็นว่า ถ้าจะแก้ปัญหาตาบอด ควรมีอัตราการผ่าตัดต้อกระจกปีละ 84,500 ราย (1,300 รายต่อล้าน) แต่ถ้าจะแก้ปัญหาสายตาเลือนลางจากต้อกระจก ต้องมีการผ่าตัดปีละ 150,000 ราย (2,300 รายต่อล้าน) หมายความว่า การผ่าตัดต้อกระจกในประเทศไทยปัจจุบันปีละ 200,000 ราย ในขณะที่ความจำเป็นแก้ปัญหาตาบอดต้องการให้มีผ่าตัดต้อกระจกแค่ปีละ 84,500 ราย หรือจะเพิ่มคุณภาพโดยการผ่าตัดต้อกระจกในกลุ่มสายตาเลือนลางก็ต้องการผ่าตัดเพียงปีละ 150,000 ราย แสดงว่า โครงการที่สปสช.ทำอยู่นี้ เป็นการใช้งปม.เกินความจำเป็นของประเทศไทยในขณะนี้ ผ่าตัดต้อกระจกมากเกินปีละ 50,000 ราย หรือใช้งปม.เกินความจำเป็นประมาณปีละ 500 ล้านบาท (ดำเนินการมาแล้ว 7 ปี รวมประมาณ 3,500 ล้านบาท) เหตุผลที่สปสช.ยังคงดำเนินการโครงการที่ไม่คุ้มค่าต่อไป มีวัตถุประสงค์อะไร ในโครงการผ่าตัดต้อกระจกของสปสช.มีการเปิดให้มีการผ่าตัดต้อกระจกเชิงรุกโดยภาคเอกชน โดยหวังว่าช่วยลดภาระของรพ.รัฐและลดระยะเวลารอคอยผ่าตัด ซึ่งผลการลดเวลารอคอยผ่าตัดได้ผลดี แต่เกินจำเป็นและไม่มีประสิทธิภาพยังคงต้องการ คำอธิบาย เมื่อดูรายละเอียดของการจัดสรรงปม.ที่มีการเรียกเก็บจากการผ่าตัดต้อกระจกในโครงการสปสช. พบว่า ประมาณ 35% ของผู้ป่วยที่ผ่าตัดทั้งหมด ได้รับการผ่าตัดโดยทีมเชิงรุกของรพ.เอกชน โดยเฉพาะเครือรพ.เอกชนแห่งหนึ่งมีการผ่าตัดประมาณ 25% หรือประมาณปีละ 30,000 กว่าราย เป็นเงินเรียกเก็บจากสปสช.ประมาณปีละ 300 กว่าล้านบาท ในแวดวงจักษุแพทย์ขณะนี้สงสัยว่านโยบายที่โครงการนี้ยังดำเนินการอยู่โดยไม่ปรับเปลี่ยน มีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ โดยเฉพาะประธานกก.โรงพยาบาลบางแห่ง มีส่วนในคณะกรรมการของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วยหรือไม่ ถือว่ามี conflict of interest หรือเปล่า อีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนว่า โครงการนี้ของสปสช.ไม่ได้แก้ปัญหาตาบอดของประเทศไทยเลย คือผลการวิจัยสำรวจภาวะตาบอดของประเทศไทยปีพ.ศ. 2556 โดย อ.ภูวัติ ได้ทำวิจัยทั่วประเทศ พบว่า อัตราตาบอดของประเทศไทยยังคงเท่ากับเมื่อปีพ.ศ. 2550 คือ 0.6% นั่นหมายความว่า เงินงปม.ที่สปสช.ใช้ในโครงการนี้กว่า 10,000 ล้านบาท มิได้ลดอัตราตาบอดของคนไทยลงแม้แต่น้อย นอกจากประเด็นการใช้งปม.ไม่มีประสิทธิภาพ เอื้อผลประโยชน์ให้บางกลุ่ม ยังมีประเด็นปัญหาที่พบอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ คือ ปัญหาภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต้อกระจกของทีมเชิงรุกภาคเอกชน จักษุแพทย์ในรพ.รัฐหลายแห่งต้องรับภาระคอยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นการติดเชื้อจากการผ่าตัดต้อกระจก แนวทางแก้ปัญหา : ราชวิทยาลัยจักษุแห่งประเทศไทยเห็นถึงปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของโครงการนี้ และปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชน ทั้งเรื่องความเสี่ยงจากการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ราชวิทยาลัยจักษุฯได้ออกหนังสือถึงสปสช. เพื่อขอให้ระงับโครงการผ่าตัดต้อกระจกเชิงรุกของสปสช.ไว้ก่อน |
ผู้เขียนได้รับทราบมาจากแหล่งข่าว จักษุแพทย์ กล่าวว่าสถานการณ์ต้อกระจกในประเทศไทยน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ยืนยันได้จาก การที่ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบมี ผู้ป่วยต้อกระจกชนิดบอดที่ตกค้างอยู่ถึง 70,000 ราย www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000061237
หมายความว่าโครงการต้อกระจกของ สปสช. นอกจากจะผ่าตัดเกินจำเป็นแล้วยังไม่ครอบคลุมผู้ป่วยต้อกระจกที่ต้องการการรักษาอีกถึง 70,000 ราย แหล่งข่าว ซึ่งข้อมูลนี้ตรงกับ ผลการวิจัยสำรวจภาวะตาบอดของประเทศไทยในปี 2556 พบว่า อัตราตาบอดของประเทศไทยยังคงเท่ากับเมื่อปี พ.ศ. 2550 คือ 0.6 เปอร์เซ็นต์นั่นหมายความว่า งบประมาณที่ใช้ในโครงการ ของ สปสช. ไม่ได้ลดอัตราตาบอดของคนไทยลงแม้แต่น้อยเลย จักษุแพทย์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระบวนการวินิจฉัยก่อนรับการรักษาน่าจะมีปัญหา เพราะสปสช. จะส่งรถมารับชาวบ้านที่อายุมากและตามัวในแหล่งชุมชน แล้วนำผู้ป่วยเข้ารับการวินิจฉัยและรักษาที่โรงพยาบาลที่ประมูลโครงการได้เช่น โรงพยาบาลเอกชน ศุภมิตร ดังนั้นเนื่องจากการวินิจฉัยต้องใช้เครื่องมือในโรงพยาบาลน่าจะมีผู้ป่วยหลายรายที่ต้องเดินทางหลายชั่วโมงข้ามหลายจังหวัดมาถึงโรงพยาบาลที่รับเหมาผ่าตัดแต่ปรากฏว่าการตรวจกรองก่อนขึ้นรถอาจจะผิดและผู้ป่วยไม่ได้ตามัวจากต้อกระจก นอกจากนี้การที่ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย บอกว่ามีผู้ป่วยต้อกระจกตกค้างแสดงว่า สปสช.คงจะตรวจกรองไม่ทั่วถึง แหล่งข่าว จักษุแพทย์ ยังกล่าวต่ออีกว่า รู้สึกวางใจขึ้นที่การผ่าต้อกระจกตกค้าง กระทรวงสาธารณสุข จะทำเองเพราะ กระทรวงสาธารณสุขมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญพร้อมและเข้าถึงชาวบ้านมากกว่า เชื่อว่าจะครอบคลุมผู้ป่วยต้อกระจกทุกรายและไม่เกิดกรณีผ่าตัดโดยไม่มีข้อบ่งชี้อีก นอกจากนี้ถ้ามีความผิดพลาดจากการผ่าตัดเกิดขึ้นแพทย์ผู้ผ่าตัดย่อมจะแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า ต่างจากโครงการของ สปสช. ที่ผู้ป่วยไม่มีเงินค่าเดินทางไปรับการรักษาแก้ความผิดพลาดจากการผ่าตัดที่ โรงพยาบาลรับเหมาของ สปสช.
ครูแพทย์ (ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย องคมนตรี) ของผู้เขียนคนที่สอง มักจะย้ำเตือนเสมอๆว่า หลักจริยธรรมทางการแพทย์ ข้อแรกที่ต้องยึดถือคือ “First of all do no harm” หมายความว่า “สิ่งแรกที่แพทย์ต้องคำนึงถึงคือห้ามทำร้ายผู้ป่วย” เพื่อนแพทย์ของผู้เขียนยังให้ความเห็นอีกว่า การผ่าตัดไม่ว่าจะปลอดภัยแค่ไหนก็ไม่มีที่ปลอดภัย ๑๐๐% ดังนั้นการที่ประเทศไทยมีการผ่าต้อกระจกเกินความต้องการไปประมาณ 5 หมื่นรายต่อปี หมายความว่า มีความเป็นไปได้ที่โครงการนี้ได้ทำร้ายคนไทยโดยการผ่าตัดที่เกินจำเป็นไปแล้วนับแสนราย เมื่อผู้เขียนค้นคว้าเพิ่มเติมก็พบว่า การผ่าตัดต้อกระจกจะพบความผิดพลาดได้หลายรูปแบบ เช่น อาจพบติดเชื้อ จอตาและเส้นประสาทบวม เลือดออก และเยื่อหุ้มเลนซ์ฉีกขาด (โปรดดูรูปประกอบ) [REF1] ความผิดพลาดนี้บางครั้งรุนแรงถึงตาบอดได้ การศึกษาขนาดใหญ่ในประเทศออสเตรเลีย [REF2] พบผลข้างเคียงรุนแรง เช่น จอตาหลุด เลนซ์หลุดฝังใน แผลผ่าตัดแตก กระจกตาขุ่นบวม เลนซ์เคลื่อน และติดเชื้อที่ต้องผ่าตัด ได้ ร้อยละ 1.6 จึงเป็นที่น่ากังวลว่า “สปสช. อาจได้ทำให้คนไทยที่ไม่สมควรต้องผ่าต้อกระจกเข้ารับการผ่าตัดนับหมื่นรายต่อปีเป็นเวลาหลายปี หมายความว่าถึงแม้การผ่าตัดของแพทย์จะพัฒนาขึ้นมีผลข้างเคียงน้อยลงแต่ก็น่าจะมีความเสี่ยงที่ได้มีผู้ป่วยโรคทางตาจากการผ่าตัดเพราะโครงการนี้แล้วนับหมื่นนับพันราย”
ทางด้านกฎหมาย พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ให้ความเห็นว่า “ที่ว่าไม่ผิดกฎหมายนั้นไม่จริง มันผิดกฎหมายที่เอาเงินไปสนับสนุนรพ.เอกชนให้มารับจ้างผ่าตัด โดยไม่ไปตรวจสอบว่ารพ.เหล่านั้นทำตามมาตรฐานการแพทย์และจริยธรรมหรือไม่ กล่าวคือ ผู้ป่วยยังไม่สมควรผ่าหรือไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้เป็นต้อกระจกก็เอามาทำ และเมื่อทำแล้ว เพราะผู้ป่วยก็มีภาระในการเดินทางการติดตามดูแลรักษาต่อจึงถูกผลักภาระให้หมอรพ.ราชการดูแลต่อ แต่รพ.เอกชนรับเงินค่ารักษาไปเต็มๆ”
ถ้าผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการออกมาเตือนขนาดนี้ว่าให้ระงับโครงการ แต่สปสช ยังดันทุรังที่จะทำต่อไปโดยคิดว่ามีอำนาจและมีเงินงบประมาณอยู่ในมือ การกระทำดังกล่าวไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต่อโครงการรับจำนำข้าว ที่สร้างความเสียหายหลายแสนล้านให้กับรัฐและประเทศชาติ แม้ว่ากระทรวงการคลัง ปปช และผู้มีความรู้จำนวนมากได้ออกมาตักเตือนแล้วก็ตาม
การที่สปสช เลือกที่จะโกหกและลากประชาชนมาเป็นข้ออ้างเป็นเกราะคุ้มครองตัวเองก็ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เอาชาวนามาเป็นตัวประกัน
สปสช ยังแถลงว่า“ในข้อเท็จจริงพบว่า มีกรรมการ สปสช.เป็นผู้บริหารมูลนิธิ ชมรมต่างๆ ที่ได้รับเงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จริง แต่เป็นเพียงการลงนามในสัญญาในฐานะผู้บริหารตามกฎหมาย ไม่พบการได้ผลประโยชน์ตอบแทนจากเงินเดือน ค่าจ้าง หรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นใด นอกเหนือจากเบี้ยประชุมตามปกติเท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้ สปสช. ได้ส่งให้หน่วยงานที่กำลังตรวจสอบตามกฎหมายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
การขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่ได้เป็นเรื่องของเงินเดือน ค่าจ้าง แค่อำนาจ บารมี การหาเสียงทางการเมือง การเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้อง แก่กัน ก็เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์แล้วนะครับผม เรื่องนี้ สปสช ไม่ได้ทำผิดกฎหมาย แต่ทำผิดหลักจริยธรรม เรียกว่าวิบัติทั้งจริยธรรมและตรรกะ
ผมขอยกคำวินิจฉัยของนายประเสริฐ นาสกุล ประธานศาลรัฐธรรมนูญผู้จากไปซึ่งได้วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในกรณีตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นักโทษชายหนีคดี ดร. ทักษิณ ชินวัตร ในคดีซุกหุ้นอันเป็นอมตะเอาไว้ว่า
“หัวใจของการเมือง คือ ความไม่เห็นแก่ตัว หากเห็นแก่ตัวและพรรคของตัวแล้ว จะเห็นแก่มวลชนได้อย่างไร ดังนั้น นักการเมืองควรมีศีลธรรม ยึดถือธรรม บูชาธรรมยิ่งกว่าคนธรรมดา เมื่อเราทราบดีว่า การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมปัจจุบันมีปัญหาที่ต้องแก้ไข หากผู้ที่อาสาเข้ามายังจะใช้วิธีการเดิมๆ อีก ย่อมจะแก้ไขไม่ได้ เพราะปัจจุบันเป็นผลของอดีต และจะเป็นเหตุของอนาคต ต้องคิดให้ดี พูดให้ดี และทำให้ดี ในอนาคตจึงจะมีความหวังได้ มิฉะนั้น ผู้สนับสนุนผู้ถูกร้อง (พ.ต.ท.ทักษิณ) จะต้องผิดหวังในที่สุด”
สปสช เป็นแหล่งรวมคนฉลาด เมื่อคนฉลาดทำย่อมแนบเนียนไม่มีอะไรผิดกฎหมายครับผม แต่ผิดต่อสามัญสำนึกและจริยธรรมหรือไม่ ก็ขอให้ตอบคำถามสังคมให้ได้ก็แล้วกัน
ฝากทิ้งท้ายด้วยพุทธพจน์ที่ว่า
“คนโกหก ไม่ทำชั่ว ไม่มี”
Reference :
1. รูป ผลข้างเคียงจากการผ่าต้อกระจก
http://webeye.ophth.uiowa.edu/eyeforum/atlas/pages/post-op-cataract-complications.html
2. Clark, A., N. Morlet, et al. (2011). "Whole Population Trends in Complications of Cataract Surgery over 22 Years in Western Australia." Ophthalmology 118(6): 1055-1061.