xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ดื้อ! ทำนาปรัง เตรียมรับกรรม “น้ำ” สำหรับบริโภคเท่านั้น คำเตือนจาก “ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆสำหรับ “วิกฤตการณ์ภัยแล้งปี 2563” ซึ่งเริ่มเห็นแล้วว่าภาคการเกษตรในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำ ข้าวยืนต้นตาย ซ้ำร้ายสถานการณ์ “น้ำประปาเค็ม” อันสืบเนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงจนเกิดภาวะน้ำเค็มรุกชนิดรุนแรงผิดปกติ แถมมวลน้ำในเขื่อนใหญ่ที่ปล่อยมาผลักดันน้ำเค็ม ยังถูกลอบสูบน้ำระหว่างทาง ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตเข้าไปใหญ่

แน่นอนว่า สังคมพุ่งเป้าไปที่ “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)” ที่มี “บิ๊กป้อม - พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นโต้โผใหญ่ดูแลสารพันปัญหาน้ำ พร้อมกับถูกเพ่งเล็งว่า สทนช. จะจัดการแก้ไขภัยแล้งอย่างไร? จะกู้วิกฤตเมืองไทยให้ข้ามผ่านปัญหาภัยแล้งซ้ำซากที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีได้หรือไม่? ขณะที่งบประมาณแก้ปัญหาน้ำแล้งนับพันๆ ล้าน สังคมกำลังปรามาสถูกละลายไปกับน้ำ

สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ ร่วมพูดคุยกับ “ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์” เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ถึงเบื้องลึกของวิกฤตน้ำแล้ง-น้ำประปาเค็ม ความท้าทายในการบริหารน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้ง แนวทางสร้างความยั่งยืนในการแก้ปัญหาภัยแล้ง

- สทนช. ประเมินสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2563 เอาไว้อย่างไร
เราประเมินพื้นที่จะประสบปัญหาภัยแล้งเพิ่มมากขึ้น พื้นที่ที่มีปัญหาพบว่าพื้นที่ภาคกลาง บริเวณท้ายเขื่อนภูมิพล และท้ายเขื่อนสิริกิติ์ ลงมาจนกระทั่งเขื่อนเจ้าพระยา และกรุงเทพมหานคร พื้นที่ตรงนี้ต้องบริหารน้ำร่วมกัน โดยอาศัย 4 เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สำหรับ 2 เขื่อนหลัง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำไม่มากนัก

ฉะนั้น พื้นที่ภาคกลางจะพึ่งปริมาณน้ำ 2 เขื่อนใหญ่ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ โดยจะมีการจัดสรรน้ำให้ครอบคุลมถึงเดือน มิ.ย. 2563 ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่สามารถใช้ในการอุปโภคได้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถใช้การเกษตรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวนาปรัง ไม่สามารถปลูกข้าวรอบที่ 2 ได้
ก่อนหน้านี้ กรมชลประทานประกาศแผนไม่ให้มีการปลูกข้าวในลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด ไม่ส่งน้ำสนับสนุนการทำนาทำเกษตรนอกแผน แต่พบว่ามีพื้นที่ลอบปลูกข้าวรอบที่ 2 กว่า 3 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อาจจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในอนาคตโดยไม่สามารถป้องกันหรือหลีกเลี่ยงได้ ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องในลุ่มน้ำเจ้าพระยามีจำนวน 1.1 ล้านไร่ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเดือน ก.พ. นี้ ไม่มีปัญหาอะไร

ต้องบอกว่าลุ่มน้ำเจ้าพระยามีความน่าเป็นห่วง เพราะมีการดึงน้ำออกไปใช้เพื่อการอื่นๆ ไม่ใช่เพื่ออุปโภคบริโภคตามแผน มีการใช้น้ำเกินแผนที่วางไว้ทุกเดือนมีการใช้น้ำเกินแผน 4 เปอร์เซ็นต์ มีการปลูกข้าวเพิ่มต่อเนื่อง ทำให้ระหว่างทางที่มีการปล่อยน้ำเข้าในระบบชลประทาน มีการลักลอบสูบน้ำไปใช้จำนวนมาก ซึ่งเราสำรองน้ำก้อนนี้สำหรับอุปโภคบริโภคและการปลูกข้าวนาปีเท่านั้น

- ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์ภัยแล้งวิกฤตหนักสุดช่วงเดือนไหน
ต้องเข้าใจว่า ภาวะน้ำแล้ง ดูจากปัจจัย 2 อย่าง อย่างแรก ต้นทุนปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ ซึ่งพบว่าปริมาณน้ำของเราน้อยกว่าปี 2562 แต่ยังมากกว่าปี 2558 ซึ่งจัดว่าเป็นปีที่เราประสบปัญหาพอสมควร อย่างที่สอง ปริมาณน้ำฝน ที่ผ่านมามีปริมาณค่อนข้างน้อย น้อยเป็นอันดับ 2 รองจากปี 2522 ซึ่งวิกฤติารณ์ครั้งนี้ ปี 2563 เนื่องมาจากฝนน้อยจริงๆ

ทีนี้ เราต้องบริหารจัดการนำน้ำที่มีอยู่ ซึ่งน้ำในเขื่อนยังมากกว่าปี 2558 เพียงแต่ว่ามันมีประเด็นปัจจัยเรื่องความเค็ม ที่เกิดผลกระทบมาจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ บวกกับอิทธิพลพายุพานทองช่วงเดือน ธ.ค. 2562 ทำให้ระดับน้ำทะเลเกิดการยกตัวสูงขึ้นมากกว่าเดิม ทำให้ลิ่มความเค็มพัดเข้าสู่อ่าวตัว ก.ไก่ กระแทกมาสถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี ทำให้ปริมาณความเค็มสูงถึง 2.1 กรัมต่อลิตร (ข้อมูลวันที่ 28 ธ.ค.2562) สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานเพื่อผลิตน้ำประปา 0.50 กรัมต่อลิตร เกือบ 5 เท่า

ถามว่าผลกระทบสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้จะรุนแรงแค่ไหน ต้องบอกว่าความเสี่ยงประการหนึ่งที่อาจทำให้ปริมาณน้ำถูกใช้มากกว่าเดิม คือ การปลูกพืชนอกเหนือแผนในลุ่มเจ้าพระยาทั้งหมด จะมีเห็นว่ามีการปลูกมากกว่าแผนถึง 3 ล้านไร่ โดยเฉพาะภาคเกษตรจะส่งผลกระทบอย่างชัดเจนในช่วงเดือน มี.ค. - เม.ย. หมายความว่าตอนนั้นต้นข้าวอาจกำลังรอออกผล พืชพรรณกำลังเบ่งบานขึ้นมา ทำให้ความต้องการใช้น้ำอาจมีปริมาณสูงขึ้น ประกอบกับช่วงเดือน เม.ย. ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูง ที่สำคัญปริมาณการระเหยสูงขึ้นด้วย ฉะนั้น จะเกิดสถานการณ์ปริมาณน้ำที่จัดส่งเข้ามาในระบบ อาจจะสูญหายไประหว่างทาง ก่อนที่จะถึงเป้าหมายไปค่อนข้างมาก ในส่วนนี้ สทนช. ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พยายามดำเนินการป้องกันไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำสำรองที่มีเพียงพอตามที่เรากำหนดไว้ครับ

- ชัดเจนว่าภาคเกษตรได้รับผลกระทบโดยตรง ขณะที่น้ำสำรองมีไว้สำหรับอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอตลอดหน้าแล้ง แต่ตอนนี้เกิดปัญหาประปาเค็มขึ้น สทนช. มีแนวทางจัดการอย่างไร
ในภาคอุปโภคบริโภคมีผลกระทบบ้างในบางพื้นที่ เรื่องคุณภาพน้ำเค็ม เป็นผลพวงหากมีการนำน้ำออกไปใช้นอกระบบมากขึ้น ความเค็มก็อาจจะมากขึ้น ต้องเข้าใจกลไกแก้ปัญหาน้ำเค็มที่เกิดขึ้นว่า เมื่อน้ำทะเลหนุนสูง กรมชลประทานจะระบายจากเขื่อนเจ้าพระยา 90 ลบ.ม. ต่อ วินาที เพื่อส่งลงมาดันน้ำเค็ม ที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี รวมถึงจะผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ส่งต่อคลองพระยาบันลือ 20 - 24ลบ.ม. ต่อ วินาที เพื่อช่วยดันน้ำเค็มด้วย แม้จะมีการส่งน้ำจืดดันน้ำเค็ม แต่ก็ยังประสบปัญหาน้ำประปาเค็มอยู่นั้น เพราะระหว่างทางมีน้ำบางส่วนหายไปจากระบบ หมายความว่ามีการลักลอบสูบน้ำตามจุดต่างๆ ไปใช้นอกระบบ

จะเห็นว่าน้ำประปาเค็มเป็นช่วงๆ ยกตัวอย่าง ช่วงเช้าปริมาณความเค็มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ช่วงบ่ายอาจจะสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เป็นไปในลักษณะนี้ โดยเฉพาะวันที่ 8 - 15 ม.ค. 2563 ซึ่งจะมีระดับน้ำทะเลค่อนข้างสูง

สิ่งที่เราพยายามปรับ ณ ขณะนี้ เราโยกนำน้ำมาใช้ในการประปา โดย การประปานครหลวง (กปน.) กรมชลประทาน (ชป.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำงานร่วมกันมีแนวทางผลักดันกลุ่มน้ำแม่กลองซึ่งมีปริมาณน้ำเพียงพอ สำหรับฤดูแล้วนี้ไปถึงต้นฤดูฝนหน้า เราได้จัดสรรน้ำจากแม่น้ำแม่กลองโควตา 500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ตั้งแต่ พ.ย. 2562ถึง ปัจจุบัน มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 200 ลบ.ม. ซึ่งยังอยู่ในโควตา เพื่อละลายน้ำเค็มที่คาดว่าจะรุกเข้ามามากขึ้นในเดือน ม.ค. - ก.พ. 2563

และเราจะเพิ่มอัตราการระบายน้ำ ด้วยสาเหตุ 2 ประการ หนึ่ง - เพื่อผลิตน้ำประปา ทดแทนน้ำประปาที่มาจากฝั่งตะวันออกลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยจุดรับน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี เป็นจุดรับน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาของ กปน. ที่เผชิญน้ำทะเลหนุนสูงทะลักจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาย้อนขึ้นมา ส่งผลให้น้ำประปาเค็ม สอง - ชะลอความเค็มของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เราพยายามดึงน้ำลุ่มน้ำแม่กลอง ผ่านแม่น้ำท่าจีน เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เชื่อว่าจะมีผลกระทบชะลอลิ่มความเค็ม เพื่อไม่ให้รุกเข้าไปข้างในปากแม่น้ำถึง จุดรับน้ำดิบสำแล ที่ตั้งอยู่ไกลปากอ่าวไทยกว่า 96 กม. อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการวางแผนป้องกันในระยะ 1 - 2 เดือนข้างหน้า

อีกมาตรการที่วางไว้คือ การสูบน้ำบาดาล ซึ่งขณะนี้ กปน. ได้การสนับสนุนจากทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีการกำหนดพื้นที่ขุดเจาะบ่อบาดาล ภายใน มี.ค. - เม.ย. นี้ จะมีน้ำบาดาลเข้ามาสนับสนุนในฐานะที่เป็นน้ำประปานครหลวงได้ ความเค็มต่างๆ ก็จะลดน้อยถอยลงไปได้ เป็นประเด็นที่เราพิจารณาร่วมกันหลายๆ ฝ่ายครับ

- ภาพรวมของสถานการณ์น้ำในเขื่อนเป็นอย่างไรบ้าง
ตามข้อมูลของ สทนช. พบว่า เขื่อนขนาดใหญ่ 14 แห่ง มีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% คือ เขื่อนแม่กวง เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่มอก เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนหนองปลาไหล

กลุ่มลุ่มน้ำที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำน้อยที่สุด คือ ภาคกลาง คือ เขื่อนกระเสียว และเขื่อนทับเสลา มีอยู่เพียง 28 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในภาคเหนือที่มีปริมาณน้ำน้อยตามลงมาอยู่ที่ประมาณ 44 เปอร์เซ็นต์ ในภาคตะวันออกมีอยู่ประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์ ภาคอีสานประมาณ 53 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในหน่วยภาคตะวันออก กลุ่มของแหล่งเก็บน้ำ กลุ่มของชลบุรี และกลุ่มของระยอง อย่างกลุ่มของชลบุรีตอนนี้อาจจะมีกระแสความเค็มมาบ้าง แต่สามารถลดความเค็มลง เพราะในภาคตะวันออก ฉะเชิงเทรา น้ำที่เขื่อนขุนด่านปราการชล มาสนับสนุนไล่น้ำเค็มได้ แต่กลุ่มจังหวัดที่อาจมีปัญหาหากมาตรการไม่ดี คือ ระยอง จากการประเมินเบื้องต้นน้ำอุตสาหกรรมไม่มีปัญหาอะไร แต่ส่วนหนึ่งมีการแชร์จัดสรรน้ำร่วมกับภาคเกษตรก็อาจจะได้รับผลกระทบอาจต้องมีการโยกน้ำจากเหมืองต่างๆ หรือหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วย

- สำหรับการจัดสรร น้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร น้ำสำหรับอุตสาหกรรม มีแนวทางดำเนินการอย่างไร
นอกเหนือจากอ่างเก็บน้ำที่มีการจัดสรรน้ำ ต้องมีน้ำเพียงพอตลอดต้นฤดูฝนที่กำลังจะมาเยือนแล้ว อ่างเก็บน้ำบางแห่งมีการส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น ได้แก่หลัก เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนลำตะคอง บางแห่งสามารถเพาะปลูกได้เป็นบางส่วน บางส่วนไม่สามารถใช้ในการเกษตรได้

การจัดสรรน้ำได้จัดสรรน้ำตามความต้องการปริมาณน้ำที่มีอยู่เท่านั้น หมายความว่าจะขาดแคลนน้ำก็ต่อเมื่อมีการใช้น้ำมากกว่าแผน ขณะที่ภาคเกษตรในพื้นที่ภาคกลางพบว่ามีการใช้น้ำมากกว่าแผน มีผลเกิดภาวะขาดแคลนน้ำได้ ดังนั้น เรามีการจัดระดับความสำคัญ สำรองน้ำก้อนนี้สำหรับอุปโภคบริโภค ซึ่งมีการจัดสรรน้ำครอบคลุมไว้แล้ว เพียงแต่ภาคกลางอาจจะได้รับผลกระทบบ้างเรื่องความเค็ม

ส่วนเรื่องของน้ำในอุตสาหกรรม ไม่มีปัญหาใดได้จัดสรรไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในภาคการเกษตรจะได้รับผลกระทบในภาคกลาง จะเห็นว่าน้ำเป็นส่วนใหญ่มาจากภาคเหนือ ซึ่งมีประกาศกระทรวงเกษตรฯ ว่า จะไม่สนับสนุนส่งน้ำในภาคการเกษตรปลูกข้าวรอบ2 ที่มีการปลูกกันมากกว่า 3 ล้านไร่ บางแห่งอยู่นอกเขตชลประทานมีการปลูกข้าวเยอะมาก แถวๆ จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา

เหล่านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามสร้างความเข้าใจว่า ต่อไปนี้จะมีการควบคุมพื้นที่นาปรังไม่ให้เกิดขึ้นอีกในหน้าแล้ง นอกจากนี้ พื้นที่ที่มีการทำเกษตรนอกแผนไปแล้วต้องหามาตรการให้คงอยู่ให้ได้ ซึ่งอาจมีบางแห่งได้รับผลกระทบ กระทรวงเกษตรฯ อาจต้องหามาตรการสำรองเพื่อรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตครับ

- ชาวบ้านทำนาปรังทั้งที่ทราบว่าถึงความเสี่ยงภัยแล้ง และรัฐประกาศไม่สนับสนุนน้ำเพื่อการเกษตร
ครับ การทำนาเป็นอาชีพหลักของเกษตรกร บางแห่งจะเห็นว่าทำนาปรังโดยทรัพยากรที่อาจจะเช่าพื้นที่ สาเหตุที่ทำนาปรัง เพราะฤดูฝนบางแห่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ มีหนองน้ำธรรมชาติรองรับได้ จะเห็นว่าในเพาะปลูกช่วงฤดูฝน เดือน มี.ค. ช่วงเก็บเกี่ยวจะไม่ได้รับผกระทบ แต่นาปรังเกิดใหม่หลัง พ.ย. ปรากฏว่าเกษตรกรปลูกตามความเสี่ยง แม้หน่วยราชการจะประกาศออกมาแล้วว่าปริมาณน้ำไม่เพียงพอสนับสนุน ซึ่งตรงนี้อาจได้รับผลกระทบ

ถามว่าทำไมถึงปลูกข้าวทั้งๆ ที่เสี่ยงภัยแล้ง เกษตรกรต้องทำการเพาะปลูกถึงมีแม้มีความเสี่ยงครับ ซึ่งจำนวนหนึ่งเขามีแหล่งน้ำของตัวเอง แต่เดือน มี.ค. เม.ย. อาจจะกระทบกระเทือนภาคใหญ่ เพราะว่าน้ำที่มีอยู่น้ำธรรมชาติน้ำลุ่มต่ำอาจจะไม่เพียงพอแล้ว เพราะฉะนั้นเกษตรกรอาจต้องดึงจากระบบใหญ่ ดังนั้น รัฐอาจต้องมีมาตรการเข้มข้นตรวจสอบ ซึ่งจริงๆ เราได้กำหนดแล้วในขั้นตอนปฏิบัติ ดังนั้น คงต้องยอมรับในเรื่องผลกระทบที่ไม่สามารถจัดสรรน้ำให้ได้ เพราะว่าเราต้องอยู่กับน้ำก้อนนี้ไว้ใช้ต่อเนื่องโดยเฉพาะการอุปโภคบริโภคให้ถึงกลางฤดูฝนปีนี้

- สถานการณ์น้ำเค็มอันเนื่องมาจากน้ำทะเลหนุนสูง ก่อให้เกิดผลกระทบกับภาคเกษตรอย่างไร พื้นที่ไหนบ้าง แล้วเกษตรกรแล้วต้องเตรียมรับมืออย่างไร
น้ำเค็มเกิดขึ้นตามธรรมชาติ เป็นปรากฏการณ์อิทธิพลของลมพายุ ครั้งนี้สืบเนื่องจากปลายปี 2562อิทธิพลจากพายุพานทอง ปรากฏว่าลิ่มความเค็มขึ้นสูงมาก ถึง 2.1 กรัมต่อลิตร สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานเพื่อผลิตน้ำประปา 0.50 กรัมต่อลิตร และไม่เคยมีปรากฏความเค็มขนาดนี้

เกิดจากอิทธิพลพายุกระแสลมเกิดการยกตัวของระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งปีก่อนๆ ไม่ปรากฏลักษณะนี้ ซึ่งความเค็มโดยปกติจะเกิดช่วงเดือน ก.พ. - มี.ค. - เม.ย. เป็นส่วนใหญ่ ไม่เคยเกิดผลกระทบรุนแรงดังเช่นพายุที่เกิดขึ้น

เนื่องจากเกิดน้ำยกตัวสูง ทำให้ลิ่มความเค็มรุกน้ำเจ้าพระยามากกว่า 100 กม. คลองบางกอกน้อย คลองบางกรวย คลองนนทบุรี รวมถึงบริเวณคลองจินดา ที่ประชาชนทำสวนกล้วยไม้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบทั้งหมด

ฉะนั้น เรามีการบริหารจัดการน้ำใช้โดยกรมชลประทานจะหาทางนำน้ำมาจากลุ่มน้ำแม่กลอง เพื่อชะลอและผลักดันน้ำเค็ม ซึ่งจะช่วยยับยั้งได้อย่างเห็นผล ประสานความร่วมมือกับหลายฝ่ายติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ ขณะที่กรมชลประทานติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 30 เครื่อง แถวๆ คลองพระยาบันลือ ขณะที่คลองพระวิมล ดึงน้ำจากแม่น้ำท่าจีน เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความคดเคี้ยวและเป็นจุดที่เกษตรกรอาจสูบน้ำกันได้ ส่วนคลองประปาดำเนินการโดย กปน. ได้มีการลำเลียงน้ำจากแม่กลองสู่ประปา เมื่อผลักดันน้ำแล้วจะเข้าสู่คลองบางกอกน้อย คลองบางกรวย ให้เครื่องผลักดันน้ำช่วยเร่งผลักดันน้ำจืดเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาให้ลิ่มความเค็มลดลงไป เป็นมาตรการหนึ่งในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและชาวกรุงเทพฯ ปริมณฑล

- กรณีลิ่มความเค็มกระทบแหล่งรับน้ำดิบสำหรับทำประปา สนทช. ประเมินสถานการณ์ไว้อย่างไร
ในช่วงวันที่ 8- 15 ม.ค. 2563ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้น เรียกว่า น้ำตาย หมายความว่าน้ำทะเลขึ้นสูงแต่เวลาลงลงเพียงชั่วครู่เดียวแล้วก็ขึ้นสูงอีก ฉะนั้น ลิ่มความเค็มก็ยังคงอยู่ ส่วนการแก้ปัญหาของ กปน. และกรมชลประทาน พยายามระบายน้ำจากตอนบนดันเข้าสู่ตอนท้ายลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 70 - 90 ลบ.ม.ต่อวินาที ผนวกกับปริมาณน้ำที่อยู่ทางตอนล่างประมาณ 100 ลบ.ม. ก็จะช่วยให้น้ำบางส่วนชะลอความเค็ม คาดว่ากลาง ม.ค. - กลางเดือน ก.พ. ลิ่มความเค็มจะขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้ แต่เมื่อเราผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมากขึ้น ความเค็มก็จะลดลงในพิกัดที่ยอมรับได้ อยู่ในระดับที่เหมาะสมครับ

- สถานการณ์ประปาเค็มที่กำลังส่งผลกระทบต่อประชาชน สทนช. มีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร
เรียนอย่างนี้ครับ กระบวนการผลิตน้ำประปาก่อนที่จะนำไปดื่มไปใช้ มีมาตรการกลั่นกรองกลั่นด้วยระบบพิเศษลดอันตรายที่อาจมีผลแทรกซ้อน ซึ่งน้ำประปาบางส่วนอาจมีรสกร่อยบ้าง แต่เพื่อความสบายใจประชาชนก็อาจจะซื้อน้ำที่มีการกลั่นการกรองที่ไม่มีความเค็มไม่เจือปนในน้ำดื่มได้

อย่างที่กล่าวในข้างต้น ปริมาณน้ำทางฝั่งตะวันตกเรามีอยู่จำนวนมาก น้ำประปาผลิตจากตะวันตกเป็นน้ำสะอาด ซึ่งทางการประปาฯ ก็มีมาตรการแจกจ่ายประชาชนลดผลกระทบด้วย และที่สำคัญ หลังจาก 15 ม.ค. ความเค็มลดลง ซึ่งเราจะพยายามดันให้ลิ่มความเค็มให้ถอยกลับไปให้ได้ เป็นความพยามของทุกหน่วยงานที่ทำอยู่ เชื่อว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ ถ้ากระแสน้ำจากแม่กลองผันมามากขึ้น ประมาณ ก.พ. มี.ค. จะลดระดับความเค็มลงไป และจะให้ลดระดับถึงขั้นไม่มีความเสี่ยงเลยก็คือช่วงฤดูฝน เดือน ก.ค.

- แนวทางแก้ปัญหามีการนำน้ำบาดาลเข้ามาช่วยด้วย เรื่องการน้ำใต้ดินมาใช้ช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จริงหรือ
เรื่องน้ำบาดาลทางรัฐบาลฯ มีมติให้มีการขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มมากขึ้น เพราะในฤดูแล้งแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอาจไม่เพียงพอ อีกทั้งเรามีแนวทางน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค ตอนนี้มีแผนที่ตรวจสอบพื้นที่ในการขุดเจาะที่บ่งชี้ว่าขุดแล้วจะเจอน้ำอย่างแน่นอน สามารถขุดเจาะได้ในระยะเวลา 1 - 2 เดือนข้างหน้า โดยภาคกลางฝั่งตะวันออก จะเริ่มขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มเติม 4 บ่อ ซึ่งแต่ละบ่อจะนำไปผลิตเป็นน้ำประปาด้วย

น้ำบาดาลเป็นปัจจัยหนึ่งในการลดผลกระทบภัยแล้ง อาจลดไม่ได้มากถึงขั้นแก้ปัญหาทั้งหมด น้ำบาดาลอย่างมากก็ช่วยในเรื่องอุปโภคบริโภคเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้วต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วนภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพราะว่าจะเก็บน้ำส่วนนี้ไปใช้ก็ต่อเมื่อเราหาน้ำไม่ได้นั่นคือช่วงเดือน มี.ค. เม.ย. พ.ค. ที่อาจมีผลกระทบมากขึ้น

- ดูเหมือนว่า การขุดบ่อ แจกน้ำดื่ม ห้ามทำนาปรัง ฯลฯ เป็นวิธีปฏิบัติปกติธรรมดาทุกครั้งที่มีปัญหาภัยแล้ง สทนช. มีแผนระยะยาวมีหรือไม่
แผนระยะยาว มี 2 ส่วน ส่วนแรกในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่บริการที่การประปานครหลวง รับผิดชอบจะมีแผนรองรับเอาไว้ คือดึงน้ำตอนบนมากกว่านี้ รวมทั้ง พื้นที่นอกจุดรับน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี 96 กม. อาจจะมีระบบคลองที่ลึกกว่านี้หรือปรับปรุงท่อ เพื่อจะป้องกันลดผลกระทบไม่ให้น้ำทะเลรุกล้ำได้ และอาจมีปริมาณการเพิ่มการระบายน้ำจากแม่กลอง หากแม่น้ำแม่กลองมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ ซึ่งลุ่มน้ำแม่กลองสำรองน้ำอย่างเพียงพอสำหรับแล้งนี้ไปจนต้นฝนหน้าเรียบร้อยแล้ว

อีกส่วนหนึ่ง การจัดหาแหล่งน้ำสำรองระยะยาว จะเกิดขึ้นในปีนี้ปี 2563 รัฐบาลได้พิจารณามีงบประมาณพร้อมดำเนินการทำให้สำเร็จภายใน 1 ปี โดย พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา มอบหมายนโยบายเร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆ เร่งรัดให้ทันฤดูฝน 2563 ให้ได้ รวมถึง การดึงน้ำจากแหล่งน้ำข้างเคียงมาใช้ อยู่ระหว่างการศึกษาก่อนเข้าสู่กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการระยะยาว 5 - 6 เดือนจากนี้เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น จะเสนอแผนงานเป็นโครงการขนาดใหญ่ จะมีการดำเนินการ ทุกแผนงานมีการบูรณาการร่วมกันทุกฝ่ายตั้งแต่ภาครัฐภาคเอกชนและประชาชน




กำลังโหลดความคิดเห็น