สถานการณ์น้ำฤดูแล้ง 2562/2563 ค่อนข้างวิกฤต ช่วงเวลาปลายปี 2562 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2563 เฉพาะ 2 เดือน คือ ธันวาคม 2562 กับมกราคม 2563 สะท้อนถึงความวิกฤตของประเทศชัดเจนขึ้น
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) คาดการณ์ว่า 2 เดือนนี้ปริมาณฝนทั้งประเทศจะต่ำกว่าค่าปกติ ถึง 50% ภาคใต้แม้ปกติฝนชุก แต่ปริมาณฝนเดือนธันวาคมจะน้อยกว่าค่าปกติ 20% ส่วนเดือนมกราคมจะใกล้เคียงค่าปกติ
ส่วนปริมาณน้ำล่าสุด จากแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศนั้น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งมีปริมาณน้ำใช้การ 22,879 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 48% ของปริมาณกักเก็บและมีแนวโน้มลดลง โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 10 แห่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังน้ำน้อย มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี ในขณะแหล่งน้ำขนาดกลาง 78 แห่งมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% ส่วนใหญ่อยู่ภาคอีสาน 39 แห่ง ภาคเหนือ 29 แห่ง ภาคตะวันออก 6 แห่ง ภาคกลาง 2 แห่ง และภาคตะวันตก กับภาคใต้ภาคละ 1 แห่ง
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีข้อห่วงใยจึงได้จัดประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/2563 โดยย้ำให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และเน้นให้เก็บกักน้ำทุกรูปแบบ ทั้งน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน จัดหาแหล่งน้ำสำรอง และบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง 2562/2563 ให้เป็นไปตามแผนอย่างรัดกุม
ดร.สมเกียรติเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานท้องถิ่น ดำเนินการเชิงป้องกันการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง 2562/2563 ตามที่ สทนช. และหน่วยงานเกี่ยวข้องวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำล่วงหน้า ประกอบด้วย 15 มาตรการหลักครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่
(1. ด้านน้ำต้นทุน 4 มาตรการ คือ จัดทำแผนสำรองน้ำ-แหล่งน้ำสำรอง ขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่เสี่ยง ทำนบดินชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ ขุดลอกลำน้ำตื้นเขิน ดึงน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียง
(2. ด้านความต้องการใช้น้ำ 7 มาตรการ แบ่งเป็น น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 2 มาตรการ คือ 1. ควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ตอนบนให้เป็นไปตามแผนไม่ให้กระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภคของพื้น ที่ตอนล่าง 2. ควบคุมการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ 4 มาตรการ ได้แก่ (1) ควบคุมการปล่อยน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมและชุมชนลงสู่แหล่งน้ำ เป็นการลดปริมาณน้ำดีไล่น้ำเสีย (2) เฝ้าระวังคุณภาพน้ำที่สถานีสูบน้ำสำแล จ.ปุทมธานี อย่างใกล้ชิด (3) ควบคุมและขึ้นทะเบียนการเลี้ยงปลากระชังในแหล่งน้ำและลำน้ำ (4) สำรวจตรวจสอบถนนที่เชื่อมต่อทางน้ำในพื้นที่อ่อนไหวต่อการทรุดตัวของคันคลอง เนื่องจากระดับน้ำต่ำกว่าปกติเพื่อการเกษตร และน้ำเพื่อการเกษตร 1 มาตรการ คือ วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง จัดทำทะเบียนผู้ปลูกพืช โดยระบุพื้นที่ปลูกและแหล่งน้ำที่ใช้อย่างชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุน
(3. ด้านการติดตามประเมินผล 3 มาตรการ 1. ติดตาม ควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผน 2. ให้ สทนช.ติดตาม วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ และกิจกรรมการใช้น้ำร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด 3. หน่วยงานรับผิดชอบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำติดตามเฝ้าระวัง และรายงานเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง 4. ด้านการเตรียมการและสร้างความรับรู้ 1 มาตรการ ให้ สทนช.ประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ให้หน่วยงาน คณะกรรมการลุ่มน้ำและประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เตรียมพร้อมต่อการปรับตัวจากสถานการณ์ภัยแล้ง รับรู้มาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาลและให้ทุกหน่วยงานรายงานผลต่อ สทนช.ทุกสัปดาห์ เพื่อกำกับ ติดตามผลการดำเนินงานหรือปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์
“สทนช.ได้เรียกประชุม 25 หน่วยงานเกี่ยวข้อง บูรณาการแผนปฏิบัติการรับมือภัยแล้งในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้า มอบหมายหน่วยงานเจ้าภาพหลักรับผิดชอบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง 38 จังหวัด ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”ที่ประชุมยังมีข้อสรุปสำคัญ 3 ประเด็นหลัก โดยประเด็นแรกดำเนินการตามแผนปฏิบัติการจัดสรรน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ และขนาดกลาง โดยได้เน้นย้ำกรมชลประทาน (ชป.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย (กฟผ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ควบคุมการจัดสรรน้ำอย่างเคร่งครัด หากจำเป็นต้องจัดสรรมากกว่าแผนให้รายงาน สทนช.ทราบก่อน เพื่อไม่ให้กระทบน้ำต้นทุน โดยขณะนี้ กรมชลประทาน (ชป.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ดําเนินการปรับแผนการจัดสรรน้ำทั้งอ่างขนาดใหญ่จํานวน 14 แห่ง ได้แก่ ภูมิพล สิริกิติ์ กระเสียว แม่มอก กิ่วลม กิ่วคอหมา ขุนด่านปราการชลนฤบดินทรจินดา คลองสียัด ประแสร์ ศรีนครินทร์ วชริาลงกรณ บางพระ ลําพระเพลิง และขนาดกลาง 11 แห่ง โดยส่งแผนการจัดสรรน้ำที่มีการปรับใหม่ให้ สทนช.ทราบแล้ว”
ประเด็นที่ 2 กำหนดเจ้าภาพหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคที่ประชุมมอบหมายให้การประปานครหลวงพิจารณาใช้น้ำจากฝั่งตะวันตกมาทดแทนการใช้น้ำฝั่งตะวันออกมากขึ้น และร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาลขุดเจาะบ่อบาดาลสำรองน้ำเพิ่มเติมเช่นเดียวกับการประปาส่วนภูมิภาค กรมชลประทานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการเสนอแผนป้องกันพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
ประเด็นสุดท้าย พิจารณาพิ้นที่ลุ่มต่ำนำร่องสำหรับหน่วงและเก็บน้ำกักน้ำหลากโดยมอบหมายให้กรมชลประทานปรับปรุงพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาตอนล่าง 12 ทุ่ง และทุ่งบางระกำ และเพิ่มเติมพื้นที่ลุ่มต่ำลำน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด และบางพลวง จ.ปราจีนบุรี
“สทนช.บูรณาการความร่วมมือกับหนวยงานด้านน้ำที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ โดยกำหนดมาตรการครอบคลุมรอบด้าน และขับเคลื่อนทุกมาตรการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ป้องกันบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายจากภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ สทนช.กล่าว