ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สัญญาณ “ภัยแล้ง” เริ่มส่งผลกระทบให้เห็นในช่วงนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นว่า ในปีหน้าฟ้าใหม่ 2563 สถานการณ์จะหนักหนาสาหัสกว่านี้อีกหลายต่อหลายเท่า
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัญหาที่น่าปริวิตกก็คือ ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักที่หล่อเลี้ยงคนไทย โดยเฉพาะ “ที่ราบลุ่มเจ้าพระยา” ลดน้อยลงไปอย่างน่าใจหาย กระทั่งส่งผลทำให้ “น้ำทะเล” หนุนสูงขึ้นมาถึงบริเวณ “ท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี” กันเลยทีเดียว
แน่นอน ผลกระทบนอกเหนือจากเรื่องพืชผลทางการเกษตรที่เจอ “น้ำเค็มเกินค่ามาตรฐาน” ซึ่งถือเป็นปัญหา “ใหญ่ที่สุด” แล้ว อีกหนึ่งสถานการณ์ที่จำต้องเฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดก็คือเรื่อง “แหล่งน้ำดิบ” สำหรับใช้ทำ “น้ำประปา” โดยเฉพาะผู้คนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา “การประปานครหลวง(กปน.)” ที่เฝ้าระวังค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง พบภาวะน้ำทะเลหนุนสูงเหนือจุดรับน้ำดิบ “สำแล” จ.ปทุมธานี มากกว่า 13 กิโลเมตร อย่างไรก็ดี กปน. ยืนยันว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการผลิตน้ำประปาแต่อย่างใด โดย กปน.เลี่ยงการสูบน้ำดิบเข้าคลองประปาชั่วคราวในช่วงที่ค่าความเค็มขึ้นสูง
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังจากลงพื้นที่ติดตามมาตรการควบคุมค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณประตูระบายน้ำบางสาม ในแม่น้ำท่าจีน พื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา จ.สุพรรณบุรี ว่า ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนบริเวณท่าน้ำนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และท่าน้ำ
กรมชลประทานสามเสน พบค่าความเค็มยังคงสูงกว่าเกณฑ์ ในส่วนของมาตรการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน ได้ดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลอง ลงคลองจระเข้สามพันเชื่อมคลองสองพี่น้อง ลงสู่แม่น้ำท่าจีน จากนั้น จะสูบน้ำเข้าสู่คลองพระยาบรรลือ ด้วยเครื่องสูบน้ำ จำนวน 10 เครื่อง ที่ประตูระบายน้ำพระยาบรรลือ พร้อมกับเร่งผลักดันน้ำ โดยเครื่องผลักดันน้ำที่ติดตั้งไว้ในคลองพระยาบรรลือ จำนวน 6 เครื่อง บริเวณอำเภอลาดบัวหลวง เพื่อเร่งผลักดันน้ำ ไปให้เครื่องสูบน้ำ 10 เครื่อง ที่ประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 สูบต่อลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อควบคุมความเค็มไม่ให้รุกล้ำเข้าไปพื้นที่ตอนบน เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูง ส่วนด้านท้ายน้ำ ได้ดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองผ่านคลองท่าสาร-บางปลา ลงสู่แม่น้ำท่าจีน เพื่อควบคุมความเค็มไม่ให้รุกล้ำขึ้นไปในพื้นที่ตอนบนเช่นกัน
นอกจากนี้ กรมชลประทาน โดยสำนักเครื่องจักรกล และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต ร่วมกันติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำบางขนาก เพื่อผลักดันน้ำจืดจากแม่น้ำบางปะกงเข้าคลองบางขนาก ในช่วงที่ค่าความเค็มต่ำหรือช่วงน้ำทะเลลง เพื่อให้ประชาชนที่ใช้น้ำจากคลองบางขนาก สามารถนำน้ำไปใช้ในการอุปโภคบริโภค และยังเป็นการรักษาระบบนิเวศในคลอง บางขนากอีกด้วย
ขณะที่ปัญหาน้ำกินน้ำใช้นั้น ขณะนี้ปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลกระทบกับการผลิตน้ำประปา และน้ำอุปโภคบริโภค ของประชาชนในจังหวัดชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 10 และสำนักเครื่องจักรกล เร่งติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 6 เครื่อง บริเวณปากคลองชัยนาท-ป่าสัก อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท เพื่อสูบน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ส่งเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก เพิ่มปริมาณน้ำในคลอง หลังจากที่แม่น้ำเจ้าพระยามีระดับลดต่ำลง ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ เข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก มีปริมาณเพียง 14 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
นายสมยศ แสงมณี ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาในขณะนี้ ใกล้เคียงกับเมื่อปี 2558 ทั้งเรื่องของระดับน้ำเจ้าพระยาที่ลดต่ำลง และปัญหาการขาดแคลนน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสัก แต่ปีนี้น้ำเจ้าพระยาลดต่ำเร็วกว่าปี 2558 เมื่อเทียบกันเดือนต่อเดือน อย่างไรก็ตาม จากปัญหาดังกล่าว กรมชลประทานได้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งในการบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา ในระยะต่อไป อาจมีการปรับเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยยกระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ให้มากขึ้นอยู่ที่ระดับ 15.00 เมตร(ระดับน้ำทะเลปานกลาง) จากปัจจุบันที่ระดับน้ำลดต่ำลงไปเหลือ 13 เมตร 28 เซนติเมตร (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) เพื่อให้การส่งน้ำเข้าคลอง ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
นายหนุน จันทร์กล่ำ ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ต.บางพระหลวง อ.เมืองนครสวรรค์ เล่าว่า ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงอย่างยาวนานตลอดทั้งปีที่ผ่านมาทำให้ปริมาณน้ำคลองบางพระหลวง ซึ่งเป็นคลองสาขาของแม่น้ำยมที่รับน้ำมาจากจังหวัดพิจิตร แห้งขอดจนขณะนี้แทบจะไม่มีน้ำเหลือใช้แล้ว ทำให้ชาวแพได้รับความเดือดร้อนหนักจากการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค ล่าสุดน้ำที่ใช้สำหรับอุปโภค ทั้งล้างจานและซักผ้า ชาวบ้านก็ต้องตักน้ำจากลำคลองมาแกว่งสารส้มรอให้ตกตะกอนก่อนจึงนำมาใช้ได้ เนื่องจากปริมาณน้ำมีระดับที่ตื้นเขินและขุ่น
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ อบต.บางพระหลวงได้แก้ปัญหาด้วยการนำรถแบ็กโฮเข้าช่วยเหลือขุดลอกกลางลำคลองตลอดทั้งหมู่บ้านเป็นระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร ทำให้คลองลึกมากขึ้น เพื่อให้ชาวแพมีน้ำกักเก็บเหลือไว้ใช้บรรเทาความเดือดร้อนได้
ขณะที่ชาวนา ต.หนองเต่า อ.เก้าเลี้ยว ก็ต้องนำเครื่องสูบน้ำนับสิบเครื่องมาตั้งสูบน้ำจากคลองสาธารณะส่งต่อไปยังคลองสาขาในพื้นที่นาตลอด 24 ชั่วโมง หลังนาข้าวในพื้นที่กำลังขาดน้ำอย่างรุนแรงเพราะปัญหาฝนทิ้งช่วงนาน ประกอบกับน้ำตามลำคลองมีน้อยมาก
นายพงษ์กฤษ วงศ์คุรุ ชาวนาหมู่ที่ 3 ต.หนองเต่า อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ บอกว่า ตอนนี้ชาวนาต้องรวมตัวช่วยเหลือกันเอง โดยการระดมเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ช่วยกันสูบน้ำที่ไหลมาจากคลองกระถินในระบบโครงการชลประทานเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตรเพื่อนำน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าว โดยมีกติการ่วมกันว่าหากชาวนากลุ่มใดสูบน้ำได้พอใช้แล้วต้องเก็บเครื่องสูบน้ำ และให้ชาวนากลุ่มอื่นมาสูบน้ำต่อไป เพื่อเป็นการแบ่งปันน้ำและช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม ดูปริมาณน้ำในคลองสาธารณะที่อยู่ในพื้นที่มีน้ำน้อยแล้ว สุดท้ายอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ ข้าวอาจยืนต้นตายในที่สุด
กล่าวสำหรับปัญหาภัยแล้งในภาพรวมนั้น ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมครม.เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ถึงมาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งที่มาเร็วกว่าเดิมกระทั่งทำให้หลายพื้นที่ไม่มีน้ำสำหรับทำนาปรังว่า เรื่องภัยแล้งวันนี้ต้องยอมรับว่าบางพื้นที่ไม่มีน้ำทำนาปรังเพราะระบบชลประทานทำได้มากที่สุดไม่เกิน 30-40 % นี่คือหลักการสำคัญ ดังนั้นต้องหาวิธีการว่าทำอย่างไรกับการเพาะปลูกพืชลักษณะนี้ การทำนาปรังไม่ค่อนมีปัญหาในพื้นที่ชลประทาน แต่บางครั้งก็มีเหมือนกันถ้าน้ำต้นทุนน้อย ขณะที่มีความจำเป็นต้องกักเก็บน้ำเอาไว้สำหรับอุปโภค บริโภคด้วย
ดังนั้นต้องมองปัญหาทั้งหมด ถ้ามองปัญหาใดปัญหาหนึ่งก็แก้ไม่ได้สักอัน ต้องแก้ด้วยความเข้าใจ และต้องขอความร่วมมือให้ใช้น้ำอย่างประหยัด โดยเฉพาะการเกษตรวันนี้ต้องลดการใช้น้ำลงให้ได้มากที่สุด ซึ่งจากสถิติประเทศไทยใช้น้ำทางการเพาะปลูกพืชมากกว่าต่างประเทศใช้ในบางพื้นที่ ต้องดูว่าทำอย่างไรให้มีผลกระทบน้อยที่สุด
“มาตรการที่รัฐบาลต้องเตรียมการก็คือเรื่องการใช้น้ำบาดาลให้มากยิ่งขึ้น เป็นการรองรับหากน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคขาดแคลน เพราะน้ำประปาก็ทำไม่ได้ ก็จะต้องเดือดร้อนกันมากยิ่งขึ้น ก็ขอให้ทุกคนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันให้มากขึ้น”นายกฯ ลุงตู่ทำความเข้าใจกับประชาชน
อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำครั้งล่าสุด ได้ผลสรุปว่า ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติถึงประมาณร้อยละ 40 ส่วนภาคใต้ใกล้เคียงค่าปกติ โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำรวมกันแค่ 11,796 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 ของความจุอ่างฯรวมกัน โดยมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันเพียง 5,100 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น
ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวตอนหนึ่งระหว่างแถลงข่าวการวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง 2562/63 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562-30 เมษายน 2563 โดยระบุว่ากรมชลประทานจะจัดสรรน้ำจากเขื่อนต่างๆในเขตชลประทานทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 17,699 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 5,401 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลังรวมทั้งสิ้น 4,000 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่แล้ว 4,000 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทั้งจะควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาแม่น้ำท่าจีน-แม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง-ปราจีนบุรี ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ขณะที่ ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เสริมว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงต้องบริหารจัดการน้ำตามความเหมาะสม ซึ่งจะใช้น้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์เป็นหลัก โดยการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ทั้งประเทศจำนวน 17,699 ล้านลบ.ม.นั้น จะจัดสรรสำหรับการอุปโภคบริโภค 13% ประมาณ 2,300 ล้านลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ 40% ประมาณ 6,999 ล้านลบ.ม. เพื่อการเกษตรฤดูแล้ง 44 % ประมาณ 7,881 ล้านลบ.ม. และเพื่อการอุตสาหกรรมเพียง 3% หรือประมาณ 519 ล้าน ลบ.ม.
นอกจากนี้ได้สำรองน้ำไว้ใช้ต้นฤดูฝนปี 2563 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 อีกจำนวน 11,340 ล้านลบ.ม. โดยในจำนวนนี้จะใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆจำนวน 43% หรือประมาณ 4,909 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลืออีก 57% ประมาณ 6,431 ล้าน ลบ.ม. จะใช้ในกรณีเกิดฝนทิ้งช่วง
ส่วนการเกษตรในฤดูแล้งตามแผนกำหนดพื้นที่ไว้ทั้งประเทศรวม 6.85 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ หรือร้อยละ 34 ของแผนฯ พืชไร่-พืชผัก 0.52 ล้านไร่ หรือร้อยละ 7 ของแผนฯ ที่เหลือเป็นพืชอื่นๆประมาณ 4.01 ล้านไร่หรือร้อยละ 59 ของแผนฯ อย่างไรก็ตามในการปลูกพืชฤดูแล้งในส่วนของลุ่มเจ้าพระยานั้น เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง กรมชลประทานจึงได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้เพาะปลูกเพียงพืชอื่นๆ รวมจำนวน 993,215 ไร่
ยกเว้นลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งมีแหล่งน้ำต้นทุนมาจากเขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ ปีนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างมากรวมกันมากกว่า 23,000 ล้านลบ.ม. โดยเป็นปริมาณน้ำที่ใช้งานได้มากกว่า 10,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งได้มีแผนเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งรวม 2.07 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 0.84 ล้านไร่ หรือร้อยละ 41 ของแผนฯ พืชไร่-พืชผัก 0.17 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 8 ของแผนฯ) และพืชอื่นๆ 1.06 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 51 ของแผนฯ นอกจากนี้ ยังจะผันน้ำมาสนับสนุนลุ่มเจ้าพระยาอีกประมาณ 500 ล้านลบ.ม.
สำหรับลุ่มน้ำอื่นๆนั้น คณะกรรมการ JMC ของเขื่อนแต่ละแห่งจะเป็นผู้กำหนดว่า จะใช้น้ำเพื่อกิจกรรมใดบ้าง จำนวนเท่าไร ควรจะปลูกพืชฤดูแล้งหรือไม่ ซึ่งขณะนี้เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำน้อย จะต้องเฝ้าระวังและควบคุมการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด 6 แห่งประกอบด้วยเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนลำพระเพลิง จ.นครราชสีมา และเขื่อนลำนางรอง จ.บุรีรัมย์ โดยพื้นที่ชลประทานของเขื่อนทั้ง 6 แห่งดังกล่าว ให้งดการทำนาปรังทั้งหมด
“ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักต่างๆ ทั่วประเทศมีปริมาณน้อย การจัดสรรน้ำสนับสนุนการเกษตรและการประมงต้องทำอย่างจำกัด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัด พร้อมทั้งสร้างกระบวนการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงของปริมาณน้ำที่มีอยู่ด้วย” รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวย้ำ
ทวีศักดิ์บอกด้วยว่า ในปีนี้ปริมาณฝนตกเฉลี่ยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีอยู่ที่ 862 มิลลิเมตร น้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยถึง 23 % กรมชลประทานจึงได้่เตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้าด้วยการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้ ณ ปัจจุบันสามารถลดการใช้น้ำจาก 2 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลได้ 17.2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือใช้น้ำลดลง 34 % และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ได้อีก 22.7 ล้านลบ.ม. หรือใช้น้ำลดลง 27% ทั้งนี้คาดว่า ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จะมีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 160 ล้านลบ.ม. หรือ 60% ของความจุเขื่อน และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จะมีปริมาณน้ำเหลืออยู่ 70 ล้านลบ.ม. หรือ 27% ของความจุเขื่อน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยและจะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม กรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งจำเป็นจะต้องลดพื้นที่ปลูกพืชในฤดูแล้งลง โดยในเขตพื้นที่ชลประทานของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลลดลงจาก 67,700 ไร่ เหลือ 40,286 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังเหลือประมาณ 20,000 ไร่ ซึ่งจะจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้งทั้งหมด 35 ล้าน ลบ.ม. และสำรองสำหรับต้นฤดูฝนปี 2563 อีกจำนวน 35 ล้านลบ.ม. รวมทั้งยังจะจัดสรรน้ำให้พื้นที่พิเศษอีก 70 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ซึ่งปริมาณน้ำค่อยข้างน้อยนั้น จะลดพื้นที่ปลูกพืชลงจาก 77,322 ไร่ ในปีที่แล้วเหลือเพียง 25,055 ไร่ โดยงดปลูกข้าวนาปรัง จะส่งน้ำให้เฉพาะไม้ผลจำนวน 14 ล้านลบ.ม. น้ำสำหรับผลิตน้ำประปา จ.เชียงใหม่ 9 ล้านลบ.ม. และสำรองสำหรับต้นฤดูฝนปี 2563 จำนวน 25 ล้านลบ.ม.
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่พิเศษบริเวณ 2 ฝั่งแม่น้ำปิงในเขตจ.เชียงใหม่และลำพูน มีพื้นที่ประมาณ 200,000 ไร่ ที่ต้องใช้น้ำจากแม่น้ำปิงเป็นหลักนั้น จำเป็นจะต้องบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนเพราะสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิงปีนี้น่าเป็นห่วง เนื่องจากมีปริมาณน้ำน้อยมาก ปริมาณน้ำท่าสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน - 11 พฤศจิกายน 2562 ณ สะพานนวรัฐ มีเพียง 435 ล้านลบ.ม. น้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยถึง 68% หรือกว่า 920 ล้านลบ.ม.
ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ดังกล่าวในช่วงฤดูแล้งจะมีความต้องการประมาณ 167 ล้านลบ.ม. โดยใช้เพื่อการเกษตรประมาณ 145 ล้านลบ.ม. ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกไม้ผลเศรษฐกิจ เช่น ลำไย มะม่วง เป็นต้น ใช้เพื่อผลิตน้ำประปา 21 ล้านลบ.ม. และใช้เพื่อการท่องเที่ยว (เทศกาลสงกรานต์) 1 ล้านลบ.ม.
ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่พิเศษ กรมชลประทานได้วางแผนบริหารจัดการน้ำรับมือโดยจะจัดสรรน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมาช่วยระบายลงแม่น้ำปิงเพื่อช่วยพื้นที่ดังกล่าวประมาณสัปดาห์ละ 1-8 ล้านลบ.ม. จะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2563 จำนวนรวม 70 ล้านลบ.ม. และใช้น้ำจากลำน้ำสาขา เช่น น้ำแม่กาง น้ำแม่ลี้ น้ำแม่ขาน ที่ไหลเข้ามาเติมแม่น้ำปิงอีก 97 ล้านลบ.ม. พร้อมกับลดพื้นที่ปลูกนาปรังเช่นกัน จาก 29,000 ไร่เหลือ 14,000 ไร่ ทั้งนี้หากสามารถบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้จะช่วยพื้นที่พิเศษพ้นวิกฤตขาดแคลนน้ำได้อย่างแน่นอน
…เอาเป็นว่า ภัยแล้งที่กำลังคืบคลานเข้ามาให้เห็นถือเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งรัฐบาลจำต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในปี 2563 ที่น่าจะหนักหนาสาหัสไม่น้อยเลยทีเดียว