นครสวรรค์ - ปากน้ำโพแล้งเข็ญเกิน..แม้แต่ชาวแพคลองบางพระหลวงยังต้องแกว่งสารส้มซักผ้า-ล้างจาน ขณะที่ชาวนาเก้าเลี้ยวต้องผลัดกันตั้งเครื่องสูบน้ำเข้านาไกลกว่า 2 กิโลฯ ต่อลมหายใจนาข้าว แต่ยอมรับสุดท้ายข้าวอาจแห้งตาย
ขณะนี้ภัยแล้งในพื้นที่นครสวรรค์ยังคงลุกลามรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องนำรถแบ็กโฮลงขุดร่องน้ำภายในคลองบางพระหลวง ต.บางพระหลวง อ.เมืองนครสวรรค์ ที่อยู่ในสภาพแห้งขอดเพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น หลังระดับน้ำเหลือไม่ถึง 50 เซนติเมตร
นายหนุน จันทร์กล่ำ ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ต.บางพระหลวง เล่าว่า ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงอย่างยาวนานตลอดทั้งปีที่ผ่านมาทำให้ปริมาณน้ำคลองบางพระหลวง ซึ่งเป็นคลองสาขาของแม่น้ำยมที่รับน้ำมาจากจังหวัดพิจิตร แห้งขอดจนขณะนี้แทบจะไม่มีน้ำเหลือใช้แล้ว
ทำให้ชาวแพได้รับความเดือดร้อนหนักจากการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภค ล่าสุดน้ำที่ใช้สำหรับอุปโภค ทั้งล้างจานและซักผ้า ชาวบ้านก็ต้องตักน้ำจากลำคลองมาแกว่งสารส้มรอให้ตกตะกอนก่อนจึงนำมาใช้ได้ เนื่องจากปริมาณน้ำมีระดับที่ตื้นเขินและขุ่น
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ อบต.บางพระหลวงได้แก้ปัญหาด้วยการนำรถแบ็กโฮเข้าช่วยเหลือขุดลอกกลางลำคลองตลอดทั้งหมู่บ้านเป็นระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร ทำให้คลองลึกมากขึ้น เพื่อให้ชาวแพมีน้ำกักเก็บเหลือไว้ใช้บรรเทาความเดือดร้อนได้
ขณะที่ชาวนา ต.หนองเต่า อ.เก้าเลี้ยว ก็ต้องนำเครื่องสูบน้ำนับสิบเครื่องมาตั้งสูบน้ำจากคลองสาธารณะส่งต่อไปยังคลองสาขาในพื้นที่นาตลอด 24 ชั่วโมง หลังนาข้าวในพื้นที่กำลังขาดน้ำอย่างรุนแรงเพราะปัญหาฝนทิ้งช่วงนาน ประกอบกับน้ำตามลำคลองมีน้อยมาก
นายพงษ์กฤษ วงศ์คุรุ ชาวนาหมู่ที่ 3 ต.หนองเต่า อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ บอกว่า ตอนนี้ชาวนาต้องรวมตัวช่วยเหลือกันเอง โดยการระดมเครื่องสูบน้ำที่มีอยู่ช่วยกันสูบน้ำที่ไหลมาจากคลองกระถินในระบบโครงการชลประทานเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตรเพื่อนำน้ำมาหล่อเลี้ยงต้นข้าว โดยมีกติการ่วมกันว่าหากชาวนากลุ่มใดสูบน้ำได้พอใช้แล้วต้องเก็บเครื่องสูบน้ำ และให้ชาวนากลุ่มอื่นมาสูบน้ำต่อไป เพื่อเป็นการแบ่งปันน้ำและช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในเบื้องต้น
อย่างไรก็ตาม ดูปริมาณน้ำในคลองสาธารณะที่อยู่ในพื้นที่มีน้ำน้อยแล้ว สุดท้ายอาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ ข้าวอาจยืนต้นตายในที่สุด