xs
xsm
sm
md
lg

ซ้ำซากทุกปี!น้ำยมพิจิตรแห้งตลอดสาย ชาวบ้านต้องลงขันจ้างแบ็กโฮขุดร่องหาน้ำเข้านา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิจิตร – ผ่านหน้าฝนฤดูน้ำหลากมาได้ไม่กี่วัน..น้ำยมพิจิตรแห้งตลอดสาย เห็นแต่พื้นทราย-ร่องน้ำไหลรินขอดก้น แถมฝายยางยังพังซ่อมไม่เสร็จ ชาวสามง่ามต้องลงขันจ้างแบ็กโฮขุดลอกเปิดทางดึงน้ำเข้าเครื่องสูบหวังต่อลมหายใจนาข้าว




แม่น้ำยม ที่ไหลผ่านจังหวัดพิจิตร แบบน้ำปริ่มตลิ่งตลอดแนว 127 กม.ในห้วงฤดูน้ำหลากไม่กี่วันที่ผ่านมา ขณะนี้แห้งขอดตลอดสาย เต็มไปด้วยเนินทรายเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อสิ้นฤดูฝนทุกปีที่ผ่านมา

ซึ่งชาวบ้านมองว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำแบบถาวร จะมีก็แค่เพียงฝายยางที่อยู่ในเขตพิจิตร แต่ฝายยางสามง่ามก็อยู่ในระหว่างซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จ จึงทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ช่วยชาวนาได้ จึงรวมตัวใช้เงินจากกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เก็บไร่ละ 120 บาท จ้างรถแบ็กโฮขุดลอกเปิดทางน้ำมายังสถานีสูบน้ำเพื่อหวังต่อลมหายใจนาข้าวนับพันไร่ ที่กำลังตั้งท้องออกรวงรอการเก็บเกี่ยว


ล่าสุดนางรติฬส พ่วงพร้อม หัวหน้า สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพิจิตร มอบหมายให้ น.ส.อัญชลี พันธุ์ปัญญา หัวหน้ากลุ่มยุทธสาสตร์และการจัดการ สนง.ปภ.พิจิตร ,นายจิรวุฑฒิ ผะอบเหล็ก นายช่างโยธาชำนาญงาน ปภ.พิจิตร ประสานงานกับ น.ส.วรรณิสา ปัญญาวุฒิ-นายพิชิตพงศ์ แก้วทิม ปลัดอำเภอสามง่าม ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบ หลังจากทราบข่าวว่า ชาวนาในเขตพื้นที่ ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร กำลังเจอปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซาก

ซึ่งนายทรัพย์ ม่วงเก่า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 บ้านวังปลาทู ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ลงดูสภาพแม่น้ำยมหน้าวัดวังปลาทู ต.กำแพงดิน เขตหมู่ 10 พบว่าแม่น้ำยมบริเวณดังกล่าวแห้งขอดเห็นเนินทรายเป็นช่วงๆ แต่ก็ยังมีน้ำอยู่ในแอ่งเป็นวังน้ำ


ชาวนาบ้านวังปลาทูจึงได้รวมตัวกันใช้เงินที่เก็บจากสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำบ้านวังปลาทู จ้างรถแบ็กโฮของเอกชนมาทำการขุดลอกเปิดทางน้ำในแม่น้ำยม เป็นระยะทางกว่า 2 กม. เพื่อหวังว่าจะให้น้ำในแม่น้ำยมที่มีเหลืออยู่เพียงน้อยนิดไหลไปรวมกันที่สถานีสูบน้ำบ้านวังปลาทู ให้ได้น้ำมาต่อลมหายใจให้กับนาข้าวจำนวนนับพันไร่ที่รอการเก็บเกี่ยว

สำหรับปัญหาของแม่น้ำยมในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร ระยะทาง 127 กม. เป็นปัญหาซ้ำซากมายาวนานหลายสิบปี ที่ทุกวันนี้รัฐบาลก็ยังหาทางแก้ไขไม่ได้ ชาวบ้านและภาครัฐที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ทำได้เพียงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ แม้ชาวบ้านต้องการให้มีฝายน้ำล้นแบบขั้นบันไดในแม่น้ำยม เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง แต่ก็ติดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการต่อต้านจากนักวิชาการ-NGO บางกลุ่มมาตลอด
กำลังโหลดความคิดเห็น